‘ปิยสวัสดิ์’ ยืนยันฐานะการเงิน ‘การบินไทย’ ค่อนข้างแกร่ง ย้ำไม่จำเป็นต้อง ‘กู้’ แล้ว ย้ำเดินหน้า ‘แปลงหนี้เป็นทุน’ จ่อยุบ ‘ไทยสมายล์ฯ’ ปีนี้ เพิ่มความคล่องตัว-ลดต้นทุน ด้าน ‘ชาย’ ระบุเหลือแอร์บัส A340 รอขายอีก 4 ลำ
.......................................
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำปี 2565 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ในปี 2565 การบินไทยและสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 9 ล้านคน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของระดับก่อนเกิดโควิด-19 โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 105,041 ล้านบาท เทียบกับในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่บริษัทฯมีรายได้ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท
ขณะที่บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรจากดำเนินงาน 7,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับปี 2564 แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะการบินไทย พบว่ามีกำไรจากการดำเนินงาน 11,207 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) หลังหักค่าเช่าเครื่องบิน จำนวน 19,689 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายของแผนฟื้นฟูฯที่กำหนดว่า EBITDA ในรอบ 12 เดือน ต้องเกิน 2 หมื่นล้านบาท จึงจะออกจากแผนฟื้นฟูฯได้
“ถ้าหากเราดูตัวเลข EBITDA ตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 จนถึง ม.ค.2566 ตอนนี้เราได้เกิน 2 หมื่นล้านบาทแล้ว ก็ถือว่าได้ตามเงื่อนไขหนึ่งที่จะออกจากแผนฟื้นฟูฯ” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทและบริษัทย่อย มีผลขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท เฉพาะการบินไทยฯ มีกำไรสุทธิ 2,697 ล้านบาท แต่ไทยสมายล์แอร์เวย์ มีผลขาดทุนสุทธิ 4,248 ล้านบาท สำหรับส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและบริษัทย่อยนั้น ยังติดลบอยู่ 71,024 ล้านบาท แต่เฉพาะการบินไทย ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 63,493 ล้านบาท และบริษัทฯมีเงินสดอยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท จากระดับ 5,000 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2564 และล่าสุดเงินสดได้เพิ่มมาอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาทแล้ว
“ผลประกอบการที่ดีขึ้น ไม่ได้มาจากการเดินทางของผู้โดยสารอย่างเดียว อีกส่วนมาจากการขนส่งสินค้าที่ไปค่อนข้างดี แต่ที่สำคัญ คือ เราสามารถรักษาค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่ต่ำได้ จากการปรับโครงสร้างองค์กรในหลายๆด้าน และการลดต้นทุนต่างๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าระดับผู้โดยสารของเราในขณะนี้นั้น แค่ครึ่งเดียวของระดับก่อนเกิดโควิด ขณะที่ราคาน้ำมันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเครื่องบินไม่เคยสูงอย่างนี้มาก่อน” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ ยังระบุว่า เฉพาะในช่วงไตรมาส 4/2565 บริษัทฯ มีผลประกอบการดีที่สุดนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 โดยมีผู้โดยสารเกือบ 2 ล้านคน และมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 82.6% ขณะที่หลายเส้นทางบินมี Cabin Factor สูงกว่า 90% อาทิ ยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะในหลายวันที่ผ่านมาเส้นทางเหล่านี้มี Cabin Factor อยู่ที่ 100% ซึ่ง Cabin Factor ที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าว ส่งผลให้ราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้นด้วย
“แม้ว่าราคาน้ำมันจะสูง แต่เราก็สามารถขายตั๋วในราคาสูงขึ้นมาได้ค่อนข้างดี ส่งผลให้ในไตรมาส 4 ของปี 2565 การบินไทยมีกำไรจากการดำเนินการ 8,882 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) หลักหักค่าเช่าเครื่องบิน 10,626 ล้านบาท ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 630% ทำให้ในไตรมาสนี้ เฉพาะการบินไทยมีกำไรสุทธิ 11,154 ล้านบาท” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
@ยัน ‘การบินไทย’ ฐานะการเงินแกร่ง ไม่จำเป็นต้องกู้แล้ว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ฐานะทางการเงินของการบินไทยในขณะนี้ค่อนข้างแข็งแกร่ง ดังนั้น การบินไทย จึงไม่ต้องการเงินกู้ และสิ่งที่การบินไทยต้องทำต่อไป คือ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ ในการแปลงหนี้เป็นทุนในส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน รวมถึงการออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อให้ทุนกลับมาเป็นบวกอีกครั้งหนึ่ง และเอาหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
“เดิมทีเดียวเรานึกว่าต้องกู้เงิน แต่เราไม่ได้กู้เงินเลยซักบาทเดียว ไม่ได้เงินช่วยเหลือจากรัฐหรือองค์กรใดๆเลยซักบาทเดียว แตกต่างจากสายการบินชั้นนำของโลกหลายสาย ที่ในช่วงโควิดได้รับเงินอุดหนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์แอร์ไลน์ สายการบินลุฟทันซ่า และเอมิเรตส์ แอร์ไลน์ แต่การบินไทยฟื้นขึ้นมาได้ครั้งนี้ ก็เพราะด้วยตัวของตัวเอง สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯในการแปลงหนี้เป็นทุน” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดแผนการเพิ่มทุนและการแปลงหนี้เป็นทุน โดยในส่วนการแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และขอยืนยันว่า การบินไทยจะไปกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกแล้ว
“ถ้าดูในแผนฟื้นฟูฯที่ศาลฯเห็นชอบแล้ว แม้ว่ากระทรวงการคลังจะใช้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในฐานะผู้ถือหุ้นเดิม การบินไทยก็ไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย จะถือหุ้นประมาณ 44%” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
@จ่อยุบ ‘ไทยสมายล์’ ภายในปีนี้ เพิ่มความคล่องตัวจัดเส้นทางบิน
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวถึงแผนการยุบไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจการบินเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการฯอยู่แล้ว โดยในแผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับล่าสุดที่ศาลฯเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 มีเรื่องไทยสมายล์แอร์เวย์อยู่ด้วย ซึ่งในที่สุดแล้วจะเหลือแบรนด์เดียว โดยขั้นแรกของแผนฯได้กำหนดแนวทางการดำเนินการในเชิงพาณิชย์และการปฏิบัติการ แต่ในขั้นต่อไปจะต้องจัดการให้เป็นองค์กรเดียว เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและลดต้นทุนอย่างแท้จริง
“ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษาในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร โดยมีขั้นตอนที่ต้องทำอีกเยอะ ทั้งขั้นตอนภายใน และขั้นตอนภายนอกที่ต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เท่าที่มีการดูตอนนี้สิ้นปีนี้น่าจะเรียบร้อย คือ จะมี TG อันเดียว ไม่มี WE (รหัสเที่ยวบินไทยสมายล์แอร์เวย์) แต่เครื่องบินอาจมีสีสันสวยๆของไทยสมายล์ฯก็ได้ เพราะ A320 เป็นบริการอีกประเภทหนึ่งที่ผู้โดยสารจะรู้ว่า ถ้าบิน A320 จะเป็นแบบนี้ แอร์จะแต่งชุดสีส้ม
ต่อไปเครื่องแบบการบินไทยจะมีชุดทั้งสีม่วงและสีส้ม ซึ่งเหมือนกับเมื่อก่อน เพราะตอนแรกที่ตั้ง ไทยสมายล์ฯเป็นส่วนหนึ่งของการบินไทย ไม่ได้แยกเป็นคนละองค์กร แต่ต่อไปจะกลับเป็นเหมือนเดิม โดยพนักงานของไทยสมายล์ฯ 900 คน ต้องมาเป็นพนักงานของการบินไทย ส่วนลูกเรือและนักบินยังบิน A320 อยู่ และการที่ไทยสมายล์ฯกลับมาเป็นการบินไทยนั้น จะทำให้ความคล่องตัวในการจัดเส้นทางบินต่างๆมากขึ้น ต่างจากตอนนี้ที่ไม่คล่องตัวเลย” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า เมื่อมีการยุบองค์กรไทยสมายล์ฯเข้ากับการบินไทยแล้ว โลโก้ไทยสมายล์ฯจะยังอยู่ แต่จะมีโลโก้ของการบินไทย (TG) อยู่บนนั้นด้วย และชัดเจนว่า ณ วันนี้ เส้นทางในประเทศและในภูมิภาค จะใช้เครื่องบิน A320 ของไทยสมายล์ฯ และเมื่อรวมกันแล้วก็ยังเป็นแบบเดิม คือ ใช้เครื่อง A320 บิน เพราะการบินในเส้นทางบินในประเทศหรือในภูมิภาคนั้น ไม่คุ้มที่จะเอาเครื่องบินของการบินไทย ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ไปบิน
@เผยเหลือเครื่องบิน ‘แอร์บัส A340’ รอการขายอีก 4 ลำ
ด้าน นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการบินไทย และไทยสมายล์ฯ เสมือนเป็นหนึ่งเดียวกันของอยู่แล้ว แต่ในทางกฎหมายหรือ AOC (ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ) มีการแยกกันอยู่ เมื่อบินไปประเทศไหน เขาจะแยกว่าการบินไทย และไทยสมายล์ฯเป็นคนละสายการบิน เช่น หากจะเอาเครื่องบิน A320 ของไทยสมายล์ฯบินไปจีน อย่างนี้ไม่ได้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนในการขอใบอนุญาต เป็นต้น
“วันนี้ไทยสมายล์ฯบินประมาณวันละ 9 ชั่วโมง ถ้าจะใช้เครื่องบินให้ได้ 12 ชั่วโมง/วัน หรือเพิ่ม 3 ชั่วโมง/วัน ต้นทุนต่อหน่วยจะลดลง 30% และเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้คำพูดที่เป็นบวกหรือเป็นลบ แต่ถ้าเป็นผม ผมบอกว่าไม่ได้ยุบ เพราะเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจการบินของกลุ่มบริษัท การบินไทย ซึ่งในปลายทางจะไม่มีไทยสมายล์ฯแล้ว แต่จะเป็นการบินไทยทั้งหมด” นายชาย กล่าว
สำหรับราคาค่าโดยสารของเครื่องบินของไทยสมายล์ฯนั้น นายชาย กล่าวว่า ทุกวันนี้ราคาค่าตั๋วเปลี่ยนแปลงทุกวันและทุกเวลาอยู่แล้ว เมื่อเอาเครื่องบิน A-320 เข้ามาอยู่ในการบินไทย ราคาค่าโดยสารจะเป็นไปตามราคาตลาดที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งราคาค่าโดยสารอาจสูงขึ้นก็ได้ เพราะหากความต้องการสูง ราคาค่าโดยสารจะสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การควบรวมไทยสมายล์ฯเข้ากับการบินไทยในครั้งนี้ จะต้องรายงานให้คณะกรรมการเจ้าหนี้เพื่อให้ความเห็นชอบการควบรวมนี้ด้วย
นายชาย ยังระบุว่า ในส่วนเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 9 ลำ (เดิมมี 10 ลำ แต่เมื่อปี 2559 ได้ขายเครื่องบินแอร์บัส A340-500 ให้กับกองทัพอากาศ 1 ลำ) นั้น ที่ผ่านมาได้ขายเครื่องบินดังกล่าวไปแล้ว 5 ลำ และอยู่ระหว่างดำเนินการขายอีก 4 ลำ ขณะที่เครื่องบินทั้ง 9 ลำ ได้มีการด้อยค่าไปแล้วจนปัจจุบันแทบไม่เหลือมูลค่าและบริษัทฯรับรู้การด้อยค่าไปแล้ว และหากสามารถขายเครื่องบินได้มากกว่าราคาที่ถูกลดค่า ก็จะคิดเป็นกำไร
นายชาย กล่าวด้วยว่า หุ้นบริษัท การบินไทยฯ จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้งในช่วงต้นปี 2568 หลังจากการบินไทยจากแผนฟื้นฟูฯแล้ว ซึ่งในส่วนการแปลงหนี้เป็นทุน น่าจะดำเนินการไม่จบในปี 2566 เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น การแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ในปัจจุบันนั้น เดิมมีสถานะภาพของเจ้าหนี้ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว ดอกเบี้ยที่ได้จะหายไป หากแปลงหนี้เป็นทุนเร็วเท่าไหร่และหุ้นยังไม่เข้าซื้อขายในตลาดฯ จะทำให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์
"ถ้าเราทำอะไรไปแล้ว เจ้าหนี้เสียประโยชน์ เขาคงไม่เห็นชอบ เราจึงต้องดูประโยชน์ของเจ้าหนี้ด้วย" นายชาย กล่าว
@‘ไทยสมายล์ฯ’ ขาดทุนสะสม 2 หมื่นล้าน-เฉพาะปี 65 กว่า 4.2 พันล.
นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลยุทธ์ของการบินไทย คือ การใช้เครื่องบินลำตัวแคบให้เหมาะสมกับขนาดของตลาดและเส้นทางบิน ซึ่งการบินระยะ 1-3 ชั่วโมงนั้น เครื่องบินของไทยสมายล์ฯมีความเหมาะสมมาก ดังนั้น การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะทำให้เกิดความชัดเจน และทำให้การบินไทยสามารถนำเครื่องบินของไทยสมายล์ฯไปใช้ในเวลากลางคืน ภายใต้ AOC และแบรนด์ของการบินไทยได้ เช่น การทำบินในตลาดอินเดีย ตลาดจีน รวมทั้งเข้าไปเสริมในตลาดสิงคโปร์ และฮ่องกง
นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2565 เฉพาะสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ มีผลขาดทุนสุทธิ 4,248 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสะสมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัท การบินไทยฯ และบริษัทย่อย มีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 64 ลำ เป็นเครื่องบินของการบินไทย 44 ลำ และเป็นเครื่องบินของไทยสมายล์ฯ 20 ลำ โดยมีเครื่องบินที่อยู่ระหว่างการซ่อมอีก 1 ลำ หรือรวมแล้วในปัจจุบันมีเครื่องบิน 65 ลำ และบริษัทฯเตรียมจัดหาเครื่องบินอีก 6 ลำในปีนี้ ซึ่งรวมแล้วภายในปี 2566 บริษัท การบินไทยฯ จะมีเครื่องบินทั้งสิ้น 71 ลำ
ขณะที่ในตารางการบินฤดูร้อน ปี 2566 ให้บริการเที่ยวบินสู่ 39 เส้นทางบินทั่วโลก พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย อาทิ โตเกียว (นาริตะ และฮาเนดะ) โอซากา โซล ไทเป ฮ่องกง สิงคโปร์ กัลกัตตา มุมไบ เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทฯได้กลับมาให้บริการเส้นทางบินเพิ่มเติมในเส้นทางประเทศจีนในช่วงต้นปีได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง เฉิงตู กวางโจว เพื่อรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบิน เพื่อบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ
อ่านประกอบ :
รัฐถือหุ้นไม่ถึง50%ก็เป็นได้! สั่ง‘คลัง’แก้มติฯดัน‘การบินไทย’ฟื้นสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’
ฉบับเต็ม! เปิดความคืบหน้าฟื้นฟูฯ'การบินไทย' ขอ'คลัง'ซื้อหุ้นเพิ่มทุน-ตามหนี้'ทอ.'พันล้าน
ปรับโครงสร้างทุน! 'การบินไทย'ขอ'คลัง'ซื้อ'หุ้นเพิ่มทุน' รักษาสัดส่วนรัฐไม่น้อยกว่า 40%
ที่ประชุม 'เจ้าหนี้' โหวต 'ยอมรับ' แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ‘การบินไทย’
ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ รุดแจง ‘นายทะเบียน’ กรณีให้ ‘สหกรณ์’ แปลงหนี้เป็นทุน
เปิดแผน ‘การบินไทย’ ปรับโครงสร้างทุน 8 หมื่นล้าน ‘คลัง’ ลดถือหุ้นเหลือ 32.7%
ครม.รับทราบแก้ปัญหา'การบินไทย'คาดออกจากแผนฟื้นฟูเร็วกว่ากำหนดในสิ้นปี 2567
‘สหกรณ์ฯ’แปลงหนี้เป็นทุนได้ หากแผนฟื้นฟูฯ'การบินไทย'ได้รับความเห็นชอบจาก'ศาลล้มละลาย'