ที่ประชุม ‘เจ้าหนี้’ มีมติ 55.92% ลงมติเลื่อนโหวตแต่งตั้ง 2 ‘ผู้บริหารแผน’ จากฝั่ง 'ก.คลัง' เป็น 29 พ.ย.67 ด้าน กลุ่มเจ้าหนี้ ‘การบินไทย’ เรียกร้อง ‘รัฐบาล’ หยุดแทรกแซง ขณะที่ 9 เดือนปีนี้ 'เจ้าจำปี' มีกำไรสุทธิ 1.52 หมื่นล้าน
.............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. เวลาประมาณ 10.00 น. บมจ.การบินไทย ได้จัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาลงมติ กรณีผู้บริหารแผนของ บมจ.การบินไทย ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (ฉบับที่ 3) โดยคำร้องดังกล่าว ผู้บริหารแผน ได้ขอเพิ่มเติมผู้บริหารแผนตามที่กระทรวงการคลังเสนอ จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1.นายปัญญา ชูพานิช และ 2.นายพลจักร นิ่มวัฒนา
ทั้งนี้ การประชุมเสร็จสิ้นลงในเวลาประมาณ 12.00 น. โดยที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติด้วยเสียง 56 : 43 เห็นควรให้ที่ประชุมเจ้าหนี้เลื่อนการลงมติในเรื่องดังกล่าวออกไปก่อนเป็นวันที่ 29 พ.ย.2567
รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงเย็นวันเดียวกัน บมจ.การบินไทย แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การแจ้งมติที่ประชุมเจ้าหนี้เกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 3 ฉบับ ว่า บริษัทฯ ขอแจ้งว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดให้มีการประชุมเจ้าหนี้ของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2567 โดยเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้รวมกันในสัดส่วนร้อยละ 55.92 ของจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนน ได้มีมติให้เลื่อนการพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามคำร้องขอแก้ไขแผนทั้ง 3 ฉบับ
ในการนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดวันนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาคำร้องขอแก้ไขแผนทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว ในวันที่ 29 พ.ย.2567 เวลา 10.00 น. ทั้งนี้ บริษัทฯ จะแจงให้ทราบถึงความคืบหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อไป
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ภายหลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติให้เลื่อนการลงมติการแต่งตั้งผู้บริหารแผนเพิ่มอีก 2 ราย กลุ่มเจ้าหนี้ของการบินไทย ได้ส่งข้อความในกลุ่มไลน์ขอบคุณเจ้าหนี้ โดยระบุว่า “ขอขอบคุณเจ้าหนี้ทุกท่านที่ร่วมแสดงพลังและความเป็นหนึ่งเดียวกันในการลงมติเลื่อนการประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขแผนฟื้นฟู โดยเฉพาะคำร้องฉบับที่ 3 นี่คือเสียงที่ดังชัดจากพวกเราว่า จะไม่ยอมให้ผลประโยชน์ของเจ้าหนี้ถูกบิดเบือน และเรามุ่งมั่นที่จะปกป้องแผนฟื้นฟูนี้เพื่อให้การบินไทยสามารถชำระหนี้ตามแผนและสร้างความเชื่อมั่นต่อเจ้าหนี้ทุกคน
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงการคลัง หยุดการแทรกแซง ด้วยการเสนอชื่อผู้บริหารแผนจากกระทรวงการคลังและคมนาคม การแทรกแซงเช่นนี้ไม่ช่วยฟื้นฟูการบินไทย แต่กลับทำลายความไว้วางใจจากเจ้าหนี้ ขอให้รัฐบาลเคารพและปล่อยให้การบินไทยเดินหน้าฟื้นฟูด้วยตัวเอง เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย
พวกเราจะยืนหยัดด้วยกันและปกป้องสิทธิของเรา การประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ขอให้เจ้าหนี้ทุกท่านออกมาใช้สิทธิ โหวตไม่รับ ข้อเสนอการเพิ่มผู้บริหารแผนใหม่ทั้ง 2 ท่านที่จะเข้ามาแทรกแซงและขัดขวางแผนฟื้นฟูของการบินไทย เสียงของคุณมีความสำคัญ ร่วมกันยืนหยัดและแสดงพลังเพื่อปกป้องสิทธิของเราและสร้างอนาคตที่แข็งแกร่งกว่านี้สำหรับทุกคน”
ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี ในฐานะกรรมการเจ้าหนี้ บมจ.การบินไทย ได้ออกจดหมายเปิดผนึก โดยเสนอความเห็นต่อเจ้าหนี้ว่า ไม่ควรยอมรับการเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผน เนื่องจากจะทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจการบริหารแผนฟื้นฟูในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยผู้บริหารแผนฯมีอำนาจสำคัญในการคัดเลือกกรรมการบริษัท และกำหนดชะตากรรม/อนาคตของบริษัท โดยเฉพาะเรื่องการบริหารฝูงบินและการจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติม
“ในการนี้ ข้าฯ ในฐานะกรรมการเจ้าหนี้ ซึ่งมีหน้าที่สอดส่องดูแลประโยชน์แห่งเจ้าหนี้นั้น ขอบันทึกความเห็นและให้ไว้ประกอบการประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้ครั้งที่ 7/2567 ดังนี้
ข้าฯ ไม่เห็นว่า การเพิ่มจำนวนผู้แทนจากกระทรวงการคลังเพื่อมาเป็นคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะยังประโยชน์แก่เจ้าหนี้ จะยังประโยชน์แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และยังประโยชน์แก่สาธารณะแต่อย่างใด ข้าฯ เห็นว่า การเพิ่มจำนวนผู้แทนดังกล่าวมาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงที่การบริหารจัดการต่างๆ มีความลงตัว และคืบหน้าไปมากแล้ว เป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่บริษัท เจ้าหนี้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หากต้องการให้เติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีคณะกรรมการบริษัทชุดแรกที่ทรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาลและไม่ถูกแทรกแซงจากภาครัฐ
การเพิ่มจำนวนผู้แทนกระทรวงการคลังจำนวน 2 คนนั้น เป็นการผูกขาดอำนาจการบริหารแผนฟื้นฟูในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ผู้บริหารแผนฯ มีอำนาจสำคัญในการคัดเลือกคณะกรรมการมการบริษัท และกำหนดชะตากรรม/อนาคตของบริษัท โดยเฉพาะเรื่องการบริหารฝูงบิน และจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของบริษัทและเจ้าหนี้ ภาครัฐที่มีธรรมาภิบาลอย่างดี จึงไม่สมควรเข้ามาแทรกแซงบริษัทเอกชน และไม่ควรเอาเปรียบเจ้าหนี้ทั้งปวงเยี่ยงนี้
ข้าฯ เห็นว่า ที่ประชุมเจ้าหนี้ จะไม่ยอมรับการเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฯ ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ เพื่อประโยชน์ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเพื่อประโยชน์สาธารณะ ข้าฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชา คุณธรรมดี ขอบันทึกความเห็นว่า “ไม่เห็นด้วย” ต่อข้อเสนอของกระทรวงการคลังดังกล่าว จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและดำเนินการตามสิทธิของข้าพเจ้าด้วย” จดหมายเปิดผนึกของ ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี ในฐานะกรรมการเจ้าหนี้ ลงวันที่ 4 พ.ย.2567 ระบุ
@9 เดือนปี 67 ‘การบินไทย’กำไรไรสุทธิ 15,221 ล้านบาท
ขณะที่ ในช่วงเช้าวันนี้ (8 พ.ย.) บมจ.การบินไทย ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 โดย บมจ.การบินไทย และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 45,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,820 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 37,008 ล้านบาท หรือ 23.8% โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.94 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cab-in Factor) ปรับตัวลดลงจาก 77.3% ในงวดเดียวกันของปีก่อนเป็น 76.1%
บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 38,636 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 29,289 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 13,550 ล้านบาท คิดเป็น 35.1% ของค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,192 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาส 3 ของปี 2566 ซึ่งมีกำไร 7,719 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,829 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 10,119 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสุทธิ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 12,483 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน กำไร 1,546 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 6,655 ล้านบาท
สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 135,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 115,897 ล้านบาท คิดเป็น 17.2% ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 111,617 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 86,567 ล้านบาท คิดเป็น 28.9%
บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 24,193 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปี 2566 ที่กำไร 29,330 ล้านบาท คิดเป็น 17.5% โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 14,233 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้รวม 5,273 ล้านบาท
ส่วนใหญ่มาจากปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แต่มีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินแบบแอร์บัส A380-800
ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 15,221 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 16,342 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 25,056 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ มีเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการทั้งสิ้น 77 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 57 ลำ โดยบริษัทฯ มีการรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบิน จำนวน 2 ลำ ในช่วงเดือนตุลาคม รวมเครื่องบินที่รับเพิ่มในปีนี้ทั้งหมดจำนวน 9 ลำ
บริษัทฯ มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 13.0 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19.2% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 15.3% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.4% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 80.0% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.7%
ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 263,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 24,752 ล้านบาท หรือ 10.4% หนี้สินรวมจำนวน 291,684 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 9,551 ล้านบาท หรือ 3.4% ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 27,941 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 15,201 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทฯ มีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำที่มีระยะเวลาที่ครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดภายใน 1 ปี 82,587 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2567
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ ได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 3,531 ล้านบาท
บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีเป้าหมายให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลายเป็นบวกซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วย
(ก) การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 37,828 ล้านบาท (ข) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 12,500 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion)
และ (ค) การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 4,845 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนโดยความสมัครใจ ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ปรากฏชื่ออยู่ในฐานข้อมูลบริษัทฯ ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2567 สามารถตรวจสอบสิทธิในการแปลงหนี้เป็นทุนผ่านช่องทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ ที่ https://ir.thaiairways.com/ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ถึง 21 พฤศจิกายน 2567
ปัจจุบันแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยคาดว่าเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะสามารถแสดงเจตนาการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการทั้งในส่วน Voluntary Conversion และหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักได้ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ถึง 21 พฤศจิกายน 2567 ภายหลังจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ
โดยเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการสามารถแสดงเจตนาการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้ โดยวิธีการ (ก) กรอกรายละเอียดในใบแสดงเจตนาใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน (Hard Copy) ผ่านสำนักงานใหญ่ของ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่าย และผ่านสำนักงานใหญ่หรือสาขาทั่วประเทศของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์
หรือ (ข) แสดงเจตนาใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนผ่านระบบออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ด้วยระบบ Money Connect by Krungthai ผ่านทาง Krungthai NEXT Application สำหรับเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการประเภทบุคคลธรรมดาเท่านั้น ทั้งนี้ เจ้าหนี้สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ได้ในส่วนที่ 4 ของหนังสือชี้ชวนที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต.(https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=652590&lang=th)
นอกจากนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จะดำเนินการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น (รวมทั้งหุ้นที่เหลือจาก Voluntary Conversion (หากมี)) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ พนักงานของบริษัทฯ และบุคคลในวงจำกัด (Pri-vate Placement) (ตามลำดับ) โดยคาดว่าจะดำเนินการเสนอขายให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม ของปี 2567 ภายหลังจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการมีผลใช้บังคับ
ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 โดยบริษัทฯ จะรายงานความคืบหน้าที่สำคัญให้ทราบต่อไป
อ่านประกอบ :
'กก.เจ้าหนี้'ค้านรัฐแทรกแซง'การบินไทย' เสนอโหวตล้มเพิ่ม'ผู้บริหารแผน'จาก'คลัง' 2 ราย
'ชอส.'หวัง'การบินไทย'ทยอยคืนเงินต้น'หุ้นกู้' ปลดล็อกเพิ่ม'ปันผล'-หนุน‘แปลงหนี้เป็นทุน’
ศาลฯเพิกถอนคำสั่ง‘พนง.ตรวจแรงงาน’ ปมให้‘การบินไทย’จ่ายค่าจ้าง‘วันหยุดพักผ่อนฯ’
ศาลฯยกฟ้อง คดี'การบินไทย'ขอเพิกถอนคำสั่งจ่าย'ค่าชดเชย'วันหยุดประจำปีสะสม'อดีต พนง.'
‘การบินไทย’ ยอมรับมีแผนจัดหาเครื่องบิน 45 ลำจริง มั่นใจมีสภาพคล่องพอในการจัดซื้อ
‘เศรษฐา’เล็งนัด ‘การบินไทย’ คุยปมซื้อเครื่องบินใหม่ ‘สุริยะ’ ห่วงแต่ทำอะไรไม่ได้
ทำผิดซ้ำริบสิทธิฯถาวร! ‘การบินไทย’รื้อประกาศฯเกณฑ์ระงับ-เรียกคืน‘สิทธิบัตรโดยสาร’พนักงาน
‘ศาลอุทธรณ์ฯ’พิพากษายืน สั่ง‘การบินไทย’นำ'ค่าชั่วโมงบิน'คำนวณจ่ายชดเชยเลิกจ้างฯ'พนักงาน'
ต้องเปิดเผยข้อมูล-โปร่งใส จิ๊กซอว์สำคัญ ฟื้นฟูการบินไทย?
‘เศรษฐา’ รับอึดอัดใจ ปัญหา ‘การบินไทย’ กวดขันทำตามแผนฟื้นฟู
‘บอร์ดติดตามการบินไทย’ จ่อคุยฟื้นสถานะสายการบินแห่งชาติ
‘เศรษฐา’ เซ็นตั้งบอร์ดติดตาม ‘แผนฟื้นฟูการบินไทย’ ‘สุริยะ’ นั่งประธาน
‘ศาลแรงงาน’ สั่ง ‘การบินไทย’ จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง‘ส่วนที่ขาด’ ให้อดีตพนักงาน 17 ราย
‘บิ๊กตู่’มั่นใจ‘การบินไทย’คืนหนี้ได้ตามแผนฯ-แนะปรับปรุงเส้นทางบินให้สอดคล้องผู้โดยสาร
มิได้กระทำผิดสัญญา! ศาลแรงงานฯยกฟ้อง‘การบินไทย’ คดีค่าชดเชยเลิกจ้าง 40 อดีต พนง.
‘การบินไทย’ประกาศ ‘ร้องเรียนกรมสวัสดิฯ-ใช้โซเชียลให้ร้ายบริษัท’โดนริบสิทธิบัตรโดยสารพนง.
ที่ประชุมเจ้าหนี้ฯไฟเขียว‘การบินไทย’ปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มการบิน-ยันไม่กระทบผู้โดยสาร
‘การบินไทย’ขอ‘ครม.’คงสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’-ให้‘คลัง’ใช้สิทธิแปลงหนี้-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน
'ศาลแรงงาน'สั่ง‘การบินไทย’จ่าย 19 อดีตพนง. 14.3 ล้าน กรณีถูกหัก'เงินชดเชยฯ'คืนหนี้สหกรณ์
จ่อยุบ‘ไทยสมายล์ฯ’ปีนี้! ‘การบินไทย’ลุย‘แปลงหนี้เป็นทุน’-เหลือแอร์บัส A340 รอขาย 4 ลำ
รัฐถือหุ้นไม่ถึง50%ก็เป็นได้! สั่ง‘คลัง’แก้มติฯดัน‘การบินไทย’ฟื้นสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’
ฉบับเต็ม! เปิดความคืบหน้าฟื้นฟูฯ'การบินไทย' ขอ'คลัง'ซื้อหุ้นเพิ่มทุน-ตามหนี้'ทอ.'พันล้าน