‘ศาลแรงงานกลาง’ ยกฟ้องคดี ‘บมจ.การบินไทย’ ฟ้องเพิกถอนคำสั่ง ‘เจ้าพนักงานตรวจแรงงาน’ สั่งจ่ายค่าชดเชยวันหยุดประจำปีสะสม ‘อดีตพนักงาน’ พร้อมระบุ ‘ประกาศบริษัทฯ’ ที่ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ไม่อาจบังคับใช้ได้
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลแรงงานกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีที่ บมจ. การบินไทย เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพพื้นที่ 9 (จำเลยที่ 1) และอดีตพนักงาน บมจ.การบินไทย รายหนึ่ง (จำเลยที่ 2) เพื่อขอให้ศาลฯเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานฯ ซึ่งมีคำสั่งที่ 6/2566 ให้ บมจ.การบินไทย จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม ให้กับอดีตพนักงาน บมจ.การบินไทย (จำเลยที่ 2) ที่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร (เกษียณอายุก่อนกำหนด) เมื่อเดือน เม.ย.2564
โดยศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 6/2566 ของเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพพื้นที่ 9 ที่ให้ บมจ.การบินไทย จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนสะสมประจำปีให้กับอดีตพนักงาน บมจ.การบินไทย (จำเลยที่ 2) นั้น ชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว นอกจากนี้ ในกรณีที่ บมจ.การบินไทย มีการออกประกาศฯเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปี ที่ขัดกับมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น ไม่อาจบังคับใช้ได้
“ที่โจทก์ (บมจ.การบินไทย) อ้างว่าสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของจำเลยที่ 2 (อดีตพนักงานการบินไทย) ขาดอายุความนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 วรรคแรก บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ใช่กรณีตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30
และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาหรือนายจ้างเลิกจ้าง ไม่ว่าการเลิกจ้างนั้น เป็นกรณีตามมาตรา 119 หรือไม่ก็ตาม ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่ลูกจ้างพึงมีตามมาตรา 30 ซึ่งหมายความว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลิกสัญญาจ้าง ไม่ว่าจะโดยฝ่ายลูกจ้างหรือนายจ้างก็ตาม ลูกจ้างยังไม่มีสิทธิจะเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม
โดยลูกจ้างอาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ นับแต่วันที่เลิกสัญญาจ้างตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เมื่อเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นเงินที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนแก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงมีอายุความสองปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34 (4)
เมื่อลูกจ้างบอกเลิกสัญญาหรือนายจ้างเลิกจ้าง นายจ้างจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีภายใน 3 วัน นับแต่วันที่เลิกสัญญาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบมาตรา 70 วรรคท้าย แต่โดยที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 กำหนดให้ลูกจ้างต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่ง ระหว่างใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน หรือต่อพนักงานตรวจแรงงาน จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้
การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม อันเป็นการเรียกร้องเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 (อดีตพนักงานการบินไทย) เลือกใช้สิทธิที่จะต่อโจทก์ (บมจ.การบินไทย) ด้วยการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน จึงต้องพิจารณาถึงวันที่เกิดสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เรียกร้องมาก่อนว่า เริ่มตั้งแต่วันใด
โจทก์ (บมจ.การบินไทย) มีระเบียบการหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงาน กำหนดให้พนักงานได้รับสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีในรอบปีตามระดับตำแหน่งและอายุงาน และกำหนดเงื่อนไขการหยุดพักผ่อนประจำปี โดยให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้พนักงานล่วงหน้า หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสม และเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมในรอบปีถัดไปก็ได้แต่สะสมได้ไม่เกิน 3 รอบปีติดต่อกัน ตามสำเนาระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลตอนที่ 1 เอกสารหมาย จ.9
ถือเป็นสภาพการจ้างที่ใช้บังคับกับลูกจ้างได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามระเบียบที่ว่า ผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมอยู่ในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่สะสมได้ไม่เกิน 3 รอบปีติดต่อกันนั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อไปก็ได้ ระเบียบของโจทก์ (บมจ.การบินไทย) ที่กำหนดเกี่ยวกับจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีในข้อนี้ จึงใช้บังคับได้
แต่สำหรับค่าจ้างหรือเงินทดแทนสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่พนักงานยังไม่ได้ใช้นั้น พยานโจทก์เบิกความว่า ตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลตอนที่ 1 สิทธิและหน้าที่โดยทั่วไปของพนักงาน พ.ศ.2537 ข้อ 9 เรื่องการหยุดพักผ่อนประจำปี ระบุไว้ใน ข้อ 9.1 ว่า ให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนให้พนักงานล่วงหน้า หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่สะสมได้ไม่เกิน 3 รอบปีติดต่อกัน
และประกาศบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ 020/2558 เรื่อง การดำเนินการเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปีลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 เอกสารหมาย จ.10 ในข้อ 3 ระบุว่า นับตั้งแต่สิ้นรอบปี 2557/2558 สิ้นสุด 30 กันยายน 2558 เป็นต้นไป บริษัทจะไม่นำวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เกินกว่าระเบียบที่บริษัทกำหนดมาจ่ายเป็นเงินทดแทน ซึ่งข้อความตามประกาศฉบับดังกล่าว นอกจากจะไม่เป็นคุณแก่พนักงานแล้ว ยังขัดกับมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อีกด้วย ประกาศของโจทก์ (บมจ.การบินไทย) จึงไม่อาจใช้บังคับได้
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 หยุดพักผ่อนประจำปีในวันใดวันหนึ่งเป็นการแน่นอนแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่หยุดเอง แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า จำเลยที่ 2 ยื่นขอลาหยุดพักผ่อนในระบบการขอลาหยุดของโจทก์แล้ว แต่ไม่ได้รับการจัดสรรโควต้าให้หยุดพักผ่อนประจำปี ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม ที่โจทก์ไม่ได้จัดให้หยุดสิทธิของสิทธิของจำเลยที่ 2 ที่จะได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่เกินกว่าระเบียบจึงยังไม่สิ้นไปในทันที เมื่อพ้นกำหนดตามระเบียบของโจทก์
ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 พ้นสภาพโดยถูกเลิกจ้างให้มีผลวันที่ 30 เม.ย.2564 และจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ดังนั้น อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34 (9)
ที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติส้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 นั้น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิของผู้อื่น จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด เมื่อมาตรา 90/12 มีข้อห้ามถึง 11 อนุมาตรา แต่ไม่อนุมาตราใด ห้ามลูกจ้างยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้บังคับนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
จึงต้องถือว่า ไม่มีกฎหมายห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานเพื่อบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แม้ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัทโจทก์ (บมจ.การบินไทย) ไว้พิจารณา ลูกจ้างก็สามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้บังคับนายจ้างจ่ายค่าจ้าง สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างได้ และพนักงานตรวจแรงงานก็มีอำนาจออกคำสั่งได้
สำหรับกรณีตามมาตรา 90/12 (9) ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ลูกหนี้...ชำระหนี้...หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินนอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น” นั้น
เห็นได้ว่า การจ่ายค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง เพื่อตอบแทนการทำงานให้แก่นายจ้าง ย่อมเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของโจทก์สามารถดำเนินต่อไปได้ จึงไม่ได้มีลักษณะเป็นการขัดต่อมาตรา 90/12 (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างจึงสามารถยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน และจำเลยที่ 1 ย่อมสามารถรับคำร้องของจำเลยที่ 2 และมีคำสั่งได้ตามกฎหมาย ดังนั้น คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 6/2566 ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12
นอกจากนี้ ที่โจทก์ (บมจ.การบินไทย) อ้างว่าจำเลยที่ 2 (อดีตพนักงานการบินไทย) ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงสละสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีโจทก์นั้น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นกฎหมายเกี่ยวกับกับความสงบเรียบร้อย สัญญาหรือข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างข้อใดที่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้ง หรือเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 และมาตรา 151
เมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย การที่จำเลยที่ 2 ทำหนังสือสละสิทธิฟ้องร้องเรียกเงินใดๆจากโจทก์ จึงไม่รวมถึงสิทธิของจำเลยที่ 2 ในการที่จะเรียกให้โจทก์จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 6/2566 ของจำเลยที่ 1 ที่ให้โจทก์ (บมจ.การบินไทย) จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมแก่จำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว พิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ร 359/2566 คดีหมายเลขแดงที่ ร 935/2567 ของศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ 13 มี.ค.2567 ระบุ
อ่านประกอบ :
‘การบินไทย’ ยอมรับมีแผนจัดหาเครื่องบิน 45 ลำจริง มั่นใจมีสภาพคล่องพอในการจัดซื้อ
‘เศรษฐา’เล็งนัด ‘การบินไทย’ คุยปมซื้อเครื่องบินใหม่ ‘สุริยะ’ ห่วงแต่ทำอะไรไม่ได้
ทำผิดซ้ำริบสิทธิฯถาวร! ‘การบินไทย’รื้อประกาศฯเกณฑ์ระงับ-เรียกคืน‘สิทธิบัตรโดยสาร’พนักงาน
‘ศาลอุทธรณ์ฯ’พิพากษายืน สั่ง‘การบินไทย’นำ'ค่าชั่วโมงบิน'คำนวณจ่ายชดเชยเลิกจ้างฯ'พนักงาน'
ต้องเปิดเผยข้อมูล-โปร่งใส จิ๊กซอว์สำคัญ ฟื้นฟูการบินไทย?
‘เศรษฐา’ รับอึดอัดใจ ปัญหา ‘การบินไทย’ กวดขันทำตามแผนฟื้นฟู
‘บอร์ดติดตามการบินไทย’ จ่อคุยฟื้นสถานะสายการบินแห่งชาติ
‘เศรษฐา’ เซ็นตั้งบอร์ดติดตาม ‘แผนฟื้นฟูการบินไทย’ ‘สุริยะ’ นั่งประธาน
‘ศาลแรงงาน’ สั่ง ‘การบินไทย’ จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง‘ส่วนที่ขาด’ ให้อดีตพนักงาน 17 ราย
‘บิ๊กตู่’มั่นใจ‘การบินไทย’คืนหนี้ได้ตามแผนฯ-แนะปรับปรุงเส้นทางบินให้สอดคล้องผู้โดยสาร
มิได้กระทำผิดสัญญา! ศาลแรงงานฯยกฟ้อง‘การบินไทย’ คดีค่าชดเชยเลิกจ้าง 40 อดีต พนง.
‘การบินไทย’ประกาศ ‘ร้องเรียนกรมสวัสดิฯ-ใช้โซเชียลให้ร้ายบริษัท’โดนริบสิทธิบัตรโดยสารพนง.
ที่ประชุมเจ้าหนี้ฯไฟเขียว‘การบินไทย’ปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มการบิน-ยันไม่กระทบผู้โดยสาร
‘การบินไทย’ขอ‘ครม.’คงสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’-ให้‘คลัง’ใช้สิทธิแปลงหนี้-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน
'ศาลแรงงาน'สั่ง‘การบินไทย’จ่าย 19 อดีตพนง. 14.3 ล้าน กรณีถูกหัก'เงินชดเชยฯ'คืนหนี้สหกรณ์
จ่อยุบ‘ไทยสมายล์ฯ’ปีนี้! ‘การบินไทย’ลุย‘แปลงหนี้เป็นทุน’-เหลือแอร์บัส A340 รอขาย 4 ลำ
รัฐถือหุ้นไม่ถึง50%ก็เป็นได้! สั่ง‘คลัง’แก้มติฯดัน‘การบินไทย’ฟื้นสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’
ฉบับเต็ม! เปิดความคืบหน้าฟื้นฟูฯ'การบินไทย' ขอ'คลัง'ซื้อหุ้นเพิ่มทุน-ตามหนี้'ทอ.'พันล้าน