“…จุดหนึ่งที่ดูสูงและโอเคน้อย คือ หนี้สาธารณะและฝั่งการคลัง หนี้สาธารณะตอนนี้อยู่ที่ 61.7% ต่อจีดีพี ซึ่งสูงที่สุดที่เคยมีมา สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าตอนปี 2540 หนี้สาธารณะวิ่งไปถึง 60% แต่ถ้าเทียบหนี้สาธารณะตอนนี้กับช่วงก่อนโควิดที่อยู่ที่ 40% ถือว่าขึ้นมาค่อนข้างเร็ว ดังนั้น ในแง่เสถียรภาพ ตัวนี้ จึงเป็นอีกตัวที่ไม่ค่อยโอเค…”
........................................
หมายเหตุ : เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ กล่าวในงาน ‘ธปท. พบสื่อมวลชน’ Press Trip 2023 เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2566
ถ้าดูโลกตอนนี้ ยอมรับว่าความเสี่ยงค่อนข้างสูงขึ้น ซึ่งในการประชุม IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) และธนาคารโลก ที่มาราเกซ (โมร็อกโก) ถ้อยคำที่ออกมาจากตรงนั้น คือ เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อนข้างช้าและไม่ค่อยทั่วถึง แต่อันที่ชัด คือ IMF มองว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยระยะปานกลางจะอยู่ที่ 3% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 30 ปี
ดังนั้น ภาพของโลก ในเรื่องการเติบโต จึงดูไม่ได้สวยหรูนัก ที่สำคัญตอนนี้ยังมีความชัดเจนด้วยว่า มีความเสี่ยงต่างๆโผล่ขึ้นมาค่อนข้างเยอะ และถ้าไปร่วมในเวทีต่างๆ ความเสี่ยงที่คนจะมองและจับตา คงหนีไม่พ้นเรื่องของจีน เรื่องเศรษฐกิจ slowdown ในจีน
และถ้าเป็นเรื่องของจีน นอกจากเราจะคุ้นเคยกันว่า มีประเด็นในเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังมีความเสี่ยงอื่นๆที่พูดถึงกันเยอะในที่ประชุมต่างๆ คือ ความเสี่ยงใหม่ๆที่ไม่เคยเจอมาก่อน เช่น เรื่องเกี่ยวกับ Supply Chain ต่างๆ และเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่แยกจากกัน ซึ่งจะกระทบในเรื่องการค้าโลก
แต่มีตัวหนึ่ง ที่ผมค่อนข้างห่วงและเป็นอันใหม่ คือ ปัญหาในตะวันออกกลาง ซึ่งผมคิดว่าเป็นอะไรที่ประเมินผลกระทบและความเสี่ยงได้ยากมากๆ เพราะมีผลข้างเคียงที่เราคำนึงไม่ถึง คิดไม่ออก และจะมีเยอะด้วย แล้วถ้าจะไปนั่งมองให้ตาย ก็มองไม่ออกว่าคืออะไร จึงมีการใช้ศัพท์ว่า tail risk คือ ของที่คิดว่าไม่น่าเกิด ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้
เช่น ตอนเกิดเหตุการณ์ 9-11 มีคนประเมินว่า ผลจะไปกระทบกับเรื่องการท่องเที่ยวในอเมริกา คนจะไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน และกระทบเรื่องความเชื่อมั่นของการลงทุน แต่ตรงนั้น กลับไม่ใช่ประเด็นเลย เพราะสุดท้ายแล้ว เหตุการณ์ 9-11 ได้นำไปสู่เรื่องการตอบโต้ของอเมริกา โดยการเข้าไปบุกอิรัก แล้วการบุกอิรัก ก็นำไปสู่อะไรต่างๆต่อๆกันมา
เช่นเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางตอนนี้ ผมเกรงว่าจะมีผลข้างเคียงที่เรานึกไม่ออก คิดไม่ถึง บางทีผมเห็นว่า สิ่งที่นักวิเคราะห์รายงานในสื่อเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุการณ์ในอิสราเอล เช่นว่าจะต้องไปดูว่าไทยส่งออกอิสราเอลเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวอิสราเอลมาไทยเท่าไหร่ ผมคิดว่าตรงนั้น ไม่ใช่ประเด็นเลย
แต่ประเด็น คือ ของที่มันจะเป็นต่อๆกันมา สิ่งที่จะลาม หรือสิ่งที่จะไปถึงจุดตรงโน้นตรงนี้ต่างหาก ซึ่งเป็นสิ่งตอนนี้เราคาดไม่ถึง จึงเป็นที่มาว่า ในเวทีโลกต่างๆ จะมีการเน้นเรื่องเสถียรภาพเป็นตัวหลัก เรื่องเสถียรภาพกลับมาเป็น ‘พระเอก’
และถ้าดูคำแนะนำ IMF ที่แนะนำเรื่องนโยบายว่า นโยบายของแต่ละประเทศควรทำอะไรแล้ว ก็มี 4 เรื่อง ได้แก่
ข้อที่ 1 พวกคุณต้องเอาเงินเฟ้อกลับเข้ามาสู่กรอบให้ได้ ต้องพยายามทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เป็นอยู่ เพราะถ้าเหตุการณ์ในตะวันออกกลางมีปัญหา ก็จะทำให้เกิด inflation shock ขึ้นอีก ราคาน้ำมันจะผันผวน และสิ่งที่เราพยายามสู้มา เช่น การดึง inflation (เงินเฟ้อ) ลงมา ก็จะกลายเป็นพลิกกลับมาอีก
ข้อที่ 2 ต้องพยายามสร้างกันชน (buffer) ด้านการคลัง คือ ต้อง consolidate ด้านการคลัง จากเดิมที่เคยกระตุ้นการคลังไว้เยอะ ตอนนี้เขาแนะนำว่า ควรอยู่ในโหมด consolidate หรือพูดง่ายๆ คือ ลดรายจ่าย พยายามหารายได้ต่างๆ ทำให้การขาดดุลน้อยลง ทำให้หนี้สาธารณะลดลง เพื่อเตรียมรับมือ shock ต่างๆที่อาจจะมาในอนาคต
ข้อที่ 3 เขาให้ความสำคัญเรื่องการดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งสถานการณ์ในต่างประเทศจะแตกต่างจากของเรา (ประเทศไทย) โดยของเขา เขาเป็นห่วงเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ เรื่องต่างประเทศ พวกแบงก์ และนอน-แบงก์ ซึ่งมีบทบาทมากในต่างประเทศ แต่สำหรับเราแล้ว เรื่องอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง
ข้อที่ 4 เรื่องการใส่ใจปัญหาโครงสร้างระยะยาว โดยต้องหาวิธีที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth) และการปฏิรูปโครงสร้าง (structure reform) เช่น เรื่องดิจิทัล เรื่อง Green เป็นต้น
@เสถียรภาพของไทยโดยรวมดี แต่ชะล่าใจไม่ได้
ถ้าถามว่าประเทศไทยในมุมของ ‘เสถียรภาพ’ แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง ก็ต้องบอกว่าโดยรวมโอเค (ดีแล้ว,ใช้ได้) แต่จะชะล่าใจไม่ได้ เพราะถ้าเราดู จะพบว่ามีบางตัวเลขมั่นใจว่าค่อนข้างโอเค แต่มีบางตัวเลขที่โอเคน้อยหน่อย
อย่างตัวเลขที่ดูแล้วโอเค จะเป็นตัวเลขเดิมๆที่เราเคยคุยไปแล้ว เช่น เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่โอเค ดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะเกินดุลในปีนี้และปีหน้า หนี้ต่างประเทศไม่เยอะ และทุนสำรองระหว่างประเทศมีเพียงพอ ส่วนฝั่งเรื่องระบบธนาคารพาณิชย์ของเรา ถ้าดูในแง่ของทุน งบดุล ก็ดูเข้มแข็ง
แต่ตัวที่ดูโอเคน้อยหน่อย ก็มีอันแรก เรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้ครัวเรือนตอนนี้อยู่ที่ 90.7% ต่อจีดีพี แม้จะลงมาจากระดับสูงสุดที่ 94% ต่อจีดีพีในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ยังถือว่าสูงเกินไป เราอยากให้ (หนี้ครัวเรือน) กลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงปกติ ซึ่งเกณฑ์ต่างประเทศ ตัวเลขที่เขาชอบพูดกัน คือ จะอยู่ที่ประมาณ 80% ต่อจีดีพี
อีกจุดหนึ่งที่ดูสูงและโอเคน้อย คือ หนี้สาธารณะและฝั่งการคลัง หนี้สาธารณะตอนนี้อยู่ที่ 61.7% ต่อจีดีพี ซึ่งสูงที่สุดที่เคยมีมา สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าตอนปี 2540 หนี้สาธารณะวิ่งไปถึง 60% แต่ถ้าเทียบหนี้สาธารณะตอนนี้กับช่วงก่อนโควิดที่อยู่ที่ 40% ถือว่าขึ้นมาค่อนข้างเร็ว ดังนั้น ในแง่เสถียรภาพ ตัวนี้ จึงเป็นอีกตัวที่ไม่ค่อยโอเค
อันที่สอง สิ่งที่สะท้อนว่า เรื่องเสถียรภาพ เราจะชะล่าใจไม่ได้ คือ ตลาดเริ่มมีสัญญาณความกังวล เพราะถ้าไปดู portfolio flow ในปีนี้ พบว่าตั้งแต่ต้นปีถึงตอนนี้ ของเราลบไป 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คือ มีเงินไหลออก (outflow) 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งออกจากทั้งตลาดทุนและตลาดบอนด์
อีกทั้งยังสวนทางกับประเทศอื่นด้วย โดยประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย ของเขาเป็น inflow แต่เราเป็นประเทศเดียวในกลุ่มนี้ที่เห็น outflow ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลที่มีอยู่ และ 8.4 พันล้านดอลลาร์ฯ ก็เป็นตัวเลขที่สูงเป็นอันดับที่ 2 เทียบกับในอดีตหรือในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปีหนึ่งเราเคยเจอ outflow ลบ 10 พันล้านดอลลาร์ฯ
นอกจากเรื่อง outflow เรายังเห็นความผันผวนเรื่องค่าเงินด้วย ตอนนี้ความผันผวนค่าเงินบาทอยู่ที่ 8-9% เป็นรองแค่เกาหลีใต้ แต่ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและคู่เทียบต่างๆ ทั้งยังสูงเมื่อเทียบกับในอดีต แม้ว่าจะไม่ได้สูงสุด เพราะตอนเกิดเรื่อง SVB (Silicon Valley Bank) เคยพีคไปที่ 12% แต่ตัวนี้ เป็นตัวที่โชว์เรื่องความกังวลของตลาด
แล้วยังมีเรื่อง CDS (Credit Default Swap) ที่เหมือนเป็นการซื้อประกันบนบอนด์ที่เราออกไป ซึ่งปกติคนจะมองว่า CDS เป็นตัวที่สะท้อนว่าประเทศนั้นๆมีความเสี่ยงหรือไม่ และที่ผ่านมามันวิ่งจากประมาณ 50 Basis Point มาอยู่ที่ประมาณ 70 แม้ว่าจะไม่ได้สูงสุด เราเคยสูงกว่านี้ในช่วงโควิดที่วิ่งไปเกือบ 100 แต่ก็โชว์ว่า มีสัญญาณของความกังวล
“โดยรวมแล้วเสถียรภาพเราโอเค แต่ยังชะล่าใจไม่ได้ เพราะเริ่มมีสัญญาณต่างๆ เห็นได้จากตัวเลข เห็นได้จาก re-action ของตลาด และ re-action ของเครดิตเรตติ้งเอเจนซี่ เขาเขียนค่อนข้างชัด ไม่ว่าจะเป็น Fitch Ratings (Fitch) , Moody's และ S&P ซึ่งเขาบอกจุดแข็งของเราคืออะไร เช่น กรอบมหภาคค่อนข้างดี ไม่มีปัญหา เรื่องต่างประเทศโอเค
แต่สิ่งที่เขากังวลหลักๆเลย แล้วเขาบอกว่า ถ้าจุดนี้มันเสื่อม ก็จะเป็นโอกาสที่เขาจะปรับเรตติ้งได้ แต่โดยปกติแล้ว เขาไม่ปรับเรตติ้งทันที เขาจะปรับ Outlook ก่อน และของเรานั้น ตอนนี้แต่ละแห่งมองว่า เราเป็น Stable Outlook (ระดับมีเสถียรภาพ) แต่ถ้ามีอะไรที่เสื่อม ก็มีโอกาสที่เขาจะปรับจาก Stable เป็น Negative outlook ได้
แล้วตัวที่เขาบอกว่าตัวที่เป็น ticker for possible downgrade หลักๆแล้วสิ่งที่มีการชี้ นั่นก็คือเรื่องของการคลัง ซึ่งคล้ายๆกับสิ่งที่ IMF อยากเห็น คือ ภาพ fiscal consolidation (การเพิ่มศักยภาพทางการคลัง) อยากเห็นการขาดดุลการคลังลดลง แต่ถ้าภาพตรงนี้หายไป ก็เป็นตัวที่ทำให้เขากังวล
โดยสรุปก็คือ เรื่องเสถียรภาพเรายังโอเคอยู่ แต่ชะล่าใจไม่ได้ และของเรา แต่เดิมตลอดมานั้น เราจะเห็นว่าประเทศไทยเหมือนเป็น Safe Haven (หลุมหลบภัยของนักลงทุน) อะไรๆเกิดขึ้น เงินชอบไหลมา แต่ตอนนี้เราเป็น less of the safe haven คือ ความเป็น Safe Haven ดูเหมือนจะน้อยลง”
@วาง 3 องค์ประกอบทำให้เศรษฐกิจไทย ‘resilience’
เมื่อบริบทเป็นอย่างนี้ ถามว่า ธปท.จะทำอย่างไร ซึ่งด้วยบริบทที่เป็นอย่างนี้ เรามีการปรับโหมดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งการ ‘ปรับโหมด’ ไม่ใช่การ ‘ปรับทิศทาง’ ทิศทางยังเป็นำแตามสิ่งที่วางไว้ แต่จุดสนใจอาจมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง เช่น จากเดิมที่มองระยะสั้นและการออกจากวิกฤติ ก็จะไปมองในเรื่องที่เป็นระยะปานกลางมากขึ้น เป็นต้น
โดยศัพท์ที่ใช้ คือ จะเป็นการมองเรื่อง resilience คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของเรา resilient ซึ่งต้องขออภัยที่ต้องทับศัพท์ เพราะศัพท์คำนี้ แปลเป็นภาษาไทยยาก และตอนแปลเป็นภาษาไทย คนมักแปลว่า เป็นเรื่องเสถียรภาพ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นเรื่องเสถียรภาพ จะใช้คำว่า stability คือ รักษาให้ทุกอย่างมันนิ่งๆ
แต่คำว่า resilience กว้างกว่านั้น มีความยืดหยุ่นกว่า คือ ล้มแต่ฟื้นกลับมาได้เร็ว และมีความปรับเปลี่ยน เช่น ถ้านึกถึง ecosystem ของป่าไม้ มันไม่ใช่ว่าต้นไม้ทุกต้นต้องอยู่ บางต้นอาจจะฝ่อ เหี่ยว ตายไป แต่จะมีต้นใหม่ขึ้นมา ซึ่งโดยรวมทั้งหมดก็คือ resilience มันมีความยืดหยุ่น มีความทนทานต่อ shock ต่างๆ มีคนใหม่เข้ามา คนเก่าออกไป
ทั้งนี้ องค์ประกอบของความเป็น resilience ในมุมของเรา (ธปท.) มีอย่างน้อย 3 อย่างด้วยกัน
อันแรก เป็นเรื่อง macro-financial stability ซึ่งเป็นเรื่องเสถียรภาพ คือ ภาพเศรษฐกิจและภาพการเงิน ต้องมีเสถียรภาพ เช่น เงินเฟ้อไม่ได้สูงเกินไป เศรษฐกิจมีการเติบโตในระดับที่เหมาะสม และเรื่อง financial imbalance (ความไม่สมดุลทางการเงิน) ไม่มีความเปราะบาง ถ้าจะทำให้เศรษฐกิจ resilience ต้องมีตัวนี้ ถ้าไม่มีตัวนี้ ตัวอื่นๆจะไม่ตามมา
อันที่สอง การมีภูมิคุ้มกัน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการมีกันชน ซึ่งช่วยทำให้ทนทานต่อ shock ที่จะมา เช่น งบดุลมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นของครัวเรือน ธนาคาร ธุรกิจ และภาครัฐก็ตาม เพื่อที่ว่าเมื่อเกิด shock ก็ยังรับมือได้ และต้องมีกระสุนเพียงพอ มี ‘policy space’ เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้น ก็จะเครื่องมือด้านนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยและฝั่งการคลัง
อีกอันที่จะทำให้เศรษฐกิจมี resilience และมีภูมิที่ดี จะต้องมีทางเลือก ต้องมีออปชั่นอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าระบบชำระเงินหลักมีปัญหา ต้องมีระบบอีกอันมาช่วยรองรับ ต้องมีถนนหลัก และมีถนนรอง ส่วนเรื่องการค้าขายก็ควรมีทางเลือกอื่นๆ เช่น ถ้าค้าขายก็ไม่อยากให้ใช้เฉพาะดอลลาร์ฯ อยากให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นด้วย เป็นต้น
อันที่สาม คือ ต้องมีโอกาสใหม่ๆ และมีการเติบโตที่มาจากโอกาสใหม่ๆ ของใหม่ ถ้าเป็นเรื่องเสถียรภาพอย่างเดียว จะไม่มีความรู้สึกในเรื่องการเติบโต และถ้าไม่โตเลย แล้วจะมี resilience ได้อย่างไร และก็ไม่ยั่งยืน ไปไม่ได้ จึงต้องมีระบบที่เข้ามาช่วยสร้างเรื่องของโอกาสใหม่ ทำให้เราเติบโตได้จากของใหม่ๆ เช่น เรื่องดิจิทัล เรื่องการปรับเปลี่ยน
“ถ้าเราเอา 3 เรื่องนี้มาขึง อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องทำ เพื่อให้เศรษฐกิจมัน resilience ขึ้น ระบบการเงินเราเอื้อให้เศรษฐกิจ resilience มีหลายเรื่องที่ทางแบงก์ชาติเองต้องปรับ หรือทำต่อหลายเรื่อง บางอันเป็นการต่อยอด บางอันเป็นการปรับโฟกัสต่างๆ
เช่น มิติของเรื่องนโยบายการเงิน จากเดิมที่เราเน้นเรื่อง smooth takeoff ทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้ต่อเนื่อง แล้วเราก็ปรับนโยบายการเงินเป็นขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แล้วตอนนี้เราก็ปรับเป็นเรื่องของ Landing ต้อง Landing ให้ได้ นโยบายการเงิน และดอกเบี้ยต้องอยู่ในระดับ Neutral
คือ เหมาะกับความสมดุลในระยะปานกลาง รักษาการเติบโต เงินเฟ้อ และ financial stability ต้องโอเคในระยะยาว นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่านโยบายการเงิน โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยช่วยให้เศรษฐกิจอยู่ในโหมด resilience คือ ทนทานต่อ shock ต่างๆที่เกิดขึ้น ช่วยทำให้เราเริ่มมี policy space มากขึ้น ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นจะได้มีช่องที่จะทำอะไรบ้าง
ส่วนฝั่งทางด้านมาตรการการเงินก็เหมือนกัน จากเดิมที่เน้นเรื่องการพยุง ประคับประคอง อย่าให้คนที่ต้องจ่ายหนี้จ่ายสูงเกินไป แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นโหมดระยะยาว ถ้าจะพยุงไปเรื่อยๆคงไม่ได้ ต้องหาวิธีทำให้หนี้มันจบ ก็เป็นที่มาของการออกมาตรการ responsible lending ,risk-based pricing: RBP) และ DSR (debt service ratio)
ในเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐาน เราก็มองวิธีที่จะสร้างกันชน สร้างภูมิ เพิ่มทางเลือกต่างๆ เช่น เรื่องระบบการชำระเงิน ทำให้มีช่องทางใหม่ๆที่จะช่วยเสริมระบบที่อยู่ มีทางเลือกเพิ่มขึ้น อย่างเรื่องพร้อมเพย์ (promptpay) ของเรา ซึ่งเป็นถนนหลักที่ทำงานได้ดี แต่เรายังอยากให้มีช่องทางอื่นๆ เช่น PromptBiz มาช่วยเอสเอ็มอี เป็นต้น
แล้วก็เรื่องการสร้างโอกาสใหม่ๆ เราจะสนับสนุนให้เกิดโอกาสจาการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในด้านดิจิทัล และสร้างโอกาสที่จะมีจากการมุ่งไปในเรื่อง transition (สนับสนุนให้ภาคการเงินไทยพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสามารถตอบโจทย์ความต้องการปรับตัวของภาคธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น)
โดยในฝั่ง transition ที่ผ่านมาเราเน้น 5 building blocks ให้เป็นเครื่องมือให้เขา ( 5 building blocks : การปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินเพื่อให้มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการธุรกิจ (Products and Services) มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy)
ฐานข้อมูลที่เป็นระบบและเข้าถึงได้และมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Data and Disclosure) .โครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในภาคการเงินที่เหมาะสม และองค์ความรู้และทักษะของบุคลากรในภาคการเงิน (Capacity Building))
แต่ในเฟสต่อไป เราอยากเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่จะออกมาชัดเจน จากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจมีการเปลี่ยนผ่านได้”
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำเหยียบคันเร่งกระตุ้นศก.‘อาจไม่จำเป็น’-ชี้เป้าแก้‘จุดอ่อน’เชิงโครงสร้าง
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : เงินเฟ้อที่สูงมาก-หนี้สินที่คุมไม่ได้ ย่อมเสี่ยงเกิดวิกฤติ ศก.
‘ผู้ว่าฯธปท.’แนะรัฐบาล‘พักหนี้ฯ-แจกเงินดิจิทัล’เฉพาะกลุ่ม-ย้ำไม่เปลี่ยน‘นโยบายการเงิน’
ปีนี้โต3%กลางๆ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำศก.ฟื้นต่อเนื่อง-เปลี่ยนโจทย์นโยบายการเงินเป็น‘landing’
เงินเฟ้อลงชั่วคราว! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ส่งสัญญาณยังไม่หยุดขึ้นดบ.-ห่วงตั้งรบ.ช้ากระทบเชื่อมั่น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำระบบการเงินไทย‘มีเสถียรภาพ-ทำงานได้ดี’-ขอ‘นายแบงก์’ร่วมแก้หนี้ครัวเรือน
ต้องเน้นเสถียรภาพ! ‘ผู้ว่าฯธปท.’ห่วงนโยบาย‘พรรคการเมือง’มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดบ.นโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25%-จับตาเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอกว่าคาด
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’