วงเสวนาฯ ค้านควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ชี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเสียประโยชน์-เกิดการผูกขาดระดับ ‘อันตรายมาก’ จี้ ‘กสทช.’ ดูแลการ ‘แลกเปลี่ยนข้อมูล’ ก่อนควบรวม หวั่นการเกิดการ ‘ฮั้ว’ ขณะที่ ‘สารี’ เผยผลศึกษาต่างประเทศ พบหลังควบรวม ‘ธุรกิจมือถือ’ ค่าโทรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20%
....................................
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดงานเสวนา เรื่อง ‘ดีล True - Dtac ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังผู้บริโภค’ โดยนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การควบรวม TRUE กับ DTAC จะเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้น TRUE และ DTAC รวมถึง AIS เนื่องจากผู้เล่นในตลาดโทรศัพท์มือที่ลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย แต่จะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ดีลเลอร์ และสตาร์ทอัพ เป็นต้น
“ในตำราเขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า หากผู้ประกอบการรายที่ไม่เกี่ยวข้องกันการควบรวมนั้น คัดค้านการควบรวม หน่วยงานที่กำกับดูแล ควรอนุญาตให้เกิดการควบรวม แต่ถ้าผู้ประกอบการอีกรายไม่คัดค้าน หรือสนับสนุนการควบรวมด้วย ควรจะห้ามการควบรวม เพราะถ้าการควบรวม ทำให้บริษัทที่ควบรวมมีนวัตกรรมดีขึ้น มีต้นทุนถูกลง ซึ่งจะส่งผ่านไปยังผู้บริโภคโดยการลดราคา รายที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่นี้ คือ AIS จะต้องตัดราคาลงมาแข่ง ก็จะเสียประโยชน์
ฉะนั้น ถ้าหากมีการคัดค้านการควบรวม แสดงว่าจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่กรณีนี้จะเห็นได้ว่าไม่มีใครคัดค้านเลย เพราะทุกคนเห็นแล้วว่า ผลของการควบรวมนั้น จะทำให้อำนาจเหนือตลาดของผู้ประกอบการที่ควบรวมกัน และผู้ประกอบการที่เหลืออยู่ คือ AIS กระจุกตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในมุมของผู้ประกอบการทุกคนได้ประโยชน์ แต่ผู้บริโภคเสียประโยชน์ ซึ่งหลักฐานที่ชัดเจน คือ ราคาหุ้นของทั้ง 3 บริษัทฯ เพิ่มขึ้นชัดเจนหลังประกาศควบรวม” นายสมเกียรติ กล่าว
@‘ปธ.TDRI’ ชี้ดีลควบ ‘TRUE-DTAC’ ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
นายสมเกียรติ ย้ำว่า ในทางวิชาการกรณีการควบรวม TRUE กับ DTAC จะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และหน่วยงานกำกับดูแลสมควรระงับไม่ให้มีการควบรวม เพราะหากอนุญาตให้มีการควบรวมแล้ว จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนของประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากจะพบกับการผูกขาดทุกขั้นตอน เช่น การผูกขาดอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้ค่าบริการแพงขึ้นและความเร็วช้าลง และธุรกิจที่ทำเรื่องสมาร์ท แฟคทอรี่ หรือสมาร์ท ซิตี้ จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ กรณีที่มีการอนุญาตให้มีการควบรวม TRUE กับ DTAC จะทำให้ระดับการผูกขาดเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่ ‘อันตรายมาก’ ดังนั้น กรณีของประเทศไทยจึงไม่ควรอนุญาตให้มีการควบรวม
“กรณีนี้มีความชัดเจนว่า ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค หากไม่สามารถกำกับดูแล และระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ก็หมายความว่าการกำกับดูแลธุรกิจผูกขาดในไทยทั้งระบบล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลรายสาขาโดย กสทช. และการกำกับดูแลการผูกขาดโดยทั่วไป โดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพราะถ้าเรื่องง่ายๆ และตรงไปตรงมาเช่นนี้ ยังไม่สามารถกำกับดูแลได้ สังคมก็จะถามว่าแล้วเราจะมี กสทช. และ กขค. ไว้ทำไม” นายสมเกียรติ กล่าว
@ทางออกที่ดีที่สุด คือ ต้องไม่อนุญาตควบรวม ‘TRUE-DTAC’
นายสมเกียรติ เสนอทางออกกรณีการควบรวม TRUE กับ DTAC ในประเทศไทย ว่า มีทางออก 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก ไม่อนุญาตให้ควบรวม และหาก DTAC จะออกจากประเทศไทยก็ให้ขายกิจการให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆที่ไม่ใช่ AIS และ TRUE แนวทางที่สอง อนุญาตให้ควบรวมฯ แต่ต้องกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทที่ควบรวมกัน คืนคลื่นมาบางส่วนแล้วนำมาจัดสรรใหม่ เพื่อให้มีผู้ประกอบการ 3 ราย ในตลาดโทรศัพท์มือถือ
และแนวทางที่สาม อนุญาตให้ควบรวมกันได้ และส่งเสริมให้การผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน (MVNO) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายฯของตัวเอง แต่ทางเลือกนี้ ไม่ใช่ข้อเสนอที่เหมาะสมนัก เพราะ MVNO ไม่ได้เกิดง่าย และการดูแลจะยากมาก ดังนั้น จึงต้องป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด เพราะหากปล่อยให้มีการผูกขาดแล้วไปแก้ไขในภายหลังจะยากมาก
“ตลาดโทรศัพท์มือถือในยุโรป จะไม่ยอมให้ควบรวมกันเหลือ 3 ราย แล้วมาเหลือ 2 ราย แม้กระทั่งสิงคโปร์ ซึ่งตลาดเล็กๆขนาดนั้นยังมีผู้ประกอบการมากกว่า 3 ราย แล้วทำไมไทยจะรองรับ 3 รายไม่ได้ ดังนั้น ข้อเสนอที่ดีที่สุด คือ ต้องไม่ให้มีการควบรวม หาก DTAC จะออกจากตลาดไทย ก็ให้ขายให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่ใช่ AIS และ TRUE อีกทั้งเพื่อให้ตลาดมีการแข่งขัน มีต้นทุนลดลง จะต้องลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน ให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน” นายสมเกียรติ ระบุ
@ยัน ‘กสทช.’ ต้องมีอำนาจกำกับดูแลการควบรวมกิจการ
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จากการเข้าหารือกับคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง TRUE และ DTAC คณะกรรมาธิการฯ กสทช. และ กขค. มีความเห็นร่วมกันว่า กรณีการควบรวม TRUE กับ DTAC รัฐจะต้องมีอำนาจในการกำกับดูแลกระบวนการควบรวมธุรกิจ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน
“เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่รัฐต้องดูแล แต่ต้องดูว่ามีช่องโหว่ในข้อกฎหมายไหม ถ้ามีจะปรับปรุงแก้ไขได้ทันหรือไม่ และการพิจารณาต้องรับฟังทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น กรณีให้ควบรวม TRUE กับ DTAC จะต้องศึกษาและกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขว่า หากเกิดผลกระทบต้องมีมาตรการลักษณะไหน อย่างไร ทั้งมาตรการเชิงโครงสร้างและมาตรการเชิงพฤติกรรม แต่ถ้าไม่ให้ครบรวมกัน จะมีทางอื่นในการต้นทุนให้ผู้ประกอบการหรือไม่ เช่น การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน หรือการให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ทำตัวเป็น network operator เป็นต้น” นพ.ประวิทย์ กล่าว
นพ.ประวิทย์ ระบุว่า กรณีการรวมกิจการ TRUE กับ DTAC นั้น มีประกาศ กสทช. กำกับดูแลอยู่ ซึ่งจะมีการกำหนดกรอบระยะเวลา และขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพิจารณามีประสิทธิภาพ สำนักงาน กสทช. ต้องวิเคราะห์ผลกระทบกรณีการควบรวมแบบคู่ขนาน ไม่ใช่รอให้ที่ปรึกษาอิสระของเอกชนทำรายงานประเมินสภาพตลาดเข้ามา เพราะสุดท้าย กสทช.ต้องนำรายงานเหล่านั้นไปพิจารณาว่า สมเหตุลผลหรือไม่ และจะมีมาตรการอย่างไร
“สำนักงาน กสทช. อาจจะต้องที่ปรึกษาอิสระเช่นเดียวกัน แต่ตั้งโดยสำนักงาน เพื่อทำการศึกษาคู่ขนานกันไป หรืออาจตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงาน โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการแข่งขัน ด้านการตลาด ด้านเศรษฐศาสตร์ หรือด้านกฎมายมาร่วมกันวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย และจัดทำข้อเสนอล่วงหน้า พอมีรายงานของที่ปรึกษาอิสระเข้ามา ก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้เลย” นพ.ประวิทย์ กล่าว
@ไม่ฟันธง ‘อนุญาต-ไม่อนุญาต’ ควบรวม TRUE-DTAC
นพ.ประวิทย์ ย้ำว่า วันนี้ กสทช.ยังไม่ได้ตั้งท่าฟันธงว่าจะไม่ให้มีการควบรวม หรือจะเปิดประตูให้การควบรวมดำเนินการได้โดยสะดวก เพราะหน้าที่ของภาครัฐ คือ ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และคำนึงถึงมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น สิ่งที่เป็นไปได้ คือ หากจะพิจารณาในเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องวิเคราะห์โครงสร้างตลาดว่า จำนวนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยขั้นต่ำควรมีกี่ราย
“ถ้าบอกว่าขั้นต่ำควรมี 4 ราย ต้องเร่งเพิ่ม 1 ราย หรือถ้าบอกว่าขั้นต่ำควรมี 3 ราย แปลว่าการลดเหลือ 2 ราย ไม่เหมาะสมกับโครงสร้างตลาด แต่ถ้าบอกว่าขั้นต่ำควรมี 2 ราย การควบรวมครั้งนี้ ก็ไม่มีปัญหา” นพ.ประวิทย์ กล่าว
พร้อมระบุว่า “ต่อให้มีคำขอควบรวม ในบางประเทศจะไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวม เพราะจะทำให้ผู้เล่นลดลง แต่ในระยะหลัง มีบางประเทศที่อนุญาตให้ควบรวม แต่มีเงื่อนไขสำคัญว่า จะต้องคงจำนวนผู้เล่นเท่าเดิม เช่น มีคำสั่งให้มีผู้ประกอบการที่ควบรวมกับกระจายคลื่นที่ถือให้กับรายใหม่ และให้กระจายโครงสร้างพื้นฐานขั้นต่ำ คือ เสาสัญญาณ ไปให้กับรายใหม่ หรือกรณีที่ไม่สามารถคงจำนวนผู้ให้บริการได้ ก็ต้องเพิ่มผู้ให้บริการแบบ MVNO เข้ามา”
นพ.ประวิทย์ กล่าวด้วยว่า กรณีการควบรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือทั้งในสหภาพยุโรป (EU) และประเทศในกลุ่ม OECD มีผลศึกษาออกมาว่า โดยปกติหลังการควบรวม ราคาค่าบริการเฉลี่ยในท้องตลาดจะ ‘เพิ่มขึ้น’ มากกว่า ‘ไม่เพิ่มขึ้น’ และผลการศึกษาไม่สามารถระบุได้ว่า เมื่อมีการควบรวมแล้วจะทำให้ประหยัดทรัพยากร และทำให้ผู้ประกอบการลงทุนโครงข่ายฯเพิ่มขึ้น ลงทุนเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น มีคุณภาพการให้บริการดีขึ้น ได้จริง ตามที่ผู้ประกอบการอ้างหรือไม่
นพ.ประวิทย์ ยังระบุว่า ตนได้รับทราบข่าวที่ยังไม่ยืนยันว่า ขณะนี้รายชื่อของ กสทช.ชุดใหม่ ได้ออกจากสำนักนายกรัฐมนตรี ไปแล้ว หากเป็นเช่นนั้น ก็เป็นไปได้สูงว่า จะมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ ภายใน 1-2 สัปดาห์ และทำให้ กสทช.ชุดปัจจุบันไม่ได้ เป็นผู้มีอำนาจพิจารณา หรือกำหนดกติกาเกี่ยวกับการกรณีการควบรวม กิจการ TRUE กับ DTAC แต่อย่างใด แต่เป็นอำนาจของ กสทช.ชุดใหม่
@อนุญาตควบรวม TRUE-DTAC เป็นอำนาจทั้ง ‘กสทช.-กขค.’
ผศ.ดร.กมลวรรณ จิรวิศิษฏ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ในการพิจารณาอนุญาตการควบรวมกิจการ TRUE กับ DTAC จะเป็นอำนาจของทั้ง กสทช. และ กขค. ที่จะพิจารณาว่า จะอนุญาตให้ควบรวมธุรกิจหรือไม่
เพราะแม้ว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 จะระบุว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ให้ใช้บังคับกับธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่า พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มีข้อความระบุว่า “การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากจะต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว...” และประกาศ กทค. เมื่อปี 2549 ที่ย้ำว่า “นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว...”
“ถ้าให้มอง (การควบรวม TRUE กับ DTAC) จะอยู่ภายใต้ทั้ง 2 กฎหมาย เพราะกฎหมายเฉพาะ (พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ) ยังชี้ย้อนว่าให้กลับไปใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าอยู่” ผศ.ดร.กมลวรรณ กล่าว
ผศ.ดร.กมลวรรณ กล่าวว่า ในระหว่างที่ TRUE กับ DTAC ยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการกันนั้น สิ่งที่ต้องติดตาม คือ TRUE กับ DTAC มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความลับทางธุรกิจระหว่างกันหรือไม่ เพราะการแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้น อาจนำมาซึ่งการ ‘ฮั้ว’ ได้ หรือการร่วมมือกันของคู่แข่ง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามมาตรา 54 และมาตรา 55 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 และมีโทษทั้งในทางอาญาและโทษทางปกครอง
“กสทช. และ กขค. จะต้องพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนข้อมูลว่า นำมาซึ่งการไม่แข่งขันแล้วหรือไม่ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจ ซึ่งเป็นข้อมูลลับ อาจส่งผลถึงการไม่แข่งขันกันแล้วก็ได้ ดังนั้น การแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้น จะต้องถูกควบคุมด้วย” ผศ.ดร.กมลวรรณ กล่าว
@จี้ ‘กสทช.’ กำกับ ‘TRUE-DTAC’ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า กสทช. มีหน้าที่ต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันเพื่อไม่ให้มีกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ดังนั้น ตั้งแต่วันแรกที่ TRUE กับ DTAC ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะมีการควบรวมธุรกิจระหว่างกัน กสทช.จะต้องวางกระบวนการกำกับดูแล เพราะการควบรวมกิจการดังกล่าว จะทำให้การแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์มือถือลดลง เพราะผู้เล่นรายใหญ่ลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย
“เห็นชัดอยู่แล้วว่า ถ้าปล่อยให้ทั้ง 2 บริษัท เดินหน้าไป โดยไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามากำกับเลย ก็จะนำไปสู่ภาวะการผูกขาด หรือทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และความไม่เป็นธรรมฯอาจจะเกิดก่อนการควบรวมเสร็จสิ้นด้วยซ้ำ เพราะเป็นได้หรือไม่ที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบางอย่างกันแล้วหรือไม่ ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลในชั้นนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมได้” น.ส.สฤณี กล่าว
@‘สอบ.ยกผลศึกษา ‘ตปท.’ อนุญาตควบรวมฯ ค่าบริการเพิ่ม 20%
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สอบ.ไม่เห็นด้วยกับการรวมธุรกิจฯ TRUE กับ DTAC เพราะจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกลดลง และมีผลกระทบต่ออัตราค่าบริการ สะท้อนได้จากกรณีอังกฤษที่มีการอนุญาตให้ควบรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย พบว่าทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 20% เช่นกันการควบรวมฯธุรกิจโทรศัพท์มือถือของไทยจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“เดิมเรามีทางเลือก 3 เจ้า พอลดลงเหลือ 2 เจ้า จะผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน เพราะสิทธิที่กำหนดไว้ในกิจการโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการย้ายค่าย การควบคุมด้านราคา และการตรวจสอบต่างๆ จะถูกจำกัดหรือทำได้ยาก รวมทั้งจะทำให้ความเหลื่อมล้ำในด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าเมื่อเกิดการค้าที่มีอำนาจเหนือตลาด ก็จะส่งผลต่อผู้บริโภค โดยผลการศึกษาใน 25 ประเทศ พบว่าเมื่อผู้เล่นลดลง จะทำให้ราคาค่าบริการสูงขึ้น 20%” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี กล่าวว่า หาก กสทช.ไม่ต้องการให้ผู้เล่นลดลง จะต้องไม่อนุญาตให้ควบรวม และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ต้องเข้ามาขัดตาทัพ หรือหากอนุญาตให้ครบรวม จะต้องเพิ่มผู้เล่นในตลาด เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน (MVNO) หรือให้ MVNO มีสัดส่วนถือหุ้นในบริษัทฯใหม่ เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดในการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆต่อ MVNO รวมทั้งมีหลักประกันที่ชัดเจนในการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภค
น.ส.สารี ระบุว่า ที่ผ่านมา สอบ.ได้ยื่นหนังสือต่อ กสทช. ขอให้พิจารณาการควบรวมธุรกิจ TRUE กับ DTAC ให้รอบคอบ และขอให้ กสทช.ชุดใหม่ ที่ได้รับคัดเลือกจากวุฒิสภาและอยู่ระหว่างการแต่งตั้ง เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ และยื่นข้อห่วงใยต่างๆไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสุดท้ายแล้วหาก กสทช. อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE กับ DTAC จริง การดำเนินการฟ้องร้องคดีต่อศาลฯ ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเช่นกัน
อ่านประกอบ :
จับตา 'กสทช.รักษาการ' ปิดดีลควบ 'ทรู-ดีแทค'-สะพัดดึงเรื่องแต่งตั้งชุดใหม่?
‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’
ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ
'พิสิฐ' จี้ตรวจสอบ‘กสทช.’ลดบทบาทป้องกันผูกขาด-สภาฯตั้ง กมธ.ศึกษาควบรวม 'ทรู-ดีแทค'
นิพนธ์ พัวพงศกร : การควบรวมทรูกับดีแทค
ข้อสังเกตต่ออำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ในการป้องกันการผูกขาด กรณีทรูควบรวมดีแทค
นักวิชาการ TDRI ย้ำอันตรายหากปล่อย'TRUE-DTAC'ควบรวม ชี้คุมทุนใหญ่ต้องตั้งใจลุยจริง
หวั่นกระทบการแข่งขัน!‘กสทช.’สั่ง ‘TRUE-DTAC’ ชี้แจง‘เหตุผล-รายละเอียด’ ควบรวมธุรกิจ
ผูกขาดระดับอันตราย!'ทีดีอาร์ไอ'ชี้ควบ‘TRUE-DTAC’ทำแข่งขันลดลง-ห่วงรบ.ใกล้ชิดกลุ่มทุน
'ชัยวุฒิ'เชื่อควบรวม'ทรู-ดีแทค'เรื่องปกติทางธุรกิจ-ผูกขาดยาก
‘เครือซีพี-เทเลนอร์’สวอปหุ้น‘TRUE-DTAC’ ตั้ง‘บริษัทใหม่’ปรับองค์กรเป็น Tech Company