ในข้อมูลเอกสารศาลที่สำนักข่าว Mediapart ได้รวบรวมมาได้นั้นระบุว่าผู้พิพากษาที่ดำเนินการสืบสวนทางการเงินคือก็คือนายวินเซนต์ เลโมเนียร์ ได้มีการระบุถึงเอกสารการทำสัญญารัฐบาลลต่างแดนเป็นจำนวนนับสิบสัญญา (สัญญาส่วนมากเกี่ยวกับสัญญาในด้านการจัดทำบัตรประชาชน,บัตรเลือกตั้ง,ป้ายทะเบียนต่างๆ) ซึ่งได้ทำกับบริษัทเกลมาโต้ที่ชนะสัญญาเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงปี 2558-ช่วงต้นปี 2562 โดยผู้พิพากษาเลโมเนียร์ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับรายละเอียดที่ระบุว่ามีการรับเงินคอมมิชชั่นเพื่อเอื้อต่อการชนะสัญญาเหล่านี้ โดยมีผู้รับเงินคือคนกลางจำนวนหลายๆคน
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอประเด็นกรณีความไม่โปร่งใสของบริษัทเกลมาโต้หรือ Gemato ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปและโซลูชันด้านความมั่นคงปลอดภัยในต่างประเทศ
โดยล่าสุดมีรายงานข่าวจากสำนักข่าว Mediapart ซึ่งเป็นสำนักข่าวสืบสวนออนไลน์ของประเทศฝรั่งเศสระบุถึงความไม่โปร่งใสของบริษัทแห่งนี้ระบุว่า
หลังจากเดือน เม.ย. 2562 กลุ่มบริษัทฝรั่งเศสที่ชื่อว่าทาเลสหรือ Thales ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในด้านกลาโหม ได้เข้าควบรวมกิจการของบริษัทเกลมาโต้ ซึ่งนี่ส่งผลทำให้ทาเลสได้เป็นบริษัทที่นำเสนอตัวเองว่าเป็นหนึ่งในผู้นำในด้านการผลิตสมาร์ทการ์ดและเอกสาระบุตัวตนที่มีความปลอดภัยสูง (หนังสือเดินทาง และบัตรประชาชน) รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
วิดีโอโปรโมตการควบรวมของเทเลสกับเกลมาโต้ (อ้างอิงวิดีโอจากทาเลส)
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทาเลสต้องเผชิญหน้ากับปัญหาครั้งใหญ่จากบริษัทเกลมาโต้ ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทย่อยของตัวเองไปแล้ว โดยมีข้อมูลว่าเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 เจ้าหน้าที่ในส่วนของงานวิจัยในสังกัดสารวัตรทหารของฝรั่งเศสได้เดินทางไปยังที่ตั้งของบริษัททาเลส DIS (ชื่อใหม่ของบริษัทเกลมาโต้) เพื่อดำเนินการรวบรวมเอกสารเป็นจำนวนหลายรายการ ซึ่งเอกสารเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดีทุจริตในพื้นที่เขตอำนาจกฎหมายในหลายประเทศ และส่วนมากแล้วประเทศเหล่านี้จะอยู่ในทวีปแอฟริกา
ทางสำนักข่าว Mediapart ได้มีการรวบรวมเอกสารเหล่านี้มา พบว่าบริษัททาเลสได้มีการระบุว่ากรณีสัญญาของบริษัทเกลมาโต้ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นก่อนที่บริษัททาเลสจะเข้าควบรวมเกลมาโต้ในปี 2562 และทาเลสกรุ๊ปก็พร้อมจะร่วมมือกับการดำเนินงานของหน่วยงานตุลาการอย่างเต็มที่
สำหรับความเป็นไปเป็นมาดังกล่าวนั้นเริ่มต้นขึ้นด้วยรายงานฉบับหนึ่งที่ส่งไปยังสำนักอัยการด้านการเงินของฝรั่งเศส (PNF) ในปี 2564 โดยผู้ส่งคือหน่วยงาน . TRACFIN (หน่วยข่าวกรองทางการเงินฝรั่งเศส) เนื่องจากพบว่ามีกระแสการเงินอันน่าสงสัยเกี่ยวกับบริษัทเกลมาโต้ที่ได้ส่งออกหลายสัญญาที่เกี่ยวข้อง
โดยหลังจากที่รับเรื่องมา PNF ก็ได้มีการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นเป็นระยะเวลา 7 เดือน โดยในเดือน มิ.ย. 2565 PNF ได้มีการเปิดการสอบสวนในเชิงตุลาการ หรือก็คือการรับเป็น “คดีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศในรูปแบบของการกระทำเป็นกลุ่มอาชญากร”, “คดีการฟอกเงินที่รุนแรง” และ “คดีซ่องโจร”
ในข้อมูลเอกสารศาลที่สำนักข่าว Mediapart ได้รวบรวมมาได้นั้นระบุว่าผู้พิพากษาที่ดำเนินการสืบสวนทางการเงินคือก็คือนายวินเซนต์ เลโมเนียร์ ได้มีการระบุถึงเอกสารการทำสัญญารัฐบาลลต่างแดนเป็นจำนวนนับสิบสัญญา (สัญญาส่วนมากเกี่ยวกับสัญญาในด้านการจัดทำบัตรประชาชน,บัตรเลือกตั้ง,ป้ายทะเบียนต่างๆ) ซึ่งได้ทำกับบริษัทเกลมาโต้ที่ชนะสัญญาเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงปี 2558-ช่วงต้นปี 2562 โดยผู้พิพากษาเลโมเนียร์ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับรายละเอียดที่ระบุว่ามีการรับเงินคอมมิชชั่นเพื่อเอื้อต่อการชนะสัญญาเหล่านี้ โดยมีผู้รับเงินคือคนกลางจำนวนหลายๆคน
โดยสัญญาทั้งหมดนั้นพบว่าลงนามกับหน่วยงานสาธารณะในประเทศในทวีปแอฟริกา อาทิ กระทรวงมหาดไทยของประเทศกาบองในเดือน ม.ค. 2558,สัญญากับประเทศแคเมอรูน 3 ฉบับที่บริษัทเกลมาโต้ชนะในช่วงระหว่างปี 2558 และ 2561,สัญญาในประเทศเซเนกัลในปี 2560,สัญญาจำนวนสองฉบับกับประเทศยูกันดาและสัญญาเพื่อให้ทำบัตรเลือกตั้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) และประเทศไนเจอร์
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรายละเอียดระบุว่าในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะมีการเรียกร้องให้เกิดการประมูล สมาชิกวุฒิสภาที่มีความสนิทสนมกับประธานาธิบดีคองโกยังได้เดินทางไปพบกับทีมงานของบริษัทเกลมาโต้
สำนักข่าว Mediapart ระบุว่าการสืบสวนที่ดำเนินการตามสัญญาในประเทศคองโกนั้นเกี่ยวข้องกับการเปิดโปงข้อเท็จจริงในเดือน พ.ย. 2564 โดยสำนักข่าวสืบสวนพันธมิตรอย่าง RFI และ Public Eye ที่ทำรายการข่าวสืบสวนในคองโกชื่อว่า "Congo hold-up " มีการรวบรวมข้อมูลเอกสารเป็นจำนวนนับล้านชิ้นจากสำนักข่าว Mediapart และจากเครื่อข่ายองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อว่าองค์กรคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสในแอฟริกาหรือ Protection of Whistleblowers in Africa (PPLAAF).
โดยในเดือน มิ.ย. 2559 พบว่าเกลมาโต้ได้ชนะสัญญามูลค่า 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,550,798,000 บาท) จากคณะกรรมการการเลือกตั้งในคองโก (CENI) เพื่อให้จัดหาเครื่องมือสำหรับการระบุตัวตนบุคคลผู้มีอายุพอจะลงคะแนนเสียง ,การลงทะเบียนข้อมูลไบโอเมตริกซ์ และการออกบัตรเลือกตั้งสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์
ทั้งนี้ในการที่จะชนะสัญญาดังกล่าว เกลมาโต้ได้ดำเนินการล็อบบี้อย่างเข้มข้นผ่านบริษัทย่อยสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ชื่อว่า Trüb โดยบริษัทนี้ได้เข้าถึงนาย Léonard She Okitundu อดีตสมาชิกวุฒิสภาในเวลานั้นและตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาลของประธานาธิบดีโจเซฟ คาบิลา ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมสมาชิกวุฒิสภาของคองโกถึงได้ไปพบกับผู้บริหารของบริษัทเกลมาโต้ในเดือน ก.พ. 2559 ที่สำนักงานในประเทศฝรั่งเศส ในระยะเวลา 1 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะมีการเรียกร้องให้มีการเปิดประมูล
การดำเนินการสืบสวนโดยสื่อพันธมิตรอย่าง RFI และ Public Eye ยังได้เปิดเผยองค์ประกอบอื่นๆที่ดูว่าน่าจะเป็นปัญหาอีก อาทิ หลังจากที่ชนะสัญญาได้ไม่นาน เกลมาโต้ได้มีการปลดผู้รับเหมารายย่อยในท้องที่ออก และว่าจ้างบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศสัญชาติฝรั่งเศสแห่งหนึ่งมาให้ดำเนินการแทน ซึ่งก็คือบริษัท STIM Plus
โดยบริษัท STIM Plus ได้มีการสร้างบริษัทย่อยอีกแห่งในคองโกชื่อว่า STIM Plus RDC ซึ่งบริษัทย่อยในคองโกแห่งนี้พบว่ามีผู้ถือหุ้นจำนวน 40 เปอร์เซ็นต์ได้แก่นายราฟาเอล เอเดรี ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในโมร็อกโก
จากข้อมูลเอกสารชั้นความลับที่มาจากกาทำรายการข่าวสืบสวน "Congo hold-up" พบว่า STIM Plus RDC ได้รับเงินเกือบ 5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (198,906,700 บาท) ซึ่งเงินจำนวนนี้สองในสามพบว่าถูกจ่ายมาจากบริษัทแม่และส่งตรงไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งในคองโก
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนเงินที่ว่ามานี้ พบว่านายเอเดรีได้มีการถอนเงินออกไปประมาณมากกว่า 1 ล้านยูโร (36,064,481 บาท) เล็กน้อยและถอนเงินไปอีก 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (84,282,500 บาท)
และยังพบอีกว่าบริษัท STIM Plus RDC ได้มีการโยกย้ายเงินไปอีกเกือบ 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (74,168,600 บาท) ไปให้กับบริษัท Technology Solutions & Managed ต่อมาในช่วงระหว่างวันที่ 12-30 เม.ย. 2561 ก็ได้มีการถอนเงินจำนวน 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (10,113,900 บาท) จากบัญชีของบริษัทไปให้กับนาย Valérie Fila Ruvunangiza ซึ่งเป็นผู้มีความสัมพันธ์ระดับสูงกับผู้บริการของคณะกรรมการการเลือกตั้งในคองโก
มีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าสำนักงานใหญ่ของบริษัท STIM Plus ในย่านน็องแตร์ กรุงปารีส นั้นก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสารวัตรทหารเข้าตรวจค้นเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ยังได้ถามไปยังบริษัททาเลสเพื่อให้มีการรวบรวมข้อมูลเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกรณีบริษัทเกลมาโต้ได้จ่ายเงินให้กับบริษัทผู้รับเหมารายย่อย STIM Plus ซึ่งมีความเชื่อมโยงไปถึงกรณีประเทศในแถบแอฟริกาได้แก่กาบอง, แคเมอรูน และยูกันดา
ประเด็นที่เป็นปัญหาอีกประการก็คือว่า นายราฟาเอล เอเดรี เจ้าหน้าที่ของบริษัท STIM Plus ในประเทศคองโก ยังเคยถูกว่าจ้างในฐานะคนกลางจากบริษัทเกลมาโต้ด้วยเช่นกันเพื่อให้ดำเนินการสำหรับสัญญาที่บริษัทชนะในเดือน ก.พ. 2562 กับคณะกรรมการการเลือกตั้งของประเทศไนเจอร์
อุปกรณ์การเลือกตั้งที่บริษัทเกลมาโต้จัดหามาให้กับประเทศคองโก
ทางสำนักข่าว Mediapart ได้พยายามติดต่อไปถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัท STIM Plus ซึ่งก็คือนายอีฟส์ ซามามา โดยนายซามามาระบุว่า
“ไม่มีการทุจริต ในบริบทด้านสัญญาระหว่างเขากับเกลมาโต้” และระบุอีกว่าสิ่งที่คุณกำลังทำนั้นไม่ใช่เรื่องที่สวยงาม ผมมีกรอบของผมมาเป็นเวลา 32 ปี แล้ว และคุณกำลังทำให้เรื่องมันยุ่งเหยิงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นั้นมันมีความยุติธรรม และเราก็กำลังรอมัน ตัวเขาได้ดำเนินการค้นหาและอธิบายไปหมดทุกอย่างแล้ว และเขาจะไปให้ถ้อยคำต่อหน้าผู้พิพากษา และความจริงทั้งหมดจะปรากฏออกมา
ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งในคองโกได้ยืนยันว่านายอีฟส์ ซามามา นั้นได้เคยทำงานเกี่ยวกับการจัดหาอุปกรณ์การเลือกตั้งในประเทศคองโกจริง และตัวนายราฟาเอล เอเดรี ก็ได้อยู่กับเขาด้วยในช่วงวันที่มีการเลือกตั้ง
โดยนายซามามาระบุว่านายเอเดรีทำงานของเขาตามที่ควรจะทำ ซึ่งการถอนเงินที่ว่ามานั้นก็เกี่ยวกับธนาคารสัญชาติคองโกในกรุงกินชาซา
“เราต้องทำงานและที่นั่น (คองโก) มันไม่เหมือนกับฝรั่งเศส มันไม่มีการใช้เครดิตการ์ด ไม่มีสมุดเช็ค ไม่มีอะไรเลย เราต้องจ่ายเงินเป็นเงินสด” นายซามามากล่าว
อนึ่งกรณีการจ่ายเงินผ่านคนกลางซึ่งก็คือบริษัท STIM Plus นั้นไม่ใช่กรณีเดียวที่ทางการฝรั่งเศสให้ความสนใจ เพราะมีรายงานว่าสารวัตรทหารยังให้ความสนใจที่จะตรวจสอบกรณีบริษัทเกลมาโต้จ่ายเงินให้กับคนกลางชาวเซเนกัลเพื่อให้บริษัทชนะสัญญากว่า 13.8 ล้านยูโร (497,689,848 บาท)ในปี 2560 เพื่อให้ดำเนินการจับทำใบขับขี่และป้ายทะเบียนให้กับกระทรวง โครงสร้างพื้นฐานทางบกในเซเนกัล
ในรายละเอียดส่วนสุดท้ายของการสืบสวนยังได้พุ่งเป้าไปที่บริษัทตัวกลางในประเทศอิสราเอลของบริษัทเกลมาโต้ ซึ่งบริษัทตัวกลางนี้ก็ดำเนินการผ่านบริษัทนอกอาณาเขตที่จดทะเบียนในฮ่องกง ซึ่งบริษัทในฝรั่งเศสได้มอบอำนาจให้คนกลางรายนี้เจรจาในนามของเขา ในการดำเนินการในสัญญาสองฉบับในประเทศแคเมอรูนและเซเนกัล
เรียบเรียงจาก:https://www.mediapart.fr/journal/international/070223/gemalto-est-vise-par-une-vaste-enquete-pour-corruption-en-afrique,https://www.africanews.com/2023/02/09/gemalto-targeted-by-a-judicial-investigation-for-corruption-in-africa/
สำหรับที่ประเทศไทย สำนักข่าวอิศราเคยรายงานข่าวในเดือน มิ.ย. 2562 ระบุว่าบริษัทเกลมาโต้เป็นผู้ผลิตชิปและโซลูชันด้านความมั่นคงปลอดภัยในต่างประเทศ หนึ่งในบริษัทเอกชนที่ใช้ชื่อว่า DGM Consortium (ประกอบด้วย บริษัท ดาต้าโปรดักส์ ทอปปัง ฟอร์ม และ บริษัท Gemalto ) ปรากฎชื่อเป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 จำนวน 15 ล้านเล่ม หรือ ภายในระยะเวลา 7 ปีแล้วแต่กรณีใดจะถึงก่อน โดยเสนอราคา 7,463,250,000.00 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 12,438,750,000 บาท เฉลี่ยเล่มละ 497.55 บาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ประกาศผลเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค.2562 (อ่านประกอบ:ประกาศแล้ว! กลุ่ม DGM Consortium ชนะประกวด อี-พาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม 7.4 พันล.)
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.พลังงานยักษ์ใหญ่ตะวันตก ทำธุรกิจหนุนเส้นเงินเผด็จการเมียนมา
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดปมฉาว กห.ยูเครนจัดซื้ออาหารไม่โปร่งใส กระทบความเชื่อมั่นต่างชาติ
- ส่องคดีทุจริตโลก:ขมวดปมอื้อฉาว ATK สะเทือนพรรคคอมฯเวียดนามอย่างไร หลัง ปธน.ลาออก
- ส่องคดีทุจริตโลก: ตามรอยบุหรี่จีนนับล้านมวนสูญหาย หลังเดินทางออกจากโรงงานในโรมาเนีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงเอกชนรับงานบูรณะถนนยูเครนพันล้าน เชื่อมโยงผู้ต้องหาหนีคดี FBI
- ส่องคดีทุจริตโลก: ประมวลข่าวคอร์รัปชันโลกปี 65 จากโอลิการ์ชรัสเซียถึงเอกสารแพนโดรา