ศาลแรงงานภาค 1 สั่ง ‘บมจ.การบินไทย’ จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง ‘ส่วนที่ขาด’-ค่าวันหยุดพักผ่อนที่ไม่ได้ใช้ ให้อดีตพนักงาน 17 ราย รวมเป็นเงิน 1.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2566 ศาลแรงงานภาค 1 (พระนครศรีอยุธยา) ได้มีคำพิพากษาในคดีที่อดีตพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 17 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท การบินไทยฯ เพื่อขอให้ศาลฯบังคับให้บริษัท การบินไทยฯ จ่ายค่าตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานในส่วนที่ขาด และจ่ายเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี
โดย ศาลฯพิพากษาให้บริษัท การบินไทย จ่ายเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และจ่ายเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเฉพาะในส่วนที่ขาด ให้แก่อดีตพนักงานบริษัท การบินไทยฯ ทั้ง 17 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,555,362 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 15% ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ประกอบด้วย จ่ายเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 178,748 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 267,348 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 660,294 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 250,061 บาท
และจ่ายเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเฉพาะในส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 11,400 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 15,200 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 15,200 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 10,133 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 11,466 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 10,066 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 11,466 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 15 เป็นเงิน 11,466 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 16 เป็นเงิน 11,200 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 11,600 บาท
ให้แก่โจทก์ที่ 19 เป็นเงิน 12,533 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 20 เป็นเงิน 11,466 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 21 เป็นเงิน 6,250 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 22 เป็นเงิน 12,133 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 12,133 บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 24 เป็นเงิน 12,666บาท ,ให้แก่โจทก์ที่ 26 เป็นเงิน 12,533 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 15% ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
“…ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์ดังกล่าวนำสืบว่า ในช่วง 400 วัน ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย (บริษัท การบินไทยฯ) ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ได้ออกไปทำการบิน และได้รับเบี้ยเลี้ยงจากการทำงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหรือนักบิน หรือ Flight per diem จากจำเลย ตามตารางปฏิบัติงานบนเครื่องบินเอกสารหมาย จ.5, จ.24, จ./26, จ.28 ใบสรุปยอดเงิน per diem และรายการเดินบัญชีเอกสารหมาย จ.6, จ.25, จ.27, จ.29
โดยโจทก์ที่ 3 ได้รับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นเงิน 178,748 บาท โจทก์ที่ 4 ได้รับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นเงิน 267,348 บาท โจทก์ที่ 5 ได้รับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นเงิน 660,254 บาท โจทก์ที่ 6 ได้รับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นเงิน 250,061 บาท ซึ่งจำเลยต้องนำเงินเบี้ยเลี้ยงนั้น มารวมเป็นฐานของค่าจ้างเพื่อคำนวณเป็นเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ด้วย ตามเงื่อนไขของโครงการที่โจทก์ดังกล่าวเข้าร่วม
แต่จำเลยมิได้ดำเนินการเช่นนั้น จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ่ายเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับคำชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ไม่ครบถ้วน จำเลยต้องจ่ายเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามจำนวนดังกล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามที่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 มีคำขอ
สำหรับโจทก์ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 นั้น จำเลยนำสืบว่า โจทก์ดังกล่าวไม่ได้ออกไปปฏิบัติงานบนเครื่องบินตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 เพราะจำเลยประกาศหยุดบินเนื่องจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตามสำเนาประกาศหยุดบินเอกสารหมาย ล.40 จึงไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงจากจำเลยแต่อย่างใด
ส่วนโจทก์ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 นำสืบว่า ในช่วง 300วัน หรือช่วง 400 วัน ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ดังกล่าวพันสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่จำเลยมีประกาศหยุดบินหรือไม่ก็ตาม โจทก์ดังกล่าวก็ยังออกไปทำการบินอยู่บ้าง ตามตารางปฏิบัติงานบนเครื่องบินเอกสารหมาย จ.33, จ.34, จ.36 ถึง จ.39, จ.41 ถึง จ.46, จ.50
เห็นว่า เอกสารที่โจทก์ดังกล่าวนำสืบ ไม่ใช่พยานหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนว่า โจทก์ดังกล่าวออกไปทำการบินจริงในวันใดบ้าง และได้รับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวจากจำเลยเป็นจำนวนเท่าใด
ส่วนที่โจทก์ดังกล่าวนำสืบว่า โจทก์ดังกล่าวได้รับเบี้ยเลี้ยงจากจำเลย ตามสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเอกสารหมาย จ.47 และใบสรุป Flight Perdiem System เอกสารหมาย จ.51 นั้น
ก็ปรากฏว่าพยานหลักฐานนั้น ไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนว่า โจทก์ดังกล่าวได้รับเบี้ยเลี้ยงจากจำเลยหรือไม่ และได้รับเป็นจำนวนเท่าใดแน่ พยานหลักฐานที่โจทก์ดังกล่าวนำสืบมา ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ในช่วง 300 วัน หรือช่วง 400 วัน ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ดังกล่าวพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์ดังกล่าวยังออกไปทำการบินและได้รับเบี้ยเลี้ยง ซึ่งถือเป็นค่าจ้างตามผลงานคำนวณโดยเป็นหน่วยจากจำเลย
จึงไม่มีค่าจ้างตามผลงานของโจทก์ดังกล่าวที่จะนำมารวมเป็นฐานของค่าจ้าง เพื่อคำนวณเป็นเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เพื่อจ่ายให้แก่โจทก์ดังกล่าวเพิ่มเติมส่วนที่ขาดตามฟ้องได้ ย่อมถือว่าจำเลยจ่ายเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานให้แก่โจทก็ดังกล่าวครบถ้วนแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลย (บริษัท การบินไทยฯ) จ่ายเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ของปี 2560 ถึงปี 2563 ให้แก่โจทก์ที่ 4 และที่ 16 ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และจำเลยจ่ายเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ของปี 2557 ถึงปี 2559 และปี 2563 ให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 ครบถ้วนแล้วหรือไม่
ในข้อนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 ระบุให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30 รวมถึงค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามที่ตกลงกัน
โดยในมาตรา 30 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันและตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล สำเนาเอกสารหมาย ล.43 ตอนที่ 1 สิทธิและหน้าที่โดยทั่วไปของพนักงาน พ.ศ.2537 ข้อ 9 เรื่องการหยุดพักผ่อนประจำปี
ในข้อ 9.1 กำหนดให้พนักงานที่มีอายุงานครบตั้งแต่ 1 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี และพนักงานระดับผู้อำนวยการใหญ่ หรือกรรมการผู้จัดการขึ้นไป มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีได้ 12 วัน 18 วัน 21 วัน 24 วัน และ 28 วัน ตามลำดับ และระบุให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนดังกล่าวให้พนักงานล่วงหน้าหรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่สะสมได้ไม่เกิน 3 รอบปีติดต่อกัน
โดยต่อมาจำเลย (บริษัท การบินไทยฯ) มีประกาศที่ 020/2558 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 เรื่องการดำเนินการวันหยุดพักผ่อนประจำปี ข้อ 3 ระบุว่า นับตั้งแต่รอบปี 2557/2558 เป็นต้นไป จำเลยจะไม่นำวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เกินกว่าระเบียบบริษัทกำหนดมาจ่ายเป็นเงินทดแทน ลูกจ้างสามารถสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่เกิน 3 ปี และจะมีการตัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่เกิน 3 ปี ในทุกวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี ตามสำเนาประกาศเอกสารหมาย จ.20 เช่นนี้
เห็นว่า การที่จำเลยมีประกาศดังกล่าว ก็เพื่อไม่ต้องการให้มีการหยุดงานคราวละจำนวนมาก ซึ่งอาจกระทบต่อการบริหารจัดการคนให้เหมาะสมกับงาน ทั้งยังเป็นไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยพยุงสถานะทางการเงินของจำเลยให้อยู่รอดต่อไปได้
การกระทำของจำเลย นอกจากจะถือเป็นการบริหารงานบุคคลโดยสุจริตแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบของจำเลย ข้อ 9 และเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยถูกต้องครบถ้วนแล้ว
ดังนั้น การที่จำเลยมีประกาศดังกล่าว แล้วตัดสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในส่วนที่เกินสามปีทิ้งไป และไม่นำมาจ่ายเป็นเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบของจำเลย
จึงชอบแล้ว โจทก์ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ของปี 2557 ถึงปี 2559 จากจำเลยเพิ่มเติมได้อีก
ที่โจทก็ดังกล่าวนำสืบอ้างว่า โจทก์ดังกล่าวไม่สามารถใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ และจำเลยไม่ได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ดังกล่าว โดยมีหลักฐานเป็นประกาศของจำเลยตามสำเนาเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ที่ระบุไม่ให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินลาหยุดพักผ่อนประจำปี หรือขอความร่วมมือจากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินให้ชะลอการใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีมาแสดง นั้น
ก็เป็นการห้ามหรือขอความร่วมมือในบางช่วงบางเวลาเท่านั้น จึงไม่สามารถบ่งชี้ชัดว่า จำเลยไม่ได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ดังกล่าวตามที่อ้าง
นอกจากนี้ ที่โจทก์ดังกล่าวอ้างว่า หน่วยงานที่โจทก์ดังกล่าวสังกัดเป็นหน่วยงานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถให้พนักงานใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีได้หมด จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ตามสำเนาประกาศเอกสารหมาย จ.20 ข้อ 3 และ ข้อ 4 นั้น
เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เพราะกรณีจะเป็นเช่นนั้น ตามประกาศดังกล่าวระบุว่า จะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากฝ่ายบริหารของจำเลยก่อน แต่โจทก็ดังกล่าวไม่มีหลักฐานการการพิจารณาอนุมัติจากฝ่ายบริหารของจำเลยมาแสดงแต่อย่างใด
ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ของปี 2563 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามรายละเอียดวันหยุดพักผ่อนประจำปีเอกสารหมาย ล.44 ว่า จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 4 และที่ 16 ตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ที่ 4 และที่ 16 มีสิทธิได้รับ เพราะเป็นปีที่โจทก์ที่ 4 และที่ 16 พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลย
จึงชอบแล้ว โจทก์ที่ 4 และที่ 16 ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ของปี 2563 เต็มตามสิทธิ 24 วัน ดังที่ฟ้องและนำสืบแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือเงินสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 ตามรายละเอียดวันหยุดพักผ่อนประจำปีเอกสารหมาย ล.44 นั้น จำเลยไม่ได้นำเงินประจำตำแหน่งของโจทก์ดังกล่าว ซึ่งเป็นค่าจ้างดังกล่าวมารวมคำนวณด้วย ย่อมไม่ถูกต้อง…
จำเลยจึงต้องจ่ายเงินส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นให้แก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 24 และที่ 26 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่โจทก์ดังกล่าวมีคำขอ…” คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 1 (พระนครศรีอยุธยา) คดีหมายเลขดำที่ ร1181-ร1206/2565 คดีหมายเลขแดงที่ ร905-ร908 ,ร937 ,ร965 ,ร 974 ,ร1005 ,ร1066, ร1655-ร1671/2566 ลงวันที่ 7 ก.ย.2566 ระบุ
อ่านประกอบ :
‘บิ๊กตู่’มั่นใจ‘การบินไทย’คืนหนี้ได้ตามแผนฯ-แนะปรับปรุงเส้นทางบินให้สอดคล้องผู้โดยสาร
มิได้กระทำผิดสัญญา! ศาลแรงงานฯยกฟ้อง‘การบินไทย’ คดีค่าชดเชยเลิกจ้าง 40 อดีต พนง.
‘การบินไทย’ประกาศ ‘ร้องเรียนกรมสวัสดิฯ-ใช้โซเชียลให้ร้ายบริษัท’โดนริบสิทธิบัตรโดยสารพนง.
ที่ประชุมเจ้าหนี้ฯไฟเขียว‘การบินไทย’ปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มการบิน-ยันไม่กระทบผู้โดยสาร
‘การบินไทย’ขอ‘ครม.’คงสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’-ให้‘คลัง’ใช้สิทธิแปลงหนี้-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน
'ศาลแรงงาน'สั่ง‘การบินไทย’จ่าย 19 อดีตพนง. 14.3 ล้าน กรณีถูกหัก'เงินชดเชยฯ'คืนหนี้สหกรณ์
จ่อยุบ‘ไทยสมายล์ฯ’ปีนี้! ‘การบินไทย’ลุย‘แปลงหนี้เป็นทุน’-เหลือแอร์บัส A340 รอขาย 4 ลำ
รัฐถือหุ้นไม่ถึง50%ก็เป็นได้! สั่ง‘คลัง’แก้มติฯดัน‘การบินไทย’ฟื้นสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’
ฉบับเต็ม! เปิดความคืบหน้าฟื้นฟูฯ'การบินไทย' ขอ'คลัง'ซื้อหุ้นเพิ่มทุน-ตามหนี้'ทอ.'พันล้าน
ปรับโครงสร้างทุน! 'การบินไทย'ขอ'คลัง'ซื้อ'หุ้นเพิ่มทุน' รักษาสัดส่วนรัฐไม่น้อยกว่า 40%
ที่ประชุม 'เจ้าหนี้' โหวต 'ยอมรับ' แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ‘การบินไทย’