‘พิสิฐ’ จี้ตรวจสอบบทบาท ‘กสทช.’ หลังพบลดบทบาทตัวเองในการป้องกันการผูกขาดในธุรกิจโทรคมนาคม ขณะที่ สภาฯเห็นชอบตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษากรณีควบรวม 'ทรู-ดีแทค'
.................................
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประชาชน จากการควบรวมกิจการโทรคมนาคมและการค้าปลีก เพื่อหามาตรการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคและทุนชาวบ้าน โดยระบุว่า ตนสนับสนุนให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการฯในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ กลไกตลาด และเทคโนโลยี
นายพิสิฐ ยกตัวอย่างว่า ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นระบบทุนนิยมนั้น กลไกตลาดเสรีจะได้รับความสนใจมาก ในขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคมในสหรัฐฯได้ถูกเพ่งเล็งในเรื่องนี้มาเป็นเวลาร่วมร้อยปี นับตั้งแต่มีการประดิษฐ์โทรศัพท์โดย Alexander Bell เพราะธุรกิจนี้มีการผูกขาดโดยธรรมชาติ ทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค จนกระทั่งปี 1984 มีการออกกฎหมายโดยรัฐสภาสหรัฐ ด้วยการหั่นบริษัท AT&T ที่ผูกขาดในธุรกิจโทรคมนาคมเป็นออกเป็น 7 บริษัท
“ธุรกิจโทรคมนาคมของสหรัฐมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ จากเดิมร้อยปีนั้นอยู่กับที่ เพราะผู้ลงทุนหรือผู้ประกอบการไม่ยอมลงทุน ไม่มีเทคโนโลยีใหม่ แต่ตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 จนถึงปัจจุบันเราได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีโทรศัพท์ไร้สายมาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งนี้เป็นประโยชน์ที่โลกประจักษ์ในเรื่องการแข่งขัน และการเปิดเสรีโทรคมนาคม” นายพิสิฐ กล่าว
นายพิสิฐ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยที่มีรัฐวิสาหกิจผูกขาดมานาน แต่ต่อมาในปี 2533–2534 ไทยก็เริ่มเปิดเสรีโทรคมนาคมโดยการให้เอกชนมาร่วมดำเนินการ แต่ก็เกิดปัญหาเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ไม่โปร่งใส กระทั่งต่อมานาย อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี ต้องเข้ามาดูแลในเรื่องสัมปทานโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย โดยการสนับสนุนให้มีเอกชนหลายรายเข้าแข่งขันไม่ให้ผูกขาดโดยรายเดียว
ต่อมาได้เกิดวิกฤติการเมืองหลายครั้ง และมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 , ปี 2550 และปี 2560 ขณะที่รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ จะมีมาตราหนึ่งที่บัญญัติว่า กิจการโทรคมนาคมต้องกำกับดูแลโดยองค์กรอิสระ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจะปล่อยให้ฝ่ายการเมืองดูแลฝ่ายเดียวไม่ได้ ขณะเดียวกัน ก็มีอีกมาตราหนึ่งที่จะปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค
นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า ในรัฐธรรมนูญจะกำหนดแนวทางกว้างๆ จึงต้องมีการออกกฎหมายเฉพาะเพื่อกำกับกิจการโทรคมนาคม คือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดยพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานกำกับ โดยเฉพาะ กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ให้มีหน้าที่ป้องกันการผูกขาด
ในเวลาต่อมาคณะกรรมการ กทช. ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2549–2554 ได้ออกประกาศในปี 2553 ห้ามควบรวมกิจการโทรคมนาคมอย่างเด็ดขาด และสร้างดัชนีชี้วัดเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนกฎหมายในปี 2553 (พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553) เปลี่ยนจาก กทช. เป็น กสทช. ปรากฏว่า กสทช. ชุดปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 10 ปีเศษ ได้เปลี่ยนเกณฑ์จากที่ประกาศห้ามควบรวมอย่างเด็ดขาดเป็นว่า หากจะควบรวมก็สามารถทำได้ แต่ต้องมารายงาน กสทช. และแก้ไขดัชนีชี้วัดให้อ่อนตัวลง
“ประกาศของ กสทช. ในปี 2560-61 ที่ลบล้างประกาศปี 2553 ทำให้ กสทช. ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำหน้าที่ตามได้ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 ได้ ทั้งที่ในความจริงแล้ว กฎหมายที่ดูแลเรื่องการผูกขาด ยังมีผลบังคับใช้อยู่ จึงกลายเป็นว่า กสทช. ชุดนี้ ทำให้เรื่องการดูแลการผูกขาดจางหายไป จึงทำให้ไม่มีหน่วยงานใดๆมาดูแลเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น กสทช. หรือ กขค. (คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า) ที่ต่างฝ่ายต่างโยนกลองกัน” นายพิสิฐกล่าว
นายพิสิฐ กล่าวด้วยว่า จากการที่ กสทช. ชุดปัจจุบัน ได้ปรับปรุงดัชนีชี้วัดเกี่ยวกับเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดในธุรกิจโทรคมนาคมให้อ่อนลงเมื่อปี 2558 นั้น ส่งผลให้ปัจจุบันไม่มีผู้ประกอบการรายใดมีอำนาจเหนือตลาด แตกต่างจากในปี 2553 ที่มีการประกาศ กสท. ซึ่งแสดงให้ว่ามีผู้มีอำนาจเหนือตลาดตามดัชนีชี้วัด จึงทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ
“ขอฝากให้คณะกรรมาธิวิสามัญฯที่จะตั้งขึ้นได้เข้าดูประกาศของ กสทช. ในปี 2560-2561 ว่าเป็นโมฆะหรือไม่ เพราะการที่ กสทช. ลดอำนาจ ลดบทบาทตัวเองลงนั้น เป็นที่มาของความสับสนและสร้างความไม่เข้าใจต่อสังคมถึงการทำงานของ กสทช.”นายพิสิฐ กล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้หารือในญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯชุดดังกล่าว โดยมีระยะเวลาพิจารณาศึกษา 90 วัน
อ่านประกอบ :
นิพนธ์ พัวพงศกร : การควบรวมทรูกับดีแทค
ข้อสังเกตต่ออำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ในการป้องกันการผูกขาด กรณีทรูควบรวมดีแทค
ผูกขาดระดับอันตราย!'ทีดีอาร์ไอ'ชี้ควบ‘TRUE-DTAC’ทำแข่งขันลดลง-ห่วงรบ.ใกล้ชิดกลุ่มทุน
'ชัยวุฒิ'เชื่อควบรวม'ทรู-ดีแทค'เรื่องปกติทางธุรกิจ-ผูกขาดยาก
‘เครือซีพี-เทเลนอร์’สวอปหุ้น‘TRUE-DTAC’ ตั้ง‘บริษัทใหม่’ปรับองค์กรเป็น Tech Company