“…ถามว่าผู้บริโภคจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร เพราะเมื่อของมีจำกัด แต่มีแค่ 2 รายใหญ่ ที่ขายสินค้าในตลาด แล้วราคาอาจจะแพงขึ้น 20% และเราจะไม่ใช้ ก็ไม่ได้ เพราะถ้าจะไปเลือก NT (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) ก็มี MVNO มาเสนอข้อมูลให้ฟังว่า NT มีเฉพาะบริการ 3G เท่านั้น ไม่มี 4G และ 5G ถ้าใครอยากใช้ 4G และ 5G ก็ต้องไปผูกขาดกับ 2 รายใหญ่…”
................................
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง นโยบายสาธารณะกับการควบรวมกิจการโทรคมนาคม โดยในการเสวนาหัวข้อ ‘นโยบายสาธารณะในการกำกับดูแลการแข่งขันและคุ้มครองผู้บริโภค’ นั้น ผู้เข้าร่วมเสวนาต่างแสดงความเห็นคัดค้านการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เพราะจะทำให้การแข่งขันลดลง
น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ยังอยู่ในกระบวนการของ กสทช. ซึ่งเป็นการพิจารณาทางปกครอง ดังนั้น กสทช.จะต้องระมัดระวังเรื่องการ ‘ฟันธง’ ว่า จะเห็นด้วยหรือไม่เป็นด้วย กับการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ และในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว กสทช.จะต้องใช้ข้อมูล ข้อวิเคราะห์ที่ควบถ้วน รอบด้าน
“ตอนนี้ กสทช. เป็นเสมือนพ่อครัวหรือแม่ครัว แล้วกำลังปรุงอาหารจานหนึ่งขึ้นมา ก็ต้องเตรียมวัตถุดิบ คือ ต้องแสวงหาวัตถุดิบชั้นดี ต้องกำหนดสูตร วิธีปรุงชั้นดี สุดท้ายก็จะได้อาหารที่อาจมีรสชาติดี มีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่ง ปัจจุบัน กสทช.ได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อทำให้การพิจารณาเปิดกว้างขึ้น” น.พ.ประวิทย์ ระบุ
น.พ.ประวิทย์ กล่าวต่อว่า กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC นั้น เมื่อพิจารณาในข้อกฎหมาย จะพบว่าประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 เป็นประกาศฯที่สร้างปัญหารุนแรงมาก และส่วนตัวเห็นว่าดีลการควบรวมธุรกิจที่มีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท และส่งผลกระทบต่อสาธารณะมากอย่างนี้ หน่วยงานที่กำกับดูแล คือ กสทช. ควรมีอำนาจเข้ามาจัดการ ไม่ใช่มีแค่กระบวนการให้เอกชนเสนอเอกสารเท่านั้น
“ผมไม่แน่ใจว่า มีกระบวนการจัดเตรียมแก้ประกาศฯเพื่อรองรับอะไร ตามทฤษฎีสมคบคิดหรือไม่ แต่โดยรวมแล้ว ถ้ามองย้อนหลังไป เราจะพบว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมาย (ประกาศฯปี 2561) ครั้งนั้น ทำให้เกิดปัญหาในปัจจุบันรุนแรงมาก อันแรก ดีลควบรวมระดับแสนล้าน แล้วสำนักงานฯ ซึ่งเสนอแก้ประกาศอ้างว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ ทั้งๆที่ข้อเท็จจริง คือ ถ้าการควบรวมนั้น ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ รัฐต้องมีอำนาจในการจัดการเพื่อประโยชน์สาธารณะ
อันที่สอง เรื่องระยะเวลา ประกาศฯปัจจุบันให้ระยะเวลา เสมือนหนึ่งเร่งรัดให้ กสทช. ต้องพิจารณาใน 90 วัน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว จากประสบการณ์ในต่างประเทศ การควบรวมระดับแสนล้าน ต้องใช้เวลาพิจารณาเป็นปีหรือข้ามปี รวมถึงมีการกำหนดมาตรการเยียวยาหรือที่เรียกว่า ‘มาตรการเฉพาะ’ ถ้าเอกชนไม่ทำ ในต่างประเทศจะควบรวมไม่ได้ คือ เมื่อกำหนดมาตรการแล้ว จะต้องดูว่าปฏิบัติได้หรือไม่ อย่างไร แต่ประกาศฯปัจจุบันพยายามเร่งรัดให้จบใน 90 วัน
ขณะเดียวกัน ในการกำหนดมาตรการหรือการควบรวมธุรกิจในต่างประเทศ จะต้องมีการเจรจาระหว่างเอกชนกับหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อหาข้อยุติ ไม่ใช่แค่กระบวนการเสนอเอกสาร คือ เสนอคำขอ ครั้งที่ 1 เสนอรายงานที่ปรึกษาอิสระ ครั้งที่ 2 และติดตามทวงถามว่าเมื่อไหร่จะอนุมัติ ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 แล้วจบกัน แต่จริงๆแล้ว จะต้องปฏิสัมพันธ์กันเพื่อหาความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์ของเอกชน” น.พ.ประวิทย์ กล่าว
@ชี้กฎหมายให้อำนาจ ‘กสทช.’ ชี้ขาดการรวมธุรกิจ TRUE-DTAC
น.พ.ประวิทย์ ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ของ ‘ที่ปรึกษาอิสระ’ ที่จัดส่งให้ สำนักงาน กสทช. ว่า จะเห็นได้ชัดเจนว่า ที่ปรึกษาอิสระไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านมิติประโยชน์สาธารณะเลย แต่เชี่ยวชาญเฉพาะมิติการดำเนินการทางธุรกิจล้วนๆ เช่น ที่ปรึกษาอิสระเสนอว่า ให้ กสทช. กำกับดูแลให้เจ้าของทุนมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประโยชน์สาธารณะเลย
“ที่ปรึกษาอิสระบอกว่า ถ้ารวมกันระหว่าง 1 บวก 2 ให้ 1 กับ 2 มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน ตรงนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับประโยชน์สาธารณะเลย เป็นเรื่องการชิงอำนาจกันในธุรกิจเท่านั้นเอง แล้วให้ กสทช. มาห้ามมวย ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญที่ กสทช.ต้องไปดูแล แต่ก็ยังเป็นข้อเสนอของที่ปรึกษาอิสระที่เสนอมา จึงเห็นได้ชัดว่าที่ปรึกษาอิสระมุ่งมิติเศรษฐกิจ ไม่ได้มุ่งมิติประโยชน์สาธารณะ” น.พ.ประวิทย์ กล่าว
น.พ.ประวิทย์ ย้ำว่า กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ในแง่กฎหมายแล้ว จะพิจารณาเฉพาะประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาไปถึงประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ด้วย และเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า กสทช. มีอำนาจอนุญาตการรวมธุรกิจครั้งนี้
“ประกาศฯควบรวมธุรกิจปี 2561 เสมือนหนึ่งเขียนว่า เป็นหน้าที่ของเอกชนที่จะรายงานให้ กสทช.รับทราบเท่านั้น กสทช. ไม่ต้องลุกขึ้นมาอนุมัติ หรือไม่อนุมัติ แต่ถ้าเห็นว่ามีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะด้วยเงื่อนไขต่างๆ ถึงจะกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องเล่า ที่เล่าสู่สาธารณะมาโดยตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่า กสทช. ไม่มีอำนาจเลย
แต่จริงๆแล้วในประกาศฯฉบับนั้น มีประกาศฯที่เกี่ยวข้องอีก 2 ฉบับ เพราะข้อ 9 ของประกาศฯรวมธุรกิจปี 2561 เขียนว่า การรายงานตามประกาศฯนี้ ให้ถือเป็นคำขออนุญาตตามประกาศฯปี 2549 ขณะที่ประกาศฯปี 2549 เป็นประกาศฯที่ให้ กสทช.มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ตรงนี้จึงไม่ได้ตัดอำนาจ กสทช. โดยเด็ดขาด ส่วน กสทช. จะตีความข้อ 9 อย่างไรo ก็เป็นดุลพินิจของ กสทช.ชุดปัจจุบัน
ซึ่งถ้าเราตีความตามตัวบทชัดเจน แล้วไปสืบค้นประวัติว่าข้อ 9 โผล่มาอย่างไร ซึ่งจะเห็นว่าข้อ 9 ที่โผล่มานั้น เพราะประกาศฯปี 2549 ไม่เคยกำหนดหลักเกณฑ์ จึงอาศัยหลักเกณฑ์ตามประกาศฯปี 2561 แต่อำนาจในการอนุมัติต้องเป็นไปตามประกาศฯปี 2549 นอกจากนี้ ยังประกาศอื่นๆที่เกี่ยวข้อง คือ หาก กสทช.เห็นว่าการควบรวมมีผลกระทบต่อสาธารณะอย่างร้ายแรง อาจกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขเฉพาะ ตามประกาศผู้มีอำนาจเหนือตลาดได้
ดังนั้น โดยรวมแล้ว ผมไม่อยากให้ไปสับสนว่า เราอ่านแค่ประกาศฯปี 2561 แล้วเพียงพอ เพราะประกาศฯฉบับปี 2561 ไม่เพียงพอแน่นอน จะต้องอ่านประกาศฉบับอื่นๆประกอบ ที่สำคัญการที่มีผู้ไปฟ้องศาลปกครอง หรือไปร้องที่ ป.ป.ช. โดยอ่านแค่ประกาศ กสทช. ก็อาจไม่เพียงพอ แต่ต้องดูไปถึง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ และรัฐธรรมนูญว่ามีบทบัญญัติ มีเจตนารมณ์อย่างไร
จึงไม่อยากให้สังคม ผู้รับฟัง หรือผู้บริโภค ฟังแล้วสิ้นหวัง ว่า กสทช. ไม่มีอำนาจใดๆเลย ได้แต่มองตาปริบๆ แล้วให้เขาควบรวมกัน และกำหนดมาตรการเฉพาะขึ้นมา อย่างไรก็ดี ในประเด็นเหล่านี้ กสทช.เอง ก็พยายามจะดำเนินกระบวนการให้รัดกุม ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะให้มากยิ่งขึ้น โดยกระบวนการรวมธุรกิจครั้งนี้ แม้เป็นกระบวนการระหว่างเอกชนด้วยกัน แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ” น.พ.ประวิทย์ ย้ำ
@‘ผู้บริโภค’ ได้รับผลกระทบมากสุด หากอนุญาตควบรวม TRUE-DTAC
น.พ.ประวิทย์ ระบุว่า หากมีการอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะส่งผลกระทบต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ซัพพลายเออร์ และเอกชนที่ทำธุรกิจกับค่ายมือถือทั้ง 2 ค่าย เช่น SMS content หรือ content partners ต่างๆ แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ใช้บริการหรือประชาชนที่เป็นลูกค้า เพราะมีรายงานผลการศึกษาว่า ค่าบริการอาจแพงขึ้น 20% จากการที่ธุรกิจโทรคมนาคมมีการผูกขาด เพราะจะมีผู้ให้บริการเหลือ 2 ราย หลังจากมีการควบรวมธุรกิจแล้ว
“ถามว่าผู้บริโภคจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร เพราะเมื่อของมีจำกัด แต่มีแค่ 2 รายใหญ่ ที่ขายสินค้าในตลาด แล้วราคาอาจจะแพงขึ้น 20% และเราจะไม่ใช้ ก็ไม่ได้ เพราะถ้าจะไปเลือก NT (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) ก็มี MVNO (ผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน) มาเสนอข้อมูลให้ฟังว่า NT มีเฉพาะบริการ 3G เท่านั้น ไม่มี 4G และ 5G ถ้าใครอยากใช้ 4G และ 5G ก็ต้องไปผูกขาดกับ 2 รายใหญ่ ดังนั้น ลูกค้าจึงมีอำนาจในการปกป้องตัวเองต่ำ
ส่วนที่มีการโต้แย้งว่า ที่นักวิชาการพูดมาและที่ผู้บริโภคเสนอมา เป็นแค่การคาดการณ์ทางทฤษฎี แม้ว่าตรงนี้จะยังไม่สิ่งที่ไม่เกิดขึ้น แต่มีสิ่งที่ต้องหา คือ โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีมากน้อยอย่างไร ซึ่งทางวิชาการเรียกว่า หลักการพยากรณ์ที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่การมโน ไม่ใช่การคาดการณ์ล้วนๆ แต่มีหลักวิชาการ และมีตัวอย่างในต่างประเทศรองรับ ซึ่ง MVNO เองเขาก็พยากรณ์ว่า ถ้ามีการรวมธุรกิจ โอกาสที่ MVNO จะไปให้บริการ 4G และ 5G เป็นไปไม่ได้เลย
นอกจากนี้ ยังมีคำพยากรณ์มาว่า ถ้าการควบรวมธุรกิจทำให้เกิดการผูกขาด จะทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลกระทบจากค่าบริการที่แพงขึ้น และมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งตรงนี้จะทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงด้วย” น.พ.ประวิทย์ กล่าว
@ค่าบริการเน็ตมือถือ ‘ถูกลง’ เกิดจากแข่งขัน-ไม่ได้เป็นฝีมือ กสทช.
น.พ.ประวิทย์ กล่าวถึงกรณีที่การระบุว่า กสทช. มีการกำกับดูแลค่าบริการโทรศัพท์มือถือได้ดีอยู่แล้ว ว่า ประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่หลายคนพยายามพูด แต่ความจริงแล้วค่าบริการโทรศัพท์มือถือของประเทศไทยไม่ได้ถูกเลย โดยไทยอยู่ในระดับกลางจาก 150 ประเทศ เพราะ กสทช. เข้ามากำกับดูแลค่าบริการเฉพาะราคาเฉลี่ยเท่านั้น ส่วนสาเหตุที่ทำให้ค่าบริการต่างๆ โดยเฉพาะค่าอินเตอร์เน็ตมือถือลดลงนั้น เกิดจากการแข่งขัน ไม่ได้เกิดจากฝีมือของ กสทช. แต่อย่างใด
“เคยมีคำพูดที่มีการพูดกันมา แต่เบาลงเรื่อยๆ คือ บอกว่าเมืองไทยค่าบริการโทรศัพท์ถูกมากๆ มีการพูดว่าถูกที่สุดในโลกด้วยซ้ำ แต่ข้อเท็จจริง คือ ถ้าเอาดัชนีกำลังซื้อในแต่ละประเทศมาคำนวณ จะพบว่าไทยอยู่ระดับกลางๆ ถ้ามี 150 ประเทศ ไทยอยู่ลำดับที่ 70-90 และไม่เคยอยู่ใน 10 อันดับแรกเลย หรือพูดง่าย คือ ค่าบริการโทรศัพท์ของไทยไม่ได้ถูก
แล้วถามว่าสาเหตุที่ทำให้ราคาดูไม่แพงเกิดจากอะไร ก็ต้องบอกว่า เกิดจากการแข่งขัน โดยที่ผ่านมา กสทช.จะเข้าไปดูแลแค่ราคาเฉลี่ยเท่านั้น และผู้บริโภคที่ซื้อแพ็กเกจไม่มีทางรู้เลยว่า ราคาที่ซื้อไปนั้น ถูกหรือผิดกฎหมาย เพราะการควบคุมราคาเฉลี่ย กสทช.จะดูราคาจากโปรโมชั่นที่เสนอมาทั้งหมด ซึ่งมีทั้งถูกและแพง แล้วเอามาคำนวณเป็นราคาเฉลี่ย และแม้ว่าบางแพ็กเกจจะมีลูกค้า 0 คน แต่ตราบใดที่ยังมีโปรโมชั่นนั้นอยู่ เขาจะเอามาคำนวณด้วย
มีตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ผู้ใช้บริการรายเดือนส่วนใหญ่จะซื้อบริการแบบเหมาเดือนละ 399 บาท 499 บาท หรือ 599 บาท เดือนหนึ่งอาจโทรได้ 200-300 นาที แต่ถ้าโทรครบตามนาทีที่เขาให้แล้ว นาทีต่อไปเคยมีการเรียกเก็บถึงนาที 3 บาท แล้วลดลงมาเหลือ 2.50 บาท ปัจจุบันอยู่ที่นาที 1.50 บาท ทั้งๆที่ กสทช.กำกับดูแลให้อยู่แค่นาทีละ 50-60 สตางค์ และที่เกิดอย่างนี้ได้ เพราะ กสทช. กำกับดูแลราคาแบบเฉลี่ย เอกชนจึงสามารถไปขึ้นราคานาทีท้ายๆได้ โดยไม่มีเพดาน
ดังนั้น ประสิทธิภาพการกำกับดูแลของประเทศไทย จึงขึ้นอยู่กับกลไกการแข่งขัน เพราะเมื่อไปดูสถิติจะพบว่า ครั้งแรกที่ราคาอินเตอร์เน็ตมือถือของเมืองไทยถูกลงนั้น เป็นเพราะ TOT (บมจ.ทีโอที) ลดราคาอินเตอร์เน็ตลงเหลือ 50 สตางค์/MB จากเดิมที่เรียกเก็บกันที่ MB ละ 3-4 บาท หลังจากนั้นทุกค่ายมือถือก็ลดราคาอินเตอร์เน็ตมือถือลงมาเหลือ 50 สตางค์/MB ในที่สุดก็มีโปรโมชั่นแบบเหมาจ่าย และราคาก็ถูกลงมาเรื่อยๆ
ส่วนครั้งที่สอง เมื่อมีการประมูลคลื่น 900 MHz ทำ 4G มี JAS (บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล) เข้ามาประมูล และเสนอราคาสูงเป็นประวัติศาสตร์ เอกชนรายเดิมกังวลว่าจะเกิดเอกชนรายใหม่ แม้ว่า JAS จะยังไม่ทันจ่ายค่าประมูลเลย พอ JAS ชนะประมูลปุ๊บ แต่ละรายต้อนรับน้องใหม่ด้วยการลดราคาแพ็กเกจอินเตอร์ลงมาทั้งนั้น หรือพูดง่ายๆ คือ เมื่อมีผู้เล่นใหม่ ราคาอินเตอร์เน็ตมือถือจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่ฝีมือ กสทช.” น.พ.ประวิทย์ กล่าว
น.พ.ประวิทย์ ย้ำว่า “หากมีการควบรวมฯ ต้องรักษาระดับการแข่งขันให้ได้ใกล้เคียงกับระดับเดิม ถ้ารักษาไม่ได้ความเสียหายเกิดขึ้นแน่ อันที่สอง ถ้ามีการควบรวมจะต้องประเมินผลกระทบ และจำกัดผลกระทบให้น้อยที่สุด ถ้าไม่สามารถจำกัดได้ ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ คือ เอกชน ไม่ใช่ฝ่ายสาธารณะ สังคม อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังยืนยันไม่ได้ว่า กสทช.จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ จะมีมาตรการรุนแรงหรือไม่รุนแรง เพราะช่วงนี้เป็นช่วงปรุงอาหารอยู่”
@‘สคบ.’ห่วงควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ลดการแข่งขัน-กระทบผู้บริโภค
สุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2541 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค 5 เรื่อง โดยมีเรื่องหนึ่งที่ระบุว่า ผู้บริโภคต้องมีอิสระในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC นั้น เมื่อการควบรวมดังกล่าว ทำให้มีผู้เล่นในตลาดน้อยลง และทำให้การแข่งขันลดลง กสทช.จะต้องมีอำนาจในการพิจารณาว่า จะอนุญาตหรือไม่
“เรื่องนี้ ผู้บริหาร สคบ.มีข้อกังวลมากว่า จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงอยากให้ กสทช. พิจารณาให้รอบด้าน และเมื่อเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ กสทช.จึงควรมีอำนาจพิจารณาว่า จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต โดยเฉพาะการควบรวมในครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง และการควบรวมครั้งนี้ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมฯ ยังบอกว่า ให้นำกฎหมายเกี่ยวกับแข่งขันทางการค้ามาใช้บังคับด้วย” สุวิทย์ กล่าว
สุวิทย์ ย้ำว่า หากการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องค่าบริการ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลจะต้องมีมาตรการปกป้องสิทธิ์ประโยชน์ของผู้บริโภค
“ก่อนที่ กสทช.จะอนุญาต หรือจะรับทราบ กสทช. ต้องพิจารณารายละเอียดเงื่อนไข และความเป็นธรรมต่างๆด้วย อีกทั้งไม่ว่าผลจะออกมาในทางใด ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตหรือรับทราบ มาตรการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคจะต้องมีความเข้มข้น และเห็นว่าการปรับตัวของเอกชนนั้น จะต้องไม่ละเลยเรื่องความเป็นธรรม และต้องรักษาความสมดุลระหว่างเสรีภาพในการประกอบธุรกิจกับสิทธิของผู้บริโภค” สุวิทย์ กล่าว
สุวิทย์ กล่าวด้วยว่า สคบ.จะช่วยสะท้อนปัญหาต่างๆที่เกิดจากการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ในเวทีต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ไปกระทบสิทธิของผู้บริโภค และเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจ น่าจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการควบรวมกิจการครั้งนี้ด้วย
@AIS ย้ำ ‘กสทช.’ มีอำนาจอนุมัติควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC
ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) กล่าวว่า การพิจารณากรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC องค์กรที่กำกับดูแลจะต้องเข้ามาทำหน้าที่ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าองค์กรที่กำกับเหล่านั้น จะปฏิเสธว่าตัวเองไม่มีอำนาจ ซึ่งในมุมมองของ AIS เรามองว่า กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล มีอำนาจเต็มในการพิจารณาว่า จะอนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจครั้งนี้หรือไม่
“ไม่ว่าจะพิจารณาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่ให้จัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขัน ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ลงมาจนถึง พ.ร.บ.กสทช. รวมถึงพ.ร.บ.ป้องกันการผูกขาด ทั้งหมดนี้มีเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ดังนั้น การไปดูเฉพาะประกาศฯปี 2561 แล้วบอกว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ จึงเป็นการตีความกฎหมายที่แคบเกินไป ซึ่งมุมมองของ AIS เรามองว่า กสทช.มีอำนาจเต็มอยู่แล้ว” ศรัณย์ กล่าว
ศรัณย์ กล่าวว่า สำหรับดีลการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ขณะนี้ยังบอกได้ยาก ว่า AIS ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ แต่ทันทีที่มีการประกาศว่าจะมีการควบรวมธุรกิจกัน มีเสียงสะท้อนในตลาดหุ้น คือ หุ้น TRUE และ DTAC พุ่งสูงขึ้น และที่น่าแปลกใจ คือ หุ้น AIS (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC) พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะนักลงทุนเชื่อว่า AIS ได้ประโยชน์ แม้ว่าจะยังบอกไม่ได้ว่า AIS จะได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ก็ตาม
“หากเรานิ่งเฉยอยู่ ปล่อยให้มีการควบรวมและลดผู้เล่นในตลาดลง เราก็จะถูกติฉินนินทาได้ว่า เรามีส่วนสมรู้ร่วมคิด และรอรับประโยชน์จากการลดจำนวนโอเปอเรเตอร์ลง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ AIS จำเป็นต้องแสดงจุดยืนว่า เราเห็นว่าการควบรวมแบบนี้ ซึ่งลดผู้เล่นรายใหญ่จาก 3 รายเหลือ 2 ราย โดยที่องค์กรกำกับดูแล บอกว่า ไม่มีอำนาจที่จะเบรกได้ เรามองว่าไม่ถูกต้อง เราจึงออกมาแสดงจุดยืนว่า เราไม่มีส่วนรู้เห็น” ศรัณย์ กล่าว
@ห่วงหากอนุญาตการ ‘ควบรวม’ อาจเกิดการผูกขาดข้ามอุตสาหกรรม
ส่วนที่มีข้อสงสัยว่า AIS คัดค้านการควบรวมครั้งนี้ เพราะกลัวตกลงมาเป็นอันดับที่ 2 หรือไม่ ศรัณย์ ระบุว่า การเป็นที่ 1 หรือที่ 2 ต้องมองในหลายๆด้าน ไม่ใช่แค่จำนวนลูกค้าอย่างเดียว และเมื่อ TRUE และ DTAC ควบรวมกัน ฐานลูกค้าก็ไม่ได้แตกต่างจาก AIS อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ฐานลูกค้าจึงไม่ได้เป็นสาระสำคัญสำหรับ AIS เลย แต่ประเด็นสำคัญ คือ เราต้องมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ดังนั้น หากการควบรวมฯส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาครัฐ เราไม่เห็นด้วย
“บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสาธารณูปโภคที่กระทบกับคนส่วนใหญ่ เราจะทำธุรกิจโดยคำนึงถึงแต่อุตสาหกรรมของตัวเองไม่ได้ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย” ศรัณย์ ย้ำ
ศรัณย์ ยังสะท้อนภาพผลกระทบหากมีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ว่า AIS เชื่อว่าการทำโปรโมชั่นยังไม่หายไป เพราะโอเปอเรเตอร์ต้องแข่งขันกันอยู่ ไม่มีการหยุดแข่งขัน แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ทุกวันนี้โอเปอเรเตอร์ 3 ราย มีการแข่งขันกันค่อนข้างดุเดือด โดยมีโปรโมชั่นใหม่ๆออกทุกวัน ทั้งโปรโมชั่นที่อยู่ในใบปลิวและนอกใบปลิว หากมีการควบรวมและลดจำนวนผู้เล่นในตลาดลง ก็จะทำให้โปรโมชั่นใหม่ๆไม่ได้ออกมาทุกวันเหมือนตอนนี้
ศรัณย์ กล่าวต่อว่า หาก กสทช.อนุญาตให้มีการควบรวมในธุรกิจโทรคมนาคมระหว่าง TRUE และ DTAC อาจจะทำให้เกิดการสร้างอาณาจักรที่ก่อให้เกิดการผูกขาดข้ามอุตสาหกรรมได้
“สิ่งที่เรากังวล คือ การควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมครั้งนี้ จริงๆแล้วไม่ใช่การควบรวมที่เป็นเอกเทศ แต่เป็นซีรี่ย์ของการควบรวม เพราะเป็นภาคสองต่อจากการควบรวมด้านอุปโภคบริโภคที่เกิดขึ้นมาแล้ว อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะเป็นการสร้างอาณาจักรที่ก่อให้เกิดการผูกขาดข้ามอุตสาหกรรม จึงต้องมองในภาพใหญ่ว่า ผู้มีอำนาจควบคุมธุรกิจของ TUC (บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์เซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด) และ DTN (บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด)
หนึ่งในนั้น คือ กลุ่มซีพี ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ควบรวมช่องทางการค้าส่ง-ค้าปลีกมาก่อน เมื่อมันเกิดการควบรวมต่อเนื่อง มาจนถึงการควบรวมในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งมีฐานลูกค้าผู้บริโภคจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการกีดกันการแข่งขัน โดยเฉพาะในพื้นที่ของเจ้าของกิจการ เพราะในพื้นที่ของกิจการนั้น จะมีการพยายามโปรโมทผลิตภัณฑ์ของตัวเอง อันนี้จึงเป็นสิ่งที่ AIS มีความกังวลว่าจะทำให้เกิดการกีดกันทางการค้า” ศรัณย์ กล่าว
ศรัณย์ ยกตัวอย่างว่า “หลายท่านน่าจะจำได้ ว่า AIS ต้องถอนออกการให้บริการเปิดซิม และซื้อบัตรเติมเงินออกจากเซเว่นฯ (7-Eleven) เป็นจังหวะเดียวกับที่มีการประมูลคลื่น 900 ซึ่ง AIS ประมูลไม่ได้ แต่ที่ AIS กลับมาได้ เพราะ JAS ไม่ชำระค่าคลื่น ในตอนนั้นคู่แข่งของเราทำแคมเปญชวนลูกค้า AIS ย้ายค่าย คือ เมื่อลูกค้า AIS ไปเปิดซิม หรือซื้อบัตรเติมเงิน จะถูกชวนให้ย้ายค่ายทันที
เพราะร้านสะดวกซื้อไม่ได้ทำตัวเป็นร้านสะดวกซื้อ แต่ทำตัวเป็น operator shop ด้วย จึงมีความเสี่ยงอย่างมากที่เราจะปล่อยลูกค้าเข้าไปซื้อบัตรเติมเงิน และถูกชักชวนย้ายค่ายในนาทีนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ AIS ต้องถอยออกมา
นี่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง และเห็นว่าการควบรวมครั้งนี้ (การรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC) จะทำให้เกิดเหตุการณ์คล้ายๆกันในลักษณะนั้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้าเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของผู้ควบคุม ทั้งในธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง และธุรกิจโทรคมนาคม คู่แข่งจะถูกกีดกัน และผู้บริโภคจะถูกลดทางเลือก”
ศรัณย์ กล่าวด้วยว่า แม้การควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะเป็นการควบรวมระหว่างบริษัทแม่ โดยผู้ถือใบอนุญาตที่เป็นบริษัทลูก คือ TUC และ DTN จะไม่ได้ควบรวมกัน และทั้งแบรนด์ TRUE และ DTAC จะยังมีอยู่ แต่ AIS กังวล คือ ในวันที่ 1 มิ.ย.2565 จะมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลผู้บริโภค คือ หากผู้บริโภคไม่ยินยอมจะเอาข้อมูลผู้บริโภคไปเปิดเผยหรือแลกกับรายอื่นไม่ได้
แต่เมื่อ TRUE และ DTAC ควบรวมกันเป็นบริษัทเดียว ก็อาจมีการจัดสรรพนักงานลงไปปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่มีผสมผสานกัน จึงทำให้เกิดความถามว่า บริษัทใหม่ดังกล่าว จะมีมาตรการอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้ข้อมูลของลูกค้า TUC หลุดไปอยู่ที่ DTN หรือข้อมูลลูกค้า DTN หลุดออกไปอยู่ที่ TUC ได้อย่างไร
@หวัง ‘กสทช.’ ยับยั้งดีลควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ชี้ผลกระทบมาก
ศิริกัญญา ตันสกุล โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง True และ Dtac และการค้าปลีก-ค้าส่ง กล่าวว่า ในการพิจารณาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง TRUE และ DTAC นั้น คณะกรรมาธิการฯ มีความกังวลและมีข้อสังเกตในหลายประเด็น เช่น การพิจารณาเรื่องการควบรวมดังกล่าว ทั้ง กสทช.และ กขค. พยายามปัดความรับผิดชอบกันไปมา
การจัดทำรายงานฯของที่ปรึกษาอิสระที่อาจไม่ได้เป็นอิสระจริง ,เรื่องการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งในช่วงที่คณะกรรมาธิการฯกำลังพิจารณาอยู่นั้น พบว่าไม่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเลย และการไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมค่าบริการหลังมีการควบรวม เป็นต้น
ส่วนผลกระทบจากการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC นั้น คณะกรรมาธิการฯ พบว่า มีผลกระทบที่ชัดเจนหลายเรื่อง ตั้งแต่การกระจุกตัวของธุรกิจที่จะเพิ่มขึ้นมหาศาล และอัตราค่าบริการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจากผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า หลังจากมีการควบรวมแล้ว จะทำให้อัตราค่าบริการเพิ่มขึ้น 20% จากปัจจุบัน ดังนั้น ก่อนที่บอร์ด กสทช.จะอนุมัติให้มีการควบรวมฯจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ก่อน
ศิริกัญญา ระบุว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯจะเสนอรายงานศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง TRUE และ DTAC ให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในเร็วๆนี้ จากนั้นจะส่งรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
“เราเคยทำหนังสือไปถึงนายกฯ ขอให้สั่งชะลอการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ออกไปก่อน เพราะมีผลกระทบกับประชาชนมหาศาล ทั้งเรื่องการกระจุกตัวของธุรกิจ อัตราค่าบริการ ข้อกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน และแม้ว่ารัฐบาลจะไม่มีอำนาจในการพิจารณากรณีการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ เพราะเป็นอำนาจของ กสทช. แต่ก็คาดหวังว่า กสทช.จะยับยั้งการอนุมัติดีลนี้ เพราะจะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก” ศิริกัญญา ระบุ
ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ในประเทศที่เศรษฐกิจหรือธุรกิจมีการกระจุกตัวอยู่ในมือของนายทุนไม่กี่ราย หรือในกลุ่มบริษัทไม่กี่กลุ่ม เศรษฐกิจจะไม่เจริญเติบโตดีในระยะยาว
ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ดำเนินการเสวนา ระบุว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ทำหนังสือเชิญคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เข้าร่วมเสวนาด้วย แต่ถูกปฏิเสธ โดย กขค. ระบุว่า เรื่องการควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC ไม่ได้อยู่ในอำนาจ กขค. และเรื่องนี้มี กสทช.กำกับดูแลอยู่แล้ว ซึ่งในต่างประเทศ กรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม แม้ว่าจะหน่วยงานกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
อ่านประกอบ :
เลาะเวทีรับฟังความเห็นฯ ควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC 'เอไอเอส-NT'ค้าน-'สมาคมฯเอกชน'หนุน
เปิดหนังสือ กมธ.! ทักท้วง 7 ข้อ ปมควบรวม'TRUE-DTAC' ลดแข่งขัน-เสนอ'บิ๊กตู่'สั่งชะลอ
‘อนุฯกสทช.’สั่ง‘ที่ปรึกษาอิสระ’ศึกษาเพิ่ม กรณีควบ‘TRUE-DTAC’-จ้าง‘จุฬาฯ’ทำรายงานประกบ
ห่วงค่าบริการสูง-คุณภาพต่ำลง! ‘กรรมการ กตป.’ ค้าน ‘กสทช.’ อนุมัติควบรวม ‘TRUE-DTAC’
ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค! วงเสวนาฯค้านควบรวมกิจการ'TRUE-DTAC' ห่วงค่าโทรเพิ่ม 20%
จับตา 'กสทช.รักษาการ' ปิดดีลควบ 'ทรู-ดีแทค'-สะพัดดึงเรื่องแต่งตั้งชุดใหม่?
‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’
ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ
'พิสิฐ' จี้ตรวจสอบ‘กสทช.’ลดบทบาทป้องกันผูกขาด-สภาฯตั้ง กมธ.ศึกษาควบรวม 'ทรู-ดีแทค'
นิพนธ์ พัวพงศกร : การควบรวมทรูกับดีแทค
ข้อสังเกตต่ออำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ในการป้องกันการผูกขาด กรณีทรูควบรวมดีแทค
นักวิชาการ TDRI ย้ำอันตรายหากปล่อย'TRUE-DTAC'ควบรวม ชี้คุมทุนใหญ่ต้องตั้งใจลุยจริง