“…วันนี้เราได้กรรมการ กสทช. แล้ว 5 ท่าน ถึงแม้จะยังรอโปรดเกล้าฯอยู่ และยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่เนื่องจากเป็นช่วงปลายปลายสมัยของบอร์ด กสทช. ชุดเก่า ซึ่งมีลักษณะเป็นบอร์ดรักษาการ ดังนั้น เรื่องใหญ่ๆที่เป็นผลกระทบต่อเนื่อง หรือคาบเกี่ยวกับการทำงานของบอร์ดชุดใหม่ด้วย ท่านก็ควรเลือกพิจารณา…”
..................................
“ได้รับการแจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ให้คณะกรรมการ (กสทช.) ชุดนี้ ทำงานตามปกติไปก่อน”
เป็นเนื้อหาที่ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งทำหน้าที่ประธาน กสทช. แจ้งต่อที่ประชุม กสทช. ชุด ‘รักษาการ’ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ กรรมการ กสทช. ‘ชุดใหม่’
ส่งผลให้ กสทช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่มาแล้ว 10 ปี ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง และนับตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา บอร์ด กสทช. ชุดนี้ มีการนัดประชุม ‘ครั้งสุดท้าย’ กันมาแล้ว 3 ครั้ง
“ที่ผ่านมาเขาเชื่อว่าจะมีการตั้ง กสทช.ชุดใหม่ เร็ว เขาจึงกลัวว่าจะผ่านเรื่องที่ผลักดันเป็นการเฉพาะไม่ทัน ทำให้ที่ผ่านมามีการนัดประชุม กสทช. ที่บอกว่าเป็น ‘ครั้งสุดท้าย’ มาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งแรกต้นเดือน ม.ค. เขาบอกว่าจะเป็นการประชุม กสทช. นัดสุดท้าย แต่แล้วกลาง ม.ค. ก็นัดประชุมอีก โดยบอกว่าเป็นการประชุมนัดพิเศษ และเป็นนัดสุดท้ายแล้ว
แต่พอปลาย ม.ค. ก็บอกนัดอีก และบอกว่าเป็นนัดสุดท้าย แต่บังเอิญว่าที่บอกว่าเป็นนัดสุดท้าย คือ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ม.ค.) นั้น เกิดมีการแจ้งด้วยว่า ขอให้ทำงานต่อไปตามปกติ ทำให้อย่างน้อย กสทช.ชุดนี้ น่าจะทำหน้าที่ไปจนถึงกลางเดือน ก.พ. แน่นอน” แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
(พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร)
ขณะที่ในการประชุม กสทช. วันที่ 9 ก.พ.นี้ ซึ่งเป็นการประชุมของ กสทช.ชุดรักษา นัดที่ 4 สำนักงาน กสทช. จะเสนอบอร์ดพิจารณาแต่งตั้ง ‘ที่ปรึกษาอิสระ’ เพื่อจัดทำรายงานผลกระทบการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) (อ่านประกอบ : ‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’)
“จะมีการเสนอหนังสือ (การขออนุญาตรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC) ให้บอร์ดทราบ รวมทั้งข้อมูลต่างๆ ส่วนบอร์ดจะพิจารณาหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนการเสนอรายชื่อที่ปรึกษาอิสระนั้น ตอนนี้บริษัทฯยื่นมาแค่เจ้าเดียว ผมจึงทำหนังสือให้บริษัทฯเสนอที่ปรึกษามาเพิ่มเติม” ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ระบุ
นอกจากนี้ กสทช. ‘ชุดรักษาการ’ จะทำหน้าที่จัดการประมูลคลื่นวิทยุที่มีจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ ด้วย หาก กสทช. ‘ชุดใหม่’ ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ (อ่านประกอบ : ‘กสทช.’เปิดประมูลคลื่นวิทยุ'บริการธุรกิจ' 74 คลื่น เริ่มต้น 448 ล.-เคาะราคา 21 ก.พ.65)
@อนุญาตรวมธุรกิจ ‘ทรู-ดีแทค’ ควรเป็นหน้าที่บอร์ด กสทช. ชุดใหม่
มีคำถามว่า กสทช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็น กสทช. ‘รักษาการ’ ควรจะมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ในระหว่างที่ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ บอร์ด กสทช. ชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการพิจารณาอนุญาตรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC รวมถึงกรณีการเปิดประมูลคลื่นวิทยุในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้
“วันนี้เราได้กรรมการ กสทช. แล้ว 5 ท่าน ถึงแม้จะยังรอโปรดเกล้าฯอยู่ และยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่เนื่องจากเป็นช่วงปลายปลายสมัยของบอร์ด กสทช. ชุดเก่า ซึ่งมีลักษณะเป็นบอร์ดรักษาการ ดังนั้น เรื่องใหญ่ๆที่เป็นผลกระทบต่อเนื่อง หรือคาบเกี่ยวกับการทำงานของบอร์ดชุดใหม่ด้วย ท่านก็ควรเลือกพิจารณา
อย่างเรื่องเรื่องใหญ่ๆ และมีผลกระทบต่อเนื่อง เช่น การประมูลวงโคจรดาวเทียม เรื่องวิทยุกระจายเสียง หรือการประมูลคลี่นใหม่ รวมถึงการควบรวมบริษัทโทรคมนาคม 2 ราย ควรจะเป็นหน้าที่ของบอร์ดชุดใหม่” สืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) ให้ความเห็น
สืบศักดิ์ ยังกล่าวว่า เนื่องจากการจัดทำข้อมูลและรายงานการศึกษากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ของที่ปรึกษาอิสระ น่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงยังมีเวลาเพียงพอที่ บอร์ด กสทช. ชุดใหม่ จะพิจารณาอนุญาตในเรื่องนี้ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดภายใน 90 วัน นับตั้งแต่มีการยื่นขออนุญาตรวมธุรกิจ
ขณะที่ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ว่าที่ประธาน กสทช.ชุดใหม่ ปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ กสทช.ชุดปัจจุบัน และ กสทช.ชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ พร้อมระบุว่า ตนไม่เคยหารือ หรือไปสั่งการให้ สำนักงาน กสทช. รวบรวมข้อมูลรายละเอียดกรณีการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC เพื่อเสนอบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ในเดือน ก.พ.นี้ ตามที่มีกระแสข่าว แต่อย่างใด
“ผมยังไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ” นพ.สรณ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
@จับตาเปิดทาง ‘บอร์ด กสทช.’ ชุดเก่าปิดดีลรวมทรู-ดีแทค
อย่างไรก็ดี การแต่งตั้ง กสทช. ชุดใหม่ ที่ล่วงเลยมาแล้วหลายสัปดาห์ นับตั้งแต่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ส่งหนังสือแจ้งรายชื่อ กสทช. ชุดใหม่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทราบ เพื่อนำความกราบบังคมทูลฯ ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.2564 หรือผ่านมาแล้วเกือบ 3 สัปดาห์ (อ่านประกอบ : ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ)
ทำให้การตั้งสังเกตว่า อาจจะมีการ ‘ดึง’ เรื่อง ไม่นำรายชื่อ กสทช. ชุดใหม่ ขึ้นทูลเกล้าฯไว้หรือไม่ และผู้มีอำนาจรับผิดชอบจะต้องชี้แจงในเรื่องนี้
เพราะตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2564 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16 บัญญัติไว้ว่า
"...เมื่อจำนวนผู้ได้รับเลือกรวมกับกรรมการ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่รวมแล้วไม่น้อยกว่าห้าคน ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดให้ผู้ได้รับเลือก หรือผู้ได้รับเลือกและกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ แล้วแต่กรณี ประชุมร่วมกันเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่ง เป็นประธานกรรมการ
แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบเพื่อแจ้งนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และเมื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว ให้กรรมการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจได้ โดยให้ถือว่า กสทช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่และให้ดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องสรรหาต่อไปโดยเร็ว"
“มีกระแสข่าวว่า มีการดึงเรื่อง ไม่เสนอขึ้นไป โดยอ้างเหตุผลว่าจะรอให้วุฒิสภาเลือก กสทช. ที่เหลืออีก 2 คน เพื่อให้ครบ 7 คน แล้วจะเสนอขึ้นไปทีเดียว” พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ Dtac และการค้าปลีก-ค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
พิชัย ระบุด้วยว่า หากกระแสข่าวที่ว่าเป็นความจริง กสทช. ชุดปัจจุบัน จะต้องทำหน้าที่ต่อไปอีกอย่างน้อย 4-5 เดือน เพราะการสรรหาและลงมติให้ความเห็นชอบ กสทช. ที่เหลืออีก 2 คน นั้น ต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็สมัยประชุมหน้า (พ.ค.-ก.ย.2565) ไปแล้ว หรือดีไม่ดีอาจมีการยุบสภาไปก่อน
พิชัย ตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาลอยากให้ กสทช. ชุดปัจจุบัน ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องการอนุญาตรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ขณะที่ กสทช. ชุดใหม่ มีความเป็นอิสระระดับหนึ่ง และต่างคนต่างมีความรู้ความชำนาญ ไม่เหมือน กสทช. ชุดเก่า ที่มีทหารเป็นประธาน
“จะให้เรื่องทรูและดีแทคผ่านก่อน เพราะของเก่าเคลียร์แล้วใช่หรือไม่” พิชัย ตั้งคำถาม
(พิชัย นริพทะพันธุ์)
สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม ที่ระบุว่า “มีการวิเคราะห์จากผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมโทรคนนาคมว่า สาเหตุที่ทั้ง 2 บริษัท (TRUE และ DTAC) ยื่นเรื่องขออนุญาตรวมธุรกิจเร็วมากจนน่าแปลกใจ เพราะไม่อยากเสี่ยงกับบอร์ด กสทช. ชุดใหม่”
ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง True กับ Dtac และการค้าปลีก-ค้าส่ง สภาพผู้แทนราษฎร เชื่อว่า จุดยืนของ กสทช.ชุดเก่า และกสทช.ชุดใหม่ กรณีการควบรวม True และ Dtac ไม่น่าจะแตกต่างกัน
“แต่ผมคิดว่า กสทช. ชุดเก่า และชุดใหม่ ไม่น่าจะมีจุดยืนที่แตกต่างกัน” นพ.ระวี กล่าว และระบุว่า ที่ผ่านมามีการประชุมคกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง TRUE กับ DTAC มาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของที่คณะกรรมาธิการฯไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่าง TRUE กับ DTAC
“เหตุผลที่คุยกัน คือ คะแนน HHI (ดัชนีชี้วัดการกระจุกตัวของอุตสาหกรรม) เพิ่มจาก 3000 เป็น 5000 สะท้อนถึงการผูกขาดที่เพิ่มขึ้น การปล่อยให้ควบรวมแล้วมาแก้ปัญหาทีหลัง จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และในยุโรปทุกประเทศเมื่อมีการควบรวมอย่างนี้มีผลสรุปออกมาว่า มันดีในช่วงแรก แต่ภายใน 5 ปี ค่าบริการจะแพงลิบลิ่ว” นพ.ระวีระบุ
จึงต้องติดต่อกันต่อไปว่า กสทช.ชุดใหม่ จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้เมื่อไหร่ และยังต้องลุ้นว่าในช่วง 'รอยต่อ' ของ บอร์ด กสทช. ชุดเดิม และบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ ใครจะเปิดผู้ปิดดีลการอนุญาตควบรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC และปิดดีลกันอย่างไร ?
อ่านประกอบ :
‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’
ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ
'พิสิฐ' จี้ตรวจสอบ‘กสทช.’ลดบทบาทป้องกันผูกขาด-สภาฯตั้ง กมธ.ศึกษาควบรวม 'ทรู-ดีแทค'
นิพนธ์ พัวพงศกร : การควบรวมทรูกับดีแทค
ข้อสังเกตต่ออำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ในการป้องกันการผูกขาด กรณีทรูควบรวมดีแทค
นักวิชาการ TDRI ย้ำอันตรายหากปล่อย'TRUE-DTAC'ควบรวม ชี้คุมทุนใหญ่ต้องตั้งใจลุยจริง
หวั่นกระทบการแข่งขัน!‘กสทช.’สั่ง ‘TRUE-DTAC’ ชี้แจง‘เหตุผล-รายละเอียด’ ควบรวมธุรกิจ
ผูกขาดระดับอันตราย!'ทีดีอาร์ไอ'ชี้ควบ‘TRUE-DTAC’ทำแข่งขันลดลง-ห่วงรบ.ใกล้ชิดกลุ่มทุน
'ชัยวุฒิ'เชื่อควบรวม'ทรู-ดีแทค'เรื่องปกติทางธุรกิจ-ผูกขาดยาก
‘เครือซีพี-เทเลนอร์’สวอปหุ้น‘TRUE-DTAC’ ตั้ง‘บริษัทใหม่’ปรับองค์กรเป็น Tech Company