‘การบินไทย’ ออกประกาศหลักเกณฑ์ ‘สวัสดิการฯ’ สิทธิบัตรโดยสารฉบับใหม่ ระบุ ‘พนักงาน-อดีตพนักงาน’ ที่ร้องเรียน ‘กรมสวัสดิการฯ’-ใช้สื่อโซเชียลมีเดียให้ร้ายบริษัทฯ-กระทำการที่เป็นปฏิปักษ์’ จะถูกยกเลิก-ระงับสิทธิบัตรโดยสาร
..............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 014/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์การยกเลิก ระงับ เรียกคืนสิทธิบัตรโดยสารพนักงาน ประกาศ ณ วันที่ 27 มิ.ย.2566 โดยมีเนื้อหาว่า
ด้วยคณะกรรมการฝ่ายบริหารงานนโยบายทรัพยากรบุคคล (EMM-HR) ในการประชุมครั้งที่ 9/2566 วันจันทร์ที่ 29 พ.ค.2566 มีมติอนุมัติหลักเกณฑ์การยกเลิก ระงับ เรียกคืนสิทธิบัตรโดยสาร พนักงาน ของพนักงานปัจจุบัน และอดีตพนักงาน เพื่อให้การยกเลิก ระงับ เรียกคืนสิทธิบัตรโดยสารพนักงานของพนักงานปัจจุบัน และอดีตพนักงาน มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
สอดคล้องกับข้อกำหนดของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงานและวิธีปฏิบัติว่าด้วยสิทธิประโยชน์บัตรโดยสารพนักงาน และการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ พ.ศ.2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ("บริษัท") จึงกำหนด หลักเกณฑ์การยกเลิก ระงับ เรียกคืนสิทธิ บัตรโดยสารพนักงาน ดังนี้
1.กรณีพนักงานปัจจุบัน และอดีตพนักงานที่ยังไม่ใด้ชดใช้ค่าบัตรโดยสารที่ใช้โดยไม่ชอบ จนกว่าจะชดใช้ครบถ้วน
2.กรณีที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ด้านบัตรโดยสารพนักงาน คู่มือบัตรโดยสารฯ วิธีปฏิบัติว่าด้วยสิทธิประโยชน์บัตรโดยสารพนักงาน และการส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ พ.ศ. 2566 หรือใช้บัตรโดยสารเพื่อประโยชน์ทางการค้าของตนเองและ/หรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
3.กรณีบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานภาพครอบครัว หรือเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลเพื่อให้ได้มา ซึ่งเอกสารหรือข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการเดินทางในฐานะพนักงานหรือครอบครัวพนักงานโดยทางมิชอบ หรือที่กระทำการใดๆ ส่อไปในทางทุจริต หรือฉ้อโกงบริษัท
4.กรณีผิดสัญญากับบริษัท และค้างค่าปรับ ค่าเสียหาย จ่ายไม่ครบถ้วน
5.กรณีฟ้องบริษัท หรือมีข้อพิพาทกับบริษัท
6.ร้องเรียนบริษัทต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
7.กรณีใช้สื่อโซเชียลมีเดีย หรือช่องทางใดๆ กล่าวถึงบริษัท ในทางให้ร้ายอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท
8.กรณีอื่นที่กระทำการด้วยประการใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กับบริษัท หรือขัดต่อผลประโยชน์ หรืออาจทำให้บริษัทเสียภาพลักษณ์
ทั้งนี้ การจะพิจารณายกเลิก ระงับ เรียกคืน ยกเลิกการระงับ หรือคืนสิทธิบัตรโดยสารพนักงาน เป็นสิทธิของบริษัทที่จะพิจารณาตามความหนักเบา แล้วแต่ละกรณี จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
ปัจจุบัน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีพนักงานประมาณ 1.4 หมื่นคน และมีอดีตพนักงานจำนวนหนึ่งที่ยังได้รับสิทธิประโยชน์บัตรโดยสารพนักงาน
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2566 บริษัทฯได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการงวดระหว่างวันที่ 15 มี.ค.2566 ถึงวันที่ 14 มิ.ย.2566 ดังนี้
1.การชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ข้อ 5.3 การชำระหนี้ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ และการลดภาระหนี้ ซึ่งกำหนดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลล้มละลายกลาง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ หรือ ศาลฎีกา (แล้วแต่กรณี) ซึ่งเป็นคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้นั้น
ผู้บริหารแผนได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน ข้อ 5.3 โดยการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงค้าง จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2566 รวมเป็นเงิน 3,197,987,513.04 บาท และบริษัทฯ ไม่ได้มีการผิดนัดตามแผนแต่ประการใด
2.การขาย ให้เช่า หรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองอื่น
ตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 5.7.1 (ข) ที่กำหนดให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจขาย ให้เช่า หรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินรอง ซึ่งรวมแต่ไม่จำกัดเพียงทรัพย์สินรองตามที่ระบุในเอกสารแนบ 5 ของแผนฟื้นฟูกิจการ สำหรับงวดระหว่างวันที่ 15 มี.ค.2566 ถึงวันที่ 14 มิ.ย.2566 นั้น
จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2566 การบินไทยมีการขายทรัพย์สินรองอื่น ได้แก่
(1) เครื่องบินแบบ Boeing 747-400 ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จำนวน 6 ลำ โดยลำที่ 1 การบินไทยได้รับเงินจากการขายเครื่องบินดังกล่าวครบถ้วนแล้ว และได้ส่งมอบเครื่องบินให้แก่ผู้ซื้อแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 5 ลำ การบินไทยได้ทำสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อ และเรียกเก็บเงินมัดจำจำนวนร้อยละ 20 แล้ว
นอกจากนี้ สำหรับการขายเครื่องบินที่ไม่ได้ใช้งานแล้วอีกจำนวน 3 ลำ ที่การบินไทยได้รายงานความคืบหน้าไปในรายงานความคืบหน้าปีที่ 2 ไตรมาสที่ 2 และปีที่ 2 ไตรมาสที่ 3 นั้น การบินไทยได้รับเงินค่าขายเครื่องบินส่วนที่เหลือของเครื่องบินจำนวน 2 ลำ จนครบถ้วน และได้ส่งมอบเครื่องบินให้แก่ผู้ซื้อแล้ว ส่วนอีก 1 ลำ การบินไทยได้รับเงินค่าขายเครื่องบินส่วนที่เหลือแล้ว โดยมีกำหนดส่งมอบเครื่องบินให้แก่ผู้ซื้อภายในเดือน พ.ย.2566
(2) เครื่องยนต์อะไหล่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จำนวน 4 เครื่องยนต์ โดยการบินไทยได้รับเงินมัดจำจำนวน ร้อยละ 20 แล้ว
(3) หุ้นในบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด จำนวน 1,868 หุ้น ซึ่งการบินไทยได้รับเงินค่าขายครบถ้วนแล้วและได้โอนหุ้นแก่ผู้ซื้อแล้ว
3.คณะกรรมการเจ้าหนี้
จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 มีการประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้เพิ่มเติมจากการรายงานความคืบหน้าคราวที่แล้ว รวม 3 ครั้ง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้ได้รับทราบในประเด็นต่างๆ รวมถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของคณะผู้บริหารแผน เรื่องผลการดำเนินการสายการพาณิชย์ การดำเนินการตามแผนปฏิรูปธุรกิจ และการปรับโครงสร้างธุรกิจการบินของการบินไทย
ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานข้างต้นของบริษัทฯ แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด
อ่านประกอบ :
ที่ประชุมเจ้าหนี้ฯไฟเขียว‘การบินไทย’ปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มการบิน-ยันไม่กระทบผู้โดยสาร
‘การบินไทย’ขอ‘ครม.’คงสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’-ให้‘คลัง’ใช้สิทธิแปลงหนี้-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน
'ศาลแรงงาน'สั่ง‘การบินไทย’จ่าย 19 อดีตพนง. 14.3 ล้าน กรณีถูกหัก'เงินชดเชยฯ'คืนหนี้สหกรณ์
จ่อยุบ‘ไทยสมายล์ฯ’ปีนี้! ‘การบินไทย’ลุย‘แปลงหนี้เป็นทุน’-เหลือแอร์บัส A340 รอขาย 4 ลำ
รัฐถือหุ้นไม่ถึง50%ก็เป็นได้! สั่ง‘คลัง’แก้มติฯดัน‘การบินไทย’ฟื้นสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’
ฉบับเต็ม! เปิดความคืบหน้าฟื้นฟูฯ'การบินไทย' ขอ'คลัง'ซื้อหุ้นเพิ่มทุน-ตามหนี้'ทอ.'พันล้าน
ปรับโครงสร้างทุน! 'การบินไทย'ขอ'คลัง'ซื้อ'หุ้นเพิ่มทุน' รักษาสัดส่วนรัฐไม่น้อยกว่า 40%
ที่ประชุม 'เจ้าหนี้' โหวต 'ยอมรับ' แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ‘การบินไทย’