“…กสทช. สามารถนำประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 มาใช้บังคับกับการรวมธุรกิจได้หรือไม่ เพียงใด และมีอำนาจพิจารณาในการสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การรวมธุรกิจ และหรือมีคำสั่งอย่างอื่นได้หรือไม่เพียงใด…”
....................................
เป็นประเด็นที่ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาดำเนินการของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
แม้ว่าล่าสุดศาลปกครองกลางจะมีความเห็นว่า กสทช. อาจสั่งห้ามไม่ให้การรวมธุรกิจได้ หากเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดในการให้บริการโทรคมนาคม (อ่านประกอบ : ‘ศาลปค.’ ชี้ ‘กสทช.’ มีอำนาจสั่งห้ามควบรวม ‘TRUE-DTAC’ หากเห็นว่าก่อให้เกิดการผูกขาด)
แต่เพื่อให้เกิดมั่นใจเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ขอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดหนังสือหารือของสำนักงาน กสทช. ที่ส่งไปถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้
@‘บอร์ด กสทช.’ มีมติให้หารือ ‘กฤษฎีกา’ ประเด็นข้อกฎหมาย
ด้วยที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติในคราวการประชุมครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2565 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มีหนังสือขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ในกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัท ทรูฯ) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (บริษัท โทเทิ่ลฯ) เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยรอบคอบและถูกต้อง
สำนักงาน กสทช. จึงขอความอนุเคราะห์คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ในการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ ตามมติที่ประชุมดังกล่าวข้างต้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ข้อเท็จจริง
1.1 บริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ ประสงค์ที่จะรวมธุรกิจโดยการควบบริษัท (Amalgamation) ตามมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.บริษัทมหาชน) โดยบริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ ได้มีหนังสือแจ้งการรวมธุรกิจ และนำส่งรายงานการรวมธุรกิจต่อเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ตามข้อ 5 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนการดำเนินการ
1.2 การรวมธุรกิจที่จะเกิดขึ้นมีรูปแบบเป็นผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรวมกับผู้รับใบอนุญาตและผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต อันเป็นผลให้เกิดนิติบุคคลใหม่คือ บริษัท NewCo กล่าวคือ การควบบริษัทจะทำให้เกิดบริษัทมหาชนจำกัดใหม่ (บริษัท NewCo) ที่ได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบทั้งหมดของบริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ ตามมาตรา 153 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชน
ทั้งนี้ บริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ จะหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 152 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชน อย่างไรก็ดี บริษัทย่อยของบริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ จะยังคงอยู่เช่นเดิม และสัดส่วนผลประโยชน์การลงทุนในนิติบุคคลอื่นของบริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ จะยังคงเป็นการลงทุนต่อไปภายใต้บริษัท NewCo
1.3 จากรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ หากรายงานการรวมธุรกิจส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง
ข้อกฎหมาย
2.1 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
มาตรา 27 บัญญัติว่า ให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้...
(11) กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
(24) ออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช.
2.2 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
มาตรา 21 การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้ กสทช. กำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การอุดหนุนการบริการ
(2) การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน
(3) การใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม
(4) พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน
(5) การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย
มาตรา 22 ผู้รับใบอนุญาตต้องรายงานให้เลขาธิการทราบโดยไม่ชักช้าเมื่อมีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
(1) ผู้รับใบอนุญาตได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจนอาจเกิดปัญหาในการให้บริการโทรคมนาคม
(2) ผู้รับใบอนุญาตจะประกอบกิจการโทรคมนาคมอื่นนอกจากกิจการที่ได้รับอนุญาต
(3) ผู้รับใบอนุญาตจะทำสัญญาให้บุคคลอื่นมีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนในการบริหารงานของผู้รับใบอนุญาต
(4) ผู้รับใบอนุญาตกระทำหรือถูกกระทำอันมีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการหรือถูกครอบงำกิจการตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(5) กรณีใดๆ ที่มีหรืออาจจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการหรือการให้บริการของผู้รับใบอนุญาตตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
การรายงานตาม (2) และ (3) ผู้รับใบอนุญาตต้องกระทำก่อนดำเนินการสำหรับกรณีตาม (1) (4) และ (5) ให้รายงานทันทีที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
เมื่อเลขาธิการได้รับรายงานตามวรรคสองให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการโดยเร็ว ในการนี้ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้
2.3 ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง
2.3.1 ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549
2.3.2 ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2557
2.3.3 ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม
@ขอตีความอำนาจ 'กสทช.' 7 ประเด็น กรณีดีลควบรวม ‘TRUE-DTAC’
ข้อหารือ
เนื่องจากบริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ เป็นบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่อันดับสองและสามของประเทศ การรวมธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นอย่างยิ่ง และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม เศรษฐกิจและสังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผู้บริโภค และธุรกิจต่างๆ ในประเทศ และเป็นกรณีที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ประกอบกับมีประเด็นปัญหาการแปลความและการบังคับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูฯและบริษัท โทเทิ่ลฯ เป็นไปโดยรอบคอบและถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย จึงขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมาย ดังนี้
3.1 หากการรวมธุรกิจส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) มากกว่า 2.500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้องนั้น จะถือว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 หรือไม่ อย่างไร และ กสทช. ต้องพิจารณาต่อรายงานการรวมธุรกิจในกรณีนี้อย่างไร
3.2 กสทช. สามารถยกเลิกหรือแก้ไขประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ภายหลังจากที่บริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ ยื่นรายงานการรวมธุรกิจแล้วได้หรือไม่ และจะมีผลต่อการรวมธุรกิจอย่างไร
3.3 ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 9 กำหนดว่า “การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ” มีความหมายอย่างไร
และหากปรากฏว่าการรวมธุรกิจจะทำให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมแล้ว กสทช. จะมีอำนาจในการนำประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 มาใช้เพื่อประกอบการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกรณีนี้ได้เพียงใด และ กสทช. สามารถนำประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 มาใช้บังคับกับการรวมธุรกิจได้หรือไม่ เพียงใด และมีอำนาจพิจารณาในการสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การรวมธุรกิจ และหรือมีคำสั่งอย่างอื่นได้หรือไม่เพียงใด
3.4 ตามที่ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 9 กำหนดว่า “การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549” และโดยที่ข้อ 12 ของประกาศฉบับเดียวกันกำหนดให้เลขาธิการ กสทช. รายงานต่อ กสทช. ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ
หากรายงานการรวมธุรกิจส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กสทช. อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น จากที่มีการกำหนดไว้ในข้อ 8 ประกอบกับข้อ 12 ดังกล่าวข้างต้น จะถือว่าเป็นการมอบอำนาจการพิจารณาอนุญาตให้ถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่เป็นอำนาจเฉพาะตัวของ กสทช ตาม 27(11) ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ให้เลขาธิการ กสทช หรือไม่และจะมีผลประการใด
และจะเป็นการกระทบต่อหลักการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรนาคมตามกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ อย่างไร
3.5 หากกรณีการกำหนดประกาศตามข้อ 9 และข้อ 12 มิใช่การมอบอำนาจให้เลขาธิการ กสทช. กรณีเช่นนี้ ระยะเวลาการใช้อำนาจพิจารณาอนุญาตให้ถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 และกำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องอยู่ภายใต้ระยะเวลา 60 วันตามข้อ 12 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม หรือไม่ประการใด
3.6 ระยะเวลา 60 วันตามข้อ 12 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม สามารถขยายระยะเวลาการดำเนินการโดยอาศัยตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ได้หรือไม่ อย่างไร
3.7 ปัจจุบันมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และขอศาลให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ กสทช. ดังกล่าว หากศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับแล้ว กสทช. จะสามารถพิจารณาการรวมธุรกิจในครั้งนี้ได้หรือไม่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายใด
ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า สำนักงาน กสทช.ได้ส่งข้อหารือในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. ในการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่ได้ตอบข้อหารือกลับมา
“บอร์ด กสทช. มีมติให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่ได้ตอบข้อหากลับมา ทั้งนี้ ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวจะนำมาใช้ประกอบในการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ด้วย” ไตรรัตน์ กล่าว
เหล่านี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดกรณีดีลควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมระหว่าง TRUE และ DTAC ส่วนบทสรุปของดีลแสนล้านครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ยังต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.’ ชี้ ‘กสทช.’ มีอำนาจสั่งห้ามควบรวม ‘TRUE-DTAC’ หากเห็นว่าก่อให้เกิดการผูกขาด
‘อนุฯศึกษา’ชี้ดีลควบ TRUE-DTAC ทำค่าบริการเพิ่ม 2-19%-เวที‘นักวิชาการ’หนุนรวมกิจการ
ลดทางเลือกผู้บริโภค! เวทีสาธารณะค้านควบ TRUE-DTAC ‘ประวิทย์’โต้ถูกกล่าวหา‘ไม่เป็นกลาง’
วงเสวนาฯชำแหละ! ดีลควบ TRUE-DTAC ผู้บริโภคเสียเปรียบ ห่วง'ทุนใหญ่'สร้างอาณาจักรผูกขาด
ร้อง ‘ป.ป.ช.’ ไต่สวนฯ ‘กสทช.ชุดใหม่-พวก’ ละเว้นหน้าที่-ไม่โต้แย้งดีลควบรวม TRUE-DTAC
เลาะเวทีรับฟังความเห็นฯ ควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC 'เอไอเอส-NT'ค้าน-'สมาคมฯเอกชน'หนุน
เปิดหนังสือ กมธ.! ทักท้วง 7 ข้อ ปมควบรวม'TRUE-DTAC' ลดแข่งขัน-เสนอ'บิ๊กตู่'สั่งชะลอ
‘อนุฯกสทช.’สั่ง‘ที่ปรึกษาอิสระ’ศึกษาเพิ่ม กรณีควบ‘TRUE-DTAC’-จ้าง‘จุฬาฯ’ทำรายงานประกบ
ห่วงค่าบริการสูง-คุณภาพต่ำลง! ‘กรรมการ กตป.’ ค้าน ‘กสทช.’ อนุมัติควบรวม ‘TRUE-DTAC’
ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค! วงเสวนาฯค้านควบรวมกิจการ'TRUE-DTAC' ห่วงค่าโทรเพิ่ม 20%
จับตา 'กสทช.รักษาการ' ปิดดีลควบ 'ทรู-ดีแทค'-สะพัดดึงเรื่องแต่งตั้งชุดใหม่?
‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’
ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ
'พิสิฐ' จี้ตรวจสอบ‘กสทช.’ลดบทบาทป้องกันผูกขาด-สภาฯตั้ง กมธ.ศึกษาควบรวม 'ทรู-ดีแทค'
นิพนธ์ พัวพงศกร : การควบรวมทรูกับดีแทค
ข้อสังเกตต่ออำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ในการป้องกันการผูกขาด กรณีทรูควบรวมดีแทค
นักวิชาการ TDRI ย้ำอันตรายหากปล่อย'TRUE-DTAC'ควบรวม ชี้คุมทุนใหญ่ต้องตั้งใจลุยจริง