‘ศาลแรงงานกลาง’ สั่ง ‘การบินไทย’ จ่าย ‘เงินค่าชดเชย-สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า’ ให้อดีตพนักงานฯ 19 ราย รวม 14.3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15% หลังออกคำสั่งให้หัก ‘เงินชดเชยฯ’ คืนหนี้สหกรณ์ฯ ขณะที่ 'บริษัทฯ' ยื่นอุทธรณ์แล้ว
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลแรงงานกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีที่อดีตพนักงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 5 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท การบินไทยฯ รวม 5 สำนวน กรณีถูกบริษัท การบินไทยฯ เลิกจ้าง หลังจากไม่ได้เข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออก และโครงการกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กรใหม่ ซึ่งการเลิกจ้างดังกล่าวให้มีผลในวันที่ 31 พ.ค.2564
แต่อดีตพนักงานฯทั้ง 5 คน ไม่ได้รับเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในวันเลิกจ้าง จากบริษัท การบินไทยฯ เนื่องจากบริษัท การบินไทยฯ ได้มีคำสั่งที่ 298/2564 ลงวันที่ 16 ก.ย.2564 ให้หักเงินค่าชดเชยฯ ของอดีตพนักงานฯทั้ง 5 คน เพื่อไปชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด
นอกจากนี้ อดีตพนักงานฯทั้ง 5 คน ยังขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้บริษัท การบินไทยฯ จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมฯที่มีอยู่ เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งของบริษัท การบินไทยฯ ที่แจ้งให้อดีตพนักงานทั้ง 5 คน ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมภายในเดือน พ.ค.2564 นั้น ขัดต่อสภาพการจ้าง ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของบริษัท การบินไทยฯ ก่อนที่ในเวลาต่อมาอดีตพนักงานทั้ง 5 ราย และลูกจ้างอื่นๆรวม 508 คนจะถูกเลิกจ้าง เพราะไม่ได้เข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออก และโครงการกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กรใหม่
ทั้งนี้ ศาลฯได้วินิจฉัยข้อพิพาทในประเด็นต่างๆ และมีคำสั่งให้บริษัท การบินไทยฯ จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนสะสมฯ ให้แก่อดีตพนักงานทั้ง 5 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3.35 ล้านบาทเศษ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตรา 15% ต่อปีของต้นเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่อดีตพนักงานฯทั้ง 5 คน และดอกเบี้ยในอัตรา 15% ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4
รวมทั้งให้เพิกถอนคำสั่งบริษัท การบินไทยฯ ที่ 298/2564 ลงวันที่ 16 ก.ย.2564 ที่ให้หักเงินค่าชดเชยฯของอดีตพนักงานทั้ง 5 คน เพื่อชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด ด้วย
“...เห็นว่า เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 (พนักงานตรวจแรงงาน) เอกสารหมาย จ.1 แล้ว พบว่า จำเลยที่ 1 หยิบยกเรื่องค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งกำหนดเป็นประเด็นวินิจฉัยไว้ในข้อ 3 ว่า จำเลยที่ 2 (บริษัท การบินไทยฯ) มีสิทธิหักค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของโจทก์ทั้งห้าหรือไม่อย่างไร
โดยจำเลยที่ 1 (พนักงานตรวจแรงงาน) วินิจฉัยและมีคำสั่งในประเด็นดังกล่าวในทำนองว่า ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นประเภทเงินที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพราะมิใช่เงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด หรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด
แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 (บริษัท การบินไทยฯ) และโจทก์ทั้งห้า มีข้อตกลงกันตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 ซึ่งเป็นกฎหมายอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเงินค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จำเลยที่ 2 หักส่งสหกรณ์ฯ เพื่อชำระหนี้สหกรณ์ฯที่โจทก์ทั้งห้ามีต่อสหกรณ์ฯ
เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 (บริษัท การบินไทย) กำหนดในส่วนของเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นประเด็นข้อวินิจฉัยแล้ว เพียงแต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิหักเงินค่าชุดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งเป็นเงินที่โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อชำระหนี้สหกรณ์ฯตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 ,ข้อตกลงในสัญญากู้เงิน, หนังสือยินยอม และข้อบังคับสหกรณ์ ฯ หรือไม่
เมื่อเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงินที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย จึงเป็นเงินที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ดังนั้น เมื่อมีกรณีที่จำเลยที่ 2 (บริษัท การบินไทยฯ) ผู้เป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับเงินค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ทั้งห้าของโจทก์ทั้งห้า
แม้จำเลยที่ 2 มีข้อต่อสู้ว่า ตนเองไม่ต้องจ่ายตามกฎหมายอื่น มิใช่กฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่จำเลยที่ 1 (พนักงานแรงงาน) ก็ยังมีหน้าที่ต้องสอบสวน และวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิหักเงินค่าชดเขยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งเป็นเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อชำระหนี้สหกรณ์ฯตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 ,ข้อตกลงในสัญญากู้เงิน ,หนังสือยินยอม และข้อบังคับสหกรณ์ฯ หรือไม่
เพราะสิทธิการรับเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นสิทธิที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน และเมื่อวินิจฉัยเป็นประการใดแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งเป็นเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แก่โจทก์ทั้งห้าหรือไม่
การที่จำเลยที่ 1 มิได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องดังกล่าวไว้ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ยังไม่ครบถ้วน ข้ออ้างของโจทก์ทั้งห้าฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ไม่รวบรวมแสวงหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาว่าโจทก์ทั้งห้าให้ความยินยอมเป็นหนังสือให้สหกรณ์ฯ หรือจำเลยที่ 2 หักเงินค่าชดเขยหรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าทั้งหมดหรือไม่ ในระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่ 2 มีวิธีปฏิบัติอันเป็นสภาพการจ้างในการใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีอย่างไร จึงไม่ชอบด้วยระเบียบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่าด้วยการรับคำร้องและการพิจารณาคำร้องของพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
พบว่า ในสำนวนการสอบสวนตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 มีการแสวงหาพยานหลักฐานในเรื่องดังกล่าวไว้ เพียงแต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้วินิจฉัยให้เหตุผล มิได้แสดงข้อพิจารณา และข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจไว้ คำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ครบถ้วน ข้ออ้างของโจทก์ฟังขึ้น
เมื่อพิจารณาประกอบกับในเนื้อหาที่ศาลวินิจฉัยตามประเด็นปัญหาข้อพิพาทข้อ 2 ถึงข้อ 5 ข้างต้นแล้ว กรณีจึงมีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 (พนักงานแรงงาน) ในส่วนที่ว่า จำเลยที่ 2 (บริษัท การบินไทย) ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งห้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4
พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ 1 ที่ 298/2564 ลงวันที่ 16 กันยายน 2564 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ทั้งห้า โดยให้จำเลยที่ 2 (บริษัท การบินไทย) จ่ายค่าชดเชย 786,793 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 53,075 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมและตามส่วนของปีถูกเลิกจ้างในส่วนที่มิได้นำค่าตอบแทนพิเศษ 4,000 บาทมารวมคำนวณ รวม 78 วัน เป็นเงิน 10,399.99 บาท แก่โจทก์ที่ 1
จ่ายค่าชดเชย 786,293 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 53,075 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมและตามส่วนของปีถูกเลิกจ้างในส่วนที่มิได้นำค่าตอบแทนพิเศษ 4,000 บาทมารวมคำนวณ รวม 78 วัน เป็นเงิน 10,399.99 บาทแก่โจทก์ที่ 2, จ่ายค่าชดเชย 552,347 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 37,/283บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมและตามส่วนของปีถูกเลิกจ้างในส่วนที่มิได้นำค่าตอบแทนพิเศษ 4,000 บาท มารวมคำนวณรวม 61 วัน เป็นเงิน 8,133.33 บาทแก่โจทก์ที่ 3
จ่ายค่าชดเชย 327,300 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 29,457 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมและตามส่วนของปีถูกเลิกจ้างในส่วนที่มิได้นำค่าตอบแทนพิเศษ 4,000 บาท มารวมคำนวณ รวม 65 วัน เป็นเงิน 8,666.67 บาท แก่โจทก์ที่ 4 ,จ่ายค่าชดเชย 645,200 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 43,551 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 5
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินค่าซดเขยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันเที่ 4 มิถุนายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 แต่ละคนนับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4
คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง คดีหมายเลขดำที่ ร 4292/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ร 5896/2565 , คดีหมายเลขดำที่ ร 4293/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ร 5897/2565 ,คดีหมายเลขดำที่ ร 4294/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ร 5898/2565 ,คดีหมายเลขดำที่ ร 4295/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ร 5899/2565 และคดีหมายเลขดำที่ ร 4296/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ร 5900/2565 ลงวันที่ 19 ธ.ค.2565 ระบุ
นอกจากนี้ ศาลแรงงานกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ร 4317-4333/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ร 157-173/2566 ลงวันที่ 19 ม.ค.2566 โดยศาลฯสั่งให้บริษัท การบินไทยฯ จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนสะสมฯ ให้แก่อดีตพนักงานฯทั้ง 14 ราย ที่บริษัท การบินไทยฯ ได้มีคำสั่งที่ 300/2564 ลงวันที่ 16 ก.ย.2564 ให้หักเงินค่าชดเชยฯของอดีตพนักงานฯทั้ง 14 คน เพื่อชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 10.99 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 15% ต่อปี
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากศาลแรงงานชั้นต้นได้มีคำพิพากษาทั้ง 2 คดีดังกล่าวแล้ว บริษัท การบินไทยฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ เช่นเดียวกับคดีในลักษณะเดียวกันก่อนหน้านี้ ซึ่งศาลแรงงานชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท การบินไทยฯ จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนสะสมฯ ให้กับอดีตพนักงานบริษัท การบินไทย ที่ถูกหักเงินฯชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด รวมแล้วไม่น้อยกว่า 50 คน ซึ่งบริษัท การบินไทยฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว
อ่านประกอบ :
จ่อยุบ‘ไทยสมายล์ฯ’ปีนี้! ‘การบินไทย’ลุย‘แปลงหนี้เป็นทุน’-เหลือแอร์บัส A340 รอขาย 4 ลำ
รัฐถือหุ้นไม่ถึง50%ก็เป็นได้! สั่ง‘คลัง’แก้มติฯดัน‘การบินไทย’ฟื้นสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’
ฉบับเต็ม! เปิดความคืบหน้าฟื้นฟูฯ'การบินไทย' ขอ'คลัง'ซื้อหุ้นเพิ่มทุน-ตามหนี้'ทอ.'พันล้าน
ปรับโครงสร้างทุน! 'การบินไทย'ขอ'คลัง'ซื้อ'หุ้นเพิ่มทุน' รักษาสัดส่วนรัฐไม่น้อยกว่า 40%
ที่ประชุม 'เจ้าหนี้' โหวต 'ยอมรับ' แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ‘การบินไทย’
ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ รุดแจง ‘นายทะเบียน’ กรณีให้ ‘สหกรณ์’ แปลงหนี้เป็นทุน
เปิดแผน ‘การบินไทย’ ปรับโครงสร้างทุน 8 หมื่นล้าน ‘คลัง’ ลดถือหุ้นเหลือ 32.7%
ครม.รับทราบแก้ปัญหา'การบินไทย'คาดออกจากแผนฟื้นฟูเร็วกว่ากำหนดในสิ้นปี 2567
‘สหกรณ์ฯ’แปลงหนี้เป็นทุนได้ หากแผนฟื้นฟูฯ'การบินไทย'ได้รับความเห็นชอบจาก'ศาลล้มละลาย'