ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พิพากษายืน สั่ง ‘บมจ.การบินไทย’ ชำระหนี้ชดเชย ‘การเลิกจ้าง-เงินทดแทนวันหยุดพักผ่อน’ ให้ 'อดีตพนักงานฯ' เป็นเงิน 6.6 แสนบาท ชี้ ‘ค่าชั่วโมงบิน’ ถือเป็น ‘ค่าจ้าง’ ที่ต้องนำมาคำนวณจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้างฯ ด้วย
...........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงเดือน มี.ค.2566 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ สฟฟ 302/2564 คดีหมายเลขแดงที่ สฟฟ 102/2565 ซึ่งเป็นคดีที่ บมจ.การบินไทย ยื่นคำร้องขอคัดค้านคำสั่งของศาลล้มละลาย เมื่อปี 2565 ที่มีคำสั่งให้ บมจ.การบินไทย ชำระหนี้ให้แก่อดีตพนักงานการบินไทย (เจ้าหนี้) จำนวน 1 ราย เป็นค่าชดเชยการเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุ และเงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปี
โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พิพากษายืนตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ให้ บมจ.การบินไทย ชำระหนี้ค่าชดเชยการเลิกจ้าง เนื่องจากเกษียณอายุ ให้แก่พนักงานฯรายนี้ เป็นเงิน 659,683.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี ของเงินต้น 615,542 บาท นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย เป็นต้นไป ไปจนถึงวันที่ 10 เม.ย.2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
พร้อมกันนั้น ให้ บมจ.การบินไทย ชำระหนี้เงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 3,643.70 บาท ให้แก่พนักงานรายดังกล่าว ด้วย
“ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้บริหารแผน ข้อต่อไปมีว่า เงินค่าตอบแทนที่เจ้าหนี้ (อดีตพนักงานการบินไทย) ได้รับเป็นค่าชั่วโมงบินเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคำนาณค่าชดเชยหรือไม่
ผู้บริหารแผนอุทธรณ์ว่า เงินที่เจ้าหนี้ได้รับเป็นเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ตามระเบียบลูกหนี้ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 17 การเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งหมายถึง ค่าอาหารในการปฏิบัติงานประจำวันสำหรับลูกเรือและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ค่าชั่วโมงบิน จึงไม่ใช่ค่าจ้างคำนวณตามผลงานในเวลาทำงานปกติ ที่จะต้องนำไปคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง 400 วันสุดท้าย ที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเป็นค่าชดเชยการเลิกจ้างแก่เจ้าหนี้
เห็นว่า ระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 17 การเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ พ.ศ.2539 ตามเอกสารหมาย ร.6 ข้อ 4 บัญญัติว่า “ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับเฉพาะพนักงานที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน” ซึ่งตามระเบียบข้อ 3 ให้นิยามคำว่า การเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ หมายถึง “การเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ให้บริษัทเป็นการชั่วคราวในต่างประเทศหรือต่างจังหวัด ซึ่งมิใช่ฐานปฏิบัติงานปกติ (Home Base) ของพนักงาน...”
ส่วนเบี้ยเลี้ยงเดินทาง หมายถึง “เงินที่ปริษัทจ่ายให้พนักงานเป็นค่าอาหารประจำวันในระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่นอกฐานปฏิบัติงานปกติ ซึ่งเป็นไปตามอัตราและเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด” สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานบนเครื่องบินนั้น ระเบียบข้อ 10.9 ระบุว่า “พนักงานที่ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน (Flight Personnel) เมื่อได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานบนเที่ยวบินพิเศษต่างๆ ซึ่งต้องใช้หนังสือสั่งเดินทาง (Trevel Order)
เช่น เที่ยวบินพระราชพาหนะ (Royal Flight) เที่ยวบินสำหรับบุคคลสำคัญ (VIP Flight) เที่ยวบินรับ-ส่งมอบเครื่อง (Delivery Flight) เที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) เที่ยวบินปฐมฤกษ์ (Inaugural Flight) เที่ยวขึ้นที่ไม่รับผู้โดยสาร (Ferry Flight) ฯลฯ บริษัทจะจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้เช่นเดียวกับเมื่อปฏิบัติงานในเที่ยวบินปกติ (Flight Per Diem) กรณีนอกเหนือจากนี้พนักงานจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดินทางเช่นเดียวกับพนักงานทั่วไป”
แสดงให้เห็นว่า พนักงานที่ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน (Flight Personnel) นั้น หากปฏิบัติงานในเที่ยวบินปกติจะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าชั่วโมงบิน (Flight Per Diem) แต่หากได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานตามหนังสือสั่งเดินทาง (Travel Order) นอกเหนือกรณีที่ระบุตามระเบียบข้อ 10.9 จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ซึ่งเบี้ยเลี้ยงเดินทางดังกล่าวหมายถึง เงินที่บริษัทจ่ายให้พนักงานเป็นค่าอาหารประจำวันในระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่นอกฐานปฏิบัติปกติ ตามระเบียบข้อ 3
ซึ่งสอดคล้องกับทางนำสืบของเจ้าหนี้ว่า ค่าตอบแทนของพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน อย่างชัดแจ้ง คือ ส่วนแรก การปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดอยู่ในตารางบิน (Flight Service) จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าชั่วโมงบิน (Flight Per Diem) และส่วนที่ส่อง การเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ (Service Journeys) ตามหนังสือสั่งเดินทาง (Travel order) จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดินทาง (Travel Per Diem) ตามคู่มือการเดินเรืออากาศ ในส่วนคู่มือพนักงาน เอกสารหมาย ค.7 หน้าสุดท้าย
เมื่อเจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในเงินค่าชดเชยการเลิกจ้าง โดยมีหลักฐานเป็นตารางสรุปเงินค่าชั่วโมงบินที่ได้ระหว่างวันที่ 29 ส.ค.2561 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2562 กับภาพถ่ายข้อความ (SMS) แสดงการได้รับเงินค่าชั่วโมงบิน ตามเอกสารหมาย ค.13 และ ค.14 ซึ่งรายการ SMS แต่ละรายการระบุว่า “Your Flight Per Diem has been transferred Date... Flight No....Flight Date... Amount...”
แสดงว่า มีการโอนเงินค่าชั่วโมงบิน ให้แก่เจ้าหนี้จำนวน 3 ถึง 9 รายการ ต่อเดือน ตามเที่ยวบินที่เจ้าหนี้ได้ปฏิบัติงานในแต่ละครั้ง อันมีลักษณะเป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามอัตราที่คำนวณจากเวลาที่ได้ปฏิบัติงานบนเครื่องบินจริง เมื่อฝ่ายผู้บริหารแผน ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่า ค่าตอบแทนที่เจ้าหนี้ได้รับเหล่านี้ เป็นคำตอบแทนเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ตามหนังสือสั่งเดินทาง
จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า เงินดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ ตามที่กำหนดอยู่ในตารางบินของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน คือ เป็นเงินค่าชั่วโมงบินที่จ่ายตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง ตามผลงานที่เจ้าหนี้ได้ปฏิบัติงานบนเครื่องบินจริง ถือเป็นค่าจ้างตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตราขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 4 ที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยตามข้อ 59 (6)
ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าชดเชยการเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุ โดยนำเงินค่าชั่วโมงบิน มารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยนั้น ชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้บริหารแผนฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ” คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ในคดีหมายเลขดำที่ สฟฟ 302/2564 คดีหมายเลขแดงที่ สฟฟ 102/2565 ลงวันที่ 6 ก.พ.2566 ระบุ
คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2563 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย และตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซสฯ ,พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ,นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ,นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ,นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ,นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ทำแผน และต่อมาในวันที่ 15 มิ.ย.2564 ศาลฯมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการฯและแผนฯที่มีการแก้ไขตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้
อย่างไรก็ดี ก่อนที่ศาลล้มละลายจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฯนั้น เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2563 อดีตพนักงานการบินไทยรายดังกล่าว ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในฐานะเจ้าหนี้ ในมูลหนี้เงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยการเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุ เป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี ของเงินต้น 7.84 แสนบาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จนกว่าจะได้ชำระเงินเสร็จสิ้น
แต่ปรากฏว่า ผู้ร้อง ซึ่งเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ในขณะนั้น โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของอดีตพนักงานรายนี้
ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์ได้สอบสวน และมีคำสั่งให้อดีตพนักงานการบินไทยรายดังกล่าว ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้เงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 54,453.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย และได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าชดเชยการเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุ จำนวน 659,683.95 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันที่ศาลฯมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ร้อง ซึ่งต่อมาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย ได้ยื่นคำร้องขอให้แก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์ โดยผู้ร้องอ้างว่า บมจ.การบินไทย ได้จ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุ และจ่ายเงินทดแทนสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2559 ให้แก่อดีตพนักงานรายดังกล่าว ครบแล้ว
ผู้ร้อง เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักทรัพย์ มีคำสั่งให้ลูกหนี้ชำระค่าชดเชยการเลิกจ้าง เนื่องจากเกษียณอายุ โดยวินิจฉัยว่า ค่าเบี้ยเลี้ยงการเดินทาง เป็นค่าชั่วโมงบิน และมาเป็นฐานในการคำนวณอัตราสุดท้าย 400 วัน และมีคำสั่งให้ บมจ.การบินไทย จ่ายเงิน จำนวน 659,683.95 บาท นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากค่าชดเชยและค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ไม่ใช่ค่าชั่วโมงบิน และไม่ถือว่าจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงไม่เป็นค่าจ้าง
ผู้ร้อง จึงยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย เพื่อให้ศาลมีคำสั่งแก้คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นยกคำขอรับชำระหนี้ให้แก่อดีตพนักงานการบินไทยรายดังกล่าว และต่อมาในเดือน พ.ค.2565 ศาลล้มละลาย ได้มีคำสั่งให้ บมจ.การบินไทย ชำระหนี้ค่าชดเชยการเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุ ให้แก่พนักงานฯรายนี้ จำนวน 659,683.95 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้ชำระหนี้เงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีอีกเป็นเงิน 3,643.70 บาท
อ่านประกอบ :
ต้องเปิดเผยข้อมูล-โปร่งใส จิ๊กซอว์สำคัญ ฟื้นฟูการบินไทย?
‘เศรษฐา’ รับอึดอัดใจ ปัญหา ‘การบินไทย’ กวดขันทำตามแผนฟื้นฟู
‘บอร์ดติดตามการบินไทย’ จ่อคุยฟื้นสถานะสายการบินแห่งชาติ
‘เศรษฐา’ เซ็นตั้งบอร์ดติดตาม ‘แผนฟื้นฟูการบินไทย’ ‘สุริยะ’ นั่งประธาน
‘ศาลแรงงาน’ สั่ง ‘การบินไทย’ จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง‘ส่วนที่ขาด’ ให้อดีตพนักงาน 17 ราย
‘บิ๊กตู่’มั่นใจ‘การบินไทย’คืนหนี้ได้ตามแผนฯ-แนะปรับปรุงเส้นทางบินให้สอดคล้องผู้โดยสาร
มิได้กระทำผิดสัญญา! ศาลแรงงานฯยกฟ้อง‘การบินไทย’ คดีค่าชดเชยเลิกจ้าง 40 อดีต พนง.
‘การบินไทย’ประกาศ ‘ร้องเรียนกรมสวัสดิฯ-ใช้โซเชียลให้ร้ายบริษัท’โดนริบสิทธิบัตรโดยสารพนง.
ที่ประชุมเจ้าหนี้ฯไฟเขียว‘การบินไทย’ปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มการบิน-ยันไม่กระทบผู้โดยสาร
‘การบินไทย’ขอ‘ครม.’คงสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’-ให้‘คลัง’ใช้สิทธิแปลงหนี้-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน
'ศาลแรงงาน'สั่ง‘การบินไทย’จ่าย 19 อดีตพนง. 14.3 ล้าน กรณีถูกหัก'เงินชดเชยฯ'คืนหนี้สหกรณ์
จ่อยุบ‘ไทยสมายล์ฯ’ปีนี้! ‘การบินไทย’ลุย‘แปลงหนี้เป็นทุน’-เหลือแอร์บัส A340 รอขาย 4 ลำ
รัฐถือหุ้นไม่ถึง50%ก็เป็นได้! สั่ง‘คลัง’แก้มติฯดัน‘การบินไทย’ฟื้นสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’
ฉบับเต็ม! เปิดความคืบหน้าฟื้นฟูฯ'การบินไทย' ขอ'คลัง'ซื้อหุ้นเพิ่มทุน-ตามหนี้'ทอ.'พันล้าน