“โดยหลักการแล้ว คุณสามารถจะทำเช่นนั้นได้ (การขนบุหรี่ไปโดยใช้เส้นทางหลายประเทศ) แต่ถ้าหากคุณต้องการทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา คุณก็ควรส่งออกไปยังประเทศปลายทางเลย ทว่าถ้าคุณต้องการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย คุณก็ต้องทำให้มันซับซ้อนเท่าที่คุณต้องการ”
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัปดาห์นี้ขอนำเสนอกรณีของขบวนการลักลอบขนบุหรี่เถื่อนจากประเทศจีน ที่เข้าไปสู่ทวีปยุโรป ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากร
โดยสำนักข่าวโครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริตคอรัปชั่น” หรือ OCCRP ได้มีการรายงานข่าวกรณีที่ทางการประเทศโรมาเนียดำเนินการตรวจสอบโรงงานหลักของบริษัท China Tobacco International Europe Company (CTIEC) ซึ่งเป็นบริษัทบุหรี่ที่ดำเนินการผลิตให้กับรัฐวิสาหกิจ China Tobacco ในประเทศจีน ในประเด็นเรื่องความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของกลุ่มอาชญากรที่มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่เป็นปริมาณมหาศาล
ทั้งนี้โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่เขียวขจี ในภูมิภาคที่เป็นเนินเขา ห่างจากกรุงบูคาเรสต์ไปประมาณ 140 กิโลเมตร ซึ่งโรงงานที่ว่ามานี้สามารถเล็ดรอดจากกระบวนการตรวจสอบได้นานหลายปี จนกระทั่งสำนักข่าว OCCRP ได้เปิดโปงว่ามีผู้บริหารบริษัทคนหนึ่งของ CITEC มีส่วนเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไปยังประเทศอิตาลี โดยเป็นการดำเนินการร่วมกับกลุ่มอาชญากรชื่อว่า Camorra
ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้รายงานข่าวว่าตอนนี้อัยการที่ทำงานอยู่ในคณะกรรมการสืบสวนอาชญากรรมและการก่อการร้ายของโรมาเนียได้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินงานของโรงงานของบริษัท CTIEC แล้ว
สำหรับความเป็นเป็นมาของการสอบสวนดังกล่าวนั้นต้องย้อนไปถึงเมื่อปี 2557 เมื่อตำรวจชายแดนและเจ้าหน้าที่ศุลกากรโรมาเนียได้สังเกตุความผิดปกติของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุบุหรี่หลายล้านมวนที่ได้ออกจากโรงงานไปแล้ว ทว่าบุหรี่เหล่านี้กลับไปไม่ถึงเป้าหมายปลายทาง ซึ่งนี่เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าอาจจะมีกรณีการลักลอบนำเข้าเกิดขึ้นได้
“บุหรี่จำนวนมากออกจากโรมาเนียไปทางฮังการี แล้วก็ไปยูเครนหรือไม่ก็ทรานส์นิสเตรีย (พื้นที่การปกครองในประเทศมอลโดวา) แต่หลังจากนั้นมันก็หายไปเลย” แหล่งข่าวนิรนามรายหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการสอบสวนกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่าพบข้อมูลอีกว่ามีบุหรี่อีกหลายล้านมวน พบว่าหายไปเมื่อบุหรี่ได้เดินทางไปถึงท่าเรือบาร์ในประเทศมอนเตเนโกร ซึ่งถึงหากคิดเป็นจำนวนแล้วจะพบว่าโรงงานแห่งนี้มีบุหรี่หายไปด้วยประมาณ 20-30 ตู้คอนเทนเนอร์
ขณะที่คณะกรรมการฯก็ปฏิเสธจะให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยกล่าวแค่ว่าการตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ณ เวลานี้ อาจส่งผลกระทบในแง่ลอบต่อกระบวนการสอบสวนได้
อย่างไรก็ตาม OCCRP ได้สืบทราบข้อมูลมาว่า CTIEC ได้มีการขนส่งบุหรี่เป็นประมาณมหาศาลไปยังบริษัทปลอมๆแห่งหนึ่ง และส่งไปให้กับกลุ่มนักธุรกิจที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมลักลอบนำเข้า
ขณะที่รายละเอียดการขายบุหรี่นั้นก็ดูเหมือนว่าจะละเมิดกฎระเบียบของโรมาเนียที่ชื่อว่า FCTC ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระดับโลกที่ควบคุมการค้ายาสูบ เนื่องจาก CTIEC ไม่สามารถที่จะตรวจสอบภูมิหลังของทั้งบริษัทและตัวตนของบุคคลที่เป็นผู้ซื้อบุหรี่กับบริษัท และก็ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบและรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอกับบุหรี่ที่ออกจากโรงงานด้วยเช่นกัน
ย้อนไปเมื่อปี 2563 ทางผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามบริษัท CTIEC ไปแล้ว โดย CITEC ในขณะนั้นได้ระบุกับ OCCRP แค่ว่าบริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดในส่วนของภูมิหลังของผู้ซื้อและมีการใช้ระบบตรวจสอบว่าปลายทางสิ้นสุดของบุหรี่นั่นอยู่ที่ไหน
ทว่าแม้บริษัทจะยืนยันอย่างหนักแน่นว่าได้ทำตามกฎระเบียบในตอนนั้น ทางอัยการได้ระบุว่ามีบุหรี่มากกว่า 10 ล้านมวนได้สูญหายไปหลังจากที่ออกจากโรงงานไปแล้ว นี่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าบุหรี่เหล่านี้นั้นถูกลักลอบนำเข้าสู่ตลาดมืดเพื่อไปหาผลกำไรมหาศาล โดยหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีของสหภาพยุโรปหรือว่าอียู นายลุค จูสเซนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบและที่ปรึกษาพิเศษของ Smoke Free Partnership ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่มต่อต้านการสูบบุหรี่ในยุโรปกล่าว
มีรายงานว่าตู้คอนเทนเนอร์เป็นจำนวนนับหลายสิบตู้นั้นได้หายไปจากโรงงานของบริษัท CTIEC ในช่วงเวลาตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยมีคดีหนึ่งที่บ่งชี้ถึงวิธีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ที่ชัดเจน ซึ่งก็คือคดีที่ผู้บริหารของบริษัท CTIEC จำนวนสองคน,นักธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงไปถึงประเทศจอร์แดนที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการลักลอบนำเข้าบุหรี่ และชายสัญชาติไอริชที่ต้องสงสัยจากทางการประเทศไอร์แลนด์เหนือว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากรมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี
โดยในเดือน มิ.ย. 2557 นักธุรกิจากเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี ชื่อว่านายอาลี ราเชด ได้สั่งซื้อบุหรี่จำนวน 4.5 ล้านมวนจาก CITIEC ทั้งนี่นายนายราเชดมีพื้นเพมาจากประเทศจอร์แดน และเคยลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาในสังกัดพรรคฝ่ายขวาชื่อว่าพรรคเลกานอร์ดในปี 2556 ซึ่งนายราเชดได้มีการจ่ายเงินกว่า 38,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,271,062 บาท) สำหรับการขนส่งบุหรี่ดังกล่าว ตามข้อมูลที่ระบุในเอกสารของอัยการโรมาเนีย
ตามสัญญาเบื้องต้นมีการระบุกันว่าบุหรี่นั้นถูกซื้อจากบริษัทที่ชื่อว่า Ali Rashed Est และจะถูกนำส่งไปยังประเทศจอร์แดน โดยบุหรี่จะถูกขายภายใต้แบรนด์บุหรี่ชื่อว่า IDEA ซึ่งมีนายราเชดเป็นเจ้าของแบรนด์ อย่างไรก็ตามบุหรี่ยี่ห้อ IDEA นั้นเคยมีประวัติกับทางการประเทศอิตาลี เพราะว่าทางการอิตาลีได้เคยยึดบุหรี่ยี่ห้อดังกล่าวที่ท่าเรือซอร์แลโน ซึ่งการยึดเกิดขึ้นในช่วงหกเดือนก่อนที่นายราเชดจะส่งซื้อบุหรี่กับบริษัท CTIEC
ท่าเรือซอร์แลโนในอิตาลี (อ้างอิงวิดีโอจาก topsychowdhury )
อย่างไรก็ตาม OCCRP ไม่สามารถติดต่อนายราเชดเพื่อมาให้ความเห็นกรณีดังกล่าวได้
มีรายงานว่าก่อนที่จะมีการจัดส่งออกจากโรงงานในประเทศโรมาเนีย บริษัท Ali Rashed Est ได้มีการเปลี่ยนแผนการขายบุหรี่ โดยขายไปให้กับบริษัทแห่งหนึ่งที่จดทะเบียนในสหราชอาณาจักรแทน
โดยบริษัทในสหราชอาณาจักรที่ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว พบว่ามีเจ้าของร่วมได้แก่ชายสัญชาติไอริช ซึ่งทางอัยการระบุว่าชายคนนี้ต้องสงสัยว่าจะมีพฤติกรรมเป็นอาชญากรรม ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลลับที่ OCCRP ได้มาจากทางการไอริชอีกทีหนึ่ง
“จากความร่วมมือกับหน่วยงานด้วยภาษีไอริชได้มีการทำประวัติของกลุ่มผู้ลักลอบนำเข้าบุหรี่และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ต้องเสียภาษี ซึ่งหนึ่งในกลุ่มนี้ก็คือนายราเชด” หนึ่งในเอกสารระบุ โดยเอกสารดังกล่าวนั้นพบว่าอยู่ในบันทึกที่แนบไปถึงสถานทูตโรมาเนียประจำกรุงดับลิน เพื่อจะส่งให้ตำรวจโรมาเนียต่อไป
ตามข้อมูลบันทึกเอกสารระบุว่าบริษัทในสหราชอาณาจักรจะต้องส่งบุหรี่ด้วยรถบรรทุกไปยังบริษัทอีกแห่งในกรุงริกา เมืองหลวงของประเทศลัตเวีย โดยบริษัทในลัตเวียชื่อว่าบริษัท Prodimpekss Logistikas Grupa ซึ่งบริษัทนี้จะส่งบุหรี่ต่อไปยังกรุงมอสโก ไปให้กับบริษัทชื่อว่า Komus Arzat
ทว่าบริษัทที่ลัตเวียกลับให้สัมภาษณ์กับ OCCRP ว่าไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงการขนส่งบุหรี่ดังกล่าวเลย และบริษัทก็ไม่ได้รับบุหรี่ใดๆจาก China Tobacco ด้วยเช่นกัน ในขณะที่บริษัทในรัสเซียก็ปรากฏว่าเป็นบริษัทปลอมๆ เนื่องจากว่าในข้อมูลทะเบียนการค้าของรัสเซียไม่พบชื่อบริษัทดังกล่าวอยู่ในมอสโกแต่อย่างใด
รัฐวิสาหกิจ China Tobacco ในประเทศจีน (อ้างอิงรูปภาพจากวิกิดาต้า)
สรุปก็คือบริษัทที่ออกจากโรงงานจากโรมาเนียนั้นอันตรธานหายไปโดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้ภายใต้สนธิสัญญาขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ที่ควบคุมการค้าบุหรี่ทั่วโลก ซึ่งทั้งจีนและโรมาเนียได้ลงนามในสัญญานี้ด้วยระบุข้อกำหนดที่ CTIEC จะต้องทำตามว่าจะต้องมีการตรวจสอบภูมิหลังของผู้ที่มาซื้อบุหรี่กับทางบริษัท เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ซื้อไม่มีประวัติอาชญากรรม และต้องตรวจให้ชัดว่าซัพพลายเออร์ที่มาซื้อบุหรี่ไป จะนำบุหรี่ไปขายต่อที่ไหน
อย่างไรก็ตาม CTIEC ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐวิสาหกิจข้ามชาติจีนขนาดใหญ่ชื่อว่าชื่อว่า China Tobacco กลับล้มเหลวในการตรวจสอบประวัติของนายราเชด หรือบริษัทใดๆที่เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลนี้มาจากเอกสารในชั้นศาลของทางโรมาเนีย
ทางด้านของนายจูสเซนส์กล่าวว่าความซับซ้อนขนาดใหญ่ของการขนส่งที่ว่ามานั้น ซึ่งมีการวางแผนโดยนายราเชด ทำให้เรื่องนี้เป็นที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง
โรงงานบุหรี่ของบริษัท CTIEC ในประเทศโรมาเนีย
“โดยหลักการแล้ว คุณสามารถจะทำเช่นนั้นได้ (การขนบุหรี่ไปโดยใช้เส้นทางหลายประเทศ) แต่ถ้าหากคุณต้องการทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา คุณก็ควรส่งออกไปยังประเทศปลายทางเลย ทว่าถ้าคุณต้องการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย คุณก็ต้องทำให้มันซับซ้อนเท่าที่คุณต้องการ” นายจูสเซนส์กล่าว
หน่วยงานสอบสวนของโรมาเนียตอนนี้กำลังตั้งข้อสงสัยว่ามีผู้บริหารของ CTIEC จำนวนสองคนอาจจะปกปิดความจริงบางอย่างเกี่ยวกับกระบวนการและเส้นทางการขนย้ายบุหรี่เอาไว้ โดยทั้งสองคนนี้ได้แก่ผู้อำนวยการในระดับภูมิภาคและผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัท โดยภายในช่วงเวลาสองปีหลังจากที่นายราเชดได้ซื้อบุหรี่ในปี 2557 เจ้าหน้าที่โรงงานทั้งสองคนนี้ได้ถูกสอบสวนในคดีอื่นในข้อหาเกี่ยวข้องกับการละเมิดในกรณีของบุหรี่
ทางอัยการได้กล่าวว่าความผิดปกติที่โรงงานนั้นบ่งชี้ว่าผู้บริหารของ CTIEC มีความตั้งใจที่จะทำให้เส้นทางการขนส่งบุหรี่หายไป
โดยกฎระเบียบของโรมาเนียได้ระบุชัดเจนว่า CTIEC จะต้องมีการจัดหาผู้คุ้มกันความปลอดภัยสำหรับรถบรรทุกที่ออกจากโรงงาน ซึ่งหน้าที่ของบริษัทรักษาความปลอดภัยจะต้องติดตามการขนส่งไปจนถึงที่หมายที่อยู่ในอียู หรือไม่ก็ติดตามจนกว่าจะออกจากเขตอียูไป
แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นเลย
ทางด้านของนางมาเรียนา-เลนูชา ดรูกูลิน เจ้าหน้าที่ช่างที่เคยทำงานให้กับ CTIEC ได้ให้ข้อมูลกับอัยการโรมาเนียว่าเธอจำได้ดีถึงการขนส่งที่ออกจากพื้นที่ไปโดยไม่มีขบวนรักษาความปลอดภัย ซึ่งมันผิดปกติมาก
“แม้ว่าตามกฎระเบียบแล้ว การขนส่งทั้งหมดโดยรถบรรทุกบุหรี่จะต้องดำเนินไปพร้อมกับคนที่อยู่ในบริษัทรักษาความปลอดภัย แต่คราวนี้รถบรรทุกออกเดินทางเพียงลำพัง ซึ่งมันผิดปกติมาก” นางดรูกูลินกล่าวในคำให้การกับอัยการ
ขณะที่เจ้าหน้าที่สอบสวนของโรมาเนียได้สอบปากคำคนขับรถบรรทุกที่รับบุหรี่จาก CTIEC ก็พบว่าเขาไม่สามารถให้เอกสารที่ถูกต้องได้
โดยคนขับรถบรรทุกคนดังกล่าวนี้ก็เป็นคนสัญชาติไอริช และดูเหมือนว่าจะเป็นหุ้นส่วนกับเจ้าของบริษัทไอริชที่ดำเนินการซื้อบุหรี่ ซึ่งเขาควรจะส่งเอกสารต้นฉบับเพื่อให้ CTIEC ตรวจสอบและส่งเอกสารต่อไปยังเจ้าหน้าที่ศุลกากร ทว่าในกรณีนี้เขากลับแสดงเอกสารที่มีลักษณะว่าจะปลอมแปลงได้โดยง่าย
“ข้อมูลของตำรวจไอริชพบว่า บุคคลดังกล่าวนั้นมีส่วนร่วมในอาขญากรรมการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก” อีเมลที่ส่งไปให้สถานทูตโรมาเนียระบุ
และจากการที่ CTIEC ไม่เคยว่าจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยเพื่อให้เดินทางไปร่วมกันกับรถบรรทุกและติดตามการจัดส่ง ศุลกรกรโรมาเนียจึงไม่อาจจะรับทราบได้เลยว่าสินค้าที่มีการขนส่งได้ออกจากอียูไปแล้ว ซึ่งตามกระบวนการแล้ว ถ้าหากเป็นไปตามเอกสาร การแจ้งเตือนควรมาจากที่กรุงริการะบุว่าสินค้ากำลังเดินทางไปที่มอสโก
ทั้งนี้หลังจากที่ไม่มีการแจ้งเตือนเกิดขึ้นตามระบบที่ควรจะเป็น เจ้าหน้าที่ศุลกรกรจึงได้บุกเข้าที่ทำการบริษัท CTIEC ในขณะที่การสืบสวนที่ตามมาในภายหลังเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการหลอกลวง ซึ่งสถานที่ปลายทางสุดท้ายของบุหรี่นั้นยังคงเป็นปริศนา
อย่างไรก็ตามข้อมูลจากตำรวจฝ่ายการเงินในอิตาลีระบุว่าราคาของบุหรี่ที่มีการลักลอบขายในตลาดมืดนั้นอาจจะมีราคาต่อหนึ่งการขนส่งพุ่งสูงไปถึง 900,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าหากสามารถเล็ดรอดกระบวนการตรวจสอบไปได้ (29,559,600 บาท)