“… กรณีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสทช.) ชี้แจงว่าหน่วยงานไม่มีอำนาจในการกลั่นกรองการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC และกระทรวงเศรษฐกิจเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ (ดีอีเอส) ระบุว่า การควบรวมทางธุรกิจเป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นปัญหานั้น ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น เนื่องจากกฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคมมาตรา 22 ให้ กสทช.กำหนดมาตรการไม่ให้ผู้ให้บริการผูกขาด โดยการควบรวมได้…”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา “มองโลก มองการเมือง มองเศรษฐกิจหลังโควิด” ให้กับผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.รุ่นที่ 10) โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดส่งผลกระทบต่อประเทศไทยหลากหลายด้าน ทั้งด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
โควิดอาจจะจบลงได้ด้วยการหายไปเหมือนครั้งโรคฝีดาษเคยระบาด ร้ายที่สุดอาจกลายพันธุ์ให้ติดง่ายและร้ายแรงยิ่งขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือสุดท้ายอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นดังเช่นไข้หวัดใหญ่ที่จะมาเป็นครั้งคราวตามฤดูกาล แต่ไม่ได้ร้ายแรงมาก เพราะมียาหรือวัคซีนแล้ว
สายพันธุ์โอไมครอนในปัจจุบันอาจไม่ใช่สายพันธุ์สุดท้ายที่เราจะต้องเผชิญเพราะโดยธรรมชาติ ไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้ตลอด และสามารถติดต่อผ่านคนสู่คน รวมถึงสัตว์สู่คนได้ เพราะฉะนั้นโควิดอาจไม่ได้หายไหน หากโชคดี โอไมครอนอาจกลายเป็นตัวปิดเกมการระบาด ประเด็นสำคัญก็คือ เราจะต้องเตรียมอยู่ร่วมกันกับโควิดให้ได้ คือ อาจกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ แต่ยังต้องฉีดวัคซีนกันทุกปี และในระหว่างนี้ยังต้องรักษาสุขอนามัยเช่นรักษาระยะห่าง
โควิดส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง ทั้งการป่วยน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงถึงชีวิต และในบางกรณีอาจประสบกับภาวะ Long Covid ทำให้ประสิทธิภาพการใช้ชีวิตประจำวันไม่เหมือนเดิมแม้การป่วยจะสิ้นสุดลงแล้ว เช่นการหายใจที่ยังกลับมาไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ทำให้เหนื่อยง่าย เป็นต้น ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการตกต่ำครั้งใหญ่ในรอบ 22 ปี ธุรกิจเสี่ยงล้มละลายและคนว่างงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะก็สูงขึ้นมาก
แม้การระบาดของโควิดจะผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี สหรัฐและหลายประเทศในยุโรป ตลอดจนประเทศพัฒนาแล้วอาจฟื้นตัวได้ไว แต่สำหรับไทยนั้นยังอยู่ในระดับที่ฟื้นตัวช้ากว่า โดยธุรกิจที่กระทบมาก คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ส่วนธุรกิจที่ยังเติบโตได้ ได้แก่ ธุรกิจทางเกษตร การผลิตชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดยกรณีของสาขา ICT มูลค่าตลาดส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นจากการควบรวมธุรกิจของ TRUE และ DTAC ไม่ได้เกี่ยวพันกับสถานการณ์การระบาดของโควิดโดยตรง แต่จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากในอนาคต
ควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC อยู่ในเกณฑ์อันตรายสูงสุด
ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงการควบรวมธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระหว่าง TRUE และ DTAC ว่า เป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมของประเทศรายใหญ่ จะทำให้ตลาดจากเดิมที่มี 3 ราย เหลือ 2 ราย ในอนาคตจะทำให้เกิดการผูกขาดสูงมาก ซึ่งจะทำให้โครงสร้างตลาดในประเทศไทยย้อนกลับไปเหมือนเมื่อ 17 ปีก่อน ที่มีปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภคในลักษณะต่างๆ เช่น หากจะใช้บริการของผู้ให้บริการรายใหญ่ จะต้องซื้อเครื่องโทรศัพท์มือถือพ่วงมาด้วย
สำหรับการแก้ปัญหาการควบรวมนี้ ในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศทั่วโลก จะใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากระดับการผูกขาดก่อนควบรวม และระดับการผูกขาดที่เพิ่มขึ้น คือ หากมีดัชนีระดับการผูกขาดก่อนควบรวมอยู่ไม่เกิน 1,500 จะถือว่าอันตรายน้อย (สีเขียว) จะให้ควบรวมได้ แต่หากมีระดับการผูกขาดก่อนควบรวมอยู่ไม่เกิน 2,500 จะถือว่าอันตรายปานกลาง (สีเหลือง) จะให้ควบรวมได้ แต่จะมีการกำหนดเงื่อนไขบางประการเอาไว้ควบคุมด้วย แต่หากมีระดับการผูกขาดก่อนควบรวมเกินกว่า 2,500 ขึ้นไป และเมื่อควบรวมแล้วมีระดับการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 200 จะถือว่าอันตรายมาก (สีแดง) ซึ่งการควบรวมกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยครั้งนี้จัดอยู่ในระดับสีแดง เพราะโครงสร้างเดิมของไทยมีผู้บริการโทรคมนาคมน้อยรายอยู่แล้ว
ในหลายประเทศจะไม่พิจารณาให้เกิดการควบรวมของธุรกิจรายใหญ่เข้าด้วยกัน เพราะจะมีอันตรายมากกว่าประโยชน์ แต่การจะคุมทุนใหญ่ได้นั้นจะต้องใช้คนกล้า มีความตั้งใจจริงและมีจุดยืนเพื่อสาธารณะเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องกดดันและร่วมกันสู้กับทุนใหญ่ในครั้งนี้ด้วย
ชี้คุมทุนใหญ่รัฐ-ประชาชนต้องตั้งใจลุยจริง
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า กรณีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสทช.) ชี้แจงว่าหน่วยงานไม่มีอำนาจในการกลั่นกรองการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC และกระทรวงเศรษฐกิจเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ (ดีอีเอส) ระบุว่า การควบรวมทางธุรกิจเป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นปัญหานั้น ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น เนื่องจากการควบรวมจะสร้างการผูกขาด และกฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคมมาตรา 22 ให้ กสทช.กำหนดมาตรการไม่ให้ผู้ให้บริการผูกขาดโดยการควบรวมได้
ทั้งนี้หากมองย้อนไปดูสาเหตุของการควบรวมกิจการโทรคมนาคมครั้งนี้ น่าจะเกิดขึ้นมาจากการแข่งขันไม่เป็นธรรม ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการของ กสทช. ที่สร้างปัญหาเสียเอง คือ การไม่ปล่อยคลื่นออกมาประมูลตามกำหนดโดยเมื่อ กสทช.ประมูล 5G เสร็จ ธุรกิจที่ได้คลื่นไปแล้ว ก็ไม่อยากให้รายอื่นได้ไปด้วย การที่กสทช.ไม่นำคลื่นที่อยู่ในกำหนดการประมูลออกมาตามกำหนด จึงส่งผลให้ DTAC แข่งขันได้ยากและอาจอยากออกจากตลาด
“ดังนั้นแล้วการจะแก้ไขปัญหานี้ นอกจากจะต้องใช้คนกล้าที่เอาจริงและเห็นผลประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ เหมือนกับการเผชิญหน้าของลีนา ข่าน ประธานคณะกรรมการการค้าของสหรัฐอเมริกาที่เคยทำให้แอปเปิ้ลปรับท่าทีจากเดิมให้ผู้บริโภคต้องซื้อเครื่องใหม่กรณีแบตเตอรี่หมดอายุ มายอมขายอะไหล่ให้ลูกค้าซ่อมได้ด้วยตัวเองและเปิดเผยวิธีการคู่มือการวิธีการซ่อมให้ผู้ซ่อมอิสระสามารถซ่อมได้” ส่วนกรณีที่ DTAC อยากออกจากตลาดนั้น ทางออกที่ดีก็คือ การกำหนดให้ขายกิจการให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่ ดร.สมเกียรติ กล่าว
สุดท้ายนี้โลกหลังโควิดของไทยจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ทันจะเป็นความเสี่ยงต่อภาระหนี้ ขณะเดียวกันหากปล่อยให้เกิดการผูกขาด มีการใช้อำนาจรัฐให้เอื้ออำนวย ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค และจะทำให้การใช้ Internet of Things (IOT) หรือทำโรงงานอุตสาหกรรมแบบ 4.0 รวมถึงการจะใช้ Metaverse อันเป็นเทรนด์การประกอบธุรกิจในอนาคตพัฒนาได้ยากขึ้น