“…การรวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสอง (TRUE และ DTAC) ในครั้งนี้ ทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น เป็นการแข่งขันกับผู้นำตลาดได้โดยตรง (head to head competition) ส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการที่จะได้รับบริการในราคาที่ถูกลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีบริการที่หลากหลายขึ้น…”
........................................
จากกรณีที่ ณภัทร วินิจฉัยกุล (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ต่อศาลปกครอง โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 (ประกาศพิพาท)
พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 ก่อนการพิพากษา
และล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลฯมีคำสั่ง ‘ยกคำขอ’ ทุเลาการบังคับตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมฯ ดังกล่าว
เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในชั้นนี้ยังรับฟังไม่ได้ว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมฯ น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งข้อเท็จจริงจากการไต่สวนได้ความว่า ผู้ร้องสอดทั้งสอง (บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น) ยังมิได้จดทะเบียนทำให้เกิดนิติบุคคลใหม่ขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
หรือได้มีการทำสัญญาซื้อขายหุ้น ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการรวมธุรกิจตามกฎหมาย จึงไม่มีความเสียหายอย่างร้ายแรงยากแก่การแก้ไขในภายหลังตามที่ผู้ฟ้องกล่าวอ้าง นั้น (อ่านประกอบ : ‘ศาลปค.’ ชี้ ‘กสทช.’ มีอำนาจสั่งห้ามควบรวม ‘TRUE-DTAC’ หากเห็นว่าก่อให้เกิดการผูกขาด)
จากคำสั่งของศาลปกครองกลางดังกล่าว พบว่า บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ในฐานะผู้ร้องสอด ได้เข้าให้ถ้อยคำต่อศาลฯในคดีนี้ด้วย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำถ้อยคำของ TRUE และ DTAC ที่ให้การต่อศาลฯมาเสนอให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@อ้างกม.ไม่ได้บัญญัติ ‘ให้มีการอนุญาต’ แต่ให้ใช้ระบบ ‘รายงาน’
บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE (ผู้ร้องสอดที่ 1) ให้ถ้อยคำว่า การรวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสองเป็นสิทธิเสรีภาพในการประกอบธุรกิจและเป็นไปเพื่อประโยซน์แก่ประชาชนและเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกิจการโทรคมนาคม
การยับยั้งผู้ร้องสอด ไม่ให้รวมธุรกิจจะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และจะส่งผลให้เกิดผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้บริการ
และเมื่อพิจารณาตามความในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่วางหลักการให้หน่วยงานของรัฐใช้ระบบอนุญาตเท่าที่จำเป็น
ประกอบกับมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และมาตรา 21 และมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ก็มิได้บัญญัติให้มีการอนุญาตในการรวมธุรกิจ แต่ให้ใช้ระบบการรายงาน
และประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 มิได้กำหนดเรื่องการควบรวมกิจการไว้
อีกทั้ง หากศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศพิพาทจะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีเครื่องมือในการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการตามประกาศพิพาทเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องการรวมธุรกิจอันจะเป็นปัญหาต่อการบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดี
นอกจากนี้ เนื่องจากมีการรวมธุรกิจตามประกาศพิพาทไปแล้ว 4 ถึง 5 ราย หากศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศพิพาทจะเป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะต่อผู้ร้องสอดทั้งสองเท่านั้น
@DTAC ชี้ข้ออ้างผลกระทบการรวมธุรกิจ ‘เป็นเพียงการคาดคะเน’
บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC (ผู้ร้องสอดที่ 2) ให้ถ้อยคำว่า ผู้ฟ้องคดี (ณภัทร) ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงประชาชนและผู้ใช้บริการของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม จึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้ ประกาศพิพาทชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ผู้ฟ้องคดี ตีความกฎหมายคลาดเคลื่อน เจตนารมณ์ในการแก้ไขประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาเป็นประกาศพิพาท เนื่องจากการออกประกาศดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเจตนารมณ์ที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้
ไม่ใช่การเปลี่ยนหลักการตามกฎหมายตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง เนื่องจากกฎหมายแม่บทมิได้กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องใช้ระบบการอนุญาตการรวมธุรกิจในทุกกรณี แต่กำหนดให้เพียงมีหน้าที่ในการรายงานต่อผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ยังคงมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้ ประกาศพิพาทได้ออกโดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
สำหรับปัญหาเรื่องผลกระทบการรวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสอง (TRUE และ DTAC) ไม่ใช่ประเด็นที่จะนำมาพิจารณาว่าประกาศพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกล่าวอ้างถึงผลกระทบของการรวมธุรกิจของผู้ฟ้องคดี ก็เป็นเพียงการคาดคะเนของผู้ฟ้องคดีเอง
@‘TRUE-DTAC’ ยก 7 เหตุผล ร้องสอดสู้คดีเพิกถอนประกาศพิพาท
นอกจากนี้ TRUE และ DTAC (ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2) ได้ให้ถ้อยคำว่าเกี่ยวกับ ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 (ประกาศพิพาท) โดยเห็นว่า ที่ผ่านมาไม่ปรากฎเหตุว่า ประกาศพิพาทมีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเหตุผล 7 ประการ สรุปได้ดังนี้
ประการแรก การที่ผู้ฟ้องคดี (ณภัทร) กล่าวอ้างว่า ประกาศพิพาทที่ให้การรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายงานต่อผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) เป็นการใช้อำนาจออกกฎที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมที่มีเจตนารมณ์เป็นการใช้ระบบอนุญาตเท่านั้น
เมื่อพิจารณามาตรา 21 (1) (2) (3) (4) (5) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ประกอบกับมาตรา 27 (11) (24) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แล้ว
จะเห็นได้ว่า กฎหมายระดับ พ.ร.บ. มิได้กำหนดให้การใช้อำนาจกำกับดูแลการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาต นั้น จะต้องเป็นระบบอนุญาตในทุกกรณีแต่อย่างใดทั้งสิ้น บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงแต่ให้อำนาจแก่ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ในการใช้ดุลพินิจกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นสมควร เหมาะสมและจำเป็นแก่สภาพการณ์ของการประกอบกิจการโทรคมนาคมในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น
จึงย่อมเป็นอำนาจโดยเฉพาะของผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ในการที่จะเลือกใช้มาตรการเฉพาะวิธีใดก็ตามที่เหมาะสมในการกำกับดูแลไม่ให้มีการผูกขาดกิจการโทรคมนาคมตามที่กฎหมายกำหนด
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณามาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโหรคมนาคม พ.ศ.2544 ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่เพียงแต่รายงานไปยังเลขาธิการ กสทช. มิใช่การขออนุญาตแต่อย่างใด
ประกอบกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 วางหลักการว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต หรือการประกอบอาชีพโดยไม่ ชักข้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และรัฐพึงใช้ระบบอนุญาตในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น
กรณีจึงเห็นได้ว่า แม้แต่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้กำหนดแนวนโยบายของรัฐประการหนึ่งว่า ในการใช้ระบบอนุญาตของรัฐ จะต้องทำเฉพาะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
และโดยที่ประกาศพิพาทได้ออกมาภายหลังจากการใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงเป็นการใช้อำนาจโดยสอดคล้องกับเจตนารมณ์และแนวนโยบายของรัฐที่ไม่ประสงค์ที่จะให้รัฐใช้ระบบอนุญาตอย่างไม่จำเป็นอีกด้วย
นอกจากนี้ แม้แต่ผู้ถูกพ้องคดี (กสทช.) เอง ก็ทราบเป็นอย่างดีว่ากฎหมายแม่บทได้ให้อำนาจแก่ผู้ถูกพ้องคดีในการกำหนดหลักเกณฑ์การรายงานการรวมธุรกิจเท่านั้น เห็นได้จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ได้ระบุในอกสารประกอบการรับพังความคิดเห็นสาธารณะ ในคราวพิจารณาร่างประกาศของผู้ถูกฟ้องคดี เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ฉบับเดือน ส.ค.2560
โดยระบุในข้อ 2.1 ว่า เจตนารมณ์ที่ต้องแก้ไขประกาศคณะกรรมการการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ ศ.2553 ที่วางหลักการให้ผู้ประกอบกิจการจะต้องขออนุญาตก่อนนั้น ไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า และการดำเนินการขออนุญาตยังก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
กล่าวคือ ในช่วงที่มีการบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการการกิจการ์โทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้การโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มีผู้รับใบอนุญาตและผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตดำเนินการตามประกาศควบรวมกิจการทั้งสิ้น 8 คำขอ โดยมีระยะเวลาที่ใช้ในการขออนุญาตรวมกิจการค่อนข้างนานกว่า 103 วัน
ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้รับใบอนุญาต และผู้รับใบอนุญาตที่ได้ดำเนินการขออนุญาตการควบรวมกิจการ มีต้นทุนค่าใช้ง่ายในการจ้างที่ปรึกษาอิสระเพื่อจัดทำความเห็นประกอบการควบรวมกิจการ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์พฤติกรรม และผลกระทบภายหลังการควบรวมกิจการต่อคณะกรรมการทุกไตรมาส
ดังนั้น สำนักงาน กสทช. และผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) จึงตระหนักถึงต้นทุนและระยะเวลาในการดำเนินการที่ยาวนานดังกล่าว จึงได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขประกาศฉบับดังกล่าวมาเป็นประกาศพิพาทในภายหลัง ประกาศพิพาทจึงชอบด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่บทแล้ว มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการกำกับดูแลตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง
@ชี้อำนาจตาม ‘พ.ร.บ.องค์การจัดสรรฯ’ ใช้กับผู้ประกอบการรายใหม่
ประการที่สอง สำหรับกรณีผู้ฟ้องคดี (ณภัทร) กล่าวอ้างว่า การกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมในระบบกฎหมายไทยมีหลักการกำกับดูแลผ่านระบบอนุญาต เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 27 (4) (6) (7) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 บัญญัติให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้อยู่ภายใต้ระบบอนุญาต นั้น
บทบัญญัติที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างมาทั้งหมด ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้แต่อย่างใด กล่าวคือ บทบัญญัติที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างมานั้น เป็นเรื่องของการขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ หรือการพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของผู้ประกอบการรายใหม่
มิใช่ประเด็นเดียวกัน และไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับการรวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสองซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเดิม และเป็นเรื่องที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเป็นการเฉพาะแล้ว
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณา การใช้อำนาจบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมเห็นได้ว่าแม้ในบางกรณีนั้น ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ก็มีดุลพินิจในการเลือกที่จะไม่ใช้ระบบอนุญาตกับการดำเนินการของผู้ประกอบการได้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้คลื่นความถี่และเครื่องวิทยุคมนาคมที่อนุญาตให้มีการใช้งานเป็นการทั่วไป หรือการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามตัวอย่างบริการโทรคมนาคมปรากฏตามภาคผนวก ค แนบท้ายประกาศ
การที่ผู้ฟ้องคดีนำเอาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อันมิใช่กรณีเดียวกับข้อพิพาทในคดีนี้ มาตีความกับการใช้ประกาศพิพาท ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอน เกี่ยวกับเรื่องของมาตรการในการรวมธุรกิจของผู้ได้รับใบอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะจึงไม่ถูกต้อง ข้อกล่าวอ้างของผู้พ้องคดีจึงไม่อาจรับฟังได้
@ประกาศ กทช. ปี 49 ไม่ได้กำหนดกรณีการรวมธุรกิจไว้
ประการที่สาม ประกาศพิพาทมิได้ขัดแย้งกับประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549
กล่าวคือ ประกาศดังกล่าวมีสถานะเป็นกฎหมายลำดับรอง ลำดับศักดิ์เทียบเท่ากับประกาศพิพาท การพิจารณาว่าจะนำประกาศฉบับใดบังคับในเรื่องของการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมมาใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักการใช้และการตีความกฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีกฎหมายอยู่ในลำดับศักดิ์เท่ากัน จึงต้องใช้กฎหมายเฉพาะบังคับแก่กรณี
และเมื่อพิจารณาเนื้อหาของประกาศทั้งสองฉบับแล้วจะเห็นว่า ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 มีสถานะเป็นเพียงกฎที่กำหนดกฎเกณฑ์ไว้เป็นการทั่วไป
มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอันมีลักษณะเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม ซึ่งประกาศฉบับนี้ มิได้มีกฎเกณฑ์หรือมาตรการที่กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการในเรื่องของการรวมธุรกิจโดยการควบบริษัทไว้โดยเฉพาะ
ประกาศฉบับนี้เพียงแต่กำหนดในเรื่องของการถือครองธุรกิจ (Acquisition) ระหว่างผู้รับใบอนุญาตด้วยกัน โดยการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบ (10) ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นแต่เพียงเท่านั้น มิได้กำหนดกรณีการรวมธุรกิจ (Merger) ไว้
ในขณะที่ประกาศพิพาทได้กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการในเรื่องของการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมเอาไว้เป็นการเฉพาะ เพราะฉะนั้น ประกาศพิพาทจึงถือเป็นกฎหมายเฉพาะที่จะต้องใช้บังคับกับกรณีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม
และเมื่อพิจารณาถ้อยคำในประกาศพิพาทกับกรณีการรวมธุรกิจแล้วจะเห็นได้ว่า ประกาศพิพาทมีเนื้อหาและขอบเขตครอบคลุมกว่าประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 อีกด้วย ซึ่งประกาศพิพาทได้กำหนดนิยามของคำว่าการรวมธุรกิจ ให้หมายความรวมถึงการควบรวมกิจการและเกิดเป็นนิติบุคคลใหม่ด้วย
นอกจากนี้ ประกาศพิพาทยังเป็นการออกกฎ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติโดยตรง ดังนั้น ประกาศพิพาทจึงไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 แต่อย่างใด
@ยันรวมธุรกิจ ‘TRUE-DTAC’ เพื่อตอบสนองต่อการแข่งขันที่เปลี่ยนไป
ประการที่สี่ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสอง (TRUE และDTAC) ไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาว่า ประกาศพิพาทมีมูลเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กล่าวคือ การที่ผู้ฟ้องคดี (ณภัทร) ยกเหตุผลทำนองว่า หากปล่อยให้ผู้ร้องสอดทั้งสองรวมธุรกิจกันแล้วจะก่อให้เกิดการผูกขาด และเป็นการจำกัดการแข่งชันในกิจการโทรคมนาคม ทำให้ผู้ร้องสอดทั้งสองมีความได้เปรียบในการแช่งชันในการกำหนดต้นทุน ราคา และมีอำนาจในตลาดเหนือผู้ประกอบการรายอื่น นั้น
เป็นเพียงการกล่าวอ้างถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการการคาดคะเนล่วงหน้าของผู้ฟ้องคดีเอง
โดยมูลเหตุที่แท้จริงของการรวมธุรกิจระหว่างผู้ร้องสอดทั้งสอง เป็นไปเพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนในโครงข่ายยุคใหม่ ในการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทย
โดยการส่งเสริมการสร้างสรรค์ระบบนิเวศทางธุรกิจและเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในต่างประเทศ
นอกจากนี้ แนวโน้มการผสานการให้บริการโทรคมนาคมแบบประจำที่แบบเคลื่อนที่ และการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตในรูปแบบ OTT (over-the top) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการแข่งขันในตลาด จากเดิมที่มีแต่การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมไปสู่การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการจำนวนมาก ซึ่งให้บริการธุรกิจในรูปแบบเดียวกัน
การปรับโครงสร้างทางธุรกิจในการรวมธุรกิจระหว่างผู้ร้องสอดทั้งสอง จึงเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในการแข่งขันดังกล่าว ส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องและนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวม เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคและประเทศไทย เป็นไปตามหลักเสรีภาพของผู้ประกอบการตามที่รัฐธรรมนูญรับรองในส่วนที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
ส่วนการพิจารณาว่าการรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อการแช่งขันการประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาข้อมูลหลักฐานที่เกิดขึ้นจริง และต้องวิเคราะห์ปัจจัยอื่นประกอบหลายประการ
ดังเช่น สภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น โอกาสในการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการใหม่ ประโยชน์ของการรวมธุรกิจที่จะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ มิใช่แต่เพียงอาศัยแต่ดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHl) ซึ่งเป็นเพียงดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่งแต่เพียงเท่านั้น
@ชี้หลังควบรวม TRUE-DTAC ทำให้ค่าบริการถูกลงกว่าจากในปัจจุบัน
อีกทั้งการรวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสอง (TRUE และ DTAC) จะเป็นการส่งเสริมการแข่งขัน ดังจะเห็นได้จากรายงานการรวมธุรกิจและสภาพตลาดโทรคมนาคมประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ของผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.)
ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เป็นผู้ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 46.82 รองลงมาเป็น บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 32.52 และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 17.82
นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการรายอื่น เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เดอะ ไวท์สเปซ จำกัด และบริษัท ฟิล เทเลคอม คอร์เปเรชั่น จำกัด
และแม้ภายหลังการรวมธุรกิจสำเร็จลงแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ยังคงมีอำนาจในการกำกับดูแลทั้งในเรื่องอัตราค่าบริการไม่ให้เกินกว่าอัตราขั้นสูงที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนด และการคุ้มครองผู้ใช้บริการและมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะมาบังคับใช้ได้ตามข้อ 12 ของประกาศพิพาท
อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์เฉพาะแต่ส่วนแบ่งตลาดของ TUC และ DTN โดยการนำมารวมกันแล้ว ก็จะคิดเป็นร้อยละ 50.34 ซึ่งต่างกับ AWN เพียงร้อยละ 3.52 เท่านั้น ซึ่งการพิจารณาส่วนแบ่งการตลาดตามหลักสากลนั้น จะต้องพิจารณาจากรายได้รวมของผู้ประกอบการแต่ละรายเป็นหลัก มิใช่จำนวนผู้ใช้บริการและหากพิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว AWN ก็ยังคงเป็นผู้ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าผู้ร้องสอดทั้งสองรวมกันในปัจจุบัน
ดังนั้น การรวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสอง (TRUE และ DTAC) ในครั้งนี้ ทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น เป็นการแข่งขันกับผู้นำตลาดได้โดยตรง (head to head competition) ส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการที่จะได้รับบริการในราคาที่ถูกลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีบริการที่หลากหลายขึ้น เนื่องจากผู้ร้องสอดทั้งสองจะมีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น
นอกจากนี้ การที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า การรวมธุรกิจจะทำให้เป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายเล็กหรือทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่นั้น ผู้ร้องสอดทั้งสอง เห็นว่า สภาพตลาดการประกอบกิจการโทรคมนาคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีเทคโนโลยีเกิดใหม่อยู่เสมอ ส่งผลให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่จำนวนมากทั้งภายในและต่างประเทศ
ผู้ประกอบการรายย่อยมีช่องทางการแข่งขันมากขึ้น หากอัตราค่าบริการสูงขึ้นหรือคุณภาพการให้บริการลดลงก็จะเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ เนื่องจากมีส่วนต่างด้านราคาและคุณภาพบริการให้เข้าแข่งขันได้
ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีทำนองว่าการรวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสองในครั้งนี้ จะต้องก่อให้เกิดผลเสียหายแต่เพียงอย่างเดียว จึงเป็นการคาดการณ์โดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน และส่งผลเสียต่อการพัฒนาการแข่งขันกิจการโทรคมนาคมของประเทศ
@ย้ำ ‘กสทช.’ มีอำนาจกำหนด ‘มาตรการเฉพาะ’ ดูแลผลกระทบ
ประการที่ห้า ประกาศพิพาทมิได้ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน กล่าวคือ ประกาศพิพาทเป็นการใช้ดุลพินิจออกกฎชอบด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีวัตถุประสงค์เป็นการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตไปพร้อมกัน จึงวางหลักเกณฑ์ในการตรากฎหมายให้หลีกเลี่ยงการใช้ระบบอนุญาต
การที่ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ได้ออกประกาศพิพาท โดยให้ใช้การรายงานแทนการอนุญาต จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดีให้มีความโปร่งใสและลดโอกาสที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบ ทำให้เกิดผลดีต่อผู้ประกอบการโทรคมนาคมและประชาชนผู้ใช้บริการอันสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐในปัจจุบันแล้ว
เมื่อพิจารณาเนื้อหาของประกาศพิพาทที่กำหนดให้การรวมธุรกิจต้องรายงานต่อผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณา และหากเกิดกรณีที่การรวมธุรกิจมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจกำหนดมาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศพิพาท
แสดงให้เห็นว่า แม้ข้อกำหนดในประกาศพิพาทจะส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพอยู่บ้าง แต่ข้อกำหนดดังกล่าวก็ได้สัดส่วนกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแล้ว
นอกจากนี้ การที่มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตในกรณีที่จำเป็นและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปประเทศและนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการอนุญาตของราชการ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารกิจการของภาคธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดทำบริการสาธารณะที่ภาคเอกชนได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐ
กรณีจึงสอดคล้องกับหลักความจำเป็นและสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด อันเป็นกฎหมายทั่วไปในการรวมธุรกิจหรือควบรวมบริษัทเพื่อประโยชน์ในการบริหารธุรกิจของภาคเอกขน เป็นการรักษาดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์ของบุคคล ประกาศพิพาทจึงชอบด้วยหลักความได้สัดส่วนแล้ว
@ประกาศ กสทช. ปี 60 ออกโดยขั้นตอนที่ชอบด้วยกฎหมาย
ประการที่หก ผู้ร้องสอดทั้งสองเห็นว่า ประกาศพิพาทเป็นการอำนาจตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว กล่าวคือ ก่อนมีการออกประกาศพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ได้ดำเนินการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ครบถ้วนแล้ว
โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปต่อร่างประกาศดังกล่าว ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 จนถึงวันที่ 29 กันยายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน และได้สรุปเกี่ยวกับความเป็นมา เหตุผลความจำเป็น และสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดทำร่างประกาศดังกล่าวอย่างครบถ้วน
ตลอดจนได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 19 กันยายน 2560 และเมื่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสิ้นสุดลง ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) ได้มีการจัดทำบันทึกสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและเผยแพร่บันทึกดังกล่าวในระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงาน กสทช.แล้ว ดังนั้น ประกาศพิพาทจึงออกโดยถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว
@ชี้ประกาศ กสทช. ปี 60 ไม่ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง
ประการที่สุดท้าย ผู้ร้องสอดทั้งสอง (TRUE และ DTAC) เห็นว่า การบังคับใช้ประกาศพิพาทต่อไป ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไข กล่าวคือ กรณีความเสียหายที่ผู้พ้องคดีเกรงว่าจะเกิดขึ้น คือ การผูกยาดกิจการโทรคมนาคม โดยผู้ร้องสอดทั้งสองนั้นไม่เป็นความจริง
กล่าวคือ แม้ผู้ร้องสอดทั้งสองจะได้รวมธุรกิจแล้ว ย่อมไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี (ณภัทร) และผู้ใช้บริการแต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) มีอำนาหน้าที่กำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมในภายหลังได้อยู่แล้ว
สำหรับในการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสอง กฎหมายมิได้กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.)มีอำนาจห้ามการรวมธุรกิจของบริษัทมหาชน แต่มีอำนาจในการพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้
เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะตาม ข้อ 5 ประกอบข้อ 9 และข้อ 12 ของประกาศพิพาท ในขณะเดียวกัน กรณีผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ของผู้ถูกฟ้องคดี กฎหมายเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมก็มีบทกำหนดโทษทั้งในทางปกครองและทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนอีกด้วย
การให้ประกาศพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไป จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังแต่อย่างใดทั้งสิ้น ในทางกลับกัน หากศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศพิพาทแล้วจะก่อให้เกิดความไม่ เป็นธรรมและเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องสอดทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง จะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ร้องสอดทั้งสองอันขัดต่อหลักความเสมอภาค
เนื่องจากกรณีผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่รายงานการรวมธุรกิจเช่นเดียวกันต่อผู้ถูกฟ้องคดีและได้รับการพิจารณาการรวมธุรกิจตามประกาศพิพาทได้ แต่สำหรับกรณีผู้ร้องสอดทั้งสอง ซึ่งมิได้มีข้อแตกต่างอันสาระสำคัญแตกต่างไปจากกรณีอื่น กลับต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปโดยไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ ในส่วนของการรวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสอง อาจจะได้รับผลกระทบที่ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ตามกรอบวัตถุประสงค์และกรอบเวลาที่วางไว้อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งผู้ร้องสอดทั้งสอง ตลอดจนบรรดาผู้ถือหุ้นของผู้ร้องสอดทั้งสองซึ่งเป็นบริษัทมหาชน และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
และประการสำคัญ คือ จะส่งผลให้กลุ่ม AIS ยังคงเป็นผู้นำตลาดเพียงรายเดียวต่อไป โดยผู้ประกอบการรายอื่นไม่สามารถแข่งขันได้ เกิดผลเสียต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมและผู้บริโภค
เนื่องจากหากสภาพตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทย ยังคงเป็นไปตามสภาพการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่น รวมถึงร้องสอดทั้งสอง ไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่ม AIS และผู้ให้บริการ OTT ได้ และท้ายที่สุดผู้ร้องสอดทั้งสอง (TRUE และ DTAC) และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่น นอกจากกลุ่ม AIS ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
นอกจากนี้ การทุเลาการบังคับตามประกาศพิพาท จะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานยองรัฐหรือแก่ประโยชน์สาธารณะ กล่าวคือ ประกาศพิพาทเป็นกฎที่มีผลเป็นการบังคับใช้ทั่วไป มิได้ใช้บังคับเฉพาะกับการวมธุรกิจของผู้ร้องสอดทั้งสองเท่านั้น
หากศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการปังคับตามประกาศพิพาท ย่อมจะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) จะไม่มีกฎหมายลำดับรองในการกำกับดูแลการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายใดอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการตัดอำนาจตามข้อ 12 ของประกาศพิพาทและเป็นอุปสรรคต่อการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดี ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
ทำให้การรวมธุรกิจ โดยการรวมกิจการผู้รับใบอนุญาตสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องยื่นรายงานการรวมธุรกิจต่อผู้ถูกฟ้องคดี กรณีดังกล่าวเทียบเคียงได้กับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 265/2550
@‘ศาลปกครอง’ ชี้ ‘กสทช.’ มีอำนาจสั่งห้ามควบรวมหากทำให้ ‘ผูกขาด’
อย่างไรก็ดี แม้ว่าศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ‘ยกคำขอ’ ทุเลาการบังคับตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 แต่ศาลฯได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ว่า
“กรณีที่คณะกรรมการ (กสทช.) พิจารณาว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามวรรคหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข็งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการ (กสทช.) อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ก็ได้
จึงเป็นกรณีที่เมื่อผู้ร้องสอดทั้งสอง (บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นและบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น) จะรวมธุรกิจกันซึ่งจะต้องมีการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ของผู้ร้องสอดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้ร้องสอดทั้งสองยังคงต้องได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) อยู่นั้นเอง
และหากผู้ถูกฟ้องคดี (กสทช.) พิจารณาเห็นว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดในการให้บริการโทรคมนาคมผู้ถูกฟ้องคดี ก็มีอำนาจสั่งห้ามการรวมธุรกิจได้”
เหล่านี้เป็นการให้ถ้อยคำของ TRUE และ DTAC ในฐานะผู้ร้องสอด ในคดีที่ ณภัทร ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางขอให้ศาลฯสั่งเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 ก่อนที่ศาลฯจะมีคำสั่ง ‘ยกคำขอ’ ทุเลาการบังคับตามประกาศ กสทช. ฉบับดังกล่าว ตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอ
อ่านประกอบ :
เปิดหนังสือหารือ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจ‘กสทช.’ 7 ประเด็น คลี่ปมดีลรวมธุรกิจ‘TRUE-DTAC’
‘ศาลปค.’ ชี้ ‘กสทช.’ มีอำนาจสั่งห้ามควบรวม ‘TRUE-DTAC’ หากเห็นว่าก่อให้เกิดการผูกขาด
‘อนุฯศึกษา’ชี้ดีลควบ TRUE-DTAC ทำค่าบริการเพิ่ม 2-19%-เวที‘นักวิชาการ’หนุนรวมกิจการ
ลดทางเลือกผู้บริโภค! เวทีสาธารณะค้านควบ TRUE-DTAC ‘ประวิทย์’โต้ถูกกล่าวหา‘ไม่เป็นกลาง’
วงเสวนาฯชำแหละ! ดีลควบ TRUE-DTAC ผู้บริโภคเสียเปรียบ ห่วง'ทุนใหญ่'สร้างอาณาจักรผูกขาด
ร้อง ‘ป.ป.ช.’ ไต่สวนฯ ‘กสทช.ชุดใหม่-พวก’ ละเว้นหน้าที่-ไม่โต้แย้งดีลควบรวม TRUE-DTAC
เลาะเวทีรับฟังความเห็นฯ ควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC 'เอไอเอส-NT'ค้าน-'สมาคมฯเอกชน'หนุน
เปิดหนังสือ กมธ.! ทักท้วง 7 ข้อ ปมควบรวม'TRUE-DTAC' ลดแข่งขัน-เสนอ'บิ๊กตู่'สั่งชะลอ
‘อนุฯกสทช.’สั่ง‘ที่ปรึกษาอิสระ’ศึกษาเพิ่ม กรณีควบ‘TRUE-DTAC’-จ้าง‘จุฬาฯ’ทำรายงานประกบ
ห่วงค่าบริการสูง-คุณภาพต่ำลง! ‘กรรมการ กตป.’ ค้าน ‘กสทช.’ อนุมัติควบรวม ‘TRUE-DTAC’
ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค! วงเสวนาฯค้านควบรวมกิจการ'TRUE-DTAC' ห่วงค่าโทรเพิ่ม 20%
จับตา 'กสทช.รักษาการ' ปิดดีลควบ 'ทรู-ดีแทค'-สะพัดดึงเรื่องแต่งตั้งชุดใหม่?
‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’
ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ
'พิสิฐ' จี้ตรวจสอบ‘กสทช.’ลดบทบาทป้องกันผูกขาด-สภาฯตั้ง กมธ.ศึกษาควบรวม 'ทรู-ดีแทค'
นิพนธ์ พัวพงศกร : การควบรวมทรูกับดีแทค
ข้อสังเกตต่ออำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ในการป้องกันการผูกขาด กรณีทรูควบรวมดีแทค
นักวิชาการ TDRI ย้ำอันตรายหากปล่อย'TRUE-DTAC'ควบรวม ชี้คุมทุนใหญ่ต้องตั้งใจลุยจริง