“…คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงมีข้อเสนอมายังท่านในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศเพื่อพิจารณาขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการชะลอการดำเนินการดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าจะมีข้อกฎหมาย ข้อมูล และแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า จะสามารถปกป้องประเทศชาติและประชาชนจากผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้…”
................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ Dtac และการค้าปลีก-ค้าส่ง (อ่านประกอบ : 'พิสิฐ' จี้ตรวจสอบ‘กสทช.’ลดบทบาทป้องกันผูกขาด-สภาฯตั้ง กมธ.ศึกษาควบรวม 'ทรู-ดีแทค')
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมฯ ที่มี อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ 0018.11/2641 ลงวันที่ 20 เม.ย.2565 ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าว คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แสดงความกังวลกรณีการรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC ไว้ใน 7 ประเด็น และเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบชะลอการควบรวมกิจการดังกล่าวไปก่อน มีรายละเอียด ดังนี้
@ควบ‘TRUE-DTAC’ สัญญาณอันตราย ‘ลดแข่งขันเสรี’
1.ประเด็นด้านผลกระทบต่อตลาดโทรคมนาคม ผลการศึกษาดัชนีการกระจุกตัวอุตสาหกรรม (Herfindhal-Hirschman Index-HHI) พบว่า หากมีการรวมธุรกิจครั้งนี้ จะทำให้ค่า HHI สูงขึ้น มากกว่า 2,500 จุด และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 1,000 จุด ส่งผลต่อสภาวะการแข่งขัน สุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจเหนือตลาด และเป็นอุปสรรคสำหรับการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงถึงสัญญาณอันตรายในการลดการแข่งขันอย่างเสรี
2.ประเด็นด้านข้อกฎหมาย พบว่า ตามประกาศ เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ข้อ 5 นั้น ได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการดำเนินการ
จากประเด็นข้อกฎหมายนี้มีความกังวลว่า เดิมทีก่อนมีประกาศ กสทช. ปี 2561 กฎหมายมีการกำหนดให้ กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ตามประกาศฉบับนี้ ซึ่งได้มีการแก้ไขในปี 2561 มีลักษณะเป็นการลดอำนาจของหน่วยงานที่กำกับดูแลจากการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจมาเป็นการรับทราบรายงานแทน และมีอำนาจเพียงการออกมาตรการกำกับดูแลผลกระทบเท่านั้น
ในขณะที่ประกาศ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 8 ได้ระบุไว้ว่า การเข้าถือครองธุรกิจในประเภทเดียวกัน ด้วยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ และต้องแจ้งแก่คณะกรรมการเพื่อขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ เท่ากับยังคงอำนาจการอนุญาตไว้หากเป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน
ดังนั้น จำเป็นต้องมีการตีความกฎหมาย กฎ กติกาในการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ว่า จะเป็นไปตามประกาศฉบับใด ทั้ง 2 กิจการเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันหรือไม่ หากไม่เป็น กลไกการกำกับดูแลที่มีอยู่ที่เพียงแต่ให้รายงานและกำหนดเงื่อนไข รวมถึงมาตรการเฉพาะในกรณีที่เกิดผลกระทบนั้น เพียงพอหรือไม่ และหน่วยงานผู้กำกับดูแลควรดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
@คุณสมบัติ ‘ที่ปรึกษาอิสระ’ อาจไม่เป็นอิสระจริง
3.ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านการพิจารณาอนุญาตการรวมธุรกิจระหว่างคณะกรรมการ กสทช.ชุดเดิมและชุดใหม่ สืบเนื่องจากที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 ส่งผลให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะต้องเป็นผู้พิจารณาการรวมธุรกิจครั้งนี้ต่อจากคณะกรรมการชุดรักษาการที่หมดวาระไป เพราะมีการตั้งชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่กระบวนการต่างๆ ในการรวมธุรกิจครั้งนี้ ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน โดยคณะกรรมการชุดเดิม ทั้งในเรื่องของการแก้ไขประกาศต่างๆ การพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ และอนุกรรมการในการพิจารณาศึกษาข้อมูล เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในการรวมธุรกิจ
โดยที่คณะกรรมการชุดใหม่ไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจดำเนินการ แต่ต้องนำข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการดังกล่าว มาใช้ประกอบการตัดสินใจ และที่สำคัญกรอบระยะเวลาที่ต้องดำเนินการพิจารณาตามกระบวนการนั้นเหลือไม่มาก ขณะที่มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาจจะไม่เข้าใจต่อการดำเนินการ หรือกระบวนการที่ผ่านมาของคณะกรรมการชุดเดิม
ดังนั้น สิ่งที่กล่าวมาจึงอาจส่งผลต่อความรอบคอบ รอบด้านในการพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหม่ จนอาจเกิดการผิดพลาดในการตัดสินใจได้ เนื่องจากมีระยะเวลาที่จำกัดเกินไปที่จะศึกษาข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจอนุญาตการรวมธุรกิจครั้งนี้อย่างละเอียดรอบคอบ
4.ประเด็นการคัดเลือกที่ปรึกษาอิสระ ของ กสทช. เพื่อมาพิจารณาให้ความคิดเห็นหรือจัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. ตามกฎหมาย พบว่าคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระนั้น อาจไม่มีความเป็นอิสระจริง รวมทั้งอาจขัดต่อหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกกรรมการอิสระที่ กสทช. ได้มีการกำหนดไว้เองด้วย ซึ่งที่ประชุมกรรมาธิการได้ทักท้วงและเสนอรายละเอียดต่อตัวแทน กสทช. ที่เข้าร่วมประชุมแล้ว
5.ประเด็นข้อมูลรายงานผลการศึกษาผลกระทบต่างๆ รวมทั้งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของต่างประเทศ ที่สำนักงาน กสทช. ได้นำมาประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจในการดำเนินการครั้งนี้ พบว่าเป็นผลการศึกษาที่ไม่ทันสมัย ไม่มีความเป็นปัจจุบันและไม่ทันต่อบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก
6.ประเด็นแนวทางการกำหนดมาตรการของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะดำเนินการในการควบคุมกำกับดูแลการรวมธุรกิจครั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้การรวมธุรกิจเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ประชาชนและประเทศชาติทั้งในระยะสั้นระยะยาว
7.ประเด็นข้อกังวลของสังคมและองค์กรต่างๆ เช่น หนึ่งในคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ได้มีการยื่นหนังสือถึง กสทช. เรื่องขอให้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายบัญญัติและยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 แล้วนำประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 กลับมาใช้
หรือนำออกมาเป็นแนวปฏิบัติ เพื่อออกประกาศใหม่ที่มีมาตรฐานเดียวกันมาใช้ ในการประกอบการพิจารณาดำเนินการ เพื่อมีคำสั่งไม่ให้มีการควบรวมธุรกิจของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) หรือ กลุ่มบริษัททรู กับ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ กลุ่มบริษัท DTAC
เพราะจากการศึกษาในขั้นต้นของกรรมาธิการ พบว่า การรวมธุรกิจในครั้งนี้ มีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้าเกินร้อยละ 50 และลดการแข่งขันทางการค้า จำกัดการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ยากที่จะเกิดได้ รวมไปถึงการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและกำกับดูแลจากภาควิชาการ ตลอดจนสภาองค์กรผู้บริโภคด้วย
@เสนอ‘นายกฯ’สั่งชะลอควบรวม จนกว่าจะมีความชัดเจน
“จากข้อมูลประเด็นต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า หากมีการดำเนินการให้เกิดการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท TRUE และบริษัท DTAC ในห้วงเวลานี้ ขณะที่มีหลายประเด็นยังคงไม่ชัดเจน และมีข้อกังวลจากหลายฝ่าย ซึ่งอาจจะทำให้การรวมธุรกิจครั้งนี้เกิดผลเสียหรือส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ประชาชนผู้ใช้บริการและประเทศชาติโดยรวมในอนาคตได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงมีข้อเสนอมายังท่านในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศเพื่อพิจารณาขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการชะลอการดำเนินการดังกล่าวออกไปก่อน
จนกว่าจะมีข้อกฎหมาย ข้อมูล และแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่าจะสามารถปกป้องประเทศชาติและประชาชนจากผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้” หนังสือคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมฯ หนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ 0018.11/2641 ลงวันที่ 20 เม.ย.2565 ระบุ
@‘กสทช.’เห็นชอบ ‘โรดแมป’ พิจารณาควบ ‘TRUE-DTAC’
ส่วนท่าทีล่าสุดของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ได้มีการประชุม กสทช. ชุดใหม่ ที่มี นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธาน โดยที่ประชุมเห็นชอบแผนงาน (Road map) กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC
พร้อมกันนั้น กสทช. ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC อีก 4 คณะ ได้แก่ ด้านกฎหมาย ,ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ,ด้านเทคโนโลยี และด้านเศรษฐศาสตร์ เพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบไปแล้ว
กสทช.ยังเห็นชอบให้จัดประชุม Focus Group เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป รวมทั้งมอบหมายให้คณะทำงานของสำนักงาน กสทช. และที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสังคมในระยะเวลาที่เร็วที่สุด
“กสทช.จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง ครบถ้วน และรอบด้าน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยดูทั้งข้อกฎหมาย และผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งทางบวกและทางลบ คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ จึงอยากขอให้ทุกฝ่ายวางใจได้” ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เผยผลการประชุม กสทช.เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2565
ขณะที่ นพ.สรณ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า ในการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC นั้น กสทช. จะดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด โดยจะดำเนินการตาม Road map ที่ กสทช. ได้ให้ความเห็นชอบในวันนี้ (27 เม.ย.)
“เราจะดำเนินการให้เร็วที่สุด และจะอยู่ในกรอบเวลาที่ทุกคนแฮปปี้” นพ.สรณ กล่าว
ท่ามกลางเสียงทักท้วงและข้อกังวลจากหลายฝ่าย กรณีการรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC ว่า จะก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้า และลดการแข่งขัน นั้น จึงต้องติดตามว่าท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นอย่างไร และสุดท้ายแล้ว ‘ดีล’ การรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC จะมีบทสรุปอย่างไร?
อ่านประกอบ :
‘อนุฯกสทช.’สั่ง‘ที่ปรึกษาอิสระ’ศึกษาเพิ่ม กรณีควบ‘TRUE-DTAC’-จ้าง‘จุฬาฯ’ทำรายงานประกบ
ห่วงค่าบริการสูง-คุณภาพต่ำลง! ‘กรรมการ กตป.’ ค้าน ‘กสทช.’ อนุมัติควบรวม ‘TRUE-DTAC’
ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค! วงเสวนาฯค้านควบรวมกิจการ'TRUE-DTAC' ห่วงค่าโทรเพิ่ม 20%
จับตา 'กสทช.รักษาการ' ปิดดีลควบ 'ทรู-ดีแทค'-สะพัดดึงเรื่องแต่งตั้งชุดใหม่?
‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’
ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ
'พิสิฐ' จี้ตรวจสอบ‘กสทช.’ลดบทบาทป้องกันผูกขาด-สภาฯตั้ง กมธ.ศึกษาควบรวม 'ทรู-ดีแทค'
นิพนธ์ พัวพงศกร : การควบรวมทรูกับดีแทค
ข้อสังเกตต่ออำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ในการป้องกันการผูกขาด กรณีทรูควบรวมดีแทค
นักวิชาการ TDRI ย้ำอันตรายหากปล่อย'TRUE-DTAC'ควบรวม ชี้คุมทุนใหญ่ต้องตั้งใจลุยจริง
หวั่นกระทบการแข่งขัน!‘กสทช.’สั่ง ‘TRUE-DTAC’ ชี้แจง‘เหตุผล-รายละเอียด’ ควบรวมธุรกิจ
ผูกขาดระดับอันตราย!'ทีดีอาร์ไอ'ชี้ควบ‘TRUE-DTAC’ทำแข่งขันลดลง-ห่วงรบ.ใกล้ชิดกลุ่มทุน
'ชัยวุฒิ'เชื่อควบรวม'ทรู-ดีแทค'เรื่องปกติทางธุรกิจ-ผูกขาดยาก
‘เครือซีพี-เทเลนอร์’สวอปหุ้น‘TRUE-DTAC’ ตั้ง‘บริษัทใหม่’ปรับองค์กรเป็น Tech Company