จากข้อมูลตัวเลขที่มีการเผยแพร่โดยกระทรวงว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองในปี 2561 พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในประเทศตุรเคีย หรือคิดเป็นประมาณ 13 ล้านหลังคาเรือนถูกก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎระเบียบด้านการก่อสร้างและความปลอดภัย ซึ่งในตอนนั้นทั้งผู้เชี่ยวชาญและนักการเมืองท้องถิ่นได้ออกมาเตือนและเตือนมานานหลายปีแล้วว่าตัวเมืองจะสามารถทนกับแรงสั่นสะเทือนอันเกิดจากแผ่นดินไหวที่รุนแรงได้ แต่คำเตือนของพวกเขาก็ถูกเพิกเฉย
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในสัปดาห์นี้ขอนำเสนอกรณีการทุจริตที่อาจเป็นสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศตุรเคียและประเทศซีเรียไปมากกว่า 46,000 ศพไปแล้ว (ข้อมูลล่าสุดวันที่ 18 ก.พ.)
โดยสำนักข่าวการ์เดียนของอังกฤษได้รายงานข่าวสถานการณ์ตอนนี้ว่ายังคงมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนหลายหมื่นคน ขณะที่โซเชียลมีเดียก็มีการโพสต์ภาพของอาคาร ที่พักอาศัยต่างๆถล่มลงมาเหมือนปราสาททราย ฝังผู้อยู่อาศัยไว้ด้านใต้ซากปรักหักพัง
รายงานข่าวระบุต่อไปด้วยว่าที่พักอาศัยที่ถล่มดังกล่าวนั้นพบว่าหลายหลังถูกขายไปในฐานะบ้านอันหรูหรา มีความสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับแผ่นดินไหวตัวล่าสุด
อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้พบว่ามีผู้รับเหมาบางรายที่มีส่วนในการรับผิดชอบก่อสร้างที่อยู่อาศัยเหล่านี้หลบหนีออกจากประเทศตุรเคียแล้ว เพราะตอนนี้ได้มีการออกหมายจับเป็นจำนวนมากกว่า 130 หมายจับ ในข้อหาที่ว่ามีการก่อสร้างที่พักอาศัยโดยละเมิดต่อกฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัย โดยมีผู้บริหารบริษัทก่อสร้างจำนวนหลายแห่งได้ถูกจับกุมตัวไปแล้ว
ทางด้านของนายบีเคีย โบซดา (Bekir Bozdağ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของตุรเคียได้อกมาประกาศว่า ทุกคนที่มีส่วนต่อการกระทำความผิดนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ทว่าเหตุการณ์ความโลภและการหาผลกำไรอย่างไม่ถูกต้องกับการก่อสร้างที่พักอาศัยดังกล่าวนั้น ไม่ใช่อาชญากรรมที่จะเกิดจากการกระทำเพียงฝ่ายเดียวอย่างแน่นอน เพราะอาคารที่พักอาศัยนั้นจะไม่สามารถถูกก่อสร้างได้เลยถ้าหากไม่มีใบอนุญาตการก่อสร้าง ที่จะต้องมีลายเซ็นอนุมัติจากผู้ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารอิสระ อีกทั้งการจะออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารที่ว่านี้ จำเป็นจะต้องมีรายงานจากห้องปฏิบัติการณ์ที่ดำเนินการตรวจสอบและควบคุณภาพของวัสดุก่อสร้างด้วย จึงจะสามารถออกใบอนุญาตได้
หรือก็คือหมายความว่าเรื่องการก่อสร้างที่พักอาศัยเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายว่าด้วยการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ จากทางฝั่งรัฐบาล ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวก็เพื่อทำให้โครงการการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ต่างๆนั้นสามารถเติบโตได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก จนเป็นเหตุทำให้เกิดความสูญเสียดังกล่าว
สถานการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด (อ้างอิงวิดีโอจากไวซ์)
อนึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวในตุรเคียได้เปิดโปงความทุจริตของรัฐบาลที่ไร้ความสามารถ ทว่าพรรคความยุติธรรมและการพัฒนาหรือว่าพรรค AKP ของประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอันนั้นได้ปกครองประเทศตุรเคียมานานกว่า 20 ปีแล้ว นี่จึงหมายความว่าพรรค AKP มีทั้งเวลาและวิธีการในการที่จะแก้ไขปัญหากับภาคการก่อสร้างที่เต็มไปด้วยการทุจริต และสามารถกำหนดระเบียบให้ประชาชนในประเทศตุรเคียซึ่งเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อเหตุแผ่นดินไหวสามารถที่จะมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดีได้
ทว่าพรรค AKP ก็ไม่ได้ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้แต่อย่างใด โดยพรรค AKP เลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่เมกะโปรเจกต์โครงการก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่แทน เพราะมองว่านี่คือกลไกหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้สนใจว่าจะต้องเสียต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไปเป็นจำนวนเท่าไรก็ตาม
โดยนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาพบว่ารัฐบาลได้มีการผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ การปกครองท้องถิ่น และการให้เกิดอุดหนุนที่อยู่อาศัยไปแล้วหลายฉบับ ซึ่งหนึ่งในรายละเอียดของกฎหมายเหล่านี้ได้ให้อำนาจใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นแก่เทศบาลนครและอำเภอในการดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อฟื้นฟูเมือง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวขยายความร่วมมือกับบริษัทเอกชนที่มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้นก็รวมไปถึงการขยายที่ดินและทรัพย์สินที่เป็นของสาธารณะให้กับนักพัฒนาที่ดินที่เป็นเอกชน
ผลลัพธ์ก็คือว่าทำให้ผู้คนนับหลายหมื่นคนที่ส่วนมากแล้วเป็นคนยากจน คนชายขอบถูกขับไล่พ้นจากบ้านของพวกเขา ชุมชนและเครือข่ายที่อยู่อาศัยก็ถูกทำลายลง เพื่อที่จะก่อสร้างที่อยู่อาศัยอันหรูหราและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆที่สามารถทำกำไรได้เป็นมูลค่าสูง แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชนบทให้เป็นตัวเมืองกลับส่งผลทำให้สภาพที่อยู่อาศัยมีความยืดหยุ่นที่น้อยมากเมื่อต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวและภัยพิบัติอื่นๆ
จากข้อมูลตัวเลขที่มีการเผยแพร่โดยกระทรวงว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองในปี 2561 พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในประเทศตุรเคีย หรือคิดเป็นประมาณ 13 ล้านหลังคาเรือนถูกก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎระเบียบด้านการก่อสร้างและความปลอดภัย ซึ่งในตอนนั้นทั้งผู้เชี่ยวชาญและนักการเมืองท้องถิ่นได้ออกมาเตือนและเตือนมานานหลายปีแล้วว่าตัวเมืองจะสามารถทนกับแรงสั่นสะเทือนอันเกิดจากแผ่นดินไหวที่รุนแรงได้ แต่คำเตือนของพวกเขาก็ถูกเพิกเฉย
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงเวลาที่หน่วยงานของรัฐสนับสนุนให้เกิดการอำนวยความสะดวกในโครงการก่อสร้างและการพัฒนา ด้วยการหันหลังให้กับระเบียบการ พรรค AKP ก็ได้มีการทำให้กระบวนการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญอิสระมีความอ่อนแอลงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่าที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์สภาหอการค้าในฐานะผู้เปิดโปงปัญหาและข้อบกพร่องในเรื่องของการก่อสร้างอย่างรุนแรง และมีการนำคดีขึ้นสู่ชั้นศาลเพื่อให้มีคำคัดค้านการก่อสร้างที่อันตรายและเป็นปัญหา
ต่อมามีการผ่านกฎหมายในปี 2554 และในปี 2556 โดยกฎหมายที่ผ่านในปี 2556 นั้นพบว่ามีลักษณะที่ดูเหมือนจะแก้แค้นการที่ผู้นำหอการค้าออกไปประท้วงต่อต้านแผนการพัฒนาปรับปรุงสวนสาธารณะเกซีในปี 2556 เพราะว่าในรายละเอียดของกฎหมายที่ออกมาระบุชัดเจนเลยว่าให้ยกเว้นผู้เชี่ยวชาญที่มาจากหอการค้า อาทิ วิศวกรโยธา สถาปนิกและนักผังเมือง ไม่ต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบและอนุมัติโครงการก่อสร้างต่างๆ
ส่วนนาย Mücella Yapıcı สถาปนิก,นาย Can Atalay นักกฎหมาย และนาย Tayfun Kahraman นักวางผังเมือง ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นสมาชิกรายสำคัญของสหภาพหอการค้าสถาปนิกและวิศวกรตุรเคีย และยังเป็นผู้ร่วมวิจารณ์รัฐบาลพรรค AKP มาอย่างยาวนานก็ได้ถูกตัดสินให้จำคุกในข้อหาสมรู้ร่วมคิด (ไม่ได้ระบุว่าทำอะไร)
ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ละทิ้งความรับผิดชอบทั้งหมดในการรับรองให้มีการก่อสร้างที่ปลอดภัยและการควบคุมการก่อสร้างในตลาดเสรี หมายความว่ากระบวนการตรวจสอบอาคารนั้นถูกแปรสภาพให้เป็นการตรวจสอบโดยจัดลำดับในเรื่องของผลกำไรมากกว่าความเชี่ยวชาญทางสถาปนิก
ส่วนผู้รับเหมาและวิศวกรก็ไม่ได้สนใจในสิ่งที่ถูกต้องมากไปกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับ ทำให้กระบวนการตรวจสอบอาคารกลายเป็นแค่พิธีการเท่านั้น นี่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอาคารที่ถูกสร้างโดยผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัย โดยการแข่งขันที่อันตรายนี้มาถึงจุดต่ำสุดเมื่อวิศวกรและผู้รับเหมาที่งานได้มีการจ้างช่วงให้กับผู้ดำเนินงานต่อที่สามารถให้ประโยชน์สูงสุดแก่พวกเขาได้ ซึ่งในที่นี้ก็คือผู้รับเหมารายย่อยอีกที่หนึ่งที่มักจะมีพฤติกรรมการลัดขั้นตอนระเบียบราชการ และสรุปโครงการก่อสร้างด้วยราคาถูก โดยไม่มีคำแนะนำอันเป็นอุปสรรคจากผู้เชี่ยวชาญแต่อย่างใด
การประท้วงต่อต้านแผนการพัฒนาปรับปรุงสวนสาธารณะเกซีในปี 2556 (อ้างอิงวิดีโอจากไวซ์)
ยิ่งไปกว่านั้น อาคารที่มีอยู่ ณ เวลานี้ยังได้รับสิทธิประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่าการนิรโทษกรรมความผิดว่าด้วยการก่อสร้าง ซึ่งคำว่าการนิรโทษกรรมการก่อสร้างนั้นเป็นสิ่งที่เคยถูกใช้ในตุรเคียครั้งแรกในปี 2527 ในฐานะที่เป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน โดยรายละเอียดของกฎหมายนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจะอภัยโทษ ให้ใบอนุญาตแก่ประชาชนในกรณีที่มีการก่อสร้างหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยผิดกฎหมาย โดยแลกกับการที่ประชาชนต้องเสียค่าธรรมเนียมจำนวนหนึ่งให้กับรัฐ
โดยกฎหมายการนิรโทษกรรมการก่อสร้างครั้งล่าสุดผ่านความเห็นชอบไปเมื่อปี 2561 ซึ่งในตอนนั้นมีการเลือกตั้งทั่วไป และทางพรรค AKP ได้มีการยกย่องกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวว่าเป็นการนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ที่ก่อตั้งประเทศตุรเคียมา
รายละเอียดของกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 2561 ครอบคลุมอาคารกว่า 7.4 ล้านหลังคาเรือน และให้ผลตอบแทนต่อรัฐบาลคิดเป็นมูลค่า 2.419 หมื่นล้านลีราตุรกี (43,913,179,152 บาท ตามค่าเงินปัจจุบัน) ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองพบว่าเงินจำนวนที่ว่ามานี้ควรจะถูกนำไปใช้เพื่อให้ป้องกันอาคารจากเหตุแผ่นดินไหวได้ดียิ่งขึ้น
ทางด้านของรัฐบาลได้โต้แย้งว่ากฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวนั้นมีความตั้งใจที่จะให้ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้อยู่อาศัยที่พักอาศัยขนาดเล็กมีวิธีการในทางกฎหมายที่จะทำให้ที่พักอาศัยของตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานของทางเทศบาล
ทว่านักวิจารณ์กล่าวว่ารัฐบาลกำลังส่งเสริมการก่อสร้างที่พักอาศัยที่ไม่ปลอดภัยและไม่มีการควบคุม การนิรโทษกรรมดังกล่าวทำให้ไม่เกิดความแตกต่างระหว่างกระท่อมหรือบ้านชั้นเดียวกับอาคารสุดหรู 18 ชั้น
มีรายงานว่าอาคารจำนวนกว่า 294,000 หลังคาเรือนทั่วภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อสองสัปดาห์ก่อนนั้นเป็นอาคารที่ได้รับการอนุญาตให้ก่อสร้าง ตามผลของกฎหมายนิรโทษกรรมการก่อสร้าง
อีกทั้งในช่วงวันที่เกิดแผ่นดินไหวซึ่งก็คือวันที่ 6 ก.พ.พบว่ามีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอีกฉบับยังอยู่ในระหว่าการพิจารณาที่รัฐสภาด้วยเช่นกัน ซึ่งจนถึง บัดนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีอาคารที่ถล่มจำนวนกี่หลัง ที่ถูกครอบคลุมภายใต้กฎหมายนิรโทษกรรมกันแน่
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดปม บ.เกลมาโต้ถูกกล่าวหาจ่ายคอมมิชชั่นเอื้อทำสัญญาหลาย รบ.ในแอฟริกา
- ส่องคดีทุจริตโลก:เปิดโปง บ.พลังงานยักษ์ใหญ่ตะวันตก ทำธุรกิจหนุนเส้นเงินเผด็จการเมียนมา
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดปมฉาว กห.ยูเครนจัดซื้ออาหารไม่โปร่งใส กระทบความเชื่อมั่นต่างชาติ
- ส่องคดีทุจริตโลก:ขมวดปมอื้อฉาว ATK สะเทือนพรรคคอมฯเวียดนามอย่างไร หลัง ปธน.ลาออก
- ส่องคดีทุจริตโลก: ตามรอยบุหรี่จีนนับล้านมวนสูญหาย หลังเดินทางออกจากโรงงานในโรมาเนีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงเอกชนรับงานบูรณะถนนยูเครนพันล้าน เชื่อมโยงผู้ต้องหาหนีคดี FBI
- ส่องคดีทุจริตโลก: ประมวลข่าวคอร์รัปชันโลกปี 65 จากโอลิการ์ชรัสเซียถึงเอกสารแพนโดรา