โครงการก๊าซขนาดใหญ่ของ MOGE ในหลายโครงการนั้นพบว่ามีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้แก่บริษัทพลังงานสัญชาติสิงคโปร์ชื่อว่า Posco International,และบริษัทไทยชื่อว่า ปตท.สผ.หรือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กัลฟ์ ปิโตรเลียม เมียนมา
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัปดาห์นี้ขอเสนอกรณีความไม่โปร่งใสของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เข้าไปมีความสัมพันธ์กับกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเผด็จการทหารเมียนมา
โดยสำนักข่าวการ์เดียนของอังกฤษได้รายงานว่าปรากฏข้อมูลจากเอกสารภาษีต่างๆ พบว่านับตั้งแต่สองปีของการรัฐประหาร บริษัทน้ำมันและพลังงานยักษ์ใหญ่ของโลกยังคงหาเงินได้เป็นมูลค่ากว่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการทำกิจกรรมเกื้อหนุนเผด็จการทหารเมียนมา
ทั้งนี้นับแต่ตอนที่เผด็จการทหารเมียนมาได้ยึดอำนาจในเดือน ก.พ. 2564 ก็มีรายงานจาก สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners.)องค์การสหประชาชาติระบุว่าเมียนมามีการก่อเหตุอาชญากรรมต่อมนุษยชาติแทยบจะทุกวันและมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,940 ราย รวมถึงเด็ก นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและพลเรือนอื่นๆ
โดยท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นมานี้ ก็มีบันทึกภาษีที่รั่วไหลระบุว่าบริษัทผู้รับเหมาด้านน้ำมันและก๊าซสัญชาติสหราชอาณาจักรและไอริช ซึ่งบริษัทเหล่านี้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการขุดเจาะก๊าซและบริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องยังคงสามารถทำกำไรได้เป็นมูลค่ากว่าหลายด้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเมียนมา แม้ว่าจะเป็นช่วงที่ผ่านพ้นการรัฐประหารไปแล้ว
สำหรับที่มาของเอกสารดังล่าวถูกรวบรวมโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสที่ไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ Distributed Denial of Secrets และถูกวิเคราะห์โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวเมียนมาชื่อว่า Justice For Myanmar ซึ่งในเอกสารระบุต่อไปว่ามีบริษัทย่อยบางรายที่สังกัดอยู่กับบริษัทก๊าซยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐอเมริกายังคงดำเนินกิจการต่อไปในเมียนมา แม้ว่าทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯจะได้ออกมาเตือนเมื่อเดือน ม.ค. 2565 ว่าพบว่ามีความเสี่ยงอย่างสูงในการที่จะทำธุรกิจต่อไปในเมียนมา โดยความเสี่ยงที่ว่านี้ก็รวมไปถึงความเสี่ยงท่จะต้องไปทำธุรกิจกับรัฐวิสาหกิจที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่กองทัพเมียนมา อาทิ รัฐวิสาหกิจ น้ำมันและก๊าซแห่งชาติเมียนมา หรือ Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE)
สไลด์แนะนำรัฐวิสาหกิจ MOGE
และล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และแคนาดา ก็ได้ร่วมกันออกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาเพิ่มเติมอีก ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรนี้รวมไปถึงการคว่ำบาตรต่อกรรมการผู้จัดการและรองกรรมการผู้จัดการของ MOGE ทว่าประเทศเหล่านี้กลับยุติมาตรการลงโทษไปที่ตัวรัฐวิสาหกิจ MOGE
ย้อนไปเมื่อเดือน ก.พ.2565 ทางสหภาพยุโรปหรือว่าอียูได้เป็นกลุ่มประเทศแรกที่ออกมาประกาศคว่ำบาตร MOGE หลังจากที่มีรายงานของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในเมียนมา และพบว่า MOGE ได้ให้ทรัพยากรที่สำคัญแก่รัฐบาลทหารเมียนมา
รายละเอียดของมาตรการคว่ำบาตรของอียูระบุว่าห้ามไม่ให้บริษัทในยุโรปทำงานในโครงกาที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและก๊าซในเมียนมา ทว่าทางสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรกลับไม่ได้มีการออกมาตราการคว่ำบาตรที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ออกมา หรือสรุปก็คือว่าการทำกิจการของเอกชนที่อาจจะเกี่ยวข้องกับ MOGE นั้นไม่ใช่สิ่งต้องห้ามนั่นเอง
ดังนั้นจึงเป็นเหตุทำให้ข้อมูลเอกสารภาษีที่รั่วไหลออกมานั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
-บริษัทชื่อว่า Myanmar Energy Services ซึ่งมีฐานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์และเป็นบริษัทย่อยของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯชื่อว่าฮัลลิเบอร์ตัน (Halliburton) พบว่าบริษัทย่อยแห่งนี้มีกำไรรายปีก่อนหักภาษีที่รายงานในช่วงเดือน ก.ย. 2564 อยู่ที่ 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (210,312,900 บาท) ซึ่งแน่นอนว่ากำไรจนถึงเดือน ก.ย. 2564 นั้นรวมช่วงเวลา 8 เดือนหลังรัฐประหารในเดือน ก.พ. ไปด้วยแล้ว
-บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ส (Baker Hughes) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส มีรายงานว่าบริษัทย่อยของเบเกอร์ ฮิวจ์ส ที่มีสาขาอยู่ที่เมียนมานั้นมีกำไรในช่วง 6 เดือนก่อนเดือน มี.ค. 2565 อยู่ที่ 2.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (88,131,120 บาท)
-บริษัทสัญชาติสหรัฐฯชื่อว่า Diamond Offshore Drilling ได้รายงานว่ามีการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมรายปีให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีในเมียนมาคิดเป็นมูลค่ากว่า 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,235,171,000 บาท) ในช่วงเดือน ก.ย. 2564 และต่อมาในช่วงเวลาถึงเดือน มี.ค. 2565 ก็ได้มีการรายงานการจ่ายค่าธรรมเนียมอีกคิดเป็นมูลค่า 24.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (807,868,600 บาท)
-บริษัทชลัมเบอร์เกอร์ โลเกลโก (Schlumberger Logelco) สาขานครย่างกุ้ง ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทสัญชาติปานามาที่อยู่ในเครือของ บริษัทขุดเจาะนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ มีรายงานว่าบริษัทนี้มีรายได้รายปี 51.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,725,901,100 บาท) ในเดือน ก.ย. 2564 และต่อมาในเดือน ก.ย. 2565 พบว่าบริษัทนี้เป็นหนี้ค่าบริการ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (6,676,600 บาท) กับกระทรวงพลังงานของรัฐบาลทหาร
โดยการดำเนินการการของบริษัทเหล่านี้ ต่อผู้ประกอบการแหล่งก๊าซในเมียนมานั้นถือว่าเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญยิ่งต่อรัฐวิสาหกิจ MOGE ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีหุ้นใหญ่ที่สุดในกิจการว่าด้วยน้ำมันและก๊าซของเมียนมา เนื่องจาก MOGE จะดำเนินการเก็บภาษีและค่าลิขสิทธิ์ให้กับรัฐ ในโครงการเกี่ยวกับแหล่งก๊าซ เพื่อจะทำให้มั่นใจได้ว่ารัฐบาลทหารนั้นจะได้เงินภาษีและค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งข้อมูลในเชิงตัวเลขของรัฐบาลทหารเองระบุว่าอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซนั้นเป็นแหล่งรายได้ของสกุลเงินต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดสำหรับรัฐบาลทหารเมียนมา โดยพบว่าในช่วง 6 เดือนก่อนหน้าจะถึงเดือน ม.ค. 2565 รัฐบาลทหารเมียนมามีรายได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซอยู่ที่ 1.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (57,418,760,000 บาท)
ขณะที่นางยาดานาร์ หม่อง โฆษก Justice For Myanmar กล่าวว่าเหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง และบริษัทน้ำมันเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ที่มือเปื้อนเลือดเพราะได้ดำเนินกิจการกับรัฐบาลทหารที่ผิดกฎหมายของเมียนมาที่กระทำการอันโหดร้ายต่อประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง
“"บริษัทเหล่านี้ละเมิดความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและอาจสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติของรัฐบาลทหารโดยการให้บริการโครงการน้ำมันและก๊าซที่ให้ทุนสนับสนุนความโหดร้ายของรัฐบาลทหาร” นางหม่องกล่าวและกล่าวว่าเธอนั้นยินดีที่มีข่าวว่าจะมีมาตรการคว่ำบาตรเผด็จการทหารเพิ่มเติมอีก แต่ว่ายังคงมีหลายสิ่งที่จะต้องจัดการ
“จนถึงบัดนี้มีแค่อียูเท่านั้นที่ดำเนินการคว่ำบาตรต่อ MOGE ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงรัฐบาลทหาร เราขอเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย ได้ร่วมกันดำเนินการตามอียูและคว่ำบาตร MOGE” น่งหม่องกล่าวต่อ
ทั้งนี้เมียนมาถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย ทว่ากลับมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซอุดมสมบูรณ์มาก ซึ่งประเทศที่เป็นแหล่งส่งออกก๊าซเป็นหลักของเมียนมาก็ได้แก่จีนและไทย ขณะที่เมียนมามีอัตราการใช้ก๊าซในประเทศแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซทั้งหมด
ขณะที่โครงการก๊าซขนาดใหญ่ของ MOGE ในหลายโครงการนั้นพบว่ามีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้แก่บริษัทพลังงานสัญชาติสิงคโปร์ชื่อว่า Posco International,และบริษัทไทยชื่อว่า ปตท.สผ.หรือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กัลฟ์ ปิโตรเลียม เมียนมา ซึ่งทั้งสามบริษัทนั้น ทางผู้สื่อข่าวการ์เดียนได้มีการติดต่อเพื่อขอทราบคำชี้แจงกรณีไปร่วมกิจการกับ MOGE แล้ว
แหล่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในเมียนมา ที่ MOGE ได้เข้าไปมีส่วนในการรับผลประโยชน์ ซึ่งจะเห็นว่ามีบริษัทไทยเข้าไปมีส่วนในการจัดการถึงสามแห่งด้วยกัน
ส่วนผู้เชี่ยวชาญบางคนได้ให้ความเห็นว่าบริษัทผู้รับเหมาเหล่านี้อาจจะต้องเจอกับปัญหาทางด้านกฎหมายในอนาคต ซึ่งมีเหตุผลสืบเนื่องมาจากกิจกรรมของบริษัทในเมียนมา
โดยบริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ส ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวการ์เดียนว่าสัญญาของบริษัทกับ MOGE นั้นมีการเซ็นกันตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้ว ก่อนที่จะหมดสัญญาในช่วงต้นปี 2565 และบริษัทก็ไม่ได้ต่อสัญญาฉบับใหม่เป็นต้นมานับตั้งแต่ตอนรัฐประหาร และบริษัทก็มีบุคลากรที่น้อยมากในการที่จะสนับสนุนความปลอดภัยในการดำเนินกิจกรรมในเมียนมา
ขณะที่บริษัท ฮัลลิเบอร์ตัน, ชลัมเบอร์เกอร์ และบริษัท Diamond Offshore Drilling ไม่ยอมตอบคำถามของสำนักข่าวการ์เดียนแต่อย่างใด
ย้อนไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสชื่อว่า Total และบริษัทเชฟรอนของสหรัฐฯ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนานเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาในโครงการก๊าซในเมียนมาก็ได้ออกมาประกาศแผนการว่าพวกเขาจะย้ายออกจากประเทศเมียนมา โดยเชฟรอนได้ให้สัมภาษณ์กับการ์เดียนว่าพวกเขาได้ขายหุ้นจำนวน 41.1 เปอร์เซ็นต์ของโครงการยาดานาไปให้กับบริษัท Et Martem Holdings แล้ว ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทในสังกัดของบริษัทสัญชาติแคนาดาชื่อว่าบริษัท MTI Energy
ทั้งนี้มีการวิจารณ์ว่าจุดยืนสหรัฐฯที่มีต่อรัฐวิสาหกิจ MOGE ค่อนข้างคลุมเครือเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯได้คว่ำบาตรรัฐวิสาหกิจของเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับอัญมณี,ไข่มุก,และไม้ของเมียนมาไปแล้ว ทว่าวอชิงตันยังไม่เคยดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับ MOGE ที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งรายได้จากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมามาก่อนเลย
โดยในปี 2564 นิวยอร์กไทม์ได้รายงานข่าวว่าบริษัทเชฟรอนมีความจงใจที่จะล็อบบี้เพื่อต่อต้านการคว่ำบาตรต่อเมียนมา เพราะนั่นอาจจะส่งผลต่อปฏิบัติการณ์เกี่ยวกับน้ำมันของบริษัทในเมียนมา ซึ่งรายงานข่าวของนิวยอร์กไทม์นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ นายทอม แอนดรูว์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติประจำเมียนมา ได้ให้ปากคำกับสภาคองเกรสว่า MOGE นั้นถูกควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยองค์กรที่มีส่วนในอาชญากรรมและการฆาตกรรม และนายแอนดรูว์ยังได้เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรต่อทั้ง MOGE และรัฐวิสาหกิจของเมียนมาอื่นๆ เพื่อที่จะทำให้แหล่งรายได้ของรัฐบาลทหารลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
พอมาถึงช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯก็ได้มีการออกประกาศเตือนให้ทราบถึงความอันตรายของการทำธุรกิจต่อไปในเมียนมา และอ้างว่า MOGE นั้นเป็นส่วนที่มีปัญหาเป็นอย่างยิ่ง
“MOGE และรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับระบอบทหารที่มีส่วนในการโจมตีประชาชนเมียนมาอย่างร้ายแรง แต่หลายคนยังถูกกล่าวหาว่าทุจริต,บังคับใช้แรงงานเด็ก และมีส่วนในการสอดแนมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงานอื่น ๆ ” กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯระบุ
แต่ก็มีความย้อนแย้งกันเกิดขึ้นเพราะขณะที่สหรัฐฯได้ดำเนินการคว่ำบาตรต่อสภาบริหารแห่งรัฐของเมียนมา ซึ่งเป็นองค์กรปกครองของรัฐบาลทหารที่เข้าควบคุมรัฐวิสาหกิจ MOGE ผ่านกระทรวงพลังงาน แต่สหรัฐฯกลับยุติการคว่ำบาตรที่เข้มงวดต่อ MOGE เสียเอง และยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ยังได้ออกคำแนะนำฉบับหนึ่งที่เพิ่งจะอัปเดตไปเมื่อเดือน ก.ค. 2565 ระบุว่า “ภาคน้ำมันและก๊าซของเมียนมาถือว่ามีพลวัต ในฐานะอุตสาหกรรมและยังเป็น"โอกาสที่ดีและสําคัญที่สุดสําหรับนักลงทุนสหรัฐฯ”
ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนกำลังดิ้นรนและทำทุกวิถีทางเพื่อจะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมาที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้กับประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของเมียนมา
ขณะที่นางหม่องจาก Justice for Myanmar กล่าวว่าความย้อนแย้งกันเองในทีมบริหารของรัฐบาลของนายไบเดนที่มีต่อเมียนมานั้นส่งผลทำให้ทําให้บริษัทน้ํามันและก๊าซของสหรัฐฯ สามารถดําเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติในเมียนมา
“ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้เตือนว่าการดำเนินกิจการกับ MOGE เสี่ยงต่อการฟอกเงิน เป็นการส่งเสริมการทุจริตและเอื้อต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แต่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯกําลังแนะนําให้ บริษัทสหรัฐฯแสวงหาผลกําไรในภาคน้ำมันและก๊าซในเมียนมาร์และให้ดำเนินการแข่งขันเพื่อให้ได้เป็นคู่สัญญากับรัฐวิสาหกิจ MOGE" นางหม่องกล่าวและกล่าวต่อไปว่า “เราเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนเมียนมาด้วยมาตรการคว่ำาบาตร MOGE และช่วยลดการไหลเวียนของเงินทุนไปยังรัฐบาลทหาร”
โดยนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา มีรายงานว่ามีแรงกดดันที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อทีมบริหารของประธานาธิบดีไบเดนเพื่อให้ดำเนินการสักอย่างในเรื่องนี้ โดยวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครตได้แก่นายเจฟฟ์ เมอร์คลีย์, นายคอรี บุคเกอร์, นางไดแอนน์ ไฟน์สไตน์, นายเอ็ดเวิร์ด มาร์กี้ และนายแกรี่ ปีเตอร์ส ได้เขียนจดหมายถึงกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลไบเดนกําหนดมาตรการคว่ำาบาตรเพื่อช่วยยับยั้งความโหดร้ายของรัฐบาลทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดรายได้จาก MOGE
ต่อมาในเดือน ธ.ค. รัฐสภาสหรัฐฯก็ได้มีการผ่านร่างกฎหมายชื่อว่า พระราชบัญญัติการอนุญาตการป้องกันประเทศ (NDAA) ที่มีรายละเอียดครอบคลุมถึงการกระทำเกี่ยวกับเมียนมา ซึ่งนี่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะมีการคว่ำบาตรต่อ MOGE ทว่ามันก็ไม่เกิดขึ้น
“เมื่อปลายปีที่แล้ว สภาคองเกรสมีความคืบหน้าอย่างมากในการอนุมัติมาตรการคว่ำาบาตรภาคพลังงานของเมียนมา ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลทหาร ฝ่ายบริหารต้องใช้อํานาจเหล่านี้และทํางานร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อตัดความสามารถของรัฐบาลทหารที่กระทำการอย่างโหดร้ายต่อพลเรือน” นายเมอร์คลีย์กล่าวกับสำนักข่าวการ์เดียน
ในทางกลับกับ อียูกลับมีท่าทีที่เข้มข้นต่อ MOGE มากกว่าสหรัฐฯ โดยในเดือน ก.พ. 2565 อียูได้ขยายมาตรการคว่ำบาตรต่อเผด็จการทหาร และยังเป็นรัฐบาลแรกๆที่ดำเนินการคว่ำบาตรต่อ MOGE โดยห้ามไม่ให้มีการช่วยเหลือในด้านเทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีข้อยกเว้นแค่ในเรื่องของการถอนโครงการเท่านั้น
โดยบริษัทในยุโรปแห่งหนึ่งชื่อว่าบริษัท Gavin & Doherty Geosolutions ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงดับบลิน ประเทศไอร์แลนด์เหนือ และบริษัทนี้ยังเป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมธรณีเทคนิคที่ได้รับสัญญาให้ทํางาน ในโครงการพัฒนา Zawtika ของ บริษัท ปตท.สผ. จากประเทศไทย โดยตัวโครงการตั้งอยู่ ณ ตอนเหนือของประเทศเมียนมา ทั้งนี้สัญญาดังกล่าวมีการเซ็นเมื่อเดือน ส.ค.2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 7 เดือนหลังจากการรัฐประหาร ทว่าก่อนที่อียูจะดำเนินการคว่ำบาตรต่อ MOGE อย่างไรก็ตาม บริษัท Gavin & Doherty กลับปฏิเสธที่จะให้มีการตรวจสอบซ้ำในรายละเอียดการทำสัญญาฉบับนี้และ ปฏิเสธที่จะให้ตรวจสอบว่าตัวบริษัทยังทำงานอยู่ในเมียนมาหรือไม่
สำหรับโครงการ Zawtika ของ บริษัท ปตท.สผ. ที่ว่านี้พบว่ามีรัฐวิสาหกิจ MOGE เป็นเจ้าของโครงการอยู่ 20 เปอร์เซ็นต์ และแน่นอนว่ากำไรจากโครงการก็เข้าไปสู่เผด็จการทหารเมียนมา
การประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาที่หน้าที่ทำการสหประชาชาติในกรุงเทพ (อ้างอิงวิดีโอจาก Firstpost)
ในข้อมูลเอกสารภาษียังระบุถึงบริษัทอีกแห่งชื่อว่า Intermoor ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทสหราชอาณาจักรชื่อว่า Acteon ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการใต้ทะเล โดย Intermoor ยังคงดำเนินการหาผลกำไรด้วยการทำธุรกิจกับเมียนมาจนถึงเมื่อเดือน ก.พ. 2565 ขณะที่สหราชอาณาจักรได้มีการประกาศคว่ำบาตรต่อเมียนมาไปแล้ว แต่ก็เหมือนกับสหรัฐฯ ตรงที่ว่าสหราชอาณาจักรได้คว่ำบาตร MOGE แค่เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ก่อนจะหยุดการคว่ำบาตรเป็นระยะเวลาสั้นๆ และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีมาตรการใดๆของสหราชอาณาจักรที่จะห้ามการทำงานไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมกับหน่วยงานที่ควบคุมโดยรัฐบาลทหาร
ขณะที่ข้อมูลของบริษัท Diamond Offshore Drilling ที่ได้ยื่นให้กับหน่วยงานด้านภาษีของเมียนมาระบุว่าบริษัทได้มีการจ่ายเงินซ้ำๆให้กับบริษัท Intermoor ในช่วงระหว่างเดือน ต.ค. 2564 และใน ก.พ. 2565 สำหรับงานที่ทำในนามของบริษัทพอสโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Posco International) โดยบริษัทพอสโก้ที่ว่านี้ก็เป็นบริษัทที่ดำเนินกิจกรรมในโครงการก๊าซธรรมชาติชเว ซึ่งมี MOGE เป็นผู้เข้าไปหากำไรจากภาษีและค่าลิขสิทธิ์กับโครงการก๊าซแห่งนี้อยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะในปี 2563 ที่ผ่านมา Intermoor ก็ได้ออกมาประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบแล้วว่ากำลังเข้าไปมีส่วนในการจัดการก๊าซธรรมชาติแห่งนี้อยู่
แน่นอนว่าทั้ง Intermoor และบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องต่างก็ไม่ยอมตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้
เรียบเรียงจาก:https://www.theguardian.com/world/2023/feb/01/myanmar-oil-gas-companies-profits-regime-coup
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดปมฉาว กห.ยูเครนจัดซื้ออาหารไม่โปร่งใส กระทบความเชื่อมั่นต่างชาติ
- ส่องคดีทุจริตโลก:ขมวดปมอื้อฉาว ATK สะเทือนพรรคคอมฯเวียดนามอย่างไร หลัง ปธน.ลาออก
- ส่องคดีทุจริตโลก: ตามรอยบุหรี่จีนนับล้านมวนสูญหาย หลังเดินทางออกจากโรงงานในโรมาเนีย
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงเอกชนรับงานบูรณะถนนยูเครนพันล้าน เชื่อมโยงผู้ต้องหาหนีคดี FBI
- ส่องคดีทุจริตโลก: ประมวลข่าวคอร์รัปชันโลกปี 65 จากโอลิการ์ชรัสเซียถึงเอกสารแพนโดรา