กรณีของบริษัท Neumann หรือที่มีชื่อเต็มของบริษัทว่า Alfred Neumann GmbH พบว่าหลังจากที่บริษัทได้มีส่วนในการจัดหาไม้สักให้กับเรือ Gorch Fock ก็มีการตรวจสอบพบว่าไม้สักของบริษัทนี้ถูกนำเข้าผ่านประเทศอิตาลี ซึ่งทางบริษัท Neumann ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาการนำเข้าไม้อย่างผิดกฎหมายแล้ว และระบุว่าบริษัทไม่ได้มีการนำเข้าไม้สักจากเมียนมานับตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2561เป็นต้นมา โดยไม้สักของบริษัทมาจากประเทศอื่นๆนอกเหนือจากเมียนมา
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอประเด็นเรื่องการนำเข้าไม้จากประเทศเมียนมาไปยังทวีปยุโรปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยมีบริษัทจากเยอรมนีเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าไม้
โดยแม้จะมีรายงานข่าวว่ามีการคว่ำบาตรห้ามไม่ให้มีการนำเข้าไม้จากเมียนมา แต่ก็พบว่าในปี 2565 มีไม้คิดเป็นจำนวนกว่า 3,700 ตันเดินทางไปถึงทวีปยุโรป ซึ่งปริมาณของไม้ดังกล่าวนี้ถือว่าสูงกว่าในปีที่ผ่านๆมา และแน่นอนว่าผลกำไรของการค้าไม้ของเมียนมา ก็ไปเกื้อหนุนเผด็จการทหารเมียนมาให้ปฏิบัติการอันโหดร้ายต่อประชาชนของตัวเอง
ไม้จากเมียนมานั้นถือว่าเป็นไม้ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และบ่อยครั้งมักจะใช้เป็นส่วนประกอบของเรือยอชต์สุดหรู ซึ่งตามรายงานของสหประชาชาติพบว่าไม้สักตามธรรมชาติในเมียนมานั้นถูกทำลายไปเกือบหมดแล้ว ภายในระยะเวลาประมาณเกือบหนึ่งศตวรรษของการตัดไม้ทำลายป่า โดยในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2533-2558 พบว่าประเทศเมียนมาต้องสูญเสียป่าไปกว่า 15 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งนั่นมากกว่าพื้นที่ป่าทั้งหมดของเยอรมนี
และแน่นอนว่าการที่ไม้ตามธรรมชาตินั้นได้หมดไปก็ทำให้ราคาไม้พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งใครที่ต้องการจะนำไม้สักไปทำดาดฟ้าเรือยอชต์จะต้องจ่ายเงินจำนวน 1,000 ยูโรหรือมากกว่าเพื่อให้ได้ไม้สักต่อ 1 ตารางเมตร
โดยป่าในเมียนมานั้นถือว่าเป็นของรัฐ ถ้าหากไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเมียนมาที่ชื่อว่า MTE บุคคลหรือหน่วยงานอื่นก็จะไม่สามารถตัดไม้หรือว่าส่งออกไม้ได้ ซึ่งจากข้อมูลทางสถิติพบว่ามีไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้คิดเป็นมูลค่า 30 ล้านยูโร (1,100,409,660 บาท) เข้าสู่สหภาพยุโรปหรือว่าอียูในปี 2565
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 ก็มีข้อมูลว่าไม้ที่ถูกรับรองให้ส่งออกโดย MTE นั้นได้กลายเป็นหนึ่งในแหล่งทุนของรัฐบาลทหารในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การทรมานและจำคุกฝ่ายตรงข้าม รวมไปถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวโรฮิงญา จึงเป็นเหตุทำให้ในเดือน มิ.ย. 2564 อียูได้บรรจุรายชื่อ MTE ให้อยู่ในหน่วยงานที่ถูกคว่ำบาตร
@การทุจริตในอุตสาหกรรมไม้
ไม้สักจากเมียนมานั้นไม่ควรจะไปถึงยุโรปในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เหตุผลก็เพราะว่ามาตรการของอียูที่มีการกำหนดให้ผู้นำเข้าไม้ต้องแสดงเอกสารต้นทางของไม้ให้ชัดเจนและหลักฐานว่าไม้นั้นถูกโค่นอย่างถูกกฎหมาย
โดยข้อมูลจากหน่วยงานสํานักงานเกษตรและอาหารแห่งสหพันธรัฐของอียูหรือ BLE ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการค้าไม้ระบุว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเมียนมา ในช่วงเวลานับตั้งแต่ปี 2561 เป็นอย่างน้อย ที่จะดำเนินการส่งไม้มาให้กับยุโรป โดยอุตสาหกรรมค้าไม้ที่นั่นถือว่าเป็นการทุจริตและเป็นอาชญากรรม
ดังนั้นจึงเป็นเหตุทำให้สื่อจำนวน 39 แห่ง ได้ร่วมกันทำโครงการข่าวสืบสวนกรณีเส้นทางไม้จากประเทศเมียนมา ซึ่งสื่อที่ว่านี้ก็มีทั้งสำนักข่าว NDR, WDR, "Süddeutsche Zeitung" และ Spiegel จากประเทศเยอรมนี สำนักข่าว Internationally และ CBC จากแคนาดา สำนักข่าว ORF จากออสเตรีย สำนักข่าว Le Monde และสำนักข่าว Radio France จากประเทศฝรั่งเศส และสำนักข่าว The Indian Express จากประเทศอินเดีย
โครงการข่าวดังกล่าวนั้นมุ่งเป้าหมายไปที่การตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกและมุ่งเน้นไปยังประเด็นเรื่องความน่าสงสัยเกี่ยวกับใบรับรองความถูกต้องของไม้ที่มีความยั่งยืน,และมุ่งเน้นไปในประเด็นเกี่ยวกับการค้าไม่ที่ผิดกฎหมาย และผู้มีอิทธิพลด้านการค้าไม้ในประเทศโรมาเนีย ซึ่งผลการวิจัยจากการทำข่าวนั้นจะได้รับการตีพิมพ์ในระดับสากล
โดยเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา นาย Hanns-Christoph Eiden ประธานของ BLE ได้ออกมายอมรับในวารสารเกี่ยวกับการค้าชื่อว่า Holzimport ว่า “ผมไม่คิดว่าจะมากล่าวโทษเราในเรื่องที่เราดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวดได้” และกล่าวต่อไปว่าปัญหาทางการเมืองในยุโรปก็มีผลต่อการออกมาตรการควบคุมเช่นกัน
เพราะว่าในช่วงฤดูร้อนปี 2561 ได้เกิดกรณีที่มีการใช้ไม้สักจากเมียนมาปูพื้นเรือใบฝึกแล่นของกองทัพเรือเยอรมนีชื่อว่าเรือ Gorch Fock ซึ่งพอ BLE ได้ลงไปตรวจสอบก็พบว่าตัวแทนจำหน่ายไม้ที่ชื่อว่าบริษัท Neumann นั้นไม่ได้ปฏิบัติการณ์ภาระผูกพันเรื่องการตรวจสอบที่มาของไม้แต่อย่างใด
เรือ Gorch Fock
@กรณีวิพากษ์วิจารณ์บทลงโทษที่มีความรุนแรงต่ำ
แม้ BLE ได้เคยออกมาเตือนบริษัท Neumann ไปแล้ว แต่นักวิจารณ์ก็ได้เคยออกมากล่าวว่าบทลงโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ยอมตรวจสอบที่มาของไม้นั้นมีแค่การปรับเป็นมูลค่าไม่กี่ร้อยหรือพันยูโรเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สร้างความแตกต่างใดๆเลยเพราะว่ากำไรจากการค้าไม้สักมากกว่านั้นมาก
โดยหลังจากกรณีอื้อฉาวของเรือ Gorch Fock ในปี 2561 BLE ได้มีการออกประกาศว่าจะดำเนินการให้หนักแน่นยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้มีการปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอียู ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ยังเป็นคำถามย้อนกลับมาทาง BLE ว่าได้ดำเนินการอย่างจริงจังแล้วจริงหรือไม่ เพราะว่าในช่วงปี 2561 BLE ได้มีการตรวจสอบกรณีไม้ที่นำเข้าจากเมียนมา 6 กรณีด้วยกัน แต่ว่าในปีหลังจากนั้นตัวเลขการตรวจสอบของ BLE ก็ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะในระหว่างปี 2562-2565 BLE ดำเนินการตรวจสอบการนำเข้าไม้แค่ 2 กรณีเท่านั้น และไม่เคยออกคำเตือนใดๆเกี่ยวกับการนำเข้าไม้เลยนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลจากเอกสารที่ถูกนำเสนอโดยสำนักข่าว NDR, WDR, Süddeutsche Zeitung และ Spiegel แสดงให้เห็นว่านะหว่างปี 2561 และ 2563 มีการขนส่งไม้สักจากเมียนมาจำนวนนับสิบครั้งจากเมียนมาเข้ามายังอียู โดยพบว่ามีบริษัทผู้ตัวแทนจำหน่ายเยอรมนีจำนวน 3 รายได้ไปปรากฏอยู่บนข้อมูลการจัดส่งที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
@การลงโทษผู้ที่นำเข้าไม่สักโดยผิดกฎหมาย
ข้อมูลเอกสารในสำนักข่าวจากเยอรมนีนั้นมีการระบุบริษัทแห่งหนึ่งชื่อว่า Koch Furniere พบว่าบริษัทแห่งนี้นั้นมีความเชื่อมโยงกับการขนส่งไม้โดยผู้ค้าชาวกรีกรายหนึ่ง ซึ่งทางฝั่งของผู้ค้านั้นไม่ได้มีการตอบคำถามของสำนักข่าวแต่อย่างใด
ขณะที่กรณีของบริษัท Neumann หรือที่มีชื่อเต็มของบริษัทว่า Alfred Neumann GmbH พบว่าหลังจากที่บริษัทได้มีส่วนในการจัดหาไม้สักให้กับเรือ Gorch Fock ก็มีการตรวจสอบพบว่าไม้สักของบริษัทนี้ถูกนำเข้าผ่านประเทศอิตาลี ซึ่งทางบริษัท Neumann ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาการนำเข้าไม้อย่างผิดกฎหมายแล้ว และระบุว่าบริษัทไม่ได้มีการนำเข้าไม้สักจากเมียนมานับตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2561เป็นต้นมา โดยไม้สักของบริษัทมาจากประเทศอื่นๆนอกเหนือจากเมียนมา
หน้าเว็บบริษัท Alfred Neumann GmbH เยอรมนี
ส่วนบริษัทที่สามชื่อว่าบริษัท WOB ที่มีที่ตั้งอยู่ ณ เมืองฮัมบูร์ก ก็พบว่าบริษัทแห่งนี้มีการนำเข้าไม้สักผ่านคนกลางชาวโครเอเชีย ส่งผลทำให้ผู้อำนวยการบริหารของบริษัทต้องถูกพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกด้วยข้อหาว่านำเข้าไม้สักผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามผู้บริหารบริษัทรายนี้ยังคงสู้คดีและยื่นอุทธรณ์ต่อ โดยเขาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการนำเข้าที่ผิดกฎหมายทั้งหมด
@ข้อสงสัยโดยทั่วไป
มีรายงานด้วยว่าพบว่ามีการนำเข้าไม้สักไปยังอียูจำนวน 67 รายการ คิดเป็นปริมาณไม้รวมกว่า 1,300 ตัน มูลค่าไม้สักรวมกว่า 7 ล้านยูโร (256,762,254 บาท) ซึ่งการนำเข้าดังกล่าวนั้นไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของ BLE แต่อย่างใด
ส่งผลทำให้ในฤดูใบไม้ผลิปี 2563 BLE ที่ได้เคยมีข้อสงสัยว่ามีไม้จากเมียนมาที่เล็ดรอดเข้าไปในอียู จึงได้มีการประสานงานกับหน่วยงานต่อต้านการทุจริตภูมิภาคยุโรปชื่อว่า OLAF ให้ดำเนินการสืบสวน ต่อมาในเดือน พ.ย. 2563 OLAF ก็ได้แจ้งผลการสืบสวนว่ามีไม้จากเมียนมาเข้าไปยังอียูจริง โดยผ่านบริษัท Neumann, Koch and WOB ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิปี 2564 OLAF ก็ได้เริ่มต้นการตรวจสอบบริษัท Neumann และบริษัท Koch ขณะที่ BLE ก็ได้มีการร้องขอไปยัง สำนักงานตำรวจสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Bundeskriminalamt : BKA) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบบริษัท WOB เช่นกัน
โดยการตรวจสอบดังกล่าวนั้นก็ยังคงดำเนินการอยู่จนถึงทุกวันนี้ ขณะที่สำนักอัยการในฮัมบูร์กก็กำลังสอบสวนหาผู้รับผิดชอบในกรณีที่บริษัท WOB นั้นอาจจะมีการละเมิดต่อพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านการค้าไม้ในเยอรมนี
เรียบเรียงจาก:https://globeecho.com/news/europe/germany/myanmar-teak-fills-the-coffers-of-the-military-junta/
- ส่องคดีทุจริตโลก:แฉ หน.ทหารรับจ้างวากเนอร์ หลบคว่ำบาตรตะวันตก หารายได้ พัน ล.ในแอฟริกา
- ส่องคดีทุจริตโลก: แฉคอร์รัปชั่นวงการก่อสร้างตุรเคีย ต้นเหตุยอดตายแผ่นดินไหว 4.6 หมื่นศพ
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดปม บ.เกลมาโต้ถูกกล่าวหาจ่ายคอมมิชชั่นเอื้อทำสัญญาหลาย รบ.ในแอฟริกา
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.พลังงานยักษ์ใหญ่ตะวันตก ทำธุรกิจหนุนเส้นเงินเผด็จการเมียนมา
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดปมฉาว กห.ยูเครนจัดซื้ออาหารไม่โปร่งใส กระทบความเชื่อมั่นต่างชาติ
- ส่องคดีทุจริตโลก:ขมวดปมอื้อฉาว ATK สะเทือนพรรคคอมฯเวียดนามอย่างไร หลัง ปธน.ลาออก
- ส่องคดีทุจริตโลก: ตามรอยบุหรี่จีนนับล้านมวนสูญหาย หลังเดินทางออกจากโรงงานในโรมาเนีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงเอกชนรับงานบูรณะถนนยูเครนพันล้าน เชื่อมโยงผู้ต้องหาหนีคดี FBI
- ส่องคดีทุจริตโลก: ประมวลข่าวคอร์รัปชันโลกปี 65 จากโอลิการ์ชรัสเซียถึงเอกสารแพนโดรา