ศาลแรงงานฯ พิพากษาเพิกถอนคำสั่ง ‘พนักงานตรวจแรงงาน’ ที่สั่งให้ ‘การบินไทย’ จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อน ในช่วงปี 57-59 ให้ ‘อดีตพนักงานฯ’ ชี้เมื่อพนักงานฯไม่ใช้สิทธิ ‘วันหยุดพักผ่อนฯ’ ตามระเบียบฯ ให้ถือว่า ‘สละสิทธิ’
..........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ฝ่ายกฎหมายของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้สรุปคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ร 1196/2566 ระหว่าง บริษัท การบินไทยฯ (โจทก์) และพนักงานตรวจแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับพวกรวม 3 คน (จำเลยที่ 1-3) ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของอดีตพนักงานบริษัท การบินไทย รายหนึ่ง รายงานให้ฝ่ายบริหารของบริษัท การบินไทยฯ รับทราบ โดยมีเนื้อหาว่า
ศาลแรงงานกลาง ได้มีคำพิพากษา ดังนี้ ประเด็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของจำเลยที่ 2 (อดีตพนักงานบริษัท การบินไทยฯ) ขาดอายุความหรือไม่ ศาลเห็นว่า สิทธิ เรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จะเกิดขึ้นเมื่อได้มีการเลิกสัญญาจ้าง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายลูกจ้างหรือนายจ้างก็ตาม ตราบใดยังไม่ได้ทำการเลิกสัญญาจ้าง ลูกจ้างหามีสิทธิเรียกร้องไม่
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยที่ 2 พ้นสภาพ จากการเป็นลูกจ้างของโจทก์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2563 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน อันเป็นการใช้สิทธิเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี จึงยังไม่พ้นกำหนดเวลา 2 ปี สิทธิเรียกร้องสำหรับค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีของ จำเลยที่ 2 จึงยังไม่ขาดอายุความ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 นั้น ยื่นเมื่อเกินกว่า 2 ปีแล้วจึงขาดอายุความ
ส่วนประเด็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 (พนักงานตรวจแรงงาน) ฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลายหรือไม่ ศาลเห็นว่า เพื่อพิจารณาตาม มาตรา 90/12 ไม่มีกำหนดห้ามไม่ให้ลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อจะบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ
ดังนั้น แม้ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทโจทก์ไว้พิจารณาลูกจ้าง หรือจำเลยที่ 2 ก็สามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อขอให้บังคับโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อน ประจำปีพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างได้ และพนักงานตรวจแรงงานก็มีอำนาจออกคำสั่งได้
ทั้งนี้ ไม่ว่าลูกจ้างจะได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้เดียวกัน ในคดีที่เจ้าหนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการหรือไม่ก็ตาม ซึ่งการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุด พักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานให้แก่นายจ้างย่อมเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้า ตามปกติของนายจ้างสามารถดำเนินต่อไปได้ จึงไม่มีลักษณะเป็นการขัดต่อมาตรา 90/12 (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483
ดังนั้น จึงไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน และจำเลยที่1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน จึงชอบที่จะรับคำร้องและมีคำสั่งตามกฎหมายไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
ประเด็นว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจที่ 370/2565 หรือไม่ ศาลเห็นว่า วันหยุดพักผ่อนประจำปี 2557 ถึงปี 2559 เกิดขึ้นในขณะที่โจทก์ยังคงมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับ และมาตรา 4 (2) ไม่ให้นำมาใช้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 (พนักงานตรวจแรงงาน) จึงไม่มีอำนาจสอบสวน ข้ออ้างของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 370/2565 ที่สั่งให้โจทก์ (บริษัท การบินไทยฯ) จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบกรณีมีเหตุเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ประเด็นว่าโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ ศาลเห็นว่า โจทก์มีระเบียบว่าด้วยการ บริหารงานบุคคล ตอนที่ 1 สิทธิและหน้าที่โดยทั่วไปของพนักงาน พ.ศ.2539 ข้อ 9.1 ระเบียบดังกล่าวถือเป็นสภาพการจ้าง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจำเลยที่ 2 ไม่ใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่ระเบียบกำหนด จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2557 ถึงปี 2559 ที่เกินกว่าระเบียบได้ ข้ออ้างของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
แต่โจทก์จะต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่นั้น ได้ความว่า โจทก์มีระเบียบของโจทก์ว่าด้วย การบริหารงานบุคคล ตอนที่ 1 สิทธิและหน้าที่โดยทั่วไปของพนักงาน พ.ศ.2539 ข้อ 9.1 และ ประกาศ 020/2558 เรื่อง การดำเนินการวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 ถือเป็นการใช้อำนาจของนายจ้างในการบริหารจัดการเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่มีอยู่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ใช้สิทธิ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 สละสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2557 ถึงปี 2559 แล้ว โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อน ประจำปีในปี 2557 ถึงปี 2559 ให้แก่จำเลยที่ 2
ส่วนกรณีตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ขอให้บังคับให้โจทก์จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำปีและดอกเบี้ยนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับการเพิกถอนคำสั่งที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์
พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ 370/2565 เฉพาะในส่วนที่สั่งให้โจทก์ (บริษัท การบินไทยฯ) โดยผู้บริหารแผนจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อน ประจำปีให้แก่จำเลยที่ 2 (อดีตพนักงานการบินไทย) เป็นเงิน 125,806.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
อ่านประกอบ :
ศาลฯยกฟ้อง คดี'การบินไทย'ขอเพิกถอนคำสั่งจ่าย'ค่าชดเชย'วันหยุดประจำปีสะสม'อดีต พนง.'
‘การบินไทย’ ยอมรับมีแผนจัดหาเครื่องบิน 45 ลำจริง มั่นใจมีสภาพคล่องพอในการจัดซื้อ
‘เศรษฐา’เล็งนัด ‘การบินไทย’ คุยปมซื้อเครื่องบินใหม่ ‘สุริยะ’ ห่วงแต่ทำอะไรไม่ได้
ทำผิดซ้ำริบสิทธิฯถาวร! ‘การบินไทย’รื้อประกาศฯเกณฑ์ระงับ-เรียกคืน‘สิทธิบัตรโดยสาร’พนักงาน
‘ศาลอุทธรณ์ฯ’พิพากษายืน สั่ง‘การบินไทย’นำ'ค่าชั่วโมงบิน'คำนวณจ่ายชดเชยเลิกจ้างฯ'พนักงาน'
ต้องเปิดเผยข้อมูล-โปร่งใส จิ๊กซอว์สำคัญ ฟื้นฟูการบินไทย?
‘เศรษฐา’ รับอึดอัดใจ ปัญหา ‘การบินไทย’ กวดขันทำตามแผนฟื้นฟู
‘บอร์ดติดตามการบินไทย’ จ่อคุยฟื้นสถานะสายการบินแห่งชาติ
‘เศรษฐา’ เซ็นตั้งบอร์ดติดตาม ‘แผนฟื้นฟูการบินไทย’ ‘สุริยะ’ นั่งประธาน
‘ศาลแรงงาน’ สั่ง ‘การบินไทย’ จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง‘ส่วนที่ขาด’ ให้อดีตพนักงาน 17 ราย
‘บิ๊กตู่’มั่นใจ‘การบินไทย’คืนหนี้ได้ตามแผนฯ-แนะปรับปรุงเส้นทางบินให้สอดคล้องผู้โดยสาร
มิได้กระทำผิดสัญญา! ศาลแรงงานฯยกฟ้อง‘การบินไทย’ คดีค่าชดเชยเลิกจ้าง 40 อดีต พนง.
‘การบินไทย’ประกาศ ‘ร้องเรียนกรมสวัสดิฯ-ใช้โซเชียลให้ร้ายบริษัท’โดนริบสิทธิบัตรโดยสารพนง.
ที่ประชุมเจ้าหนี้ฯไฟเขียว‘การบินไทย’ปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มการบิน-ยันไม่กระทบผู้โดยสาร
‘การบินไทย’ขอ‘ครม.’คงสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’-ให้‘คลัง’ใช้สิทธิแปลงหนี้-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน
'ศาลแรงงาน'สั่ง‘การบินไทย’จ่าย 19 อดีตพนง. 14.3 ล้าน กรณีถูกหัก'เงินชดเชยฯ'คืนหนี้สหกรณ์
จ่อยุบ‘ไทยสมายล์ฯ’ปีนี้! ‘การบินไทย’ลุย‘แปลงหนี้เป็นทุน’-เหลือแอร์บัส A340 รอขาย 4 ลำ
รัฐถือหุ้นไม่ถึง50%ก็เป็นได้! สั่ง‘คลัง’แก้มติฯดัน‘การบินไทย’ฟื้นสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’
ฉบับเต็ม! เปิดความคืบหน้าฟื้นฟูฯ'การบินไทย' ขอ'คลัง'ซื้อหุ้นเพิ่มทุน-ตามหนี้'ทอ.'พันล้าน