ผู้ว่าฯธปท.แจงเหตุขอแบงก์พาณิชย์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน' หวังสร้างกันชนรองรับเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ยอมรับแม้มีผลกระทบผู้ถือหุ้นระยะสั้น แต่ส่งผลดีในระยะยาว ด้าน 'กรณ์' ชี้เป็นสัญญาณว่า 'หนี้เสีย' เลวร้ายกว่าที่ปรากฎ ขณะที่ 'ธีระชัย' ระบุการดำเนินการทั้ง 2 แนวทาง คนสงสัยหนักขึ้นว่า ธปท. พบปัญหาอะไรเป็นพิเศษหรือไม่
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย 'เงินปันผลระหว่างกาล' และ 'งดซื้อหุ้นคืน' ว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ และจะจบอย่างไร การรักษาภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่าการรักษาภูมิคุ้มกันให้กับสุขภาพของคนไทยแต่ละคน
"ภูมิคุ้มกันที่สำคัญมากอันหนึ่งของธนาคารพาณิชย์คือระดับเงินกองทุน ที่เป็นกันชนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว และความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้เงินกองทุนจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง และเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูอย่างเต็มที่" นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท ระบุว่า การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และแนวทางบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ไทยเข้มแข็ง (ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ BIS ratio ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ร้อยละ 18.7) ธนาคารพาณิชย์จึงสามารถออกมาตรการช่วยดูแลและเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้หลากหลายมาตรการ ในระยะข้างหน้าที่เรายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง เราไม่ควร 'การ์ดตก' ควรจะรักษาระดับเงินกองทุน หรือ 'กันชน' ของธนาคารพาณิชย์ให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง
ดังนั้น การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย 'เงินปันผลระหว่างกาล' และ 'งดซื้อหุ้นคืน' เป็นมาตรการเพื่อไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ 'การ์ดตก' ให้รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งต่อเนื่องจนกว่าจะจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ได้ชัดเจนขึ้น
นายวิรไท กล่าวต่อว่า การประเมินระดับเงินกองทุนที่เหมาะสมของธนาคารพาณิชย์ก็เหมือนการตรวจสุขภาพที่ต้องทำเป็นประจำ ในรอบที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้ประเมินและจัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งสถานการณ์วันนี้ได้เปลี่ยนไปมาก นอกจากนี้ ทั้งการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์และของลูกค้าก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม และมาตรการล๊อคดาวน์ด้วย
ส่วนลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ในช่วงที่ต้องได้รับการเยียวยา ปรับตัว หรือวางแผนธุรกิจใหม่ ธนาคารพาณิชย์จึงไม่สามารถประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งลูกค้าและแผนธุรกิจของตนเองได้อย่างชัดเจน ธปท. จึงขอให้ธนาคารพาณิชย์เร่งทบทวนแผนบริหารจัดการเงินกองทุนในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าโดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการหลากหลายด้านเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ และผ่อนผันกฎเกณฑ์การกำกับดูแลหลายเรื่องเพื่อส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้วย ธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเยียวยาและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ซึ่งต้องคำนวณผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผลประกอบการและระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์อย่างละเอียดในสถานการณ์ต่างๆ (scenarios) ในอนาคต
นายวิรไท กล่าวว่า ในภาวะปกติ ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง (ไม่ใช่ทุกแห่ง) จะจ่าย 'เงินปันผลระหว่างกาล' ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 'เงินปันผลระหว่างกาล' หรือ interim dividend เป็นการจ่ายเงินปันผลนอกรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ต้องรอคำนวณผลการดำเนินงานเมื่อครบปี หรือครบรอบระยะเวลาบัญชี โดยอาจจะคำนวณจากผลประกอบการในรอบครึ่งปีแรกและผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนำมาจ่ายเป็น 'เงินปันผลระหว่างกาล' ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม
ส่วนการ 'ซื้อหุ้นคืน' นั้น ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่คิดว่ามีเงินกองทุนในระดับสูงเกินความจำเป็น หรือเห็นว่าราคาหุ้นในตลาดลงไปอยู่ในระดับต่ำเกินควร ได้มีแผน 'ซื้อหุ้นคืน' จากผู้ถือหุ้นทั่วไป ซึ่งหมายถึงการซื้อหุ้นของตัวเองจำนวนหนึ่งออกจากตลาดหลักทรัพย์มาเก็บไว้ หรือเพื่อนำไปลดทุนในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ลดลง (การงดการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์นั้น 'ไม่กระทบ' ต่อการซื้อขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์ของประชาชนตามปกติแต่อย่างใด)
"การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ไม่ปกติ ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบรุนแรง และยังจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ธนาคารพาณิชย์จึงควรใช้เวลาประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ วางแผนการดำเนินงานอย่างระมัดระวัง และทำงานกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด
เพื่อให้แผนบริหารจัดการเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ที่จัดทำใหม่สอดคล้องกับสถานการณ์ข้างหน้า และสอดคล้องกับบทบาทของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องปล่อยสินเชื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายหลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลงด้วย" นายวิรไทกล่าว
นายวิรไท ย้ำว่า การขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย 'เงินปันผลระหว่างกาล' และ 'งดซื้อหุ้นคืน' นี้ แม้ว่าจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในช่วงสั้นๆ แต่จะเป็นผลดีสำหรับผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว เป็นผลดีต่อผู้ฝากเงิน และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมด้วย เพราะจะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินไทยเข้มแข็ง รักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง มีกันชนที่จะรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก โดยเฉพาะถ้าเกิดการแพร่ระบาดโควิด 19 ระยะใหม่ๆ
"การประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายกลางของ ธปท. นอกจากจะช่วยให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ร่วมตลาดแล้ว ยังช่วยลดความกังวลให้แก่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการบริหารจัดการแบบระมัดระวังเป็นพิเศษ ในช่วงที่ผ่านมาผู้บริหารธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้แจ้งความกังวลให้ธปท. ทราบว่าผู้ถือหุ้น และผู้ฝากเงินอาจจะเข้าใจผิดได้ ถ้าธนาคารพาณิชย์บางแห่งที่เคยจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลประกาศงดจ่ายในปีนี้ หรือยกเลิกแผนการซื้อหุ้นคืนด้วยตนเอง
อาจจะถูกเข้าใจผิดไปว่าธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการรอบคอบระมัดระวังเป็นพิเศษหรืออยาก 'ตั้งการ์ดสูง' เป็นธนาคารพาณิชย์ที่กำลังมีปัญหาเรื่องฐานะการเงินหรือได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 รุนแรงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น ถ้า ธปท. ไม่ออกแนวนโยบายกลางให้ชัดเจน ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่เคยจ่าย 'เงินปันผลระหว่างกาล' ก็คงจะต้องจ่ายไปตามปกติ ทั้งที่อยากจะสร้างกันชน และใช้เวลาประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบระมัดระวัง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง" นายวิรไทกล่าว
นอกจากนี้ ใครที่ติดตามเรื่องของธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินรอบโลกก็คงไม่แปลกใจกับนโยบายเรื่องนี้ของ ธปท. ในขณะที่ ธปท. เพิ่งขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย 'เงินปันผลระหว่างกาล' และ 'งดซื้อหุ้นคืน' ในระหว่างทบทวนแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลหลายประเทศทั่วโลกได้ออกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปก่อนหน้านี้หลายเดือน บางประเทศ (เช่น อังกฤษ) ขอให้งดซื้อหุ้นคืน และไปไกลถึงขนาดขอให้งดการจ่ายเงินปันผลประจำปีจากผลประกอบการของปีที่แล้วด้วย
บางประเทศ(เช่น สหภาพยุโรป และนิวซีแลนด์) ขอให้งดซื้อหุ้นคืนและงดการจ่ายเงินปันผลไประยะเวลาหนึ่งเพื่อรอความชัดเจนของสถานการณ์โควิด 19 ก่อน บางประเทศ(เช่น ออสเตรเลีย)ขอให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำ stress test ใหม่ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ก่อนที่จะพิจารณาจ่ายเงินปันผล หลายประเทศที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็มีแนวนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลเช่นกัน รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาสนับสนุนให้ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินทั่วโลกมีนโยบายระงับการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนของธนาคารพาณิชย์ด้วย
"แนวนโยบายเรื่องการขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย 'เงินปันผลระหว่างกาล' และ 'งดซื้อหุ้นคืน' ในระหว่างที่ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่นี้ จะเป็นผลดีสำหรับผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว เป็นผลดีต่อผู้ฝากเงิน และเป็นผลดีต่อระบบสถาบันการเงิน จะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์รักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อเนื่อง เป็นกันชนรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต และมีเงินกองทุนที่จะสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง" นายวิรไท กล่าว
ด้านกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรมว.คลัง โพต์เฟซบุ๊กส่วนตัว 'Korn Chatikavanij - กรณ์ จาติกวณิช' โดยระบุว่า "คำสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลและห้ามซื้อหุ้นตัวเองคืน เป็นสัญญาณว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประเมินสถานการณ์หนี้เสียว่าเลวร้ายกว่าที่ปรากฎ
ถามว่าทำไมต้องออกคำสั่งแทนที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินเองตามความเหมาะสม อาจจะเป็นเพราะนายแบงค์พาณิชย์ต้องการคำสั่งเป็นเกราะกำบังจากความไม่พอใจของนักลงทุนที่รอรับเงินปันผล ช่วงหลังหลายคนเข้าไปซื้อหุ้นเพราะราคาลดลงมาก ด้วยหวังผลตอบแทนจากเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับ วันจันทร์นี้คาดว่าหุ้นธนาคารมีโอกาสสูงที่จะปรับลงแรง และผลกระทบต่อความมั่นใจทางเศรษฐกิจจะต้องมีอย่างแน่นอน
ที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเหลือสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการอยู่รอด วันนี้ SME ทุกระดับยังเข้าไม่ถึงมาตรการของรัฐบาล ดังนั้นการใช้เงินกู้ของรัฐบาลต้องมีการออกแบบให้ถึงมือผู้ประกอบการโดยตรง รวดเร็ว ไม่รั่วไหล และต้องมีการใช้ในการจัดซื้อสินค้านำเข้าให้น้อยที่สุด รอบหมุนของเงินต้องมากที่สุด"
ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Thirachai Phuvanatnaranubala' เรื่อง 'ธปท.สั่งแบงค์ห้ามจ่ายปันผล' ว่า 'ผมโพสต์หลายครั้งว่า วิกฤตโควิดจะหนักพอกับมหาวิกฤตปี 1930 ตั้งแต่ไตรมาสสามเป็นต้นไป จะเกิดปัญหาสภาพคล่องติดขัด ดึงกันดึงกันมา จากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่ง เป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่ และสุดท้ายจะวนไปที่แบงค์ ในรูปของ NPL ซึ่งขณะนี้ปัญหานี้ถูกแช่แข็งอยู่ กว่าจะรู้ตัวเลข NPL จริง ก็เมื่อพ้นเดือน ต.ค. ไปแล้ว
วันนี้ ธปท. ออกมาตรการ กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนให้รัดกุม และให้ธนาคารพาณิชย์ งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในปี 2563 รวมถึงงดการซื้อหุ้นคืน ผมตั้งข้อสังเกต เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเป็นการยอมรับความจริง และเตรียมตั้งรับแต่เนิ่นๆ
อย่างไรก็ตาม ธปท.เห็นตัวอย่างหลายประเทศตะวันตก ที่ประกาศมาตรการนี้มาหลายเดือนแล้ว ทำไมไม่ประกาศไปพร้อมกับการออกพระราชกำหนด เป็น package ใหญ่ กลับไปเลือกเลียนแบบเฉพาะแต่การทำ QE โดยรับซื้อตราสารหนี้เอกชน การประกาศมาตรการเมื่อจวนตัว ย่อมทำให้นักลงทุนสงสัยว่า ธปท. เริ่มเห็นอาการปัญหาหนักขึ้น
ในขณะที่ท่านรองนายก ดร.สมคิด ประกาศว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นมังกรบินได้ ก็ยิ่งทำให้คนสงสัยหนักขึ้นว่า ธปท. พบปัญหาอะไรเป็นพิเศษ"
อ่านประกอบ :
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/