‘กรรมการ กตป.’ ยื่นหนังสือถึง ‘กสทช.’ คัดค้านการอนุมัติรวบรวมกิจการ ‘TRUE-DTAC’ ห่วงทำให้ประชาชนเสียค่าบริการเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพการให้บริการต่ำลง แนะให้นำประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์การควบรวม ปี 53 กลับมาใช้
...............................
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายณภัทร วินิจฉัยกุล กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.) หรือซูเปอร์บอร์ด กสทช. เข้ายื่นหนังสือถึงรักษาการประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรักษาการเลขาธิการ กสทช. ผ่าน พล.ต.ต.เลิศศักดิ์ วิทยาพันธุ์ เลขานุการ กสทช. โดยเรียกร้องยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561
พร้อมทั้งขอให้นำประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 กลับมาใช้ในกรณีพิจารณาการวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และขอให้ กสทช.มีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE กับ DTAC เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นสูงสุดกับผู้ใช้บริการและประชาชน
นายณภัทร กล่าวว่า ประเด็นของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่กำลังจะมีการควบรวมกิจการกันนั้น ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการควบรวมกิจการของธุรกิจหลักที่เป็นโครงสร้างการสื่อสารของประเทศที่มีมูลค่าสูงกว่าหมื่นล้าน อีกทั้งยังมีการตั้งคำถามจากสังคมในหลายกรณี
โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนโดยตรง คือ การมีอำนาจเหนือตลาด การใช้กลยุทธ์การแข่งขันที่เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ค่าบริการสูงขึ้น คุณภาพการให้บริการต่ำลง และกดดันผู้ประกอบการรายเล็ก แต่การกระทำของ กสทช.ที่ผ่านมา กลับไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างที่ควรจะเป็น
“อยากให้ กสทช.ทบทวนถึงกรอบอำนาจและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ในการพิจารณาการควบรวมของทรู และดีแทค เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังขาของสังคม ซึ่งที่ผ่านมาท่านกำลังทำผิดกฎหมายตามบทบัญญัติของทั้ง พ.ร.บ.กสทช และรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 เรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ รวมถึงมาตรา 157 ซึ่งในเรื่องของละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ” นายณภัทรกล่าว
นายณภัทร ย้ำว่า การยื่นหนังสือต่อ กสทช. ครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ กสทช. ได้พิจารณาใช้อำนาจหน้าที่ที่มีในการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ดังนั้น หากไม่มีการพิจารณาให้รอบคอบถูกต้องตามหลักการและครอบคลุม สุดท้ายผลกระทบก็จะตกอยู่กับประชาชนที่ต้องแบกรับค่าบริการที่สูงขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือผู้บริโภค และกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศที่แสดงถึงหลักการที่ขัดแย้งกับการแข่งขันเสรี
นายณภัทร ยังเรียกร้องให้ กสทช. เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการสถาบันการศึกษา สภาคุ้มครองผู้บริโภค มาร่วมกันศึกษาถึงข้อมูล วิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงของผลกระทบจากการแข่งขันและผลที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วน เพื่อประกอบการตัดสินใจของ กสทช. กรณีการขอควบรวมกิจการระหว่าง TRUE กับ DTAC และเห็นว่าการพิจารณาอนุญาตควบรวมกิจการระหว่าง TRUE กับ DTAC ควรต้องรอให้คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา
“การทำงานของ กสทช.ชุดนี้ จะต้องรอคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ที่มีการแต่งตั้งแล้วฃรอแค่กระบวนการโปรดเกล้าแต่งตั้งก็สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ทันที เพราะมีหลายเรื่องสำคัญที่รออยู่ เพียงแต่คณะกรรมการชุดนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่ของท่าน อย่าทำผิดกฎหมาย และท่านต้องสื่อสารให้สาธารณะรับทราบข้อมูลในเรื่องนี้ และมีประเด็นย่อยในกระบวนการทำงานของ กสทช. ที่มีหลักการกฎหมายที่เขียนไว้ว่า ท่านต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
แต่ว่ากรณีนี้ กระบวนการรับฟังสาธารณะ ท่านเชิญแต่โอเปอเรเตอร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้เชิญภาคประชาชนเข้าไป ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯมาตรา 28 เขียนไว้เป็นบทบัญญัติสำคัญเลยว่า ท่านต้องทำเช่นนี้ แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมท่านถึงไม่ทำ ทำให้พวกเราเกิดความไม่มั่นใจ กังวลใจ เรื่องเช่นนี้ท่านกำลังทำอะไรอยู่ ท่านได้ตระหนักถึงผลส่วนรวมของประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนหรือไม่” นายณภัทร กล่าว
สำหรับหนังสือของ นายณภัทร ระบุตอนหนึ่งว่า กรณี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ทรู’ กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ดีแทค’ จะควบรวมกิจการกัน ซึ่งจะผู้ให้บริการโทรคมนาคมเหลือเพียง 2 ราย จากเดิม 3 ราย จะทำให้ประชาชนผู้บริโภคเสียเปรียบอย่างยิ่ง กล่าวคือ กค่าบริการจะสูง โปรโมชั่นน้อย คุณภาพบริการต่ำ และผู้ให้บริการยังสามารถใช้กลยุทธ์ต่างๆในการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น ในอดีตที่มีการใช้อีมี่
อ่านประกอบ :
ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค! วงเสวนาฯค้านควบรวมกิจการ'TRUE-DTAC' ห่วงค่าโทรเพิ่ม 20%
จับตา 'กสทช.รักษาการ' ปิดดีลควบ 'ทรู-ดีแทค'-สะพัดดึงเรื่องแต่งตั้งชุดใหม่?
‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’
ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ
'พิสิฐ' จี้ตรวจสอบ‘กสทช.’ลดบทบาทป้องกันผูกขาด-สภาฯตั้ง กมธ.ศึกษาควบรวม 'ทรู-ดีแทค'
นิพนธ์ พัวพงศกร : การควบรวมทรูกับดีแทค
ข้อสังเกตต่ออำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ในการป้องกันการผูกขาด กรณีทรูควบรวมดีแทค
นักวิชาการ TDRI ย้ำอันตรายหากปล่อย'TRUE-DTAC'ควบรวม ชี้คุมทุนใหญ่ต้องตั้งใจลุยจริง
หวั่นกระทบการแข่งขัน!‘กสทช.’สั่ง ‘TRUE-DTAC’ ชี้แจง‘เหตุผล-รายละเอียด’ ควบรวมธุรกิจ
ผูกขาดระดับอันตราย!'ทีดีอาร์ไอ'ชี้ควบ‘TRUE-DTAC’ทำแข่งขันลดลง-ห่วงรบ.ใกล้ชิดกลุ่มทุน
'ชัยวุฒิ'เชื่อควบรวม'ทรู-ดีแทค'เรื่องปกติทางธุรกิจ-ผูกขาดยาก
‘เครือซีพี-เทเลนอร์’สวอปหุ้น‘TRUE-DTAC’ ตั้ง‘บริษัทใหม่’ปรับองค์กรเป็น Tech Company