เปิดคำร้อง ‘เจ้าหนี้’ ยื่น 5 ประเด็น คัดค้านมติ ‘ที่ประชุมเจ้าหนี้’ โหวต ‘เห็นชอบ’ แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ‘การบินไทย’ 3 ฉบับ ก่อนศาลละละลายฯนัดฟังคำสั่ง 21 ม.ค.นี้
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 21 ม.ค.นี้ ศาลล้มละลายกลางได้นัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ประกอบด้วย (1) คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อกำหนดให้ผู้บริหารแผน มีอำนาจลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม
(2) คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า หากในอนาคต บริษัทฯจะมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น บริษัทฯสามารถนำกระแสเงินสดส่วนเกินมาจ่ายเงินปันผลได้ โดยเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะได้รับชำระหนี้ก่อนกำหนดข้อ 5.4 (ข) ของแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ และ (3) คำร้องขอแก้ไขแผนพื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 ราย
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในการพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว ศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ผู้บริหารแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน ยื่นคำชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยในส่วนเจ้าหนี้ผู้คัดค้านนั้น ได้มีการยื่นคำร้อง 2 ฉบับ ได้แก่ คำร้องฉบับลงวันที่ 26 ธ.ค.2567 และคำร้องฉบับลงวันที่ 10 ม.ค.2568 เพื่อขอให้ศาลฯไต่สวนว่าการประชุมเจ้าหนี้ของ บมจ.การบินไทย ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมายใน 5 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
@‘คลัง’ไม่ได้เป็น‘เจ้าหนี้การบินไทย’ ก่อนวันโหวตแก้แผนฯ
1.กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 ไม่มีสถานะ ฐานะ สิทธิ และหน้าที่ในฐานะเจ้าหนี้ ในวันประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567
จากข้อเท็จจริงเรื่องการแปลงหนี้ของกระทรวงการคลังเป็นหุ้นสามัญของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (การบินไทย) เพื่อนำหุ้นสามัญดังกล่าวมาดำเนินการชำระหนี้ให้แก่กระทรวงการคลังนั้น เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ (และต่อมาศาลล้มละลายกลางเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการที่เจ้าหนี้ได้เห็นชอบแผน) การลงมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าว จึงเป็นคำเสนอของกระทรวงการคลังต่อลูกหนี้ (หรือการบินไทย)
และเมื่อคณะผู้บริหารแผน มีมติให้แปลงหนี้เป็นหุ้นในภาคบังคับสำหรับกระทรวงการคลัง ก็เท่ากับว่าคณะผู้บริหารแผนตอบรับคำเสนอของกระทรวงการคลังเป็นคำสนอง ทำให้หนี้ของกระทรวงการคลังที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการหมดสิ้นไป ณ วันที่คณะผู้บริหารแผนมีมติให้แปลงหนี้เป็นหุ้นของกระทรวงการคลังภาคบังคับ
ส่วนการแปลงหนี้เป็นหุ้นภาคสมัครใจ กระทรวงการคลังได้มีหนังสือเสนอความประสงค์ที่จะแปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักของกระทรวงการคลังทั้งจำนวนให้เป็นหุ้น ดังนั้น ตั้งแต่วันที่คณะผู้บริหารแผนมีมติยอมรับคำเสนอ โดยสนองรับการแสดงเจตนาขอแปลงดอกเบี้ยตั้งพักของกระทรวงการคลังดังกล่าว จึงทำให้ความเป็นเจ้าหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักของกระทรวงการคลังสิ้นสุดลง ในวันที่คณะผู้บริหารแผนมีมติยอมรับให้แปลงหนี้ดอกเบี้ยตั้งพักของกระทรวงการคลังเช่นเดียวกัน กล่าวคือ วันที่ 25 พ.ย.2567 ภายหลังจากที่ที่ประชุมผู้บริหารแผนได้อนุมัติให้แปลงหนี้เป็นทุนเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2567
นายทะเบียนหลักทรัพย์ TSD ก็ได้รับรองบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของการบินไทย ที่ระบุกระทรวงการคลังเข้าเป็นผู้ถือหุ้นต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2567 ย่อมมีผลผูกพันตามกฎหมายกับกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นโดยสมบูรณ์แล้ว กระทรวงการคลังจึงมิใช่เจ้าหนี้อีกต่อไป ประกอบกับศาลล้มละลายกลางก็ได้เห็นชอบและมีคำสั่งอนุญาตตามแผนเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2567 ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นโดยได้รับชำระหนี้ครบถ้วนจากการบินไทยโดยสมบูรณ์แล้ว
การเปลี่ยนแปลงสถานะของกระทรวงการคลังจากเจ้าหนี้เป็นผู้ถือหุ้น ที่เป็นผลจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่จำเป็นที่จะต้องรอการรับจดทะเบียนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เนื่องจาก พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 วรรคท้าย ระบุไว้ว่า “ไม่ให้นำมาตรา 136 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาใช้กับการทำแผนฟื้นฟูกิจการ” โดยมาตรา 136 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 กำหนดให้การเพิ่มทุนของบริษัทต้องจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนต่อนายทะเบียน แต่กฎหมายล้มละลายได้ยกเว้นไว้เป็นกรณีพิเศษสำหรับการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ
ดังนั้น การแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะของกระทรวงการคลังจากเจ้าหนี้เป็นผู้ถือหุ้นของการบินไทย จึงถือว่ามีผลสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ที่ประชุมผู้บริหารแผนได้อนุมัติให้แปลงหนี้เป็นทุน เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของการบินไทยนับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.2567 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังได้มีพฤติการณ์แทรกแซงการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของการบินไทย ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยการส่งหนังสือแจ้งขอให้ระงับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของการบินไทย “จนกว่าการประชุมเจ้าหนี้วันที่ 29 พ.ย.2567 จะเสร็จสิ้น” ยิ่งพิจารณาเห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้วกระทรวงการคลังก็ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ในวันประชุมเจ้าหนี้แล้ว แต่ก็พยายามดำเนินการด้วยวิธีการที่แทรกแซงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียน เพื่อให้กระทรวงการคลังยังคงมีสิทธิเข้าประชุมเจ้าหนี้ได้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อกระทรวงการคลังซึ่งไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของการบินไทย นับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.2567 2567 การเข้าร่วมประชุมและออกเสียงในฐานะเจ้าหนี้ วันที่ 29 พ.ย.2567 ทำให้มีมติอนุมัติการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตให้กระทรวงการคลังเข้าร่วมประชุมเจ้าหนี้และออกเสียงในมติที่มีผลต่อเจ้าหนี้ทุกรายนั้น ถือเป็นการให้ผู้ที่มิใช่เจ้าหนี้ กระทำ การออกเสียงในมติสำคัญและมีผลเสียหายต่อเจ้าหนี้ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเทศชาติ และประโยชน์สาธารณะ
@จัดประชุม‘เจ้าหนี้’ผ่าน‘สื่ออิเล็กทรอนิกส์’ไม่ชอบด้วยกม.
2.การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอแก้ไขแผน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-meeting) วันที่ 29 พ.ย.2567 นั้น เป็นการจัดประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรูปแบบตามที่่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
ในการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พ.ย.2567 ที่จัดขึ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้จัดให้เจ้าหนี้ที่เข้าร่วมประชุม แสดงตนหรือยืนยันตัวตนเพื่อเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนการเข้าร่วมประชุมและเข้าไปลงมติผ่านเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี Led.go.th ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
จากการที่ไม่มีขั้นตอนการยืนยันตัวตนในการประชุมเจ้าหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการประชุม อาทิเช่น (1) มีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เข้าร่วมประชุมด้วยอีเมลที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนว่าเป็นเจ้าหนี้รายใด (2) มีบุคคลมากกว่า 1 คนเข้าร่วมประชุมแทนเจ้าหนี้แต่ละราย ทั้งที่เงื่อนไขการเข้าร่วมประชุม วันที่ 29 พ.ย.2567 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เจ้าหนี้ 1 ราย เข้าร่วมประชุมด้วยอีเมล 1 อีเมล จึงทำให้ไม่อาจทราบได้ว่า บุคคลที่ลงมติแต่ละวาระ (ทั้งสามวาระ) เป็นเจ้าหนี้ที่แท้จริง หรือเป็นบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ที่แท้จริงหรือไม่ ประการใด
นอกจากนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้เก็บข้อมูลการยืนยันตัวตน พร้อมข้อมูลจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญที่ต้องตรวจสอบและเก็บรักษาไว้ เพราะจะสามารถตรวจสอบและยืนยันตัวตนได้ว่า เจ้าหนี้แต่ละรายใช้โครงข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ IP Address ใดเข้าประชุม และประชุมจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามคำแถลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่แถลงว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้เก็บข้อมูลจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ในวันประชุม จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีการตรวจสอบว่าบุคคลที่เข้าร่วมแต่ละรายเป็นเจ้าหนี้จริงหรือไม่ และใช้ IP Address ใด เข้าประชุมทำให้มติการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พ.ย.2567 จึงเป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อหลักการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้การประชุมอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมีผลเป็นโมฆะต่อไปได้
@การนับ‘คะแนน’มติที่ประชุมเจ้าหนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.คะแนนเสียงของเจ้าหนี้ที่ลงมติล่วงหน้าไม่ถูกนำมาคำนวณรวมเป็นมติในที่ประชุมในวันที่ 29 พ.ย.2567
จากการตรวจสอบมติในที่ประชุมของเจ้าหนี้ ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นต่อศาลล้มละลาย ประกอบกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับเจ้าหนี้บางรายที่ได้ส่งมติล่วงหน้าให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนวันประชุม เจ้าหนี้ที่ร้องขอให้ไต่สวนพบว่า มติการประชุมของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กล่าวคือ การลงมติล่วงหน้าของเจ้าหนี้บางรายกลับไม่ถูกนำมาคำนวณรวมในมติของเจ้าหนี้ เช่น
(1) บริษัท แบงค์คอก ไรเตอร์ จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 1963 ได้ส่งมติล่วงหน้าให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทาง ไปรษณีย์ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2567
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบจากผลลงมติของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (ตามเอกสารที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งต่อศาลตามหมายเรียกพยานเอกสาร) กลับไม่ปรากฏว่า บริษัท แบงค์คอก ไรเตอร์ จำกัด ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้้ในวันที่ 29 พ.ย.2567 แต่อย่างใด
(2) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายที่ 6856 ได้โหวต โดยส่งมติล่วงหน้าให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตอบรับยืนยันว่า ได้รับอีเมลดังกล่าวทางอีเมล เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เมื่อได้ตรวจสอบจากผลลงมติของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (ตามเอกสารที่ส่งต่อศาลตามหมายเรียกพยานเอกสาร) กลับไม่ปรากฏว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พ.ย.2567 แต่อย่างใด
จากกรณีตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า มติล่วงหน้าที่เจ้าหนี้ได้ส่งแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้นำมาคำนวณรวมในมติพิจารณาข้อเสนอแก้ไขแผนของผู้บริหารแผนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จึงเป็นการนับคะแนนมติในที่ประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และส่งผลให้การประชุมเจ้าหนี้้ในวันที่ 29 พ.ย.2567 เป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลผูกพันการบินไทย เจ้าหนี้หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป
@มติประชุม‘ผิดพลาด’-‘เจ้าหนี้’ไม่ทราบรายละเอียดครบถ้วน
4.คะแนนเสียงของเจ้าหนี้ที่ลงมติล่วงหน้าถูกเปลี่ยนแปลงโดยไม่ชอบ ไม่ตรงกับมติที่เจ้าหนี้ออกคะแนนเสียง
เจ้าหนี้ที่ร้องขอให้ไต่สวนได้ตรวจสอบเพิ่มเติม และพบว่าคะแนนเสียงของเจ้าหนี้บางรายที่ลงมติล่วงหน้าถูกเปลี่ยนแปลง ไม่ตรงกับมติที่เจ้าหนี้ออกคะแนนเสียงจริง อาทิเช่น มติของนางกิติมา สีดลกาญจน์ โดยนางกิติมาฯ ได้ส่งมติล่วงหน้าทางอีเมล ให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งนางกิติมาฯ ได้ลงมติในวาระการแก้ไขแผนฉบับที่ 3 ว่า “ไม่ยอมรับ” แต่ ในมติพิจารณาข้อเสนอแก้ไขแผนของผู้บริหารแผน ฉบับที่ 3 ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กลับปรากฏว่า นางกิติมาฯ ลงมติในวาระการแก้ไขแผนฉบับที่ 3 ว่า “ยอมรับ”
จากข้อเท็จจริงข้างต้น จึงเห็นได้ว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้สรุปมติการประชุมของนางกิติมาฯ ผิดพลาด อย่างเป็นสาระสำคัญ กล่าวคือ ระบุมติไม่ยอมรับของนางกิติมาฯ เป็นมติยอมรับการแก้ไขแผน
ด้วยเหตุดังกล่าว การประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พ.ย.2567 ครั้งนี้ จึงเป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก มติการประชุมมีความผิดพลาดจากมติที่เจ้าหนี้แสดงเจตนาลงมติจริง และไม่มีผลผูกพันการบินไทย เจ้าหนี้หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
5.เรื่องการลงมติในที่ประชุมเจ้าหนี้้ทำพร้อมทั้ง 3 วาระ ในคราวเดียว ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ทราบถึงรายละเอียดการลงมติทั้ง 3 วาระในคราวเดียว ส่งผลให้เจ้าหนี้ไม่ได้ลงมติในวาระการประชุมอย่างครบถ้วน
ในการประชุมเจ้าหนี้ ในวันที่ 29 พ.ย.2567 ประกอบไปด้วยวาระในการพิจารณา จำนวน 3 วาระ ซึ่งโดยปกติ การลงคะแนนเสียงของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ผ่านมา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ดำเนินการโหวตทีละวาระ และประกาศผลทีละวาระ เรียงวาระไปตามหนังสือเชิญประชุมเจ้าหนี้
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พ.ย.2567 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กลับจัดให้มีการลงคะแนนเสียงทั้ง 3 วาระในคราวเดียว ซึ่งเป็นการลงคะแนนเสียงที่แตกต่างไปจากการประชุมเจ้าหนี้ที่เคยจัดก่อนหน้านี้ของการบินไทย ทั้งนี้ เจ้าหนี้ก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดการเปลี่ยนรูปแบบการลงคะแนนเสียงดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ทราบก่อนการประชุมแต่อย่างใด
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดให้เจ้าหนี้ลงคะแนนเสียงทั้ง 3 วาระในคราวเดียว ก่อให้เกิดความสับสนต่อเจ้าหนี้้เป็นอย่างมาก กล่าวคือ เจ้าหนี้หลายรายที่เข้าใจว่า การลงมติในที่ประชุมจะเป็นการลงมติในแต่ละวาระ เจ้าหนี้รายดังกล่าวก็ได้ลงคะแนนเสียงเพียงแค่วาระที่ 1 เพียงวาระเดียว และกดส่งผลการลงคะแนนเข้าไปในระบบ ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า เจ้าหนี้รายดังกล่าวไม่ได้ลงคะแนนเสียงในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 อันส่งผลให้คะแนนในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 เป็น “การงดออกเสียง” ซึ่งไม่ใช่เจตนาในการลงคะแนนเสียงที่แท้จริงของเจ้าหนี้รายดังกล่าว
ทั้งนี้ ปรากฏว่ามีเจ้าหนี้รายหนึ่งที่ไม่ทราบว่าจะต้องลงมติใน 3 วาระในคราวเดียว ในวันประชุมดังกล่าว เมื่อถึงเวลาให้ลงมติในเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี ปรากฏว่า ในหน้าเว็บไซต์ของกรมบังคับคดีปรากฏให้เจ้าหนี้รายดังกล่าว ลงคะแนนเพียงวาระที่ 1 เพียงวาระเดียว และไม่ปรากฏช่องหรือข้อความใดๆ ให้ลงมติในวาระที่ 2 และ 3 ดังนั้น เจ้าหนี้รายดังกล่าว จึงมีโอกาสลงมติแค่วาระที่ 1 เท่านั้น
นอกจากนี้ เมื่อเจ้าหนี้รายดังกล่าวได้ทักท้วงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เจ้าหนี้ไม่ได้ลงคะแนนเสียงในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 เนื่องจากระบบการลงคะแนนเสียงที่เปลี่ยนรูปแบบ และเจ้าหนี้ไม่รับทราบการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงคะแนนเสียงมาก่อนการประชุม โดยเจ้าหนี้ประสงค์ที่จะลงคะแนนเสียงในวาระที่ 2 และ 3 อีกครั้ง ปรากฏว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กลับปฏิเสธไม่ให้เจ้าหนี้เข้าไปในระบบเพื่อลงคะแนนเสียงใหม่ โดยอ้างว่า “สิ้นสุดเวลาการลงคะแนน” และปิดระบบการลงคะแนนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ภายหลัง เมื่อเจ้าหนี้รายข้างต้นได้กลับมาตรวจสอบมติการประชุมของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กลับปรากฏข้อผิดพลาดในมติการประชุมข้างต้น กล่าวคือ ในมติการประชุมระบุว่า เจ้าหนี้้รายนั้นได้ลงมติในวาระที่ 1 เป็น “ยอมรับ” และวาระที่ 2 และ 3 เป็น “งดออกเสียง” ซึ่งการระบุมติของเจ้าหนี้รายนั้นๆ เป็นการระบุมติที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก เจ้าหนี้รายดังกล่าวไม่ได้ออกคะแนนเสียงในวาระที่ 2 และ 3 เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของระบบการลงคะแนนเสียงของกรมบังคับคดี ไม่ใช่มติที่เจ้าหนี้ข้างต้นประสงค์จะลงมติที่แท้จริงแต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
‘ศาลฯ’นัดฟังคำสั่งขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’3 ฉบับ 21 ม.ค.ปีหน้า หลัง'เจ้าหนี้'คัดค้าน
ที่ประชุม‘เจ้าหนี้’ไฟเขียวแก้แผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’3 ฉบับ-ตั้ง‘2 ผู้บริหารแผน’ชนะเฉียดฉิว
เสียหายวันละ 2 ล.! ‘การบินไทย’ขู่ฟ้องแพ่ง-อาญา‘นายทะเบียน’ ชะลอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนฯ
‘การบินไทย’แจงแนวทาง‘เจ้าหนี้’โหวตแก้แผนฟื้นฟูฯ 3 ฉบับ-เสนอขาย‘หุ้นเพิ่มทุน’4.4 หมื่นล.
‘เจ้าหนี้’ 55.92% ลงมติเลื่อนโหวตแต่งตั้ง 2 ผู้บริหารแผน'การบินไทย' เป็น 29 พ.ย.นี้
'กก.เจ้าหนี้'ค้านรัฐแทรกแซง'การบินไทย' เสนอโหวตล้มเพิ่ม'ผู้บริหารแผน'จาก'คลัง' 2 ราย
'ชอส.'หวัง'การบินไทย'ทยอยคืนเงินต้น'หุ้นกู้' ปลดล็อกเพิ่ม'ปันผล'-หนุน‘แปลงหนี้เป็นทุน’
ศาลฯเพิกถอนคำสั่ง‘พนง.ตรวจแรงงาน’ ปมให้‘การบินไทย’จ่ายค่าจ้าง‘วันหยุดพักผ่อนฯ’
ศาลฯยกฟ้อง คดี'การบินไทย'ขอเพิกถอนคำสั่งจ่าย'ค่าชดเชย'วันหยุดประจำปีสะสม'อดีต พนง.'
‘การบินไทย’ ยอมรับมีแผนจัดหาเครื่องบิน 45 ลำจริง มั่นใจมีสภาพคล่องพอในการจัดซื้อ
‘เศรษฐา’เล็งนัด ‘การบินไทย’ คุยปมซื้อเครื่องบินใหม่ ‘สุริยะ’ ห่วงแต่ทำอะไรไม่ได้
ทำผิดซ้ำริบสิทธิฯถาวร! ‘การบินไทย’รื้อประกาศฯเกณฑ์ระงับ-เรียกคืน‘สิทธิบัตรโดยสาร’พนักงาน
‘ศาลอุทธรณ์ฯ’พิพากษายืน สั่ง‘การบินไทย’นำ'ค่าชั่วโมงบิน'คำนวณจ่ายชดเชยเลิกจ้างฯ'พนักงาน'
ต้องเปิดเผยข้อมูล-โปร่งใส จิ๊กซอว์สำคัญ ฟื้นฟูการบินไทย?
‘เศรษฐา’ รับอึดอัดใจ ปัญหา ‘การบินไทย’ กวดขันทำตามแผนฟื้นฟู
‘บอร์ดติดตามการบินไทย’ จ่อคุยฟื้นสถานะสายการบินแห่งชาติ
‘เศรษฐา’ เซ็นตั้งบอร์ดติดตาม ‘แผนฟื้นฟูการบินไทย’ ‘สุริยะ’ นั่งประธาน
‘ศาลแรงงาน’ สั่ง ‘การบินไทย’ จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง‘ส่วนที่ขาด’ ให้อดีตพนักงาน 17 ราย
‘บิ๊กตู่’มั่นใจ‘การบินไทย’คืนหนี้ได้ตามแผนฯ-แนะปรับปรุงเส้นทางบินให้สอดคล้องผู้โดยสาร
มิได้กระทำผิดสัญญา! ศาลแรงงานฯยกฟ้อง‘การบินไทย’ คดีค่าชดเชยเลิกจ้าง 40 อดีต พนง.
‘การบินไทย’ประกาศ ‘ร้องเรียนกรมสวัสดิฯ-ใช้โซเชียลให้ร้ายบริษัท’โดนริบสิทธิบัตรโดยสารพนง.
ที่ประชุมเจ้าหนี้ฯไฟเขียว‘การบินไทย’ปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มการบิน-ยันไม่กระทบผู้โดยสาร
‘การบินไทย’ขอ‘ครม.’คงสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’-ให้‘คลัง’ใช้สิทธิแปลงหนี้-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน
'ศาลแรงงาน'สั่ง‘การบินไทย’จ่าย 19 อดีตพนง. 14.3 ล้าน กรณีถูกหัก'เงินชดเชยฯ'คืนหนี้สหกรณ์
จ่อยุบ‘ไทยสมายล์ฯ’ปีนี้! ‘การบินไทย’ลุย‘แปลงหนี้เป็นทุน’-เหลือแอร์บัส A340 รอขาย 4 ลำ
รัฐถือหุ้นไม่ถึง50%ก็เป็นได้! สั่ง‘คลัง’แก้มติฯดัน‘การบินไทย’ฟื้นสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’
ฉบับเต็ม! เปิดความคืบหน้าฟื้นฟูฯ'การบินไทย' ขอ'คลัง'ซื้อหุ้นเพิ่มทุน-ตามหนี้'ทอ.'พันล้าน