“…หาก กสทช.บอกว่ามีหน้าที่เพียงรับทราบรายงาน และให้ควบรวมธุรกิจกัน โดยกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อดูแลในภายหลังนั้น อาจเป็นความสุ่มเสี่ยงเกินไปหรือไม่ เพราะเมื่อผู้ประกอบการรายใหญ่จาก 3 ราย ลดเหลือ 2 ราย จะส่งผลให้สภาพการแข่งขันสูญเสียไป ในขณะที่มาตรการเฉพาะอาจไม่สามารถเยียวยาและฟื้นฟูสภาพการแข่งขันในตลาดที่เสียไปแล้วได้…”
...............................
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ครั้งที่ 1 กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้ ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯครั้งนี้ มีทั้งเสียง 'คัดค้าน' และเสียง 'สนับสนุน' กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@‘กสทช.’มีอำนาจออก‘มาตรการเฉพาะ’ หากการรวมธุรกิจกระทบแข่งขัน
โดยก่อนเข้าสู่ช่วงการรับฟังความคิดเห็นฯ สำนักงาน กสทช. โดย จิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม ได้สรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาการเสนอรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565 ทาง TRUE และ DTAC แจ้งความประสงค์ที่จะรวมธุรกิจระหว่างทั้ง 2 บริษัท โดยการควบบริษัท (Amalgamation) ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535 มีสาระสำคัญ คือ
1.การควบบริษัท จะทำให้เกิดบริษัทมหาชนจำกัดใหม่ คือ บริษัท NewCo ที่จะได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบทั้งหมดของผู้แจ้งรวมธุรกิจทั้งสอง
2.บริษัทย่อยของ TRUE และ DTAC จะยังอยู่เช่นเดิม และสัดส่วนผลประโยชน์การลงทุนในนิติบุคคลอื่นของ TRUE และ DTAC จะยังคงเป็นการลงทุนต่อไปภายใต้บริษัท NewCo
"การรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ดังกล่าว จะเข้าข่ายนิยามการรวมธุรกิจตาม ข้อ 3 (1) ของประกาศการรวมธุรกิจฯ โดย DTAC ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจควบคุมบริษัท บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) จะรวมธุรกิจกับ TRUE ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจควบคุมบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์เซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TICC) และบริษัท เค เอส ซี คอมเมอร์เชียล อินเตอร์เน็ต จำกัด (KSC) เป็นบริษัท NewCo" จิตสถา ระบุ
อย่างไรก็ดี จิตสถา กล่าวว่า หากการรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้ 1.ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนี HHI หรือค่าการกระจุกตัว มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 2.มีอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
และ 3.มีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กสทช.อาจกำหนด 'เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ' มาใช้กับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญได้
จิตสถา ให้ข้อมูลด้วยว่า การรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะทำให้จำนวนผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมลดลง โดยเฉพาะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศจะลดจาก 10 ราย เหลือ 9 ราย ขณะที่บริษัท NewCo ซึ่งเกิดการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะมีส่วนแบ่งตลาด 49.40% และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด (AWN) บริษัทลูกของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS จะมีส่วนแบ่งตลาด 47.72%
ส่วน บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) มีส่วนแบ่งตลาด 2.83% และผู้ให้บริการที่ไม่มีเครือข่ายของตัวเอง (MVNO) รายอื่นๆ มีส่วนแบ่งตลาด 0.05%
เช่นเดียวกับตลาดบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ ซึ่งจะมีผู้ให้บริการฯลดลงจาก 10 ราย เหลือ 9 ราย โดยบริษัท NewCo จะมีส่วนแบ่งตลาด 50.60% ,บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด (AWN) จะมีส่วนแบ่งตลาด 46.66% ,บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) มีส่วนแบ่งตลาด 2.65% และรายอื่นๆ มีส่วนแบ่งตลาด 0.08% ขณะที่บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ จะมีผู้ให้บริการ 5 ราย และมีส่วนแบ่งเท่าเดิม เนื่องจาก DTAC ไม่ได้ให้บริการในตลาดนี้
@AIS ค้านรวมธุรกิจ ‘TRUE-DTAC’ ชี้ลดทางเลือกผู้บริโภค-รายย่อย
ด้าน ศรัณย์ ผโลประการ ผู้แทนจาก บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด (AWN) ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ AIS กล่าวว่า AIS ยืนยันว่า บริษัทฯมีความพร้อมที่จะแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมภายในบทบัญญัติแห่งกฎหมายและกติกาที่ กสทช.กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้ผู้เล่นรายใหญ่ของประเทศลดจาก 3 ค่าย เหลือ 2 ค่าย ย่อมเป็นการลดทางเลือกในการใช้บริการโทรคมนาคมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านโปรโมชั่นราคา ด้านบริการหลังการขาย และด้านคุณภาพสัญญาณ ขณะที่ผู้ให้บริการ OTT เช่น Line หรือ Facebook ไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ เพราะ OTT ต้องอาศัยสัญญาณจากค่ายโทรศัพท์มือถือเช่นกัน ส่วน บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) นั้น ปัจจุบันยังต้องใช้โครงข่ายฯร่วมกับบริษัทเอกชน
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีตัวเลือก 3 ราย ย่อมดีกว่า 2 รายอยู่แล้ว และเมื่อผู้ให้บริการรายใหญ่ในตลาดโทรคมนาคม ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหลือเพียง 2 ราย การแข่งขันย่อมน้อยลง เพราะเดิมทั้ง 3 ค่าย ต่างแข่งขันกันดุเดือด เข้มข้น งัดกลยุทธ์ทางการตลาดมาต่อสู้กัน ทำให้ผู้ใช้บริการได้ประโยชน์ มีความสุขในการเลือกใช้โปรโมชั่นที่ตัวเองชื่นชอบ
แต่เมื่อเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 ค่ายใหญ่ โดยแต่ละค่ายก็มีผู้ใช้บริการจำนวนมากและใกล้เคียงกัน ย่อมเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดของการทำสงครามราคา ซึ่งดำเนินมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เพราะไม่จำเป็นต้องแย่งลูกค้ากันอีกแล้ว เนื่องจากผู้ใช้บริการที่แต่ละรายมีอยู่รายละ 50 ล้าน ก็ใกล้เคียงกับประชากรไทยที่มี 69 ล้านคนอยู่แล้ว
และแม้ว่าจะมีมุมมองจากนักวิเคราะห์ในตลาดทุนว่า การควบรวมครั้งนี้จะเป็นการลดการแข่งขัน และจะทำให้ผู้ประกอบการทุกรายที่เหลืออยู่ในตลาดได้รับประโยชน์ แต่เนื่องจาก AIS ในฐานะที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จำเป็นต้องมีการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล เราไม่อาจเพิกเฉยต่อการลดจำนวนผู้เล่นได้ เพราะเราต้องรับผิดชอบต่อสังคม และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมด้วย
อีกทั้ง AIS ไม่อยากจะถูกจดจำ หรือบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการผูกขาด และทำให้เกิดจุดด่างพร้อยในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย ดังนั้น AIS จึงจำเป็นต้องออกมาแสดงความเห็นต่อการควบรวมครั้งนี้ เพราะมีผลกระทบอย่างมาก และไม่ได้กระทบเฉพาะต่อผู้ใช้บริการเท่านั้น
แต่ยังมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย ผู้รับเหมา ผู้แทนจำหน่าย ร้านลูกตู้ และผู้ให้บริการเสริมต่างๆด้วย เนื่องจากผู้ควบรวมกัน ซึ่งหวังลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อน ก็จะลดการจ้างงานผู้รับเหมา ยกเลิกพื้นที่เช่า โดยจะส่งผลให้เกิดการหดตัวของอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งผลไปยังผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นปลาเล็กในอุตสาหกรรมที่ไม่มีอำนาจต่อรอง หรือมีสายป่านไม่ยาวพอ อาจจะต้องล้มหายตายจากไป
ขณะที่ AIS จะเป็นผู้เสียหายด้วยเหมือนกัน เพราะผู้ที่ควบรวมกันจะมีการถือครองคลื่นความถี่บางย่านเกินกว่าที่ กสทช.อนุญาต ดังนั้น หาก กสทช.ยินยอมให้ทั้ง 2 ราย ควบรวมกัน บริษัทฯเห็นว่า กสทช. ควรเยียวยาความเสียหายให้บริษัทฯด้วย กล่าวโดยสรุป คือ AIS ไม่ได้กังวลเรื่องการแข่งขัน แต่เรากำลังอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบต่อผู้บริโภค อุตสาหกรรม และการถือครองคลื่นความถี่ที่ไม่เป็นธรรม” ศรัณย์ กล่าว
ศรัณย์ ยังระบุว่า AWN เห็นด้วยที่จะประเทศไทยจะต้องมีผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมที่แข็งแกร่ง เพื่อให้นำพาประเทศชาติไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ แต่การสร้างความแข็งแกร่งนั้น ทำได้หลายวิธี โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีควบรวม ซึ่งการควบรวมเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่อยากให้พิจารณาด้วยว่า มีทางเลือกอีกหลายวิธี เช่น การหาพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ การแบ่งปันการใช้โครงข่ายร่วมกันเพื่อลดต้นทุน และการใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายร่วมกัน เป็นต้น
“อันที่จริง TRUE และ DTAC ไม่ได้อ่อนแอ AWN เสียมาร์เก็ตแชร์มาโดยตลอด อย่างปีที่แล้ว TRUE มีกำไรจากดำเนินการ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ที่ขาดทุน เพราะเอากำไรไปลงทุน ซึ่งผลการลงทุนก็จะงอกเงยมาในอนาคต และขาดทุนเนื่องจากค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการดำเนินการ ส่วน DTAC แม้ว่าจะมีฐานลูกค้าน้อยที่สุด แต่ก็มีกำไรมาโดยตลอด ดังนั้น ที่บอกว่า ถ้าไม่รวมกันจะไม่ได้ economy of scale คงไม่ใช่” ศรัณย์ระบุ
@กฎหมายกำหนดให้ ‘กสทช.’ มีอำนาจ ‘อนุมัติ-ไม่อนุมัติ’ ไม่ใช่แค่รับทราบ
อุทัย เพ็ญรัตน์ ผู้แทนจาก AWN กล่าวว่า การควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เป็นดีลสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ชีวิตประจำ และเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามจากสาธารณชนเกี่ยวกับบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ว่า กสทช.คงไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เพียงรับทราบรายงาน และกำหนดมาตรการเฉพาะเท่านั้น
“กสทช.จะต้องมีอำนาจไม่อนุมัติ หากเกิดผลกระทบหรือเกิดการผูกขาดในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าเห็นว่าการควบรวมครั้งนี้ ประชาชนได้ประโยชน์ก็จะพิจารณาอนุญาตได้ ไม่ใช่แค่มีอำนาจรับทราบรายงาน และกำหนดมาตรการเฉพาะขึ้นมา เพราะเมื่อพิจารณากฎหมายแล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่า กสทช.มีอำนาจที่ต้องกำกับดูแลป้องกันการผูกขาดในตลาดโทรคมนาคม เนื่องจากประกาศที่ กสทช.จะนำมาใช้พิจารณาในเรื่องนี้
คือ ประกาศ เรื่อง การควบรวมฉบับปี 2561 มีการระบุไว้ว่า เป็นหน้าที่ของผู้ขอควบรวมที่จะต้องยื่นการขอควบรวมให้ กสทช.ทราบภายใน 90 วัน ก่อนมีการดำเนินการ แต่ประกาศดังกล่าวมีข้อหนึ่งที่เขียนว่า การยื่นรายงานให้เป็นการขออนุญาตตามประกาศฉบับปี 2549 และเมื่อประกาศฉบับปี 2561 ใช้คำว่าขออนุญาตด้วยแล้ว ดังนั้น ในมุมมองของบริษัทฯ เห็นว่า กสทช.มีอำนาจอนุมัติ หรือไม่อนุมัติด้วยหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาต่อไป” อุทัย กล่าว
อุทัย ยังระบุว่า หาก กสทช.บอกว่ามีหน้าที่เพียงรับทราบรายงาน และให้ควบรวมธุรกิจกัน โดยกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อดูแลในภายหลังนั้น อาจเป็นความสุ่มเสี่ยงเกินไปหรือไม่ เพราะเมื่อผู้ประกอบการรายใหญ่จาก 3 ราย ลดเหลือ 2 ราย จะส่งผลให้สภาพการแข่งขันสูญเสียไป ในขณะที่มาตรการเฉพาะอาจไม่สามารถเยียวยาและฟื้นฟูสภาพการแข่งขันในตลาดที่เสียไปแล้วได้ จึงอยากให้ กสทช.พิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ
อุทัย ย้ำว่า “กสทช.ควรต้องมีระยะเวลาในการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และเรื่อง 90 วัน ไม่น่าจะเป็นข้อผูกมัดให้ กสทช. ต้องเร่งพิจารณา เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายต่อภาคธุรกิจได้”
ส่วน กุลฤดี จาดป้อม ผู้แทนจาก AWN ระบุว่า จากรายงานของหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมในสหภาพยุโรป 11 องค์กร มีข้อสรุปว่า การอนุญาตให้มีการควบรวมในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ นั้น พบว่า 50% ทำให้ผู้ใช้บริการเสียค่าบริการเพิ่มขึ้น ส่วนอีก 49% บอกว่าไม่มีผลกระทบอะไร อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลใน 193 ประเทศทั่วโลก พบว่าแต่ละประเทศมีผู้ให้บริการฯอย่างน้อย 3 ราย ส่วนประเทศที่มีผู้ให้บริการ 2 ราย จะเป็นประเทศที่มีผู้ใช้บริการไม่ถึง 10 ล้านราย
“ประเทศที่มีจำนวนประชากรที่ใช้บริการเท่าเทียมกับประเทศไทย เขามีอย่างน้อย 3-4 รายทุกประเทศ ขณะที่หลักอีกตัวหนึ่งที่จะมาช่วยพิจารณาในเรื่องนี้ คือ ดัชนี HHI (ดัชนีการวัดค่าการกระจุกตัว) ที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ เพื่อคำนวณว่าตลาดมีการผูกขาดหรือไม่ และหลังควบรวมแล้วค่า HHI เป็นอย่างไร” กุลฤดีกล่าว
(ผู้แทนจาก AWN ทั้ง 3 ราย แสดงความคิดเห็นกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC)
@‘NT’ชี้ตลาดธุรกิจโทรมือถือกระทบหนัก-จี้ ‘กสทช.’ดูแลผู้เล่นรายเดิม
ขณะที่ พิเชษฐ์ ฤทธิสุนทร ผู้แทนจาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ระบุว่า การควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะส่งผลกระทบต่อตลาดโทรคมนาคมทุกเซ็กเมนต์ และสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากจำนวนผู้เล่นลดลง โดยเฉพาะตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จะได้รับผลกระทบสูงกว่าตลาดอื่นๆที่มีผู้เล่นมากรายกว่า และแน่นอนว่า NT ในฐานะที่เป็นผู้เล่นรายหนึ่งในตลาดฯย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน
“ในปี 2020 มีการควบรวมในธุรกิจโทรศัพท์มือถือในอิตาลี ซึ่ง EU Commission เขากังวลว่า นอกจากผู้เล่นรายใหม่ๆจะไม่เกิดขึ้นแล้ว ผู้เล่นรายเดิมอาจต้องปิดตัวออกจากตลาดไป จึงมีมาตรการออกมามากมายเพื่อรองรับสิ่งที่เขากังวล ผมจึงเห็นว่า กสทช. ควรจะคำนึงถึงผู้เล่นรายเดิมที่อยู่ในตลาดด้วยว่า เขาจะอยู่ได้อย่างไร ซึ่งการแข่งขันที่ลดลง เพราะมีผู้เล่นลดลง จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน” พิเชษฐ์ กล่าว
พงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ผู้แทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับกรณีการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC เนื่องจากจะทำให้ผู้เล่นในตลาดสื่อสารโทรคมนาคม โดยเฉพาะธุรกิจมือถือไร้สายที่มีผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2 ราย ซึ่งจะทำให้เกิดตลาดกึ่งผูกขาดในอนาคต และจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการต้องเสียค่าบริการที่แพงขึ้น ขณะที่คุณภาพการให้บริการจะลดลง
“ที่บอกว่าเมื่อมีการควบรวมกันจะทำให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ผมมองไม่ใช่ เพราะไม่ว่าจะมีผู้เล่นน้อยราย หรือผู้เล่นมากราย เรื่องนวัตกรรมกับจำนวนผู้เล่นเป็นสิ่งที่เป็นอิสระจากกัน ซึ่งเรื่องการพัฒนานวัตกรรมนั้น จะขึ้นอยู่กับจุดยืนของผู้ประกอบการธุรกิจว่าจะมีจุดยืนอย่างไร เช่น DTAC ที่ไม่มีการลงทุน 5G ทำให้มีผลกำไรที่ดี ดังนั้น กสทช. ที่มีอำนาจกำกับดูแลเรื่องนี้ ไม่ควรบิดเบือนตลาด และต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เสรี เป็นธรรม” พงศ์ฐิติ กล่าว
@‘สมาคมภาคเอกชน’ หนุนควบรวม ‘TRUE-DTAC’-เชื่อทำให้บริการดีขึ้น
ส่วน ดิษศรัย ปิณฑะดิษ ผู้แทนจากสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) ให้ความเห็นว่า การควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะทำให้คุณภาพการบริการต่างๆดีขึ้น เนื่องจากหลังควบรวมกิจการแล้ว ขนาดการวิจัยและพัฒนา (R&D) จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในขณะที่ TRUE มีบริการที่หลากหลายและมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองต่อโจทย์ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น 5G และ Internet of Things (IoT) แต่เราเริ่มเห็นถึงความไม่ต่อเนื่องในการออกบริการใหม่ๆของ DTAC แล้ว
“ถ้ามีการควบรวมกัน เราเชื่อว่าคุณภาพการให้บริการจะดีขึ้น เพราะเมื่อทั้ง 2 เจ้ามารวมกัน R&D จะใหญ่ขึ้น และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกสู่ตลาดได้มาก” ดิษศรัย กล่าว และว่า “หากมีการควบรวมกันระหว่างเจ้าที่ 2 กับเจ้าที่ 3 ซึ่งจะทำให้มีขนาดใกล้เคียงกับเจ้าที่ 1 มากขึ้น นั้น เราคาดหวังว่า จะได้เห็นการทำโปรโมชั่นที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ใช้บริการ”
ดิษศรัย ระบุด้วยว่า จากการติดตามบทบาทของ TRUE พบว่า TRUE มีโครงการช่วยเหลือสตาร์ทอัพในเมืองไทยอย่างจริงจัง และหลายบริษัทประสบความสำเร็จจากโครงการนี้ ส่วน DTAC มีโครงการในลักษณะเดียวกัน แต่เมื่อเปลี่ยนตัวผู้บริหาร โครงการก็ถูกยกเลิกไป เพราะผู้บริหารใหม่มาจากเมืองนอก จึงไม่เข้าใจบริบทที่เรากำลังพูดถึงการสนับสนุนสตาร์ทอัพในเมืองไทย ดังนั้น การที่เรามีนักลงทุนที่เป็นคนไทยด้วยกัน อาจจะเข้าใจคนไทยได้ดีกว่า
ด้าน ปฐม อินทโรดม อุปนายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย (Thai Digital Trade Association) กล่าวว่า จากผลวิจัยของของ OECD พบว่า การควบรวมในธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ได้ทำให้เกิดการผูกขาด แต่กลับทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพิ่มขึ้น และเมื่อพูดถึงบทบาทของผู้ให้บริการฯแล้ว ไม่อยากให้มองว่าเป็นเพียงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ แต่ควรมองว่าเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
“การควบรวม ดูๆแล้วก็เหมือนเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เราจะเห็นความคิดในเชิงลบ ซึ่งเป็นปกติ แต่ผมอยากให้ดูที่โอกาสระยะยาวมากกว่า” ปฐม กล่าว
นรัตถ์ สาระมาน จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาดิจิทัล กล่าวว่า กรณีที่มีความกังวลว่าหากมีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC แล้ว จะทำให้ค่าบริการสูงขึ้น หรือมีการแข่งขันน้อยลงนั้น ส่วนตัวมองว่าปัจจุบัน กสทช. ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลค่าบริการได้ดีอยู่แล้ว และหากผู้ให้บริการรายใดให้บริการไม่ดี มีค่าบริการแพง ผู้ใช้บริการก็สามารถย้ายค่ายได้อยู่แล้ว ดังนั้น ความกังวลที่ว่าหากมีการควบรวมแล้วจะทำค่าบริการจะสูงขึ้น จึงไม่น่าจะเป็นประเด็น
นอกจากนี้ ตนเห็นว่า หากการควบรวมกิจการฯ แล้วทำให้ผู้ให้บริการเกิดการให้บริการที่ดีขึ้น และสามารถพัฒนาบริการใหม่ๆได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี
@‘กสทช.’เปิดรับฟังความเห็นอีก 2 ครั้ง ก่อนเสนอ ‘อนุกรรมการฯ’
ด้าน ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ระบุว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯครั้งนี้ เป็นการประชุม Focus Group ครั้งแรก ตามโรดแมปของ กสทช. และจะมีการประชุม Focus Group ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ โดยจะประชุมในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า จากนั้นจะเป็นการประชุม Focus Group ครั้งที่ 3 ซึ่งจะประชุมกับผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป จากนั้นจะสรุปรายงานความคิดเห็นให้อนุกรรมการฯทั้ง 4 ด้าน พิจารณา ก่อนเสนอ กสทช.
“อนุกรรมการฯ 4 ชุด คือ ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจ ด้านเทคโนโลยี และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจะนำผลการประชุม Focus Group เข้าไปสู่การพิจารณาของอนุคณะกรรมการชุดต่างๆ ก่อนนำเสนอต่อ กสทช.อีกครั้ง ขณะที่การพิจารณาในเรื่องนี้ นอกจากจะมีที่ปรึกษาอิสระแล้วไปแล้ว เราได้จ้างที่ปรึกษาต่างหาก คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงมีที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาช่วยเรา เพื่อให้งานนี้มีความรอบคอบ และมีความเป็นสากล” กรรมการ กสทช. ระบุ
(ศุภัช ศุภชลาศัย)
อ่านประกอบ :
เปิดหนังสือ กมธ.! ทักท้วง 7 ข้อ ปมควบรวม'TRUE-DTAC' ลดแข่งขัน-เสนอ'บิ๊กตู่'สั่งชะลอ
‘อนุฯกสทช.’สั่ง‘ที่ปรึกษาอิสระ’ศึกษาเพิ่ม กรณีควบ‘TRUE-DTAC’-จ้าง‘จุฬาฯ’ทำรายงานประกบ
ห่วงค่าบริการสูง-คุณภาพต่ำลง! ‘กรรมการ กตป.’ ค้าน ‘กสทช.’ อนุมัติควบรวม ‘TRUE-DTAC’
ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค! วงเสวนาฯค้านควบรวมกิจการ'TRUE-DTAC' ห่วงค่าโทรเพิ่ม 20%
จับตา 'กสทช.รักษาการ' ปิดดีลควบ 'ทรู-ดีแทค'-สะพัดดึงเรื่องแต่งตั้งชุดใหม่?
‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’
ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ
'พิสิฐ' จี้ตรวจสอบ‘กสทช.’ลดบทบาทป้องกันผูกขาด-สภาฯตั้ง กมธ.ศึกษาควบรวม 'ทรู-ดีแทค'
นิพนธ์ พัวพงศกร : การควบรวมทรูกับดีแทค
ข้อสังเกตต่ออำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ในการป้องกันการผูกขาด กรณีทรูควบรวมดีแทค
นักวิชาการ TDRI ย้ำอันตรายหากปล่อย'TRUE-DTAC'ควบรวม ชี้คุมทุนใหญ่ต้องตั้งใจลุยจริง
หวั่นกระทบการแข่งขัน!‘กสทช.’สั่ง ‘TRUE-DTAC’ ชี้แจง‘เหตุผล-รายละเอียด’ ควบรวมธุรกิจ
ผูกขาดระดับอันตราย!'ทีดีอาร์ไอ'ชี้ควบ‘TRUE-DTAC’ทำแข่งขันลดลง-ห่วงรบ.ใกล้ชิดกลุ่มทุน
'ชัยวุฒิ'เชื่อควบรวม'ทรู-ดีแทค'เรื่องปกติทางธุรกิจ-ผูกขาดยาก
‘เครือซีพี-เทเลนอร์’สวอปหุ้น‘TRUE-DTAC’ ตั้ง‘บริษัทใหม่’ปรับองค์กรเป็น Tech Company