“…การใช้สิทธิในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว จะส่งผลให้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณร้อยละ 32.7 (ไม่รวมการถือหุ้นของหน่วยงานอื่นของภาครัฐ) และในกรณีกระทรวงการคลังไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว จะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลดลงเหลือประมาณร้อยละ 18.7…”
.....................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาของ บมจ.การบินไทย ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลการดำเนินงานของ บมจ.การบินไทย มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย แต่สิ่งที่ บมจ.การบินไทย กำลังเดินหน้าต่อไป คือ การปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯ (อ่านประกอบ : ปรับโครงสร้างทุน! 'การบินไทย'ขอ'คลัง'ซื้อ'หุ้นเพิ่มทุน' รักษาสัดส่วนรัฐไม่น้อยกว่า 40%)
และเพื่อให้เห็นภาพรวมการการฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย ซึ่งปัจจุบันมี กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 47.86% ของหุ้นทั้งหมด และมี ธนาคารออมสิน ถือหุ้นในสัดส่วน 2.13%
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย ซึ่งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย ที่มี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รายงานให้ ครม. รับทราบเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@'การบินไทย'หาสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้าน-เดินหน้าปรับโครงสร้างทุน
การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2565 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีการจัดการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการยื่นคำร้องขอแก้ไข
โดยมีเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้รวมกันในสัดส่วนร้อยละ 78.59 ของจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนและได้มีมติยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565
ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ สรุปได้ดังนี้
1.การก่อหนี้และการระดมเงินทุน รวมถึงแหล่งของเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุน
การบินไทยฯ ได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัดเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ของ การบินไทยฯ อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ทำให้ประเทศไทยและประเทศปลายทางมีการผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการจำกัด และควบคุมการเดินทาง และการบินไทยฯ สามารถมีรายได้จากการขนส่งเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการผ่อนคลายและยกเลิกมาตรการดังกล่าว จึงส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อใหม่ลดลงจากเดิม 50,000 ล้านบาท เหลือ 25,000 ล้านบาท โดยการจัดหาสินเชื่อใหม่ ประกอบด้วย
1) การจัดหาสินเชื่อใหม่ในรูปแบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี จำนวน 12,500 ล้านบาท โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้ ผู้ให้สินเชื่อใหม่ในรูปแบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) จะได้รับสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Share Option) หรือเลือกชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เงินต้นเดิมเป็นทุน
2) การจัดหาสินเชื่อใหม่ในรูปแบบหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจปกติ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนสำหรับ การบินไทยฯ และบริษัทย่อย, การปรับปรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สิน ,การปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในองค์กร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการพาณิชย์ การปรับฝูงบินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาด และการประกอบธุรกิจการบินที่อาจเปลี่ยนแปลงไป
2.การปรับโครงสร้างทุน การลดทุน และการเพิ่มทุน
เพิ่มทุนจดทะเบียน จำนวนไม่เกิน 31,500 ล้านหุ้น โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวก เพื่อสร้างความมั่นคงทางสถานะการเงินของ การบินไทยฯ เพื่อให้หลักทรัพย์ของ การบินไทยฯ สามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้อีกครั้ง แบ่งเป็น
1) หุ้นจำนวน 4,911 ล้านหุ้น สำหรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Share Option) ของผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ เฉพาะผู้ให้สินเชื่อในรูปแบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่เบิกใช้จริง (Drawdown Amount) หรือการเลือกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยการแปลงหนี้เงินต้นเดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
2) หุ้นจำนวน 5,040 ล้านหุ้น สำหรับการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 (กระทรวงการคลัง) ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง (ประมาณ 12,827 ล้านบาท) ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
3) หุ้นจำนวน 9,822 ล้านหุ้น สำหรับการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการได้รับเงินจากการขายเครื่องบิน) เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง (รวม 25,000 ล้านบาท) ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
4) หุ้นจำนวน 1,904 ล้านหุ้น สำหรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพัก เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4-6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (ประมาณ 4,845 ล้านบาท) ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
5) หุ้นจำนวน 9,822 ล้านหุ้น สำหรับการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ตามสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม โดยไม่จัดสรร และเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (Preferential Pubic Offering) ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เต็มจำนวนให้นำหุ้นส่วนที่ไม่มีการใช้สิทธิมาเสนอขายให้แก่พนักงานของ การบินไทยฯ และเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ต่อไปตามลำดับ และการดำเนินการตามข้อ 1)-ข้อ 3) และข้อ 5) ข้างต้น การบินไทยฯ จะต้องดำเนินการพร้อมกัน
3.แผนการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กลุ่ม Export Credit Agency (ECA)
แก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดจำนวนหนี้ที่ต้องชำระ กำหนดการชำระหนี้ และการดำเนินการเกี่ยวกับอากาศยานที่เช่าให้เป็นไปตามสัญญาระงับข้อพิพาท (Settlement Agreement)
4.ยกเลิก “คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่”
5.แก้ไขรายละเอียดการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้บางกลุ่ม
6.แก้ไขรายละเอียดในส่วนผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นดังนี้
1) จดทะเบียนเพิ่มทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
2) ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยไม่เกิดเหตุผิดนัด
3) มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนก่อนหน้าที่จะรายงานศาลถึงผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ และส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินเป็นบวก และ
4) มีการแต่งตั้งกรรมการของ การบินไทยฯ
7.เพิ่มรายละเอียดและแผนการชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้การค้าที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินกิจการของบริษัทในต่างประเทศ ซึ่งศาลล้มละลายกลางเห็นชอบให้เพิ่มรายชื่อเจ้าหนี้ดังกล่าว จำนวน 26 ราย อย่างไรก็ดี หากมีเจ้าหนี้อื่นเพิ่มเติมในอนาคต การบินไทยฯ จะต้องดำเนินการขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลางเป็นรายกรณีอีกครั้งหนึ่ง
อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2565 มีผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการลาออกจำนวน 2 คน ได้แก่ 1) นายไกรสร บารมีอวยขัย และ 2) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ทำให้ในปัจจุบัน การบินไทยฯ มีผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ จำนวน 3 คน ได้แก่ 1) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ 2) นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร และ 3) นายพรชัย ฐีระเวช
@เงินสดคงเหลือ 3.2 หมื่นล้าน-ไตรมาส 2 ปีหน้าเพิ่มฝูงบินเป็น 70 ลำ
ความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่สำคัญ ดังนี้
1.ผลการดำเนินงานและแนวโน้มการเติบโตด้านร้ายได้จากการขนส่ง
ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 การบินไทยฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน จำนวน 3,920 ล้านบาท โดยไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนจำนวน 5,310 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จำนวน 6,181 ล้านบาท ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีผลขาดทุนจำนวน 3,100 ล้านบาท
เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มความถี่เที่ยวบินจากช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 และการกลับไปทำการบินในเส้นทางเดิมก่อนการแพร่ระบาดของ Covid-19 ประกอบกับมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารรวมเฉลี่ยร้อยละ 77.0 เทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารรวมเฉลี่ยเพียงร้อยละ 9.9
อย่างไรก็ดี การบินไทยฯ มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 4,780 ล้านบาท เนื่องจากมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว โดยส่วนใหญ่เกิดจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการตีมูลค่าทางบัญชี ซึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ต.ค.2565 การบินไทยฯ และสายการบินไทยสมายล์ มีผู้โดยสารต่างประเทศรวมเฉลี่ยต่อวันจำนวน 21,557 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศทั้งหมดที่เดินทางเข้า-ออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และมีส่วนแบ่งปริมาณการขนส่งสินค้าคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 28 ของปริมาณการส่งสินค้าเข้า-ออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
อีกทั้ง การบินไทยฯ ยังคงมีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในเดือน พ.ย.-ธ.ค.2565 ในระดับที่สูงต่อเนื่อง โดยในช่วง 14 วันแรกของเดือน พ.ย.2565 การบินไทยฯ และสายการบินไทยสมายล์ มีผู้โดยสารต่างประเทศรวมเฉลี่ยต่อวัน จำนวน 23,881 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29 ของจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศทั้งหมดที่เดินทางเข้า-ออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
จากการเติบโตด้านการขนส่งข้างต้นส่งผลให้ ณ วันที่ 15 พ.ย.2565 การบินไทยฯ มีเงินสดคงเหลือจำนวน 32,031 ล้านบาท และยังมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินและเปิดให้บริการเส้นทางการบินใหม่เพิ่มเติม เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางที่ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบิน และเพื่อบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของ การบินไทยฯ
2.การปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและปรับลดต้นทุนอากาศยาน
1) ในปี 2565 การบินไทยฯ มีอากาศยานที่อยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจในการปฏิบัติการบินรวม 61 ลำ (รวมอากาศยานแบบแอร์บัส 320-200 ที่สายการบินไทยสมายล์ เช่าดำเนินการจำนวน 2 ลำ)
และด้วยการเติบโตของปริมาณความต้องการเดินทาง การบินไทยฯ จึงได้นำอากาศยานที่อยู่ในฝูงบินกลับมาให้บริการใหม่รวมจำนวน 5 ลำ ประกอบด้วย อากาศยานแบบโบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส 330-300 จำนวน 3 ลำ ซึ่งจะทำให้ภายในต้นปี 2566 การบินไทยฯ จะมีอากาศยานที่นำมาให้บริการรวมทั้งสิ้นจำนวน 66 ลำ
2) การบินไทยฯ ได้ลงนามในสัญญาเช่าดำเนินการอากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 จำนวน 2 ลำ แล้วเสร็จ และได้รับอนุญาตให้จัดหาจากกระทรวงคมนาคมในการนำเข้าประจำการในฝูงบินของ การบินไทยฯ แล้ว
รวมทั้งการบินไทยฯ ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการเช่าดำเนินการอากาศยานแบบแอร์บัส 350-500 อีกจำนวน 2 ลำ ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุญาตนำเข้าประจำการในฝูงบินของการบินไทยฯ ต่อสำนักงานการบินพลเรือนและกระทรวงคมนาคม
โดยคาดว่าจะเริ่มนำอากาศยานทั้ง 4 ลำมาให้บริการได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้ การบินไทยฯ จะมีอากาศยานในฝูงบินสำหรับการให้บริการตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เป็นต้นไป รวมทั้งสิ้นจำนวน 70 ลำ
3.การติดตามหนี้สินกรณีกองทุนบำเหน็จพนักงาน การบินไทยฯ
ธนาคารเจ้าหนี้จำนวน 2 ราย คือ ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย ได้นำเงินฝากในบัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทยฯ หักกลบลบหนี้ตามมูลหนี้ที่ การบินไทยฯ มีต่อธนาคาร ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2565 ให้ธนาคารทั้งสองชำระหรือส่งมอบเงินคืนให้แก่บัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทยฯ พร้อมดอกเบี้ยภายใน 14 วัน
แต่ธนาคารทั้ง 2 แห่ง โต้แย้งคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2565 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งคดีของธนาคารออมสิน ให้ธนาคารออมสินชำระเงินต้นจำนวน 2,279.77 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ที่ได้กำหนดไว้ตามสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากนับตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.2563 จนถึงวันที่ 12 มี.ค.2565 ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
และให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของเงินต้นดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2565 เป็นต้นไป จนกว่าธนาคารออมสินจะชำระหรือส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวคืนกลับในบัญชีเงินกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทยฯ และสำหรับคดีของธนาคารกรุงไทย ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งในวันที่ 7 ธ.ค.2565
4.การติดตามหนี้สินที่เกินกำหนดชำระจากกองทัพอากาศ
ณ วันที่ 31 ส.ค.2565 กองทัพอากาศมีหนี้สินค่าซ่อมบำรุงอากาศยานและเครื่องยนต์อากาศยาน จำนวน 1,115 ล้านบาท ซึ่งการบินไทยฯ อยู่ระหว่างการติดตาม และรอรับชำระบางส่วนตามกรอบวงเงินงบประมาณที่กองทัพอากาศได้รับ
@ขอ'ก.คลัง'สนับสนุนซื้อหุ้นเพิ่มทุน-คงสัดส่วนหุ้นใหญ่ 32.7%
การขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ
1.ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่พิจารณาใช้สิทธิในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนที่การบินไทยฯจะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อทำให้การบินไทยฯ มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของ ตลท. ในการกลับมาซื้อขายหุ้นใน ตลท. ได้ตามปกติ (ผู้ถือหุ้นเดิมคงสัดส่วนการถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วภายหลังการปรับโครงสร้างทุน)
ทั้งนี้ การใช้สิทธิในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว จะส่งผลให้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณร้อยละ 32.7 (ไม่รวมการถือหุ้นของหน่วยงานอื่นของภาครัฐ) และในกรณีกระทรวงการคลังไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว จะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลดลงเหลือประมาณร้อยละ 18.7
2.เนื่องจากการปรับโครงสร้างทุนและการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยฯ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขนั้น มีความซับซ้อนและในบางเรื่องไม่เคยมีกรณีตัวอย่างมาก่อน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ ตลท. ในการหารือร่วมกันให้เกิดความชัดเจนและความสอดคล้องของ กฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ
เพื่อทำให้การปรับโครงสร้างทุนและการออกหุ้นเพิ่มทุนตามที่กำหนดไว้ในแผนพื้นฟูกิจการฉบับที่แก้ไขสามารถสำเร็จลุล่วงลงได้ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยฯ ตามที่กำหนดไว้ในแผนต่อไป
เหล่านี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดของการฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หลังจากบริษัทฯได้ยื่นคำร้องของฟื้นฟูกิจการฯเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563 หรือเมื่อ 2 ปีเศษมาแล้ว และยังต้องติดตามกันต่อไปว่า กระทรวงการคลังจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนของการบินไทยฯภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฯตามที่ การบินไทยฯ ขอรับการสนับสนุนหรือไม่ และอย่างไร!
อ่านประกอบ :
ปรับโครงสร้างทุน! 'การบินไทย'ขอ'คลัง'ซื้อ'หุ้นเพิ่มทุน' รักษาสัดส่วนรัฐไม่น้อยกว่า 40%
ที่ประชุม 'เจ้าหนี้' โหวต 'ยอมรับ' แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ‘การบินไทย’
ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ รุดแจง ‘นายทะเบียน’ กรณีให้ ‘สหกรณ์’ แปลงหนี้เป็นทุน
เปิดแผน ‘การบินไทย’ ปรับโครงสร้างทุน 8 หมื่นล้าน ‘คลัง’ ลดถือหุ้นเหลือ 32.7%
ครม.รับทราบแก้ปัญหา'การบินไทย'คาดออกจากแผนฟื้นฟูเร็วกว่ากำหนดในสิ้นปี 2567
‘สหกรณ์ฯ’แปลงหนี้เป็นทุนได้ หากแผนฟื้นฟูฯ'การบินไทย'ได้รับความเห็นชอบจาก'ศาลล้มละลาย'
ซื้อได้เฉพาะ'หุ้นเพิ่มทุน'! 'คพช.'ตั้งกติกา 87 สหกรณ์เจ้าหนี้ ลงทุนใหม่ใน'การบินไทย'
‘การบินไทย’ตั้งเป้าออกจาก‘แผนฟื้นฟูกิจการฯ’ ปี 67-เดินหน้าปรับโครงสร้างทุน 8 หมื่นล.
ลดวงเงินกู้ใหม่-เร่งแปลงหนี้เป็นทุน! 'การบินไทย'ยื่นศาลฯ ขอแก้ไข'แผนฟื้นฟูฯ' ก.ค.นี้
เปิด 7 ประเด็นเรียกร้อง! 'การบินไทย' ขอรัฐอุ้ม คงสิทธิเส้นทางบิน-หนุนธุรกิจ MRO