“…โดยการดำเนินคดีอาญาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ที่มากที่สุดคือ สมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่า ตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 50 (10) ประกอบ มาตรา 120 จำนวน 182 คดี รองลงมา คือ จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด ตามมาตรา 65 (1) จำนวน 51 คดี…”
ในช่วงเวลาที่การเลือกตั้งท้องถิ่นกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ‘บ้านใหญ่-พรรคใหญ่’ ต่างระดมสรรพกำลังคน-กำลังทุน ลงไปในพื้นที่เพื่อชิงเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภายหลังจากลาออกก่อนครบวาระเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง ก่อนถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (1 ตุลาคม 2565-30 กันยายน 2566) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จึงมีการเก็บสถิติและข้อมูลการร้องเรียน-ดำเนินคดีเลือกตั้งและยุบพรรคการเมือง รวมถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นตลอดปีงบประมาณด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำเสนอรายละเอียดของรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กกต. ที่น่าสนใจ ในส่วนที่ 2 เรื่องของผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ ดังนี้
@ คดี ‘เอ๋-ปารีณา’ ชดใช้ ลต.ซ่อม อยู่ระหว่างอุทธรณ์
การดำเนินคดี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงาน กกต.มีการดำเนินคดีในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง สส. การเลือกตั้งท้องถิ่น พรรคการเมืองและคดีอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วย คดีที่คณะกรรมการ กกต.และหรือสำนักงาน กกต. ฟ้องดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด และคดีที่คณะกรรม กกต. สำนักงาน กกต. เลขาธิการคณะกรรมการ กกต. สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด และเจ้าหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้งถูกฟ้องหรือถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจาการปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้
การเลือกตั้ง สส.
- คดีแพ่ง 1 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล กรณีเรียกค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง สส.จังหวัดราชบุรี เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า เป็นคดีที่ศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งซ่อมให้กับสำนักงาน กกต. พร้อมดอกเบี้ย เป็นจำนวนเงิน 7.6 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างน.ส.ปารีณาอุทธรณ์
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ น.ส.ปารีณา พ้นจากตำแหน่ง สส. นับจากวันที่ศาลฯ มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี รวมถึงเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ในการกระทำความผิดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีครอบครองและทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนโดยมิชอบ
- คดีปกครอง 5 คดี (คดีถึงที่สุด)
- คดีเลือกตั้ง 7 คดี (คดีถึงที่สุด)
การเลือกตั้งท้องถิ่น
- คดีอาญา 318 คดี
โดยการดำเนินคดีอาญาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ที่มากที่สุดคือ สมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่า ตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 50 (10) ประกอบ มาตรา 120 จำนวน 182 คดี รองลงมา คือ จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด ตามมาตรา 65 (1) จำนวน 51 คดี
ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 50 (10) ระบุว่า ‘บุคคลผู้มีลักษณะ เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือ หรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน’ เป็นบุคคลคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
มาตรา 120 ระบุว่า ผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่า ตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
- คดีปกครอง 3 คดี
พรรคการเมือง
- คดีอาญา 72 คดี แบ่งออกเป็น อยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวน 55 คดี ยุติเรื่อง 14 คดี อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักกฎหมายและคดี 3 คดี
- คดีแพ่ง 4 คดี แบ่งออกเป็น อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ 3 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการของสำนักกฎหมายและคดี 1 คดี
@ ก้าวไกลโดนร้องยุบพรรคมากสุด
การยุบพรรคการเมืองและการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง 3 กรณี 1.การสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง 2.ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และ 3.มีการควบรวมพรรคการเมือง
โดยในรอบปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มีพรรคการเมืองที่ขอเลิกความเป็นพรรคการเมืองตามข้อบังคับพรรคการเมือง โดยมติที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง จำนวน 8 พรรค และสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองโดยผลของกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จำนวน 4 พรรค
สำหรับเรื่องร้องยุบพรรคการเมือง พรรคก้าวไกลมีการร้องยุบพรรคมากที่สุด คือ 26 สำนวน โดยสั่งยุติเรื่อง 19 สำนวน ขณะที่อันดับที่สอง พรรคเพื่อไทย 25 สำนวน ยุติเรื่องทั้งหมด พรรคพลังประชารัฐ 4 สำนวน ยุติเรื่องทั้งหมด
ส่วนพรรคการเมืองที่ถูกร้องยุบพรรค พรรคละ 3 สำนวน ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติ ยุติเรื่องทั้งหมด พรรคเสรีรวมไทย ยุติเรื่อง 2 พรรคภูมิใจไทย ยุติเรื่อง 2
@ เพื่อไทยสมาชิกเลือดไหลออก
การลาออกจาการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง การลาออกจากจากสมาชิกพรรคการเมืองให้ถือว่าสมบูรณ์ เมื่อได้ยื่นใบลาออกต่อนายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง หรือนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งในปี พ.ศ.2566 ได้มีสมาชิกพรรคการเมืองยื่นใบลาออกต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่สำนักงาน กกต. จำนวน 18,138 ราย
โดยตัวเลขสรุปการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทย อยู่ในอันดับ 1 จำนวน 1,204 ราย พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 2 จำนวน 1,152 ราย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่ที่มีข่าวเรื่อง ‘บิ๊กเนม’ ย้ายชายคามากที่สุด มีสมาชิกลาออกจำนวน 815 ราย
คดีฟ้องร้อง คดีที่คณะกรรมการ กกต. สำนักงาน กกต. และเลขาธิการคณะกรรมการ กกต. ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย รวมทั้งสิ้น 12 คดี ทุนทรัพย์ตามฟ้อง 137.151 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้
- ถูกฟ้องคดีปกครอง จำนวน 8 คดี ทุนทรัพย์ตามฟ้อง 29.772 ล้านบาท (สำนักงาน กกต. ฟ้องแย้ง จำนวน 1 คดี เป็นเงิน 5.363 ล้านบาท) คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด จำนวน 3 คดี และศาลปกครองกลาง จำนวน 5 คดี
- ถูกฟ้องคดีแพ่ง จำนวน 4 คดี ทุนทรัพย์ตามฟ้อง 107.378 ล้านบาท (สำนักงาน กกต. ฟ้องแย้ง จำนวน 1 คดี เป็นเงิน 29,145 บาท) คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง จำนวน 1 คดี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จำนวน 1 คดี ศาลฎีกา จำนวน 1 คดี และศาลอุทธรณ์ จำนวน 1 คดี
@ กกต.เป็นโจทก์เรียกค่าเสียหาย 3,160 ล้านบาท
คดีที่คณะกรรมการ กกต. และสำนักงาน กกต. เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย รวมทั้งสิ้น 9 คดี ทุนทรัพย์ตามฟ้อง 3,160.439 ล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้
- ฟ้องเป็นคดีปกครอง จำนวน 3 คดี ทุนทรัพย์ที่ฟ้อง 19.490 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารมาของศาลปกครองสูงสุด จำนวน 2 คดี และศาลปกครองระยอง จำนวน 1 คดี
- ฟ้องเป็นคดีแพ่ง จำนวน 5 คดี ทุนทรัพย์ที่ฟ้อง 3,140.862 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง จำนวน 1 คดี ศาลจังหวัดราชบุรี จำนวน 1 คดี และพนักงางานอัยการ จำนวน 3 คดี
- ฟ้องเป็นคดีปกครอง (องค์การเอกชน) จำนวน 1 คดี ทุนทรัพย์ที่ฟ้อง 87,053 บาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด จำนวน 1 คดี
คดีที่คณะกรรมการ กกต. เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จำนวน 14 คดี จำนวนเงินค่าใช้จ่าย รวม 6.801 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงาน กกต. 570,334 บาท และค่าใช้จ่ายที่สำนักงาน กกต. ต้องโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง 6.231 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ซึ่งตามนัยมาตรา 108 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคให้เป็นที่สุด
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว คดียังไม่ถึงที่สุด โดยศาลอาจะพิพากษาเป็นอย่างอื่นได้ เช่น พิพากษายกฟ้อง หรือให้ชำระค่าเสียหายดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินตามคำขอหรือน้อยกว่าที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องก็ได้