สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ซึ่งได้ทำงานกับสำนักข่าวจาก 60 ประเทศได้มีการนำเสนอข่าวเปิดโปงการทุจริต อาชญากรรมในโลกการเงินในหลากหลายมิติ
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในช่วงสิ้นปี 2565 นี้ขอนำเสนอกรณีข่าวทุจริตรอบโลกในรอบปี 2565 ที่เป็นที่ถูกกล่าวถึงกันในหลายด้าน
โดยสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ซึ่งได้ทำงานกับสำนักข่าวจาก 60 ประเทศได้มีการนำเสนอข่าวเปิดโปงการทุจริต อาชญากรรมในโลกการเงินในหลากหลายมิติ ซึ่งมีรายละเอียดข่าวใหญ่ๆที่น่าสนใจมีรายละเอียดดังนี้
@การเปิดโปงความร่ำรวย ขุมสมบัติลับของเหล่าบรรดามหาเศรษฐีหรือโอชิการ์ชชาวรัสเซีย
นับตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่รัสเซียได้รุกรานประเทศยูเครน โดยเข้ายึดในหลายๆเมือง หน่วยงานผู้ใช้กฎหมายและภาคธุรกิจจากประเทศตะวันตกได้ดำเนินการรณรงค์ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อที่จะดำเนิการถอดถอนและคว่ำบาตรเหล่าบรรดาโอลิการ์ช ,นักการเมือง,นายธนาคาร,รัฐวิสาหกิจ และบุคคลที่มีอำนาจในประเทศรัสเซีย
โดยในช่วงปีที่ผ่านมาทาง ICIJ ได้ทำงานเพื่อจะเปิดโปงความลับทางการเงินของบุคคลสำคัญของผู้ใกล้นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ขณะที่ความพยายามจากทั่วโลกได้ดำเนินไปเพื่อที่จะทำลายเศรษฐกิจของรัสเซีย
อ้างอิงวิดีโอจาก ICIJ
ผู้สื่อข่าวของ ICIJ พร้อมด้วยพันธมิตรสื่อจากทั่วโลกยังได้มีการสำรวจข้อมูลจากเอกสารแพนโดรา (Pandora Papers) และเอกสารเกี่ยวกับบริษัทนอกอาณาเขตที่รั่วไหลต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่าบุคคลชั้นนำของรัสเซียได้มีการยักย้ายถ่ายเท เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับทรัพย์สินมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรบ้าง ซึ่งการสร้างความมั่นคงที่ว่านี้ก็มาด้วยกันหลายรูปแบบทั้งในด้านของบริษัทนอกอาณาเขต,ตัวแทน,เรือยอชท์,และแปลงสภาพเป็นทรัพย์สินหรูหราอื่นๆผ่านการให้คำแนะนำของที่ปรึกษาผู้เป็นมืออาชีพจากโลกตะวันตก
โดยการทำข่าวของ ICIJ พบว่าบริษัทสำนักกฎหมายจากตะวันตกอาทิเบเกอร์ แมคเคนซี่ สำนักกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่บริษัทแฟรนไชส์ฟาสฟู๊ดส์ชื่อดังอย่างเบอร์เกอร์คิงก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนธุรกิจของนักธุรกิจรัสเซียเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
ภายหลังจาการทำข่าวสืบสวนของ ICIJ สหรัฐฯก็ได้มีการออกมาตรการคว่ำบาตรนายคอนสแตนติน เอิร์นส์ นักโฆษณาชวนเชื่อชาวรัสเซีย,นายเซอร์เกย์ โรลดูกิน เพื่อนสนิทของประธานาธิบดีปูติน,นายอเล็กซี่ มอร์ดาชอฟ มหาเศรษฐีด้านเหล็กกล้าของรัสเซีย รวมไปถึงสมาชิกครอบครัวของเขา และนายอเล็กซานเดอร์ สตัดฮัลเตอร์ นักธุรกิจชาวสวิสที่เป็นศูนย์กลางของโครงข่ายขนาดใหญ่ของ บริษัทเปลือกหอยที่เชื่อมโยงกับนายสุไลมาน เคริมอฟ โอลิการ์ชผู้มีอำนาจชาวรัสเซีย
ทั้งนี้มีรายงานว่าหน่วยงานจากตะวันตกยังได้มีการยึดและย้ายทรัพย์สินของเหล่าผู้มีอำนาจชาวรัสเซียที่ปรากฎชื่อในเอกสารแพนโดราและเอกสารเกี่ยวกับบริษัทนอกอาณาเขตอื่นๆด้วยเช่นกัน
@เอกสารแพนโดราปรากฎสู่สาธารณะ
ในปี 2565 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้น ICIJ ได้มีการปรับปรุงฐานข้อมูลบริษัทนอกอาณาเขตหรือ Offshore Leaks Database โดยมีการเพิ่มบันทึกจำนวนกว่า 11.9 ล้านบันทึกที่มาจากเอกสารแพนโดรา ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวนี้ สาธารณชนรวมไปถึงหน่วยงานตรวจสอบสามารถที่จะเข้าไปตรวจข้อมูลบริษัทและบุคคลที่ปรากฏในฐานข้อมูลได้ เพื่อจะดูว่าบุคคลหรือว่าตัวตนใดบ้างที่ได้มีการใช้บริการบริษัทนอกอาณาเขต และเพื่อเปิดโปงความเชื่อมโยงที่ลงลึกในรายละเอียดมากกว่าที่สื่อมวลชนได้เคยรายงาน
ทั้งนี้เอกสารแพนโดราถือว่าเป็นการเปิดโปงข้อมูลเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงภาษีนอกอาณาเขตครั้งใหญ่และมีความซับซ้อนที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยผู้ให้บริการบริษัทนอกอาณาเขตในแต่ละรายที่อยู่ในเอกสารนั้นจำเป็นต้องมีวิธีการที่จำเพาะเจาะจงในการจะดึงข้อมูลออกมา และ ICIJ ต้องมีการกำหนดมาตรฐานด้วยการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ออกเป็นสามชุดด้วยกัน
ทีมงานของ ICIJ จึงได้มีการจัดโครงสร้างข้อมูลของเจ้าของผลประโยชน์ที่ใช้บริการในแต่ละบริษัท รวมไปถึงขอบเขตภายในแต่ละประเทศที่บริษัทนอกอาณาเขตเหล่านี้ได้อ้างว่าไปเปิดกิจการ เพื่อทำให้ข้อมูลของบริษัทนอกอาณาเขตจำนวนกว่า 25,000 แห่งง่ายต่อการสำรวจ
@บริษัทอีริคสันกับข้อครหาพัวพันทุจริตในเขตสงคราม
ICIJ พร้อมด้วยพันธมิตรสื่อกว่า 30 สำนักได้ใช้เวลานานหลายเดือนเพื่อตรวจสอบกรณีเอกสารที่รั่วไหลจากบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีเดนชื่อวีอีริคสัน ซึ่งบริษัทนี้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อผลประโยชน์ของตะวันตกในแง่ของการแข่งขันด้านระบบเครือข่าย 5 G กับประเทศจีน
โดยการสืบสวนพบว่าเป็นเวลาเกือบสิบปี มีกรณีของการให้สินบน,การฉ้อโกงและการทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้อีริคสันสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ในประเทศอิรักในช่วงเวลาและยังพบด้วยว่ามีกรณีทุจริตอื่นๆอีกนับสิบกรณีในประเทศอื่นๆ
แต่กรณีที่อื้อฉาวที่สุดก็คงหนีไม่พ้นข่าวที่อีริคสันได้พยายามจะดำเนินการเพื่อให้กลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามหรือว่า ISIS อนุญาตให้อีริคสันดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในพื้นที่ควบคุมของ ISIS ซึ่งในรายงานการสืบสวนยังพบอีกว่าอีริคสันได้ลักลอบขนอุปกรณ์ผ่านพื้นที่ควบคุมของ ISIS โดยไม่สนใจคำเตือนที่มาจากภายในบริษัทเลยแม้แต่น้อย และยังส่งผลทำให้ชีวิตของพนักงานตกอยู่ในอันตราย
โดยเมื่อ ICIJ ได้มีการส่งคำถามเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านี้ไปยังอีริคสัน ทางอีริคสันก็ไม่ได้มีการตอบคำถามแต่อย่างใด แต่กลับยอมรับต่อสาธารณชนว่าพวกเขาอาจจะจ่ายเงินสินบนให้กับกลุ่ม ISIS จริง
ทั้งนี้แม้ว่าจะมีความยายามในการควบคุมความเสียหาย แต่ว่ารายงานอีริคสันก็ยังส่งผลร้ายต่ออีริคสันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งปีหลังจากนั้น เพราะว่ารายงานฉบับดังกล่าวส่งผลทำให้หุ้นของบริษัทตกฮวบ และบริษัทก็ถูกกล่าวหาว่าได้ละเมิดต่อข้อตกลงมูลค่าหลายล้านพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่บริษัทได้กระทำก่อนหน้านี้เพื่อต้องการจะการยุติคดีการติดสินบนกับทั้งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ,หน่วยงานของรัฐบาลอีกหลายประเทศที่ดำเนินการตรวจสอบ,และเหยื่อของกลุ่มก่อการร้ายที่ดำเนินการฟ้องร้องบริษัท
รายงานอีริคสันยังได้แสดงให้เห็นถึงกรณีของผู้ที่ฝ่าฝืนข้อตกลงการผ่อนปรนการดำเนินคดีที่ทำไว้กับสหรัฐฯ และในเวลาต่อมา ICIJ ยังได้มีการนำเอารายงานนี้ไปวิเคราะห์ต่อรูปแบบของการที่บริษัทเอกชนต่างๆได้กระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อ้างอิงวิดีโอจาก ICIJ
@เอกสารอูเบอร์ไฟล์เผยให้เห็นถึงการล็อบบี้ในระดับสูง
ย้อนไปเมื่อเดือน ก.ค. ICIJ ร่วมกับสำนักข่าวการ์เดียนและสื่อต่างประเทศอีกกว่า 40 สำนักได้มีการตีแผ่ข้อมูลชื่อว่าอูเบอร์ไฟล์ ซึ่งนี่เป็นการทำข่าวสืบสวนที่บ่งบอกว่าเพราะปัจจัยอะไรที่ทำให้บริษัทเทคโนโลยีอย่างอูเบอร์นั้นสามารถเข้าไปมีอิทธิพลได้ในระดับโลก
โดยอดีตหัวหน้าล็อบบี้ยิสต์ของบริษัทได้มีการเปิดเผยเอกสารที่รั่วไหลภายในเป็นจำนวนนับหลายพันฉบับ ซึ่งเนื้อหาเป็นการส่งข้อมูลกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงของอูเบอร์กับเจ้าหน้าที่รัฐบาล เปิดโปงว่าแท้จริงแล้วอูเบอร์มีพฤติกรรมที่ท้าทายกฎหมายอย่างยิ่ง เพื่อจะเข้าไปบุกตลาดทั่วโลก ซึ่งผู้ที่ถูกล้อบบี้นั้นก็มีทั้งนักการเมืองและผู้มีส่วนออกนโยบายต่างๆการใช้เทคโนโลยีระดับสูงเพื่อขัดขวางการตรวจสอบและการใช้กฎหมาย และการใช้ความรุนแรงต่อคนขับของตัวเอง
การสืบสวนยังได้เปิดเผยให้เห็นกลยุทธ์การหลบเลี่ยงภาษีของอูเบอร์ ความพยายามที่ล้มเหลวในการเสนอราคาเพื่อเจาะตลาดรัสเซีย โดยใช้วิธีการปลอมแปลงข้อตกลงกับคนสนิทของประธานาธิบดีปูติน
โดยการเปิดโปงดังกล่าวนั้นส่งผลทำให้เกิดการประท้วงไปทั่วยุโรป รวมไปถึงการรวมกลุ่มประท้วงของคนขับแท็กซี่ในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งคนขับแท็กซี่นับหลายร้อยคนได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปหรืออียูสืบสวนกรณีที่อูเบอร์ได้มีการไปล็อบบี้ผู้นำทางการเมืองต่างๆ ขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติของยุโรปก็ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ โดยรัฐสภายุโรปได้มีการรับฟังข้อมูลกรณีอูเบอร์ไฟล์แล้ว โดยเฉพาะในส่วนที่กระทบกับคนงานของบริษัท
@ไฟล์ข้อมูลตำรวจซินเจียง
ICIJ ได้ทำงานร่วมมือกับองค์กรสื่ออีกกว่า 14 สำนักทำข่าวสืบสวนรวมไปถึงสำนักข่าว China Cables เพื่อเปิดโปงกรณีที่ทางการประเทศจีนได้กักขังหมู่ชาวอุยกูร์ในภูมิภาคซินเจียงเป็นจำนวนมาก โดยไฟล์ตำรวจซินเจียงซึ่งถูกรวบรวมเป็นครั้งแรกจากนายเอเดรียน เซนซ์ นักมานุษวิทยาชาวเยอรมนีที่ได้ศึกษาเรื่องอุยกูร์มายาวนานนั้นมีทั้งภาพและเอกสารเป็นจำนวนมากที่มาจากสำนักงานความมั่นคงสาธารณะในซินเจียง รวมถึงภาพของการกักขังหมู่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันค่ายกักกันของทหาร
ทั้งนี้หลังการเปิดโปง นักการเมืองระดับสูงของสหรัฐฯและอียูได้เรียกร้องให้มีการสืบสวนอย่างโปร่งใสต่อข้อกล่าวหา โดยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาสำนักงานสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติได้มีการออกรายงานกล่าวหาทางการจีนมีพฤติกรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมในซินเจียง และอาจจะมีพฤติกรรมเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
และในรายงานของสหประชาชาติยังได้มีการอ้างไฟล์ข้อมูลตำรวจซินเจียงและข่าวจาก China Cables ประกอบหลักฐานด้วยเช่นกัน
@ตามล่ามรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกปล้น
ตลอดทั้งปี 2565 ICIJ ได้ทำงานร่วมกับสื่อพันธมิตรอีก 22 สำนัก เพื่อติดตามการค้างานศิลปะ โบราณวัตถุที่มีการกล่าวหากันว่าถูกขโมยมาจากประเทศต่างๆทั่วโลกและถูกนำมาขายให้กับพพิธภัณฑ์และนักสะสมงานศิลปะชาวตะวันตกที่ร่ำรวย
โดยการทำข่าวสืบสวนที่ ICIJ ได้ทำร่วมกับสำนักข่าว Finance Uncovered และวอชิงตันโพสต์ได้มีการตรวจสอบชุดงานสะสมของตระกูลมหาเศรษฐีชื่อว่าตระกูลลินเดมันน์ ซึ่งถูกบรรยายว่าเป็นหนึ่งในคอลเลกชันงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในการครอบครองส่วนบุคคล
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าจากการตรวจสอบข้อมูลที่ปรากฏบนนิตยสารทีลงเนื้อหาเกี่ยวกับคฤหาสน์ของครอบครัวพบว่ามีรูปภาพที่ตรงกับรายการวัตถุโบราณที่หายสาสูญไป ซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดโดยรัฐบาลกัมพูชา รวมไปถึงยังพบประติมากรรมเขมรโบราณที่เคยถูกตัดต่อออกไปจากนิตยสารเกี่ยวกับวัตถุโบราณชื่อว่า Architectural Digest ก่อนหน้านี้
ICIJ ยังได้มีการทำข่าวเกี่ยวกับการยึดวัตถุโบราณครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทนของนิวยอร์ก ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และทำข่าวเกี่ยวกับกรณีที่หน่วยงานรัฐต่างๆได้ใช้ความพยายามทางกฎหมายที่จะส่งคืนวัตถุโบราณเหล่านี้ให้คืนกลับประเทศต้นทาง
@เครือข่ายการค้ามนุษย์กับกองทัพสหรัฐฯ
ในช่วงปีที่ผ่านมา ICIJ มีการทำข่าวสืบสวนกรณีการกล่าวหาองค์การอาชญากรรมแห่งหนึ่งซึ่งเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยมีการเปิดโปงโครงข่ายลึกลับที่เชื่อมโยงไปถึงบุคคลและบริษัทเพื่อจุดประสงค์ในการทำกำไรผ่านปฏิบัติการณ์เกี่ยวกับแรงงานข้ามพรมแดน
โดยICIJ ได้ทำงานร่วมกับวอชิงตันโพสต์ สำนักข่าว NBC และสำนักข่าว Arab Reporters for Investigative Journalism เพื่อรายงานข่าวเปิดโปงกรณีที่คนงานต่างชาติจำนวนหลายรายซึ่งทำงานภายใต้ผู้รับเหมาที่รับงานให้กับฐานทัพของกองทัพสหรัฐฯจำนวนหลายแห่งในอ่าวเปอร์เซียนั้นถูกจ้างงานอย่างไม่เหมาะสม และการจ้างงานที่ว่าก็มีลักษณะละเมิดข้อห้ามของรัฐบาลสหรัฐฯ
และล่าสุดในรายการ Last Week Tonight with John Oliver ที่ออกอากาศทางช่อง HBO สหรัฐฯ ก็ได้นำรายงานข่าวของ ICIJ ไปนำเสนอในรายการ ซึ่งเนื้อหาของรายการนั้นเป็นการเปิดโปงระบบที่เรียกกันว่าระบบแรงงานคาฟาลา (kafala labor system) และเปิดโปงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับแรงงานข้ามชาติในกาตาร์ และรายงานข่าวดังกล่าวยังได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันสื่อระดับโลกประจําปี 2565 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยการย้ายถิ่นของแรงงาน
สื่อที่เป็นพันธมิตรของ ICIJ ก็ได้มีการทำข่าวสืบสวนกรณีที่ฐานทัพสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในที่ห่างไกลในแถบมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อให้แรงงานฟิลิปปินส์ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม และรายงานเกี่ยวกับเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ในรัฐแมสซาชูเซตส์และความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายในท้องถิ่น โดยเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์เพิ่มเติมจะเผยแพร่ในปี 2566
@นักการทูตกิตติมศักดิ์
คำว่าระบบกงสุลกิตติมศักดิ์เป็นระบบที่ถูกก่อตั้งมาได้หลายศตวรรษแล้ว โดยระบบนี้นั้นเอาไว้ใช้เป็นประโยชน์สำหรับประเทศที่ไม่มีงบประมาณพอจะดำเนินการจัดตั้งสถานทูตในต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตามระบบนี้ได้ขยายวงกว้างขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในแกนนำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่รัฐบาลส่วนใหญ่ทั่วโลกยอมรับ
อย่างไรก็ตาม ICIJ ได้มีการทำข่าวสืบสวนร่วมกับสำนักข่าว ProPublica และอีก 59 พันธมิตรสำนักข่าวเพื่อตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับนักการทูตเหล่านี้ซึ่งพบว่ามีทั้งเอกสารและรายงานข่าวว่านักการทูตกิตติมศักดิ์นั้นมีส่วนในเรื่องอื้อฉาวในหลายประเทศทั่วโลก
โดยมีนักการทูตกิตติมศักดิ์ทั้งอดีตและปัจจุบันจำนวนกว่า 500 คนได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในช่วงเวลาที่ได้ดำรงตำแหน่ง และยังพบว่ามีกรณีของการใช้สถานะของตนเพื่อเอื้อต่อกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย อาทิ การเงินเพื่อสนับสนุนการก่อการร้าย การค้าอาวุธ การค้ายาเสพติด หรือการหลบเลี่ยงจากการถูกดำเนินคดีโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย
อ้างอิงวิดีโอจาก ICIJ
มีรายงานด้วยว่ามีนักการทูตกิตติมศักดิ์อีกเป็นจำนวนมากได้พยายามที่จะแพร่กระจายความคิดแบบสนับสนุนรัสเซียและการกระทำของประธานาธิบดีปูตินไปทั่วโลกในช่วงเวลาที่รัสเซียกำลังทำสงครามรุกรานประเทศยูเครน
ทั้งนี้หลังจากที่มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าว หน่วยงานในประเทศต่างๆได้มีการออกมาตรการเพื่อที่จะดำเนินการปราบปรามแก้ไขปัญหานักการทูตกิตติมศักดิ์แล้วยกตัวอย่างเช่นที่ฟินแลนด์ หัวหน้าพิธีสารของกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวว่าเขารับรู้ว่ามีนักการทูตบางคนมีพฤติกรรมการฉ้อโกงภาษี การติดสินวน และอาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นกระทรวงจึงได้มีการทบทวนในช่วงเดือน ธ.ค.เพื่อจะดำเนินการสืบสวนรายละเอียดเกี่ยวกับอาชญากรรมเหล่านี้
เรียบเรียงจาก:https://www.icij.org/inside-icij/2022/12/how-2022-turned-into-one-of-icijs-biggest-years-for-investigations-and-impact/