อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร้อง ‘ป.ป.ช.’ ไต่สวนฯ ‘กสทช.ชุดใหม่’ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่โต้แย้งกรณีการขอควบรวมธุรกิจ ‘ทรู-ดีแทค’ พร้อมจี้เอาผิด ‘กสทช.ชุดเก่า’ เหตุออกประกาศฯปี 2561 ไม่ถูกต้องตามกระบวนการ
..............................
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และพนักงานที่เกี่ยวข้องในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค
เพราะมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำอันผิดกฎหมาย และมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่งผลให้ประชาชนและผู้บริโภค ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการเลือกใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน
สำหรับหนังสือของนายวัชระ ระบุว่า จากกรณี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ทรู” จะควบรวมกิจการกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” โดยทั้งสองบริษัท มีบริษัทลูกที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมอยู่หลายบริษัท ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับประชาชนผู้บริโภค
เนื่องจากตามข้อมูลของ กสทช.ในปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 141 ล้านเลขหมาย ผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายใหญ่ (ไอไอเอส ทรู และดีแทค) 132 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดรวมกันสูงถึงร้อยละ 93 และทั้ง 3 รายล้วนเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดทั้งสิ้น หากมีการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มทรูและกลุ่มดีแทคแล้ว จะเป็นรายที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 54 ซึ่งถือว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดเป็นอย่างยิ่ง
และเคยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่า ในอดีตเมื่อมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพียง 2 ราย จะทำให้ประชาชาชนผู้บริโภคเสียเปรียบอย่างยิ่ง โดยมีประเด็น ดังนี้
1.ลดหรือจำกัดการแข่งขันในตลาด เนื่องจากการควบรวมเป็นผลทำให้สภาพตลาดมีการกระจุกตัวสูง ค่าดัชนีการกระจุกตัว (HHI) ซึ่งใช้เป็นหลักการในการพิจารณาสภาพการแข่งขัน อยู่ที่ 3,575 จุด ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานของดัชนีที่อยู่ที่ 2,500จุด ตามประกาศ กสทช.ฯ 2561 แสดงว่า แม้ยังไม่มีการควบรวมใดๆเกิดขึ้น ตลาดโทรคมนาคมก็มีการกระจุกตัวสูงอยู่แล้ว
และหากอนุญาตให้ควบรวมได้จะทำให้บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 54 ดัชนี จะเท่ากับ 4,776 สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 1,201 จุด ซึ่งโดยปกตินั้นค่าดัชนีดังกล่าว ไม่ควรสูงกว่า 1,500 จุด
2.ลดหรือจำกัดการเกิดผู้แข่งขันรายใหม่และจำกัดการเติบโตของผู้แข่งขันรายเล็กในตลาด โดยปกติแล้วการควบรวมกิจการนั้นจะต้องพิจารณา ภาพความเป็นจริงของตลาดและอุตสาหกรรม ว่าจะสนับสนุนหรือกีดกันผู้แข่งขันรายใหม่ในตลาด แต่ในประเทศไทยเรานั้นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า โอกาสของผู้ให้บริการรายใหม่ในการเข้ามาบริการไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากผู้แข่งขันที่แท้จริงแค่เพียง 3 ราย
ส่วน บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) นั้น แม้จะเป็นทรัพยากรที่ใช้ในองค์กรจากกฏหมายเดิมอย่างเพียงพอแต่เนื่องจากที่ผ่านมามาไม่ได้ประกอบกิจการด้วยตนเอง ได้มอบให้เอกชนรับสัมปทานจนไม่มีความสามารถในการแข่งขันในปัจจุบัน หากรายใหม่อยากเข้าสู่การแข่งขันก็ต้องใช้เงินลงทุนสูงมากขึ้นเพื่อก่อตั้งบริษัท
3.ราคาของการให้บริการจะเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมีการแข่งขันน้อยราย ก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะมีการแข่งขันในตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านราคา อีกทั้ง ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงในช่วงแรก ทั้ง ต้นทุนค่าคลื่นความถี่ การจัดสร้างโครงข่ายโทรคมนาคม แม้ในปัจจุบัน กสทช.จะมีการกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าใช้บริการอยู่แล้ว แต่ด้วยการแข่งขันมีผู้ประกอบการ 3 รายหลักในตลาด ทำให้การแข่งขันด้านราคาเข้มข้นและสม่ำเสมอ ทำให้ราคายังไม่สูงมาก
ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น การควบรวมของ ทรูและดีแทค ส่งผลในหลากหลายด้าน แต่ กสทช.หน่วยงานที่กำกับดูแล กลับไม่โต้แย้งหรือคัดค้าน และยังมีพฤติกรรมที่ส่อได้ว่าจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เกิดการควบรวม ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญกฎหมายและประกาศ ดังนี้
1.มาตรา 60 คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน กสทช.ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือ สร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น ป้องกันการ กระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ถูกต้อง และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป
2.หลักการห้ามผูกขาด ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 บัญญัติให้ การประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า และห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอันมีลักษณะผูกขาด ในการแข่งขันกิจการโทรคมนาคม แม้การกระทำดังกล่าวอาจจะกระทำโดยผู้รับใบอนุญาตเพียงรายเดียวหรือหลายรายร่วมมือกัน กสทช.ต้องกำหนดมาตรการป้องกันการผูกขาด ทำให้กลุ่มทรูและกลุ่มดีแทค ต้องรายงานรายละเอียดการควบรวมกิจการต่อเลขาธิการ กสทช. ก่อนการดำเนินการใด ๆ
3.การที่ ประกาศ กสทช.ฯ 2561 ยกเลิกประกาศฉบับเดิมปี 2553 ที่มีการระบุถึงหลักเกณฑ์และวิธีการถือหุ้น การถือหุ้นไขว้ การควบรวมกิจการ แต่ประกาศฉบับใหม่นี้กลับมีเจตนาให้ไม่มีเนื้อหารายละเอียด หลักเกณฑ์และวิธีการและที่จำเป็น รวมทั้งตัดทอนอำนาจพิจารณาการอนุมัติการกระทำที่ส่งผลด้านลบต่อการแข่งขันอันถือว่าเป็นการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง เหลือเพียงแค่การกำกับโดยมาตรการเฉพาะภายหลังการควบรวมเท่านั้น
จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่ให้เกิดการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯ 2553 และพ.ร.บ.โทรคมนาคมฯ 2544 และประกาศ กทช.ฯ 2553 ที่ยังบังคับใช้อยู่ดังนั้น กสทช. จึงไม่อาจกล่าวอ้างประกาศ กสทช.ฯ 2561และกรอบเวลาตามประกาศดังกล่าวเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการเร่งรัดดำเนินการสอดรับกับการดำเนินการของผู้ยื่นขออนุญาตควบรวมได้
4.พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯ พ.ศ.2553 มาตรา 28 ได้กำหนดให้ กสทช.ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไปเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา แต่ปรากฏว่าจาการตรวจสอบในระบบของสำนักงาน กสทช.แล้ว พบว่าการออกประกาศฯ 2561 กสทช.ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเท่านั้น จึงเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อาจใช้บังคับได้
5.การแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระ การรวมธุรกิจจะต้องเป็นไปตามประกาศฯ 2561 ข้อ 10 เมื่อ กสทช.ได้รับรายงานการควบรวมแล้ว ให้เป็นหน้าที่เลขาธิการ กสทช.แต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระซึ่งมีคุณสมบัติเป็นไปตามภาคผนวกท้ายประกาศ แต่มีข้อเท็จจริงว่า การแต่งตั้งที่ปรึกษาในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากเลขาธิการ กสทช.ที่ต้องหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม แต่กลับมีการเสนอให้แต่งตั้ง บจก.เงินทุนหลักทรัพย์ ตามที่ผู้ขอรวมธุรกิจเสนอมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
6.การออกประกาศ กสทช.ฯ 2561 เป็นการออกประกาศเพื่อทำลายหลักกฎหมาย และเป็นประกาศที่ใช้บังคับไม่ได้ โดยเฉพาะในส่วนที่ระบุไว้ว่า การอนุญาตให้ดำเนินการรวมกิจการได้ แล้วค่อยกลับมารายงานต่อ กสทช. ซึ่งตามข้อเท็จจริงเมื่อ กสทช.ทราบว่าอาจจะเกิดการผูกขาด กสทช.จะต้องสั่งห้ามในทันทีแม้อยู่ในขั้นตอนการรวมธุรกิจ ไม่ใช่อ้างว่าไม่มีอำนาจ เนื่องจากประกาศ กสทช.ฯ 2561 ได้ให้สิทธิผู้รวมธุรกิจไว้ โดย กสทช.จะแกล้งลืมหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ เนื่องจากจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายและยากต่อการแก้ไขในอนาคต
“จึงกราบเรียนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเรื่องนี้ โดยขอให้ดำเนินคดีกับ กสทช.ชุดเก่าที่ออกประกาศฯ 2561 ที่ขัดกับกฎหมายและดำเนินการตามขั้นตอนที่ไม่ถูกต้องในการออกประกาศดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินคดีกับ กสทช.ชุดเก่า และชุดปัจจุบันที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการรวมธุรกิจ ทรูและดีแทค ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ” หนังสือของนายวัชระระบุ
อ่านประกอบ :
เลาะเวทีรับฟังความเห็นฯ ควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC 'เอไอเอส-NT'ค้าน-'สมาคมฯเอกชน'หนุน
เปิดหนังสือ กมธ.! ทักท้วง 7 ข้อ ปมควบรวม'TRUE-DTAC' ลดแข่งขัน-เสนอ'บิ๊กตู่'สั่งชะลอ
‘อนุฯกสทช.’สั่ง‘ที่ปรึกษาอิสระ’ศึกษาเพิ่ม กรณีควบ‘TRUE-DTAC’-จ้าง‘จุฬาฯ’ทำรายงานประกบ
ห่วงค่าบริการสูง-คุณภาพต่ำลง! ‘กรรมการ กตป.’ ค้าน ‘กสทช.’ อนุมัติควบรวม ‘TRUE-DTAC’
ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค! วงเสวนาฯค้านควบรวมกิจการ'TRUE-DTAC' ห่วงค่าโทรเพิ่ม 20%
จับตา 'กสทช.รักษาการ' ปิดดีลควบ 'ทรู-ดีแทค'-สะพัดดึงเรื่องแต่งตั้งชุดใหม่?
‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’
ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ
'พิสิฐ' จี้ตรวจสอบ‘กสทช.’ลดบทบาทป้องกันผูกขาด-สภาฯตั้ง กมธ.ศึกษาควบรวม 'ทรู-ดีแทค'
นิพนธ์ พัวพงศกร : การควบรวมทรูกับดีแทค
ข้อสังเกตต่ออำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ในการป้องกันการผูกขาด กรณีทรูควบรวมดีแทค
นักวิชาการ TDRI ย้ำอันตรายหากปล่อย'TRUE-DTAC'ควบรวม ชี้คุมทุนใหญ่ต้องตั้งใจลุยจริง
หวั่นกระทบการแข่งขัน!‘กสทช.’สั่ง ‘TRUE-DTAC’ ชี้แจง‘เหตุผล-รายละเอียด’ ควบรวมธุรกิจ
ผูกขาดระดับอันตราย!'ทีดีอาร์ไอ'ชี้ควบ‘TRUE-DTAC’ทำแข่งขันลดลง-ห่วงรบ.ใกล้ชิดกลุ่มทุน
'ชัยวุฒิ'เชื่อควบรวม'ทรู-ดีแทค'เรื่องปกติทางธุรกิจ-ผูกขาดยาก
‘เครือซีพี-เทเลนอร์’สวอปหุ้น‘TRUE-DTAC’ ตั้ง‘บริษัทใหม่’ปรับองค์กรเป็น Tech Company