เปิดเวทีสาธารณะฯ ครั้งที่ 2 ‘ประธาน TDRI’ ค้านควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ชี้เพิ่มอำนาจผูกขาดในธุรกิจ ‘โทรศัพท์มือถือ’ ด้าน ‘นักวิชาการ’ ระบุหากมีการควบรวม ‘ค่าบริการ’ จะแพงขึ้น 7-23% ขณะที่ ‘นพ.ประวิทย์’ โต้ถูกกล่าวหา ‘ไม่เป็นกลาง’
...............................
เมื่อวันที่ 26 พ.ค.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และDTAC ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง กล่าวว่า การควบรวมธุรกิจเป็นเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ แต่เมื่อการควบรวมนั้น มีผลกระทบต่อสาธารณะ กสทช.ต้องกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อดูแลผู้บริโภค ซึ่งการระดมความเห็นในครั้งนี้ กสทช.อยากได้มุมมองผลกระทบ และข้อเสนอการจัดการ เพื่อนำไปประมวลว่าจะกำหนดมาตรการเฉพาะหรือไม่ อย่างไร
“การแสดงจุดยืนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้น เป็นสิทธิ แต่ตรงนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ เพราะการรับฟังความคิดเห็นวันนี้ ต้องการสาระที่จะนำไปประกอบการพิจารณาทางปกครองต่อ ทุกท่านสามารถแสดงข้อห่วงกังวล ข้อสังเกต ชุดความรู้จากต่างประเทศ และข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคหากเกิดการควบรวม เพื่อที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้เตรียมการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ” น.พ.ประวิทย์ ระบุ
น.พ.ประวิทย์ ยังระบุว่า เดิมอนุกรรมการฯได้เชิญผู้แทนจาก TRUE และ DTAC เข้ามาร่วมชี้แจงเกี่ยวกับแผนและแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองให้ที่ประชุม Focus Group รับทราบด้วย แต่ทั้ง TRUE และ DTAC ไม่ได้มา
@ประธาน TDRI ค้านควบรวม หวั่นทำให้อำนาจผูกขาดเพิ่มขึ้น
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า จากผลการศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับธุรกิจโทรศัพท์มือถือใน 59 ประเทศ ซึ่งมีระดับการกระจุกตัวของตลาดสูง พบว่า ยิ่งดัชนี HHI มีค่ามากเท่าใด จะยิ่งเพิ่มอำนาจการผูกขาดให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมากขึ้นเท่านั้น และยังมีผลกระทบในด้านอื่นๆด้วย เช่น ลดการใช้หรือการเข้าถึงบริการ ICT ,ลดระดับนวัตกรรม และลดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายสมเกียรติ ระบุว่า สำหรับตลาดโทรศัพท์มือถือของไทยในปัจจุบัน พบว่าการกระจุกตัวสูงมาก โดยมีดัชนี HHI ที่ 3700 ซึ่งเป็นระดับที่เสี่ยงมาก และหากมีการอนุญาตให้ควบรวม TRUE และ DTAC ดัชนี HHI จะเพิ่มเป็น 5,016 ขณะที่ในหลายๆประเทศ หน่วยงานกำกับดูแลไม่อนุญาตให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือควบรวมกัน เพราะกลัวว่าจะเกิดการผูกขาด หรือกรณีที่อนุญาตให้มีการควบรวมกัน จะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่น ให้ขายบริษัทลูกและคลื่นความถี่ออกไป เป็นต้น
“กรณีการควบรวม TRUE และ DTAC ที่จะทำให้ดัชนี HHI เพิ่มเป็น 5,016 หรือเพิ่มขึ้นจากจุดตั้งต้น 1,316 จึงมีความเสี่ยงสูงยิ่งต่อผู้บริโภค และสมควรต้องกลั่นกรองอย่างเข้มงวด ซึ่งแปลว่า ผู้ประกอบการที่ยื่นขอควบรวมกิจการ มีภาระต้องพิสูจน์ว่า การควบรวมของตนเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคจริง ไม่ใช่เพียงกล่าวอ้าง และไม่มีความเสี่ยงต่อการผูกขาดของตลาด แต่ผมยังไม่เห็นพิสูจน์เหล่านั้นจากที่ปรึกษาการเงินอิสระ” นายสมเกียรติ กล่าว
ส่วนข้อเสนอต่อกรณีการควบรวม TURE และ DTAC ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคนั้น นายสมเกียรติ เสนอว่า มี 3 แนวทาง คือ 1.ไม่ให้ควบรวม เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสามารถขจัดความเสี่ยงที่มีต่อผู้บริโภคได้อย่างไร หรือหากบริษัทใดบริษัทหนึ่งต้องจากออกจากธุรกิจ ก็ให้ขายกิจการแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ รวมทั้งจะต้องลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ผู้ประกอบการด้วยวิธีใช้โครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆร่วมกัน ซึ่งแนวทางนี้ ตนเห็นว่าเป็นทางเลือกดีที่สุด
2.ให้ควบรวม แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดมากๆ และต้องให้มีการคืนคลื่นเพื่อนำมาจัดสรรให้กับรายใหม่โดยเฉพาะ แต่วิธีการนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ที่แท้จริงนัก เพราะการที่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ได้คลื่นความถี่ไปเพียงส่วนหนึ่งนั้น รายใหม่จะแข่งขันได้ยากเมื่อเทียบกับรายใหญ่ 2 ราย และยังมีข้อจำกัดในช่องทางการทำตลาดอีก และ3.ให้ควบรวมกัน และส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน (MVNO) แต่วิธีนี้ไม่ใช่ทางเลือกที่ส่งผลดีนักต่อผู้บริโภค
“ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ หากบริษัททั้ง 2 (TURE และ DTAC) ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์จริง และไม่สามารถหักล้างได้ว่าไม่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคจากการผูกขาดได้ ผมคิดว่าทางเลือกที่ดีที่สุดของ กสทช. คือ การไม่อนุญาตให้ควบรวม” นายสมเกียรติ กล่าว
@'เอไอเอส' ชี้ควบ 'TRUE-DTAC' ลดทางเลือกผู้บริโภค
นายศรัณย์ ผโลประการ ผู้แทนจาก บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด (AWN) ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์มือถือเครือข่าย AIS กล่าวว่า ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาดที่มีผู้เล่นน้อยรายอยู่แล้ว ดังนั้น หากมีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะทำให้ทางเลือกของผู้ใช้บริการน้อยลงไปอีก โดยเฉพาะการลดทางเลือกด้านราคา เช่น หากมีการเปิดตัวไอโฟนครั้งใหม่ ผู้บริโภคจะมีโปรโมชั่นให้เลือก 2 โปรฯ แทนที่จะมี 3 โปรโมชั่น เหมือนในอดีต
นายศรัณย์ ยังระบุว่า การควบรวม TRUE และ DTAC นั้น ในช่วงแรก เราจะเห็นผลดีในเรื่องสัญญาณเครือข่าย เช่น ลูกค้า DTAC ที่อยู่ในจุดอับสัญญาณก็จะไปใช้สัญญาณเครือข่ายของ TRUE ได้ แต่การทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือเหมือนกับการพายเรือทวนน้ำ คือ ผู้ให้บริการต้องหมั่นขยายช่องสัญญาณ และปรับจูนสัญญาณอยู่ตลอดเวลา หากละเลยการขยายช่องสัญญาณหรือปรับปรุงคุณภาพสัญญาณในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง สัญญาณที่เคยดี ก็จะไม่ดี
“การที่มีผู้ให้บริการหลักๆ 3 ราย เราจะมีสัญญาณ 3 แบบให้เลือก และไม่มีผู้ให้บริการรายใดที่มีสัญญาณดีหมดทั้งประเทศ หลายจุดสัญญาณของ AWN สู้คู่แข่งไม่ได้ เวลาที่ผู้บริโภคถามว่าจะเลือกใช้ซิมจากค่ายไหนดี ให้ไปดูว่าที่บ้านเราสัญญาณของค่ายไหนดีกว่ากัน แต่เมื่อมีการควบรวม สัญญาณที่ผู้บริโภคเลือกได้จะเหลือ 2 ตัวเลือก และการตั้ง MVNO เยอะๆ ก็ไม่ได้เพิ่มตัวเลือกด้านสัญญาณ เพราะ MVNO ก็ใช้สัญญาณเดียวกับผู้ถือใบอนุญาต” นายศรัณย์ กล่าว
นายศรัณย์ ย้ำว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยเจริญขึ้นมาได้ เพราะมีการแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันที่ดุเดือดของผู้เล่น 3 รายในตลาด ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งพื้นที่การให้บริการ คุณภาพสัญญาณ และความเร็วอินเตอร์เน็ต หากลดการแข่งขันลงก็สุ่มเสี่ยงที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยเฉพาะธุรกิจโทรศัพท์มือถือจะเกิดการถดถอยในการพัฒนา และ AIS ไม่เชื่อว่าหากมีการควบรวมแล้ว จะมีผู้เล่นใหม่รายที่ 3 ที่แข็งแรงพอที่จะมาแข่งขันกับ 2 รายใหญ่ ที่อยู่ในตลาด
“ทรัพยากรคลี่นความถี่ถูกจับจอง โดย AIS DTAC และ TRUE ไปเกือบหมดแล้ว เมื่อ DTAC ควบรวมธุรกิจกับ TRUE ทรัพยากรคลื่นความถี่ก็จะตกอยู่กับผู้เล่นหลักแค่ 2 ราย ในขณะที่คลื่นความถี่ใหม่ๆที่จะให้ผู้เล่นรายที่ 3 เข้ามาใช้ประกอบธุรกิจจะมีน้อย และน้อยกว่าผู้เล่นทั้ง 2 รายอย่างมีนัยสำคัญ จึงไม่ทำให้เกิดผู้เล่นรายที่ 3 ที่แข็งแรงพอ อีกทั้งผู้ประกอบการรายใหม่ยังมีข้อจำกัดในการจัดจำหน่ายด้วย” นายศรัณย์ กล่าว
@'นักวิชาการ' ระบุหากอนุญาตให้ควบรวม ค่าบริการแพงขึ้น 7-23%
นายนุกูล โชตเศรษฐ์ ผู้แทนจาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) กล่าวว่า ขณะนี้ NT ยังไม่ขอแสดงความเห็นว่า การควบรวม TRUE และ DTAC จะส่งผลดีและผลเสียต่อผู้บริโภคอย่างไร แต่ในฐานะที่ NT เป็นผู้ให้บริการรายหนึ่งในตลาด NT จะมีบทบาทในการเป็นทางเลือกหนึ่งของประชาชนผู้บริโภค รวมทั้งจะดำเนินการตามนโยบายภาครัฐต่อเนื่อง เช่น การลงทุนขยายโครงข่ายต่างๆ
ด้าน นายฉัตร คําแสง ตัวแทนจาก 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) กล่าวว่า การควบรวม TRUE และ DTAC จะทำให้ค่าการจุกตัว HHI ในตลาดโทรศัพท์มือถือเพิ่มเป็น 4,737 จากเดิม 3,578 หรือเพิ่มขึ้น 32.4% และให้ค่าการจุกตัว HHI ในตลาดอินเตอร์เน็ตมือถือเพิ่มเป็น 4,823 จากเดิม 3,556 หรือเพิ่มขึ้น 35.6% ซึ่งทำให้ตลาดมือถือเดิมที่มีการกระจุกตัวสูงอยู่แล้วมีการกระจุกตัวสูงขึ้นมาก
ขณะที่ผลกระทบที่ผู้บริโภคจะได้รับการควบรวม TRUE และ DTAC นั้น จากแบบจำลองพบว่า ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น 7-23% หรือ 15-50 บาท/เดือน ซึ่งมากกว่าการประหยัดต้นทุนของผู้ประกอบการจากการควบรวม โดยกรณีที่มีการควบรวมและรายใหญ่แข่งขันกันรุนแรง ค่าบริการในตลาดจะเพิ่มขึ้น 7-10% แต่หากแข่งขันตามปกติ ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 13-23% อย่างไรก็ตาม หากผู้เล่นรายใหญ่มีการฮั้วกัน ค่าบริการในตลาดจะเพิ่มขึ้น 66-120%
“แม้ว่า กสทช.จะมีการควบคุมและกำกับราคาอยู่ แต่จริงๆแล้วเพดานที่ กสทช.กำหนด สูงกว่าราคาที่เป็นอยู่ในตลาด 10-20% เพราะฉะนั้น ราคาค่าบริการที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เกิดจากการแข่งขัน ไม่ได้เกิดจากเพดานราคาของ กสทช. ซึ่งถ้าการแข่งขันหายไป ราคาจะกลับไปสู่เพดานราคาหรือเพิ่มขึ้น 10-20% ก็มีความเป็นไปได้ โดยที่ทั้งผู้ที่ควบรวมหรือผู้ที่ไม่ได้ควบรวม สามารถขึ้นราคาค่าบริการไปจนถึงเพดานที่ กสทช.กำหนดไว้ได้” นายฉัตร กล่าว
นายฉัตร ยกตัวอย่างกรณีการควบรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือในต่างประเทศ ว่า ในยุโรปมีการควบรวมฯหลายครั้ง และพบว่าประเทศที่มีการควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย เทียบกับประเทศที่มีผู้ให้บริการ 4 ราย แนวโน้มค่าบริการเพิ่มขึ้น 29% หรือที่เยอรมันที่อนุญาตให้มีการควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย มีหลักฐานว่าราคาค่าบริการแพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ทั้งๆที่ MVNO ของเยอรมันมีส่วนแบ่งตลาดถึง 20%
นายฉัตร เห็นว่า กสทช.มีอำนาจเต็มในการกำกับดูแลการควบรวมครั้งนี้ เพราะแม้ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ข้อ 5 ระบุเพียงว่า ให้รายงาน กสทช. แต่ในข้อ 9 มีการระบุว่า การรายงานตามข้อ 5 ให้เป็นการขออนุญาตตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดฯ พ.ศ.2549 ซึ่งหากมีการผูกขาด อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการได้หรือกำหนดมาตรการเฉพาะก็ได้
“กสทช.มีอำนาจเต็มที่จะไม่อนุญาต หรืออนุญาตให้ควบรวมแต่กำหนดมาตรการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเชิงโครงสร้าง เช่น ให้ขายกิจการและทรัพย์สินบางส่วน หรือเป็นมาตรการเชิงพฤติกรรม เช่น การคุมราคา คุณภาพ และการทำธุรกิจ ก็ได้ หรือจะอนุญาตให้ควบรวมโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆก็ได้” นายฉัตร ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงการเปิดรับฟังความเห็นจากบุคคลทั่วไป ผู้เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯส่วนใหญ่ แสดงความเห็นคัดค้านการควบรวม TRUE และ DTAC เพราะจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในการให้บริการลูกค้า เนื่องจากการที่ผู้ให้บริการรายใหญ่ลดลงเหลือ 2 ราย จะทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลงจากเดิม และจะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้น ในขณะที่คุณภาพบริการอาจลดลง อีกทั้งยังทำให้ผู้ให้บริการรายใหม่เกิดขึ้นได้ยาก
อย่างไรก็ตาม มีผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯบางราย เห็นว่า การควบรวม TRUE และ DTAC ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย นั้น ไม่ทำให้เกิดการผูกขาด เพราะหากผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 2 ราย มีศักยภาพในการแข่งขันที่ใกล้เคียงกัน ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันที่ดีขึ้น และมองว่าสาเหตุที่ AIS ออกมาคัดค้านการควบรวม เพราะกลัวว่าจะสูญเสียตำแหน่งเบอร์ 1 ทางการตลาด
@'นพ.ประวิทย์'โต้ข้อกล่าวหาทำหน้าที่ 'ไม่เป็นกลาง'
นอกจากนี้ มีผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯบางราย ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานของ นพ.ประวิทย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และDTAC ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ว่า มีความเป็นกลางหรือไม่ เพราะจากการติดตามข่าวพบว่า นพ.ประวิทย์ ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการฯ มีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ เป็นไปในเชิงลบต่อการควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC
ขณะที่ นพ.ประวิทย์ ชี้แจงว่า ขอให้ไปค้นข่าวของสื่อต่างๆก่อน ซึ่งจะพบว่าตนไม่เคยให้ความเห็นคัดค้านการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เลย จึงขอให้ไปตรวจสอบก่อนจะกล่าวหา โดยที่ผ่านมาตนพูดมาตลอดว่า เรื่องนี้อยู่ในช่วงกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงก่อนใช้ดุลพินิจ ซึ่งตนไม่มีสิทธิ์ใช้ เพราะพ้นจากการเป็น กสทช.แล้ว ดังนั้น เมื่ออ่านข่าวอย่าใช้ความรู้สึก แต่ขอให้ใช้ข้อเท็จจริง และอย่าเชื่อข่าวปลอมทั้งหลายที่ปล่อยออกมาเป็นแหล่งข่าว ไม่มีตัวตน
“ที่บอกว่าเป็นที่ประจักษ์ในสื่อว่า ผมให้ความเห็นคัดค้าน ถามว่าสื่อไหนครับ สื่อโคมลอยหรือ จะไปตามบรรณาธิการมติชน กรุงเทพธุรกิจ มาก็ได้ ว่า ผมเคยให้ข่าวการคัดค้านหรือไม่ ผมพูดเพียงแต่ว่า ดีลนี้เป็นดีลใหญ่ อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ต้องทำด้วยความรอบคอบ จะต้องพิจารณาข้อกฎหมาย การพิจารณาผลกระทบ และหามาตรการเฉพาะ ถ้าจำเป็น เพื่อลดผลกระทบ ดังนั้น ทางออกมีได้ 3 ทาง คือ 1.ไม่ให้ควบรวม 2.ให้ควบรวมโดยมีเงื่อนไข และ3.ให้ควบรวมโดยอิสระ มีเท่านี้” นพ.ประวิทย์ กล่าว
(นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา)
นพ.ประวิทย์ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมวันนี้ (26 พ.ค.) มีการหยิบยกประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับผลกระทบของผู้บริโภคจากการควบรวม TRUE และ DTAC เพื่อให้การประชุมดูไม่น่าเชื่อถือหรือไม่ ประเด็นแรก เรื่องความเป็นกลาง ซึ่งขอยืนยันว่า การเสนอรายชื่อผู้เชี่ยวชาญนั้น กรรมการทุกท่านเป็นผู้เสนอรายชื่อเข้ามา โดยที่ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าใคร และการเปิดรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้ เราเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาให้ความเห็นได้ และมีการถ่ายทอดอย่างเปิดเผย
ประเด็นที่สอง เรื่องอำนาจในการจัดประชุม วันนี้อนุกรรมการฯจัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของผู้บริโภคและพลเมือง โดยครั้งที่แล้วเป็นการรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ และหากผู้ขอควบรวม คือ TRUE และ DTAC กังวลเรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ อนุกรรมการฯยินดีจะให้ผู้ขอควบรวมมาให้ข้อมูลแบบปิดก็ได้ จะได้ไม่ต้องมีเหตุอ้างว่า ไม่สะดวกที่จะมา แต่หากจะไม่มาให้ความเห็น ก็เป็นสิทธิ์
ประเด็นที่สาม เรื่องกระบวนการ เป็นที่ชัดเจนว่าองค์กรผู้บริโภคมาเพียง 10 คน และอีก 20 คน เป็นประชาชนทั่วไป ส่วนผู้แสดงความคิดเห็นที่มาจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ดังนั้น เราไม่ได้ควบคุมทิศทางของผลว่า อยากให้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้ แต่เราอยากได้ข้อมูล เพื่อไปจัดทำข้อเสนอว่าการควบรวมเหมาะสมหรือไม่ หากไม่เหมาะสมจะจำกัดผลกระทบได้อย่างไร
ประเด็นที่สี่ มีคำพูดที่ใช้มาตลอดว่า เรื่องยังไม่เกิด เป็นการคาดการณ์ เป็นการจินตนาการทางทฤษฎี เป็นการเดาและเป็นการคิดไปเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องการควบรวมฯยังไม่เกิด แต่ถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรื่องนี้จะจบลงด้วยดี และที่บอกว่าธุรกิจจะแข็งแกร่งขึ้น ถามว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องประมวลว่าโอกาสความเป็นจริงคืออะไร เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น ซึ่งหากทุกฝ่ายมาร่วมกันให้ข้อมูล ก็จะหาจุดที่ลงตัวได้และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย
อ่านประกอบ :
วงเสวนาฯชำแหละ! ดีลควบ TRUE-DTAC ผู้บริโภคเสียเปรียบ ห่วง'ทุนใหญ่'สร้างอาณาจักรผูกขาด
ร้อง ‘ป.ป.ช.’ ไต่สวนฯ ‘กสทช.ชุดใหม่-พวก’ ละเว้นหน้าที่-ไม่โต้แย้งดีลควบรวม TRUE-DTAC
เลาะเวทีรับฟังความเห็นฯ ควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC 'เอไอเอส-NT'ค้าน-'สมาคมฯเอกชน'หนุน
เปิดหนังสือ กมธ.! ทักท้วง 7 ข้อ ปมควบรวม'TRUE-DTAC' ลดแข่งขัน-เสนอ'บิ๊กตู่'สั่งชะลอ
‘อนุฯกสทช.’สั่ง‘ที่ปรึกษาอิสระ’ศึกษาเพิ่ม กรณีควบ‘TRUE-DTAC’-จ้าง‘จุฬาฯ’ทำรายงานประกบ
ห่วงค่าบริการสูง-คุณภาพต่ำลง! ‘กรรมการ กตป.’ ค้าน ‘กสทช.’ อนุมัติควบรวม ‘TRUE-DTAC’
ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค! วงเสวนาฯค้านควบรวมกิจการ'TRUE-DTAC' ห่วงค่าโทรเพิ่ม 20%
จับตา 'กสทช.รักษาการ' ปิดดีลควบ 'ทรู-ดีแทค'-สะพัดดึงเรื่องแต่งตั้งชุดใหม่?
‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’
ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ
'พิสิฐ' จี้ตรวจสอบ‘กสทช.’ลดบทบาทป้องกันผูกขาด-สภาฯตั้ง กมธ.ศึกษาควบรวม 'ทรู-ดีแทค'
นิพนธ์ พัวพงศกร : การควบรวมทรูกับดีแทค
ข้อสังเกตต่ออำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ในการป้องกันการผูกขาด กรณีทรูควบรวมดีแทค
นักวิชาการ TDRI ย้ำอันตรายหากปล่อย'TRUE-DTAC'ควบรวม ชี้คุมทุนใหญ่ต้องตั้งใจลุยจริง