2 สมาคม/ชมรม ทำหนังสือถึงธปท. ทักท้วงมาตรการช่วยลูกหนี้ระยะที่ 2 ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล หวั่นทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ยากขึ้น ขณะที่ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ชี้หากลดดอกเบี้ยจำนำทะเบียนรถลง 4% จริง จะทำให้เหลือรายใหญ่ 1-2 เจ้า ผูกขาดตลาด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประชุมร่วมกับสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารและผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เพื่อรับฟังความคิดเห็นของแบงก์และนอนแบงก์ เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 2
โดยธปท.มีข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท.ประกอบด้วย 1.ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตจาก 18% ต่อปี เหลือ 16% ต่อปี 2.ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลประเภท Revolving จาก 28% ต่อปี เหลือ 26% ต่อปี 3.ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลประเภท Term Loanจาก 28% ต่อปี เหลือ 25% ต่อปี 4.ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจาก 28% ต่อปี เหลือ 24% ต่อปี
และ5.ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อ ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (flat rate) ลง 1% โดยคาดว่าธปท.จะประกาศมาตรการดังกล่าวในเร็วๆนี้ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.62 นั้น
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถอย่างน้อย 2 สมาคม ได้แก่ ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ ได้ทำหนังสือถึงธปท. โดยให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 ของธปท. รวมทั้งผลกระทบที่ผู้ประกอบการและประชาชนจะได้รับ หากธปท.ประกาศลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทต่างๆลงมาตามข้อเสนอ
ทั้งนี้ ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล ระบุว่า หากมีการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลลงมาตามธปท.เสนอ จะทำให้ลูกค้าบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ เนื่องจากสถาบันการเงินไม่สามารถให้บริการสินเชื่อภายใต้เพดานอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงดังกล่าวได้ ซึ่งจากการคาดการณ์ของชมรมฯพบว่า จะมีลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ได้แก่
1.กรณีลดเพดานดอกเบี้ยเหลือ 27% จะทำให้มีจำนวนสินเชื่อที่ถูกปรับออกจากระบบ 3.5 ล้านบัญชี คิดเป็นลูกค้า 1.15 ล้านราย รวมยอดสินเชื่อคงค้าง 9 หมื่นล้านบาท 2.กรณีลดเพดานดอกเบี้ยเหลือ 26% จะทำให้มีจำนวนสินเชื่อที่ถูกปรับออกจากระบบ 4.7 ล้านบัญชี คิดเป็นลูกค้า 1.6 ล้านราย รวมยอดสินเชื่อคงค้าง 1.3 แสนล้านบาท
และ3.กรณีลดเพดานดอกเบี้ยเหลือ 25% จะทำให้มีจำนวนสินเชื่อที่ถูกปรับออกจากระบบ 6.1 ล้านบัญชี คิดเป็นลูกค้า 2 ล้านราย รวมยอดสินเชื่อคงค้าง 1.9 แสนล้านบาท
ดังนั้น ชมรมฯจึงขอให้ธปท.พิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจ แต่หากธปท.ต้องมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยลงมา ชมรมฯขอเสนอว่าควรเริ่มมาตรการในวันที่ 1 ต.ค.63 เพื่อให้สถาบันการเงินมีเวลาปรับปรุงระบบ รวมทั้งต้องมีการสื่อสารมาตรการและปรับปรุงบัญชีของลูกค้า และมาตรการของธปท.ดังกล่าว ให้บังคับใช้กับลูกค้าใหม่เท่านั้น ส่วนลูกค้าปัจจุบันให้คงอัตราดอกเบี้ยคงเดิมจนกว่าจะครบสัญญา
ขณะที่สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ ระบุว่า การลดเพดานสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจาก 28% เหลือ 24% จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กอยู่ไม่ได้ เพราะไม่สามารถสร้างผลกำไรจากจากอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวได้เลย และเมื่อผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กไม่สามารถอยู่รอดได้ ก็ทำให้ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเหลืออยู่แต่ผู้ประกอบการายใหญ่ 2-3 รายเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีทางเลือกจำกัด
ขณะเดียวกัน การลดเพดานดอกเบี้ยลง 2% แทบจะไม่ลดภาระให้ลูกค้าได้เลย เช่น หากขอสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 2 หมื่นบาท ผ่อน 12 งวด จะลดภาระให้ลูกค้าได้เดือนละ 40 บาท หรือลดจาก 1,930 บาทต่อเดือน เหลือ 1,890 บาทต่อเดือน แต่ผลที่ตามมา คือ ผู้ประกอบการต้องเพิ่มวงเงินกู้ขั้นต่ำให้สูงขึ้น หรือลดการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารากหญ้าเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ และต้องหันไปกู้สินเชื่อนอกระบบที่มีดอกเบี้ยที่สูงถึง 20% ต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯพร้อมจะให้ความร่วมมือกับธปท. แต่ขอเสนอให้ธปท.ลดพิจารณาลดเพดานดอกเบี้ยจาก 28% เหลือ 26% เพราะผู้ประกอบการโดยรวมสามารถลดดอกเบี้ยลงมาได้ไม่เกิน 2% แต่หากธปท.ปรับลดเพดานดอกเบี้ยลงมามากกว่านี้ ผู้ประกอบการส่วนมากจะอยู่ไม่ได้ และในปัจจุบันผู้ประกอบการเองก็มีการแข่งขันกันอยู่แล้ว ดังนั้น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธปท. จึงไม่ควรทำให้ผู้ประกอบการต้องเลิกธุรกิจไป
นอกจากนี้ หากธปท.มีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยลงมา จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย เช่น ลดภาษีธุรกิจเฉพาะลงเหลือ 0.01% จากเดิม 3% งดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการ ซึ่งได้มีการยกหนี้ให้กับลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าอยู่รอด และขอให้ธปท.ต้องประกาศล่วงหน้า 60 วันก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถรายหนึ่ง กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า หากธปท.ลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถลงมาเหลือ 24% จริง จะทำให้เหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2-3 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะต้องเลิกกิจการไป ทำให้เกิดการผูกขาดของรายใหญ่ ขณะที่ลูกค้าเองจะมีช่องทางในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ยากขึ้น และต้องหันไปหาสินเชื่อนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงถึง 20% ต่อเดือน
“ถ้าธปท.ลดเพดานดอกเบี้ยเหลือ 24% จริง รายกลาง และรายเล็กจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันลดลงและเกิดการผูกขาดในธุรกิจนี้ จนกลายเป็นว่าเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจรายใหญ่ไป” แหล่งข่าวกล่าว
อ่านประกอบ :
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
‘กรุงไทย’ พักหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย สินเชื่อบุคคล 4 เดือน แถมลดดบ.ให้อีก 0.25%
'4 แบงก์ใหญ่' ประเดิมพักหนี้ 'เงินต้น-ดอกเบี้ย' นาน 6 เดือน-ให้กู้ดอกเบี้ย 2%
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/