สิ่งที่ตามมาหลังจากการสืบสวนเรื่องอื้อฉาวในครั้งนี้ก็คือการปราบปรามครั้งใหญ่ ส่งผลทำให้ตัวเลขของผู้ถูกจับกุมจากกรณีทุจริตนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีรายงานว่ามีรองนายกรัฐมนตรีสองคน รัฐมนตรีสามคน เจ้าหน้าที่ข้าราชการ นักการทูต และนักธุรกิจจำนวนกว่า 130 คนก็ถูกจับกุมเช่นกัน
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอกรณีความไม่โปร่งใสเรื่องการจัดหาชุดตรวจโควิด ATK ของประเทศเวียดนามที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกส่งผลทำให้ประธานาธิบดีเวียดนามต้องลาออกจากตำแหน่ง
โดยสำนักข่าวแชนนอลนิวส์เอเชียของสิงคโปร์ได้ขมวดปมดังกล่าว ระบุว่าหายนะทางการเมืองของประธานาธิบดีเวียดนาม นายเหงียนซวนฟุก ที่ต้องลาออกจากตำแหน่งในข้อกล่าวหาว่าภรรยาของเขา และเครือญาตินั้นมีส่วนพัวพันกับการทุจริต และกรณีอื้อฉาวดังกล่าวก็ยังส่งผลกระทบพรรคคอมมิวนิสต์ และส่งผลต่อผู้ที่จะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ตามมาด้วย
ขณะที่แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ในรัฐบาลระบุว่านายโทลาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของเวียดนามในวัย 65 ปี น่าจะเป็นแคนดิเดตที่โดดเด่นที่สุดสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนถัดไป อย่างไรก็ตามกระบวนการคัดเลือกทางการเมืองในเวียดนามมักจะมีความคลุมเครือและไม่แน่นอนจนถึงนาทีสุดท้าย
ย้อนไปเมื่อวันที่ 18 ม.ค. สภานิติบัญญัติแห่งชาติเวียดนามได้มีการอนุมัติการลาออกของนายฟุก ซึ่งการลาออกเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่เขาได้ลาออกจากกลไกการต่อต้านการทุจริตและการรับสินบนที่เขาได้ก่อตั้งขึ้นมาเอง
อย่างไรก็ตามมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่าทีของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นแค่พิธีการเท่านั้น เนื่องจากว่าการประทับตรายางครั้งนี้เป็นสิ่งที่คณะกรรมการกลางพรรคคอมนิวนิสต์ได้ตัดสินใจไว้แล้วสำหรับอาชีพทางการเมืองของนายฟุก
“ผมคิดว่าเหตุผลหลักก็คือภรรยาของเขา และสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวบางคนถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต” นายเลอ ฮง เฮียป ศาสตราจารย์อาวุโสและผู้ประสานงานโครงการเวียดนามศึกษาที่ สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) กล่าว
โดยมาดาม ทราน ธิ งัยเยต ทู ภรรยาของนายฟุก และเครือญาติคนอื่นๆนั้นถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการฉ้อโกงชุดตรวจโควิดมูลค่ารวมกว่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5,548,800,000 บาท)
มาดาม ทราน ธิ งัยเยต ทู (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวแห่งหนึ่งในเวียดนาม)
"ในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของพรรค ไม่ได้กล่าวถึงปัญหาการทุจริตเหล่านี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะพรรคต้องการรักษาหน้าประธานาธิบดีและต้องการปกป้องชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของพรรคเอาไว้" นายเฮียปกล่าวและกล่าวต่อไปว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ประชาชนเชื่อหรือคิดว่าแม้แต่ผู้นำระดับสูงของพรรคก็ทุจริต
@การทุจริตชุดตรวจโควิด
ย้อนไปในช่วงแรกๆชองวิกฤติโรคระบาดในเดือน มี.ค. 2563 ประเทศเวียดนามได้ประกาศว่าสามารถผลิตชุดตรวจโควิดที่มีมาตรฐานตามองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้เป็นผลสำเร็จ
โดยการใช้เงินทุนจำนวน 8 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (26,112,000 บาท) ซึ่งเงินนี้มาจากทั้งกองทุนของรัฐ,โครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันการแพทย์ทหารและ บริษัท เอกชนชื่อว่าเวียดเอ นี่จะส่งผลทำให้ชุดตรวจโควิดมีราคาถูกลง ตามคำกล่าวอ้างของนักวิจัยในโครงการ
อย่างไรก็ตาม จากการสืบสวนพบว่าโครงการนี้กลายเป็นการฉ้อโกงครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของเวียดนามเนื่องจากชุดตรวจโควิดไม่ได้มาตรฐาน
เจ้าหน้าที่สืบสวนได้รายงานข่าวก่อนการเปิดโปงการทุจริต พบว่ามีชุดตรวจโควิดที่มีปัญหาเรื่องการฉ้อโกงนั้นถูกขายไปทั่วประเทศ ด้วยราคาที่สูงมาก โดยขายให้กับศูนย์ควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ 62 จาก 63 จังหวัด และขายให้กับตามเมืองต่างๆทั่วประเทศเวียดนาม
ขณะที่ทางการได้กล่าวว่าที่การหลอกลวงสามารถดำเนินต่อไปได้นั้นก็เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีกรณีการให้สินบนและการหนุนหลังจากนักการเมือง
เพราะว่าในคดีทุจริตดังกล่าวนั้นได้นำไปสู่การจับกุมนายเหงียน แท็ง ลอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายชู หง็อก อันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบุคคลทั้งสองนี้ถือว่าเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งสูงสุดที่เคยถูกจับกุมในคดีการทุจริต
มีรายงานด้วยว่าเรื่องอื้อฉาว ATK นี้ ยังเป็นอีกหนึ่งในหลายๆเรื่อง ที่เข้าไปอยู่ในการรณรงค์ต่อต้านทุจริต ซึ่งนำโดยนายเหงียน ฟู่ ตรอง เลขาธิกาพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
นอกเหนือจากกรณีทุจริต ATK แล้วก็มีกรณีความไม่โปร่งใสในเรื่องของการนำตัวชาวเวียดนามที่ตกค้างในต่างประเทศช่วงโควิดกลับมาที่ประเทศเวียดนามด้วยเช่นกัน
โดยความไม่โปร่งใสในทั้งสองกรณีนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่นายฟุกได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ก่อนที่เขาจะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีในเดือน เม.ย. 2564
@การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น
ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เหล่าบรรดาผู้นำเวียดนามมักจะแสดงจุดยืนว่าต้องการถอนรอกถอนโคนการทุจริต และสื่อสารว่านี่คือวาระสำคัญของประเทศมาโดยตลอด โดยนับตั้งแต่ช่วงการระบาดครั้งใหญ่ในกลางปีที่แล้ว ความสนใจของการปราบปรามการทุจริตก็มุ่งเน้นไปที่การรับสินบน
โดยสาเหตุก็มาจากเรื่องอื้อฉาว ATK ที่มีความแตกต่างจากกรณีการทุจริตอื่นๆ เนื่องจากว่าเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจและทำให้สาธารณชนในเวียดนามโกรธแค้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเหตุเกิดในช่วงเวลาที่ชีวิตของประชาชนได้รับผลกระทบรุนแรงจากโรคระบาดอยู่แล้ว
“เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับโควิดเป็นเรื่องอุกอาจ เพราะมันส่งผลกระทบต่อประชากรที่ตกใจและโกรธเคืองมากที่รู้ว่ารัฐมนตรีกําลังหากำไรในขณะที่พวกเขากําลังทุกข์ทรมาน” นายคาร์ไลล์ เธเยอร์ นักวิเคราะห์และศาสตราจารย์กิตติคุณจากวิทยาลัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์กล่าว
ข่าวการลาออกของนายฟุก (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
สิ่งที่ตามมาหลังจากการสืบสวนเรื่องอื้อฉาวในครั้งนี้ก็คือการปราบปรามครั้งใหญ่ ส่งผลทำให้ตัวเลขของผู้ถูกจับกุมจากกรณีทุจริตนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีรายงานว่ามีรองนายกรัฐมนตรีสองคน รัฐมนตรีสามคน เจ้าหน้าที่ข้าราชการ นักการทูต และนักธุรกิจจำนวนกว่า 130 คนก็ถูกจับกุมเช่นกัน
สำหรับนายฟุกก็เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐบาลตำแหน่งสูงสุดที่ตกเป็นเป้าของการปราบปรามด้วยเช่นกัน โดยรายงานจากทางรัฐบาลระบุว่านายฟุกในฐานะประธานาธิบดีต้องเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดต่อการกระทำผิดอันเกิดจากข้าราชการต่างๆ
ขณะที่นายตรอง เลขาธิการพรรคฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สามในปี 2564 ด้วยการรณรงค์ขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริต สิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในเวียดนามเช่นกัน
“ในอดีตการทุจริต เจ้าหน้าที่แค่ไปจับผู้ที่กระทำความผิดทางอาญามาเท่านั้นแต่ว่าในปัจจุบันมันได้ขยายผลไปถึงกลุ่มผู้ร่วมเครือข่ายและผู้สนับสนุนกิจกรรมทุจริตนั้นด้วย ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้กำลังจะถูกคลี่ออกมาให้เห็น” นายเธเยอร์กล่าว
ขณะที่นายเฮียปกล่าวว่าพรรคคอมมิวนิสต์คิดว่าการต่อสู้กับการทุจริตให้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น วิธีหนึ่งก็คือว่าทำให้เจ้าหน้าที่คนนั้นต้องรับผิดชอบ และก็ต้องให้เจ้าหน้าที่คนนั้นรับผิดชอบต่อการกระทำของสมาชิกครอบครัวและผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย
อนึ่งตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของนายตรองนั้นถือว่าเป้นตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดในสี่เสาหลักการปกครองของเวียดนาม ซึ่งสามตำแหน่งที่เหลือได้แก่ตำแหน่งประธานาธิบดี,นายกรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญัติ
@การสั่นคลอนตำแหน่งผู้นำ
กรณีการกวาดล้างผู้ทุจริตดังกล่าวนั้นส่งผลทำให้เกิดตำแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการกลางในโปลิตบูโร (คณะปกครองของประเทศในระบอบคอมมิวนิสต์) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในประเทศ
โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่าการสั่นคลอนทางการเมืองดังกล่าวนั้นจะส่งผลทำให้เวียดนามมีความเสี่ยงมากทั้งจากปัญหาภายในประเทศ และมีความเสี่ยงมากในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทั้งนี้นอกจากนายฟุกแล้ว นายฟาม บินห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและอดีตรองนายกรัฐมนตรีเวียดนามก็ต้องถูกขับออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 ม.ค. เช่นกัน ขณะที่นายเธเยอร์กล่าวว่าทั้งสองคนนี้ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงต่างประเทศของเวียดนาม ขณะที่รัฐมนตรีคนใหม่ที่เพิ่งถูกบรรจุเข้ามานั้นพบว่ามีประสบการณ์ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่น้อยกว่ามาก
ในช่วงเวลาที่นายฟุกเป็นนายกรัฐมนตรี เขายังเคยดูแลและควบคุมทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่อัตราร้อยละ 6 ต่อปี และยังเป็นผู้มีส่วนในการเซ็นข้อตกลงการค้าหลายฉบับกับต่างประเทศ ทำให้เขาได้รับเครดิตค่อนข้างมากในฐานะผู้ปฏิรูปธุรกิจอย่างมืออาชีพ
ดังนั้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้ภาคธุรกิจกับนักวิเคราะห์ต่างมีความเห็นที่ปะปนกันไปว่าบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่แน่นอนนั้นจะส่งผลกับการลงทุนจากต่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่
“จนถึงขณะนี้ (รัฐบาล) ยังสามารถดำเนินการได้อย่างดีตามเกณฑ์ที่มีการวัดผลเอาไว้และมีการประสานงานกันอย่างดีเพื่อให้พวกเขาสามารถควบคุมผลกระทบได้” นายเฮียปกล่าวถึงความพยายามจะปราบปรามการทุจริตในเวียดนามและกล่าวต่อไปว่ายอมรับว่ามันยังมีปัญหาระยะสั้นอยู่บ้าง ซึ่งเป็นราคาที่พวกเขาต้องจ่ายเพื่อผลที่ดีกว่าในระยะยาว นั่นคือการควบคุมการทุจริต การปรับปรุงความโปร่งใสในรัฐบาลและในภาคการตลาด
ขณะที่นายเธเยอร์กล่าวว่าเขาเชื่อว่าความเสียหายที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามน่าจะถูกจำกัดวงเอาไว้ได้
โดยตอนนี้ หลังจากการลาออก นายโว ทิ อันห์ ซวน รองประธานาธิบดีเวียดนามจะทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดีไปก่อนจนกว่าจะมีการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่
เรียบเรียงจาก:https://www.channelnewsasia.com/asia/vietnam-president-phuc-resigns-corruption-wife-covid-test-kits-scandals-3219991