'กนส.-ธปท.' มีมติเห็นชอบ 'สถาบันการเงิน' จ่ายเงินปันผลประจำปี 63 หลังผลการประเมินผล ‘stress test’ ชี้ระบบสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่ง ขณะที่ ‘เงินกองทุน-เงินสำรอง’ มีเพียงพอ แต่ให้จ่ายได้ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิปี 63 และต้องจ่ายไม่เกินกว่าอัตราที่จ่ายในปี 62
................
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) มีมติเห็นชอบแนวทางการจ่ายเงินปันผลของสถาบันการเงินประจำปี 2563 โดยให้สถาบันการเงินจ่ายปันผลได้ แต่การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราการจ่ายในปี 2562 และต้องไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิของปี 2563 โดยมีเหตุผล 4 ข้อ ได้แก่
1.สถาบันการเงินยังคงมีเงินกองทุนและเงินสำรองเพียงพอ รองรับสถานการณ์เลวร้ายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้
2.สถาบันการเงินในปัจจุบันเพิ่มความระมัดระวังด้วยการทยอยตั้งสำรองและสะสมเงินกองทุนเพิ่มเติมมาโดยตลอด ทำให้ ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 สถาบันการเงินมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.8% และมีอัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อ NPL (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 150%
3.แนวนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้รักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็ง มีระบบสูงอย่างต่อเนื่อง และมีกันชน ที่สามารถรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น และเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน ลูกหนี้ของสถาบันการเงินในระยะยาว รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวม
4.นโยบายนี้สอดรับกับแนวทางในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ของผู้กำกับตรวจสอบในต่างประเทศหลายแห่ง
“นโยบายของธปท.ที่ให้สถาบันการเงินจ่ายปันผลในครั้งนี้ จะยังคงทำให้ระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง และระดับเงินกองทุนยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญสถาบันการเงินจะยังเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ ผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนในระยะยาว” นายรณดลกล่าว
ส่วนแนวทางการจ่ายปันผลของสถาบันการเงินในปีต่อๆไปนั้น นายรณดล กล่าวว่า จะต้องพิจารณาเป็นรายปีไป โดยจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การทำ stress test ที่จะมองสถานการณ์ไปข้างหน้าในระยะ 3 ปีต่อเนื่องไป และการติดตามฐานะของสถาบันการเงิน เนื่องจากยังมีความเสี่ยงและมีความไม่แน่นอนอยู่ แม้ว่าจะมีข่าวเรื่องวัคซีนออกมา
ขณะที่น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ได้ขยายความถึงเหตุผลที่ ธปท.อนุญาตให้สถาบันการเงินจ่ายเงินปันผลประจำปี 2563 ได้ ว่า จากการทำการประเมินผล stress test ของสถาบันการเงิน ซึ่งมองไปข้างหน้า 3 ปี คือ ในช่วงปี 2563-2565 พบว่าระบบสถาบันการเงินไทยยังมีความเข้มแข็ง ทนทาน และรองรับกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงได้
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบสุขภาพและฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินในปัจจุบัน พบว่า ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 สถาบันการเงินมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เฉลี่ยอยู่ที่ 19.8% อัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อ NPL (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 149.7% อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (LCR) อยู่ที่ 184.9% และอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (L/D ratio) อยู่ที่ 93%
น.ส.สุวรรณี กล่าวด้วยว่า จากการศึกษาแนวนโยบายการจ่ายปันผลในต่างประเทศพบว่ามี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่งดจ่ายปันผลทั้งจำนวน คือ อังกฤษ นิวซีแลนด์ และยุโรป 2.กลุ่มที่ให้จ่ายปันผลบางส่วน ไม่ได้จ่ายอย่างเสรี แต่ยังให้จ่ายได้อยู่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ตรงกับของธปท.ที่ได้อนุมัติในครั้งนี้ คือ สหรัฐ แคนาดา สิงคโปร์ และออสเตรเลีย และ3.กลุ่มที่ไม่มีการกำหนดนโยบายให้ปันผล คือ มาเลเซีย และเกาหลีใต้
อ่านประกอบ :
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา 'เงินกองทุน' รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/