กสทช. เปิดเวทีรับฟังความเห็นฯ ครั้งที่ 3 ‘อนุกรรมการศึกษาฯ’ เผยผลศึกษาดีลควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ภายใต้ 3 แบบจำลอง พบจะทำให้ 'ค่าบริการเพิ่มขึ้น-จีดีพีลดลง' ขณะที่ ‘นักวิชาการ’ เกินครึ่งเวทีฯ หนุนควบรวมกิจการ
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ครั้งที่ 3 กลุ่มนักวิชาการ (ด้านเศรษฐศาสตร์)
โดย รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. กล่าวเปิดการประชุมว่า กสทช.จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นฯในวันนี้ (7 มิ.ย.) เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ จะนำผลการศึกษาของที่ปรึกษาจากต่างประเทศ และผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมพิจารณาด้วย
@ผลศึกษาฯชี้ควบรวม TRUE-DTAC ค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
จากนั้น นายประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ รักษาการแทน ผอ.สำนักการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. ในฐานะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ด้านเศรษฐศาสตร์ สรุปผลศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC โดยใช้วิธี Merger Simulation และ Upward Pricing Pressure Model (UPP) ซึ่งผลการศึกษาทั้ง 2 วิธี พบว่า หลังการควบรวมฯ ค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
โดยในส่วนผลการศึกษาโดยใช้วิธี Merger Simulation กรณีการควบรวม TRUE และ DTAC นั้น สำหรับ AIS ในกรณีดีที่สุด ค่าบริการ Voice and Data จะเพิ่มขึ้น 2.03% หากประสิทธิภาพของ AIS เพิ่มขึ้น 10% และไม่มีการร่วมมือในการกำหนดราคาระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือ (No collusion) แต่กรณีเลวร้าย ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 50.13% หากประสิทธิภาพของ AIS เพิ่มขึ้น 10% และมีการร่วมมือในการกำหนดราคาระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือในระดับสูง (Cartel)
ส่วน DTAC กรณีดีที่สุด ค่าบริการ Voice and Data จะเพิ่มขึ้น 8.72% หากประสิทธิภาพของ DTAC เพิ่มขึ้น 10% และไม่มีการร่วมมือในการกำหนดราคาระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือ (No collusion) แต่กรณีเลวร้าย ราคาค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 55.09% หากประสิทธิภาพของ DTAC เพิ่มขึ้น 10% และมีการร่วมมือในการกำหนดราคาระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือในระดับสูง (Cartel)
และ TRUE กรณีดีที่สุด ค่าบริการ Voice and Data จะเพิ่มขึ้น 7.57% หากประสิทธิภาพของ TRUE เพิ่มขึ้น 10% และไม่มีการร่วมมือในการกำหนดราคาระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือ (No collusion) แต่กรณีเลวร้าย ราคาค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 71.23% หากประสิทธิภาพของ TRUE เพิ่มขึ้น 10% และมีการร่วมมือในการกำหนดราคาระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือในระดับสูง (Cartel)
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะค่าบริการที่เป็น Voice อย่างเดียว (Voice only) พบว่า หลังควบรวม TRUE และ DTAC ค่าบริการเฉพาะ Voice จะเพิ่มขึ้น 4.40-12.95% หากผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย เพิ่มประสิทธิภาพได้ 10% และไม่มีการร่วมมือในการกำหนดราคาระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือ (No collusion) แต่กรณีเลวร้าย ค่าบริการเฉพาะ Voice จะเพิ่มขึ้น 170.90-239.88% หากทั้ง 3 ราย เพิ่มประสิทธิภาพได้ 10% แต่มีความร่วมมือกันในระดับสูง (Cartel)
ในขณะที่ผลการศึกษาใช้วิธี Upward Pricing Pressure Model (UPP) กรณีการควบรวม TRUE และ DTAC พบว่า หลังจากมีการควบรวม TRUE และ DTAC แบบจำลองพบว่าค่าบริการ Voice and Data ที่เป็น Postpaid จะเพิ่มขึ้น 12% และหากเป็น Prepaid จะเพิ่มขึ้นประมาณ 30% แต่หากเป็นค่าบริการ Voice only ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 22.7-56%
“แม้ว่าการควบรวมฯจะทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 10% แต่ไม่ได้ลดทอนผลกระทบของราคาที่เพิ่มขึ้นได้” นายประถมพงศ์ ระบุ
นายประถมพงศ์ สรุปว่า จากการศึกษาผลกระทบการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC โดยวิธี Merger Simulation และ Upward Pricing Pressure Model (UPP) พบว่า ทั้ง 2 วิธีการไปในทิศทางเดียวกัน คือ ราคาค่าบริการมีทิศทางเพิ่มขึ้น และจะเพิ่มขึ้นในตลาดที่เป็น Mobile Voice only มากกว่าตลาด Mobile Voice and Data โดยหากผู้ประกอบการไม่มีการร่วมมือกัน ราคาจะเพิ่มขึ้น 2.03-19.53% แต่หากมีการร่วมมือกันสูง ราคาจะเพิ่มขึ้น 49.30-244.50%
อย่างไรก็ตาม นายประถมพงศ์ ระบุว่า ผลการศึกษาฯดังกล่าวมีข้อจำกัดของข้อมูล เนื่องจากไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริการอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ และปริมาณการใช้งานเฉลี่ยของบริการอินเตอร์เน็ตที่แยกประเภท Prepaid และ Postpaid โดยตรง
@หากให้ควบรวม ‘TRUE-DTAC’ จีดีพีลดลง 0.05-1.99%-เงินเฟ้อเพิ่ม
ด้าน ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ด้านเศรษฐศาสตร์ สรุปผลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากการควบรวม TRUE และ DTAC โดยใช้แบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (CGE Model) ว่า หากมีการควบรวม TRUE และ DTAC จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP growth) ลดลง ตามระดับราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น
“เคสไหนที่มีราคาเพิ่มขึ้นมาก ก็จะส่งผลลบต่อจีดีพีมากขึ้นตาม โดยช่วงที่จีดีพีติดลบจะอยู่ระหว่าง 0.05-1.99% ซึ่งกรณีดีที่สุด คือ ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 10% และไม่มีการร่วมมือกันระหว่างผู้ให้บริการที่เหลือ (No collusion) จีดีพีจะลดลง 0.05% หรือคิดเป็นมูลค่า 8,243.9 ล้านบาท แต่กรณีเลวร้ายที่สุด คือ ประสิทธิภาพไม่เพิ่มขึ้น และมีการร่วมมือกันในระดับสูง (Cartel) จีดีพีจะลดลง 1.99% หรือคิดเป็นมูลค่า 322,892.1 ล้านบาท” ผศ.ดร.พรเทพ กล่าว
นอกจากนี้ ค่าบริการสื่อสารไร้สายที่จะเพิ่มขึ้นหลังการควบรวม TRUE และ DTAC จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 0.05-2.07%
“ระดับความรุนแรงของผลกระทบกรณีการควบรวมฯ จะขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพมีผลน้อย ในขณะที่ระดับความร่วมมือของผู้ประกอบการจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย คือ ยิ่งเหลือน้อย ยิ่งร่วมมือกันง่าย , ยิ่งขนาดใกล้เคียงกันเท่าไหร่ ยิ่งร่วมมือกันง่าย ,บริการยิ่งเหมือนกัน ยิ่งร่วมมือกันง่าย, ยิ่งตรวจสอบเปรียบเทียบราคากันง่าย ยิ่งร่วมมือง่าย, ยิ่งทำธุรกิจแข่งขันกันมานาน ยิ่งร่วมมือกันง่าย ,ยิ่งรายใหม่เกิดยาก ยิ่งร่วมกันง่าย และสุดท้ายอยู่ที่ประสิทธิภาพการกำกับดูแลของ กสทช.” ผศ.ดร.พรเทพ กล่าว
@ค้านควบรวม หวั่นทำให้เกิดการผูกขาด-การแข่งขันไม่กระจายตัว
เมื่อเข้าสู่ช่วงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น มีทั้งนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับกรณีการควบรวมฯ และเห็นด้วยกับการควบรวม TRUE และ DTAC รวมทั้งมีข้อเสนอให้คณะอนุกรรมการฯปรับปรุงโมเดลการศึกษาให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น
ดร.ณัฏฐพงศ์ จันทราทิพย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า หากการควบรวม TRUE และ DTAC ทำให้ดัชนี HHI เพิ่มสูงขึ้นมาก จะทำให้เป็นปัญหามาก และการที่บริษัท 2 บริษัท ควบรวมกันนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องมองไปที่ตัวผู้บริโภคว่า จะได้รับผลกระทบจากค่าบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างไร และส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการควบรวมที่ทำให้เกิดการผูกขาด และเกิดการแข่งขันที่ไม่กระจายตัว
“ที่บอกว่าเมื่อมีการควบรวมกันแล้ว ขนาดจะใหญ่ขึ้น แล้วมีแค่ 2 เจ้า และจะทำให้อีกเจ้าต้องแข่งขันขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ให้ได้ แต่การแข่งขันอันนี้ต้องอยู่บนประโยชน์ของประชาชนด้วย” ดร.ณัฏฐพงศ์ กล่าว
นายพันธุ์ศักดิ์ ซาบุ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการติดตาม ตรวจสอบโครงการด้านดิจิทัล และการพัฒนาสู่สังคมดิจิทัลวิถีใหม่ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า การควบรวมกิจการ TRUE และ DTAC ส่วนตัวมองว่าเป็นการผูกขาดทางการตลาด และจะเกิดผลกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ ตนจึงไม่เห็นด้วยกับการควบรวมฯ
@นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นด้วยควบรวม-ชี้อย่ามองแต่เรื่องแข่งขัน
ขณะที่ รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด กล่าวว่า ในการศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวม TRUE และ DTAC นอกจากเรื่องตัวเลขแล้ว อยากให้มองตัวแปรอื่นๆ เช่น ตัวแปรด้านจิตวิทยา เป็นต้น และการที่มีผู้เล่นน้อยราย ก็ไม่ได้หมายความว่าค่าบริการจะเพิ่มขึ้นเสมอไป เพราะต้องขึ้นอยู่กับบริบทการแข่งขัน และความสัมพันธ์ของคู่แข่งด้วย ซึ่งตอนนี้โอกาสที่ผู้ประกอบการฯจะฮั้วกันมีโอกาสค่อนข้างยาก
“การควบรวมจะเป็นประโยชน์ เพราะแทนที่จะมีแค่ TRUE ที่พยายามพัฒนาเทคโนโลยี แต่จะมี TRUE และ DTAC ที่มาร่วมกัน และเขายังสามารถแชร์ทรัพยากรร่วมกันได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยต้นทุนที่ลดลงนั้น จะสามารถทำให้ราคาของผู้บริโภคลดลงได้ รวมทั้งเพิ่มการลงทุนได้ ส่วนในเรื่องการแข่งขันนั้น มั่นใจว่าจะเพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้ AIS เริ่มขยับแล้ว โดยทำการตลาดเพื่อรองรับการควบรวมอันนี้ ทั้งๆที่การควบรวมยังไม่เกิด” รศ.ดร.เสรี ระบุ
ผศ.ดร.พรภวิษย์ บุญศรีเมือง รองคณบดีวิจัย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า สมควรให้มีการควบรวม TRUE และ DTAC และเห็นว่าผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯโดยวิธี Merger Simulation นั้น ใช้สมมุติฐานตัวแปรยังไม่ครอบคลุม และมีบางปัจจัยที่ความคลาดเคลื่อน เช่น การไม่นำผู้ถือครองใบอนุญาตรายของ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เข้ามาอยู่ในแบบจำลอง ในขณะที่ NT มีใบอนุญาตและช่องสัญญาณอยู่ไม่น้อย
นายรุจิระ บุนนาค อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า การควบรวม TRUE และ DTAC นับว่ามีประโยชน์อยู่พอสมควร ซึ่ง กสทช.ควรมองตรงนี้ด้วย ไม่ใช่มองแต่เรื่องการแข่งขันอย่างเดียว ขณะที่การควบรวมฯดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการที่มากขึ้น เพราะสถานีที่ให้ในการรับส่งมีมากขึ้น และมีช่องสัญญาณมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคจะได้รับการบริการที่ดีขึ้น
นายรุจิระ ยังระบุว่า ในการพิจารณากรณีการควบรวม TRUE และ DTAC มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ กสทช.ต้องพิจารณา ไม่ใช่แค่มุ่งเน้นแต่เรื่องการสื่อสารด้วยเสียง หรือการสื่อสารด้วยเสียงและข้อมูล และเห็นว่าผลการศึกษาของอนุกรรมการฯ กสทช. กำลังมองข้ามตัวแปรที่สำคัญ คือ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ไปหรือไม่
“กสทช.เคยคาดการณ์ผิดในเรื่องประมูลทีวีดิจิทัล โดยไม่ได้มองถึงเรื่อง OTT (Over-the-top) ที่จะเข้ามาทางสื่ออินเตอร์เน็ต ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจทีวีดิจิทัล ทำให้ทุกอย่างมันคลาดเคลื่อนไปหมดเลย พอมาย้อนมาถึงเรื่องนี้ เรื่อง OTT จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะ OTT เอง ก็ให้บริการข้อความ เสียง และวิดีโอ อีกทั้งผลศึกษาของ Mckinsey พบว่า ปัจจุบันบริษัทโทรคมนาคมต้องลงทุน 5G เพิ่มขึ้น 300% แต่มีรายได้และกำไรลดลง” นายรุจิระ กล่าว
ผศ.สุรวุธ กิจกุศล อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า จากโมเดลที่อนุกรรมการฯนำเสนอมานั้น ตนอยากให้ผู้ศึกษาได้พิจารณาเกี่ยวกับสถานะและความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจด้วย เพราะเมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาดและสัดส่วนกำไรของบริษัทมือถือ 3 เจ้าใหญ่ จะพบว่าแตกต่างกันค่อนข้างมาก และการที่นำบริษัทที่แข็งแกร่งมากๆ มาแข่งขันกับบริษัทที่แข็งแกร่งน้อยกว่าในสัดส่วนที่เห็นได้ชัด ทำให้การแข่งขันลดระดับลง
“หากปล่อยไว้ในสภาพอย่างนี้ ก็จะมีบางเจ้าที่ถอยออกจากตลาดไป สุดท้ายก็จะเหลือผู้ให้บริการ 2 เจ้า อย่างที่กำลังจะรวมกันวันนี้ แต่จะเหลือ 2 เจ้าที่ต่างกันเยอะมาก และถ้าพิจารณาจากเหตุผลที่ 2 บริษัทนี้จะรวมกัน ผมเห็นว่า ถ้านำสูตรนี้ไปเป็นตัวแปรด้วย จะทำให้การแข่งขันมีมากกว่าเดิมหรือเปล่า อย่างตอนนี้ ยังไม่มีการควบรวม AIS ก็ออกโปรฯพยายามดึงให้คนเปลี่ยนค่าย ดังนั้น ถ้าทั้ง 2 บริษัทนี้ได้รวมกัน ผมคิดว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุด” ผศ.สุรวุธ ระบุ
ผศ.ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร แสดงความเห็นว่า การควบรวม TRUE และ DTAC จะเกิดประโยชน์กับผู้บริโภคมากกว่า เพราะเมื่อมีควบรวมจะทำให้เกิดความเข้มแข็งในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และทำให้เกิดการแข่งขันที่อยู่ภายใต้ผลประโยชน์ของประชาชนและผู้บริโภค
นายวิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระ ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ถ้าเราเชื่อเรื่องการค้าเสรี โมเดลที่อนุกรรมการฯทำขึ้นจะเกิดประโยชน์น้อยมาก เพราะเป็นการคาดการณ์ และเรื่องนี้อยากถามง่ายๆว่า มีใครเดือดร้อนจากการควบรวมกิจการหรือไม่ เพราะหากเป็นการควบรวมที่ทำให้เกิดการผูกขาด กสทช.ก็สามารถจัดการได้ หรือเมื่อควบรวมแล้วเหลือ 2 เจ้าใหญ่ แล้วมีการฮั้วราคากันหรือไม่ กสทช.ก็จัดการได้
“การไป forecast ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แล้วไปห้ามการควบรวมกิจการ ผมเกรงว่าจะเกิดปัญหาการทำธุรกิจภายใต้ประเทศเสรี” นายวิริยะ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะฯ กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ครั้งที่ 3 ด้านเศรษฐศาสตร์ นั้น ปรากฏว่านักวิชาการที่เข้าร่วมการประชุมส่วนใหญ่หรือมากกว่าครึ่งเวที ที่เห็นด้วยกับการควบรวม TRUE และ DTAC เพราะมองว่าจะทำให้การแข่งขันมากกว่าเดิม และมีนักวิชาการเพียง 2 คนเท่านั้น ที่ไม่เห็นด้วยกับกรณีการควบรวม TRUE และ DTAC
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ด้านเศรษฐศาสตร์ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ด้านเศรษฐศาสตร์ ผ่านอีเมล [email protected] ไปจนถึงวันที่ 9 มิ.ย.2565
อ่านประกอบ :
ลดทางเลือกผู้บริโภค! เวทีสาธารณะค้านควบ TRUE-DTAC ‘ประวิทย์’โต้ถูกกล่าวหา‘ไม่เป็นกลาง’
วงเสวนาฯชำแหละ! ดีลควบ TRUE-DTAC ผู้บริโภคเสียเปรียบ ห่วง'ทุนใหญ่'สร้างอาณาจักรผูกขาด
ร้อง ‘ป.ป.ช.’ ไต่สวนฯ ‘กสทช.ชุดใหม่-พวก’ ละเว้นหน้าที่-ไม่โต้แย้งดีลควบรวม TRUE-DTAC
เลาะเวทีรับฟังความเห็นฯ ควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC 'เอไอเอส-NT'ค้าน-'สมาคมฯเอกชน'หนุน
เปิดหนังสือ กมธ.! ทักท้วง 7 ข้อ ปมควบรวม'TRUE-DTAC' ลดแข่งขัน-เสนอ'บิ๊กตู่'สั่งชะลอ
‘อนุฯกสทช.’สั่ง‘ที่ปรึกษาอิสระ’ศึกษาเพิ่ม กรณีควบ‘TRUE-DTAC’-จ้าง‘จุฬาฯ’ทำรายงานประกบ
ห่วงค่าบริการสูง-คุณภาพต่ำลง! ‘กรรมการ กตป.’ ค้าน ‘กสทช.’ อนุมัติควบรวม ‘TRUE-DTAC’
ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค! วงเสวนาฯค้านควบรวมกิจการ'TRUE-DTAC' ห่วงค่าโทรเพิ่ม 20%
จับตา 'กสทช.รักษาการ' ปิดดีลควบ 'ทรู-ดีแทค'-สะพัดดึงเรื่องแต่งตั้งชุดใหม่?
‘พล.อ.สุกิจ’แจ้ง‘บอร์ด กสทช.’ทำงานตามปกติ-เดินหน้าประมูลคลื่นวิทยุ-ถกรวม ‘TRUE-DTAC’
ที่ประชุม 5 ว่าที่ ‘กสทช.’ ลงมติเลือก ‘ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’ นั่งประธานฯ
'พิสิฐ' จี้ตรวจสอบ‘กสทช.’ลดบทบาทป้องกันผูกขาด-สภาฯตั้ง กมธ.ศึกษาควบรวม 'ทรู-ดีแทค'
นิพนธ์ พัวพงศกร : การควบรวมทรูกับดีแทค
ข้อสังเกตต่ออำนาจตามกฎหมายของ กสทช. ในการป้องกันการผูกขาด กรณีทรูควบรวมดีแทค
นักวิชาการ TDRI ย้ำอันตรายหากปล่อย'TRUE-DTAC'ควบรวม ชี้คุมทุนใหญ่ต้องตั้งใจลุยจริง