รัฐวิสาหกิจในสกอตแลนด์ชื่อว่าคาเลโดเนียน มาริไทม์ แอทเซทหรือ CMAL ที่เป็นเจ้าของและทำหน้าที่ในการจัดซื้อเรือข้ามฟากให้กับประเทศนั้นล้มเหลวในการกำหนดว่าควรจะมีผลประโยชน์ใดๆกับทางบริษัทในสกอตแลนด์ ต่อกรณีที่รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ได้มอบสัญญามูลค่า 220 ล้านปอนด์ (9,400,404,778 บาท) กับบริษัทอู่ต่อเรือในตุรเคียชื่อว่า Turkish shipyard Cemre Marin Endustri
ส่องคดีทุจริตโลกสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอเสนอประเด็นความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับวงการต่อเรือในประเทศสกอตแลนด์
โดยมีรายงานจากสำนักข่าวเฮอร์รัลด์ของสกอตแลนด์ว่า ณ เวลานี้ รัฐมนตรีหลายคนของสกอตแลนด์กำลังเผชิญกับข้อครหากรณีความไม่โปร่งใสเพราะพบว่าบริษัทในสกอตแลนด์หลายแห่งนั้นไม่ได้เข้าไปมีส่วนในการต่อเรือ จากกรณีที่รัฐวิสาหกิจของประเทศมีสัญญาต่อเรือกู้ชีพในประเทศตุรเคียเลยแม้แต่บริษัทเดียว
สำหรับกรณีความไม่โปร่งใสดังกล่าวนั้นถูกเปิดโปงหลังจากที่รัฐวิสาหกิจในสกอตแลนด์ชื่อว่าคาเลโดเนียน มาริไทม์ แอทเซทหรือ CMAL ที่เป็นเจ้าของและทำหน้าที่ในการจัดซื้อเรือข้ามฟากให้กับประเทศนั้นล้มเหลวในการกำหนดว่าควรจะมีผลประโยชน์ใดๆกับทางบริษัทในสกอตแลนด์ ต่อกรณีที่รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ได้มอบสัญญามูลค่า 220 ล้านปอนด์ (9,400,404,778 บาท) กับบริษัทอู่ต่อเรือในตุรเคียชื่อว่า Turkish shipyard Cemre Marin Endustri
โดยในช่วงต้นปีนี้มีรายงานว่าบริษัทในตุรเคียเพิ่งจะได้รับสัญญาฉบับที่สองคิดเป็นมูลค่ากว่า 115 ล้านปอนด์ (4,913,847,952 บาท) เพื่อให้สร้างเรือข้ามฟากจำนวนสองลำเพื่อทดแทนเรือข้ามฟากที่มีใช้งานในสกอตแลนด์ที่มีอายุมากแล้ว อย่างไรก็ตามพบว่าผลประโยชน์เดียวที่สกอตแลนด์จะได้รับจากสัญญาต่อเรือฉบับนี้ก็คือว่าจะมีเด็กฝึกงานชาวสก๊อตจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่จะได้ไปฝึกงานแบบโดยไม่ระบุช่วงเวลาที่อู่ต่อเรือในประเทศตุรเคีย
ย้อนไปในช่วงเวลาที่มีการทำสัญญาต่อเรือฉบับแรกคิดเป็นมูลค่ากว่า 105 ล้านปอนด์ (4,486,556,826 บาท) เพื่อให้ต่อเรือข้ามฟากอีกจำนวนสองลำ ก็พบว่าผลประโยชน์ที่สกอตแลนด์จะได้รับนั้นมีเพียงแค่ชาวสก็อตจำนวนสามคนจะได้รับประสบการณ์การฝึกงานที่อู่ต่อเรือของบริษัท Camre ในทุกปีเป็นระยะเวลาสามปี และจะมีการให้เงินกว่า 30,000 ยูโร (1,143,893 บาท) เพื่อสนับสนุนโครงการทั่วประเทศสกอตแลนด์
ต่อมาในวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็ปรากฏข้อมูลว่ามี 58 บริษัทที่ทำหน้าที่ในด้านการให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับเรือเฟอร์รี่ที่ถูกต่อในตุรเคีย ทว่าบริษัทเหล่านี้ทั้งหมดกลับมีที่ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ หรืออยู่ในต่างประเทศอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาการขาดข้อมูลที่ชัดเจนว่าสกอตแลนด์จะได้อะไรบ้างในสัญญาการต่อเรือครั้งนี้ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง
และกระแสความไม่พอใจของสังคมก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก เพราะปรากฏข้อมูลว่าผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ CMAL ได้แก่นายเควิน ฮอบส์ และผู้อำนวยการด้านเกี่ยวกับเรือได้แก่นายจิม แอนดอร์สัน จะมีกำหนดการสัมมนาบนเรือ โดยมีค่าใช้จ่ายต่อคืนอยู่ที่รายละ 1,000 ปอนด์ (42,729 บาท) ในสัปดาห์นี้
อนึ่งปัญหาเกี่ยวกับการทำสัญญาเรือข้ามฟากนั้นเกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่เรือข้ามฟากหลายลำที่เป็นของ CMAL และดำเนินการเดินเรือโดยรัฐวิสาหกิจว่าด้วยการเดินเรืออีกแห่ชื่อว่า CALMAC นั้นประสบปัญหาชำรุดเสียหาย ขณะที่การต่อเรือช่วยชีวิตสองลำที่กระทำโดยรัฐวิสาหกิจเฟอร์กูสัน มารีน ซึ่งอยู่ในเครือรัฐวิสาหกิจ CMAL ก็ประสบกับความล่าช้าและยังไม่แล้วเสร็จเป็นระยะเวลานานห้าปีจากกำหนดการเดิม ทำให้ราคาค่าใช้จ่ายพุ่งขึ้นเป็นสี่เท่า
วิดีโอโปรโมตของ CMAL (อ้างอิงวิดีโอจาก Caledonian Maritime Assets)
ทางด้านของนายจิม แมคคอล มหาเศรษฐีและเป็นอดีตเจ้าของรัฐวิสาหกิจเฟอร์กูสัน มารีน ผู้ซึ่งเคยมีประวัติช่วยบริษัทอู่ต่อเรือแห่งนี้ให้รอดจากการภาวะขาดทุนจนต้องปิดกิจการในปี 2557 ก็ได้ออกมากล่าวโทษไปที่รับวิสาหกิจ CMAL ว่าได้มีการสั่งเปลี่ยนแบบจนเกิดปัญหา ส่วน CMAL ที่เป็นเจ้าของ CALMAC ก็ได้กล่าวโทษไปยังบริษัทอู่ต่อเรือ
โดยในตอนนี้รัฐมนตรีหลายคนรวมไป CMAL กำลังถูกประนามว่าสัญญาการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจนั้นไม่ได้ให้ผลประโยชน์ต่อท้องถิ่นแต่อย่างใด ทั้งๆที่เรื่องการทำสัญญาจัดซื้อที่ต้องให้ประโยชน์กับในประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ถูกระบุอยู่ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้าง (สกอตแลนด์) ปี 2557 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ล่าสุด ซึ่งกฎหมายนั้นบังคับไว้เลยว่ามันต้องเป็นข้อกำหนดในสัญญาที่จะต้องดำเนินการทั้งการฝึกคน การว่าจ้างคน และการหาผู้รับเหมารายย่อยที่จะให้ประโยชน์กับประเทศ
ที่ผ่านมารัฐบาลสกอตแลนด์เองก็เคยออกความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า “ผลประโยชน์ต่อท้องถิ่นนั้นเกิดขึ้นในหลายระดับ ทั้งในระดับผลลัพธ์ระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการจ้างงาน ทักษะ และการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มด้อยโอกาส ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายในการที่จะบรรลุการใช้ข้อกำหนดเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ”
มีรายงานด้วยว่าในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเรือข้ามฟากในครั้งแรก ที่จะจัดหาเรือข้ามฟากจำนวนสองลำ ทาง CMAL ได้ปฏิเสธการเสนอราคาที่ถูกเสนอโดยรัฐวิสาหกิจเฟอร์กูสัน มารีน
ทั้งนี้นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ฉบับปี 2557 ปรากฏออกมา หลายคนก็ให้ความเห็นว่านี่เป็นการย้ายความสำคัญในรูปแบบของการจัดซื้อจัดจ้างจากพื้นฐานเดิมที่เอกชนจะต้องเสนอราคาต่ำสุดให้กับรัฐ กลายมาเป็นว่าเอกชนที่จะเสนอราคาต่อรัฐจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการให้ผลประโยชน์ระยะยาวที่ดีที่สุดสำหรับท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม
โดยกฎหมายระบุว่าสัญญารัฐที่มีมูลค่าเกินสี่ล้านปอนด์ (170,916,450 บาท) ขึ้นไป จะมีข้อกำหนดเฉพาะว่าต้องมีการดำเนินการเพื่อให้ผลประโยชน์กับท้องถิ่นนั้นๆในพื้นที่อำนาจออกสัญญา
ผลประโยชน์ที่ว่านี้ควรจะครอบคลุมไปถึงการฝึกฝน การจ้างงาน การจัดหาผู้รับเหมารายย่อย โอกาสการหาซัพพลายเออร์ และต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจสังคมหรือสิ่งแวดล้อมของพื้นที่
โดยถ้าหากไม่มีการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับท้องถิ่นในสัญญา ก็จะต้องมีการออกแถลงการณ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงเหตุผลในการตัดสินใจในสัญญา
ทว่าทาง CMAL กลับปฏิเสธและยืนยันว่าไม่มีการละเมิดกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง โดยรัฐวิสาหกิจบอกว่าไม่มีข้อกฎหมายจำเพาะในการพิจารณาผลประโยชน์ต่อท้องถิ่น
ข่าวกรณีความล่าช้าในการต่อเรือข้ามฟากที่เป็นของรัฐวิสาหกิจ CMAL (อ้างอิงวิดีโอจาก STV News)
CMAL กล่าวต่อไปด้วยว่าข้อบังคับเกี่ยวกับสัญญาสาธารณะของสกอตแลนด์นั้นกำหนดให้ผู้รับเหมาต้องปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจ “อย่างเท่าเทียมกัน และไม่เลือกปฏิบัติและจำกัดกับรายใดรายหนึ่ง” จากการแข่งขันที่แคบลง ดังนั้นการจำกัดซัพพลายเออร์ ฐานส่งวัตถุดิบให้แคบลงโดยเจาะจงว่าต้องมาจากแค่ในสกอตแลนด์เท่านั้นอาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การสนับสนุนผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงอย่างยิ่ง ซึ่งการเจาะจงตัวอุปทานในสัญญาว่าจะต้องมาจากสกอตแลนด์อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต”
แต่ตอนนี้กลับเริ่มมีความกังวลที่ชัดเจนมากขึ้นว่าเรือข้ามฟากสองลำแรกที่มีการต่อตามสัญญานั้นอาจใช้เหล็กที่มาจากประเทศจีน
โดยในรายละเอียดของรัฐบาลสกอตแลนด์ที่ระบุเกี่ยวกับ 58 บริษัทที่จะสนับสนุนการการต่อเรือข้ามฟากนี้ พบว่า 40 บริษัทเพิ่งจะมีการลงนามในข้อตกลงเมื่อสิ้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ 18 บริษัทที่เหลือยังไม่ได้ลงนามเพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนการขอคำอนุมัติ ในระหว่างที่กระบวนการต่อเรือกำลังดำเนินการไป
ทว่าในจำนวนทั้ง 58 บริษัทนี้ พบว่ามีแค่บริษัทเดียวที่มีความเกี่ยวข้องกับสกอตแลนด์
บริษัทที่ว่านี้ได้แก่บริษัท Kongsberg ที่ตั้งอยู่ในประเทศนอร์เวย์ โดยบริษัทนั้นมีข้อตกลงกับทางบริษัท Cemre Marin Endustri ว่าจะดำเนินการจัดหาครีบลดอาการโคลงแบบพับเก็บได้จำนวน 50 ชิ้น ซึ่งบริษัทนี้มีโรงงานสำหรับผลิตอยู่ที่เมืองดันเฟิร์มลิน สกอตแลนด์
ขณะที่นายคริส แม็คเอเลนี อดีตหัวหน้าพรรคชาติสก็อตแลนด์ (ตอนนี้เป็นพรรครัฐบาลสกอตแลนด์) และตอนนี้เป็นเลขาธิการพรรคอัลบากล่าวว่าเขาเชื่อว่า CMAL และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนั้นทำผิดกฎหมายอย่างแน่นอน เพราะว่าไม่มีผลประโยชน์ต่อชุมชุนอันมาจากสัญญาเหล่านี้เลย
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาการต่อเรือข้ามฟากสองลำแรกนั้นพบว่า CMAL ได้มีการเชิญชวนบริษัทจากต่างประเทศจำนวนสี่แห่งเข้ามาร่วมประกวดราคาในโครงการต่อเรือข้ามฟากไปเกาะไอเลย์ แต่กลับไม่เชิญรัฐวิสาหกิจเฟอร์กูสันมารีนที่เป็นของรัฐบาลสกอตแลนด์ โดยมีรายงานว่ารัฐวิสาหกิจแห่งนี้ไม่ผ่านเกณฑ์ในแบบสอบถามคุณสมบัติเบื้องต้นอันเกี่ยวข้องกับอุปสรรคในโครงการเรือข้ามฟากเกาะไอเลย์
ส่งผลทำให้ในที่สุดบริษัทจากตุรกีได้รับสัญญาต่อเรือนี้ไป ซึ่งทางด้านของนายเกรแฮม ซิมป์สัน รัฐมนตรีเงาจากพรรคอนุรักษ์นิยมก็ได้ออกมากล่าวหาสัญญานี้ว่านี่ถือว่าเป็นความอับอายอย่างยิ่งของพรรคชาติสก็อตแลนด์
ขณะที่ตัวรัฐวิสาหกิจเฟอร์กูสัน มารีน ที่ปัจจุบันมีอู่ต่อเรือเหลืออยู่แห่งเดียวในพื้นที่ทางตอนล่างของแม่น้ำไคลด์ นั้นพบว่าที่ผ่านมาต้องเข้าเป็นรัฐวิสาหกิจในเดือน ส.ค. 2562 เนื่องจากประสบภาวะทรุดตัวทางการเงิน แต่ตอนนี้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้กำลังประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้นท่ามกลางความล่าช้าในการต่อเรือข้ามฟากจำนวนสองลำ
ข่าวผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจเฟอร์กูสัน มารีน พยายามสร้างความเชื่อมั่นว่าเรือข้ามฟากที่กำลังต่อนั้นจะไม่ล่าช้า (อ้างอิงวิดีโอจาก STV News)
ส่วนนายไบรอัน ฟุลตัน หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนธุรกิจของ CMAL ก็ได้เคยออกมากล่าวถึงประเด็นเรื่องความกังวลว่าสัญญานี้จะไม่ให้ประโยชน์ต่อท้องถิ่นผ่านจดหมายไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมาว่าข้อกำหนดที่บอกว่าท้องถิ่นต้องได้ประโยชน์มีลักษณะเป็นเหมือนกับคำแนะนำเท่านั้น
ขณะที่นายเควิน สจ๊วต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลสกอตแลนด์มุ่งมั่นที่จะว่าจัดหาเรือข้ามฟากลําใหม่เพื่อสนับสนุนท้องถิ่นบนเกาะของเรา และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นความคืบหน้าในการนําเรือเหล่านี้เข้าประจําการตรงเวลาและงบประมาณ เส้นทางเรือข้ามฟากไอเลย์ เป็นบริการที่มีความพลุกพล่านที่สุดสําหรับการขนส่งสินค้าบนชายฝั่งตะวันตกและเรือลําใหม่จะช่วยขยายเศรษฐกิจของเกาะรวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเครือข่ายที่กว้างขึ้น
“เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกระบวนการประมูลแบบเปิดนําโดย CMAL ในฐานะผู้มีอํานาจในการจัดหา การเสนอราคาที่ได้รับครั้งนี้แสดงถึงความคุ้มค่าสูงสุดในแง่ของคุณภาพและราคา สัญญาที่ได้รับจาก CMAL เป็นสัญญาการต่อเรือระหว่างประเทศที่มีมาตรฐานและด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจเกี่ยวกับวัสดุและอุปกรณ์จึงอยู่ที่อู่ต่อเรือเป็นหลัก” นายสจ๊วตกล่าว
ทางด้านของโฆษกของรัฐวิสาหกิจ CMAL กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าเป็นเพราะว่าไม่มีบริษัทอู่ต่อเรือแห่งใดเลยในสหราชอาณาจักรที่จะผ่านหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างของสกอตแลนด์ จึงเป็นเหตุให้มีการมอบสัญญาให้กับบริษัทอู่ต่อเรือจากตุรกี ส่วนสัญญาฉบับที่สองที่ต่อเรืออีกสองลำนั้นทาง CMAL ก็ไม่ได้รับการเสนอราคาจากบริษัทใดๆเลยในสหราชอาณาจักร
โฆษกบริษัทระบุต่อไปว่า พระราชบัญญัติการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้าง (สกอตแลนด์) 2557 ไม่ได้กําหนดให้ผลประโยชน์ของชุมชนรวมอยู่ในสัญญา อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท CEMRE ที่เป็นบริษัทตุรเคีย ได้บริจาคเงิน 30,000 ปอนด์ให้กับกองทุน CSR ของ CMAL ซึ่งได้สนับสนุนโครงการริเริ่ม 14 โครงการทั่วสกอตแลนด์รวมถึงข้อเสนอโครงการฝึกงานสําหรับนักเรียนสูงสุด 10 คนในช่วงเวลาที่เรืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง
โฆษกบริษัทกล่าวทิ้งท้ายว่าตลอดการสร้างเรือทั้ง 4 ลํา จะมีการสร้างท่าเรือที่ Port Askaig, Colonsay, Port Ellen และ Kennacraig ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างงานและสิ่งอํานวยความสะดวกที่ดีขึ้นให้กับชุมชนในพื้นที่เหล่านี้ และแน่นอนว่าเมื่อเรือได้ต่อแล้วเสร็จเรือลำใหม่จะต้องมีการบํารุงรักษาตลอดอายุการใช้งานซึ่งจะทำให้การว่าจ้างงานใหม่ในตำแหน่งบริการเรือทั้งในอู่ต่อเรือในสก็อตแลนด์และในสหราชอาณาจักร
เรียบเรียงจาก: heraldscotland.com/news/homenews/23458828.scots-firms-get-nothing-220m-ferry-deals-given-turkey/
- ส่องคดีทุจริตโลก:เอกสารหลุดเพนตากอน แฉความสัมพันธ์ รัสเซีย- UAE ช่วยหลบมาตรการคว่ำบาตร
- ส่องคดีทุจริตโลก:เจาะลึกระบบธนาคารใต้ดินจีน เอี่ยวฟอกเงินพันล้านแก๊งยาเสพติดยุโรป
- ส่องคดีทุจริตโลก: อัยการ EU สั่งสอบ งบฟื้นฟูเมืองหลวงบัลแกเรียไม่โปร่งใส เสียหาย ร้อย ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: รบ.เซอร์เบีย ส่อใช้งานนักจารกรรมข้อมูลการเงินอิสราเอลโจมตีฝ่ายตรงข้าม
- ส่องคดีทุจริตโลก: เอกชนใกล้ชิดพรรคการเมือง ได้สัญญาส่งอาหารกองทัพลัตเวีย 8 พัน ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก:อัยการสวิสสั่งฟัน 4 นายธนาคาร เอื้อประโยชน์คนสนิทปูตินฝากเงินนับพัน ล.
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปง 3 เอกชนเยอรมนี นำเข้าไม้สักผิด กม.จากเมียนมานานนับปี
- ส่องคดีทุจริตโลก:แฉ หน.ทหารรับจ้างวากเนอร์ หลบคว่ำบาตรตะวันตก หารายได้ พัน ล.ในแอฟริกา
- ส่องคดีทุจริตโลก: แฉคอร์รัปชั่นวงการก่อสร้างตุรเคีย ต้นเหตุยอดตายแผ่นดินไหว 4.6 หมื่นศพ
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดปม บ.เกลมาโต้ถูกกล่าวหาจ่ายคอมมิชชั่นเอื้อทำสัญญาหลาย รบ.ในแอฟริกา
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.พลังงานยักษ์ใหญ่ตะวันตก ทำธุรกิจหนุนเส้นเงินเผด็จการเมียนมา
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดปมฉาว กห.ยูเครนจัดซื้ออาหารไม่โปร่งใส กระทบความเชื่อมั่นต่างชาติ
- ส่องคดีทุจริตโลก:ขมวดปมอื้อฉาว ATK สะเทือนพรรคคอมฯเวียดนามอย่างไร หลัง ปธน.ลาออก
- ส่องคดีทุจริตโลก: ตามรอยบุหรี่จีนนับล้านมวนสูญหาย หลังเดินทางออกจากโรงงานในโรมาเนีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงเอกชนรับงานบูรณะถนนยูเครนพันล้าน เชื่อมโยงผู้ต้องหาหนีคดี FBI
- ส่องคดีทุจริตโลก: ประมวลข่าวคอร์รัปชันโลกปี 65 จากโอลิการ์ชรัสเซียถึงเอกสารแพนโดรา