"....ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ได้สอบถามจําเลยถึงแนวทางในการดําเนินการและทิศทางของคดีว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งจําเลยแจ้งว่าได้คุยกับผู้ใหญ่แล้ว ทางผู้ใหญ่เห็นใจและจะให้การช่วยเหลือและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาทั้งสอง พร้อมทั้งแจ้งเรื่องค่าดูแลผู้ใหญ่ โดยจําเลยอธิบายว่าในการที่จะให้ผู้ใหญ่ให้ความช่วยเหลือนั้น ผู้ต้องหาทั้งสองต้องมีค่าดูแลผู้ใหญ่ เพราะถ้าหากทางผู้ใหญ่ไม่ให้ความช่วยเหลือก็จะต้องถูกดําเนินคดีต่อศาล..."
กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายปริญหรือประการ ทองดอนน้อย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก กรณีเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อให้มีการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในสำนวนคดีอาญา ส.1 เลขรับที่ 1854/2561 ของสำนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษาว่า นายปริญหรือประการ ทองดอนน้อย จำเลย มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 พ.ร.ป.พ.ศ. 2561 มาตรา 175 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 143 ตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 2 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ.มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี
หลังก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนพบว่า ระหว่างวันที่ 14 - 29 พฤศจิกายน 2561 นายปริญ หรือประการ ทองดอนน้อย อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก ได้นัดพบและติดต่อกับกลุ่มผู้ต้องหาในสำนวนคดีอาญา ส.1 เลขรับที่ 1854/2561 ของสำนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งถูกดำเนินคดี ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
โดยที่นายปริญ หรือประการ ทองดอนน้อย มิได้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับสำนวนคดีดังกล่าว และได้แจ้งกับกลุ่มผู้ต้องหาในทำนองว่าจะหาวิธีช่วยเหลือเพื่อสั่งไม่ฟ้องคดี แต่ต้องจ่ายค่าดูแลผู้ใหญ่ประมาณหลักแสนบาทเป็นการตอบแทน
การกระทำของนายปริญ หรือประการ ทองดอนน้อย จึงเป็นการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากกลุ่มผู้ต้องหาเพื่อเป็นการตอบแทน ในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งคดี โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมาย เพื่อให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่กลุ่มผู้ต้องหาด้วยการสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว
ต่อไปนี้ เป็นคำพิพากษาฉบับเต็มในคดีนี้ ของ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ปรากฏรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิด ของ นายปริญหรือประการ ทองดอนน้อย และคำวินิจฉัยของศาลฯ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ คำฟ้องโจทก์
อัยการสูงสุด โดยพนักงานอัยการสํานักงานอัยการพิเศษฝ่าย คดีปราบปรามการทุจริต 2 ภาค 6 ในฐานะโจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยมีตําแหน่งเป็นอัยการจังหวัดประจําสํานักงานอัยการสูงสุด สํานักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก มีอํานาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญาและตามกฎหมายอื่น ซึ่งบัญญัติว่าเป็นอํานาจและหน้าที่ของสํานักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 14 (2) จึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรนครชุม ได้ส่งสํานวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 14/2561 พร้อมตัวนาย ธ. ผู้ต้องหาที่ 1 และนาย ว. ผู้ต้องหาที่ 2 ไปยังสํานักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก
โดยพันตํารวจโท ช. พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรนครชุมผู้รับผิดชอบสํานวนคดีอาญาดังกล่าว มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และสํานักงานอัยการ จังหวัดพิษณุโลกได้รับไว้เป็นสํานวนคดีอาญา ส.1 เลขรับที่ 1854/2561 แล้วมอบหมายให้นาย ส. รองอัยการจังหวัดพิษณุโลก เป็นอัยการเจ้าของสํานวน
ต่อมาผู้ต้องหาที่ 1 ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการซึ่งตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดําเนิน คดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 65 วรรคสี่ กําหนดว่า “คดีที่มีการร้องของความเป็นธรรม ในกรณีที่จะมีคําสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหาหรือบางข้อหา ให้ทําความเห็นในสํานวนแล้วเสนอตามลําดับขั้นถึงอธิบดีอัยการเพื่อพิจารณาสั่งทั้งคดี เมื่ออธิบดีอัยการมีคําสั่งประการใดให้ปฏิบัติ ตามนั้น” ทําให้อัยการจังหวัดไม่มีอํานาจสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง
ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2561พนักงานอัยการเจ้าของสํานวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทําร้าย ผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย แล้วเสนอสํานวนไปยังผู้บังคับบัญชาตามลําดับชั้น พนักงานอัยการกลั่นกรองมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 และสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 2 อัยการจังหวัดพิษณุโลก มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 และสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 2 และเสนอสํานวนต่ออธิบดีอัยการภาค 6 เพื่อพิจารณาและมีคําสั่งตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดดังกล่าว
ต่อมาอธิบดีอัยการภาค 6 ได้พิจารณาแล้วมีคําสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ฐานมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทําร้าย ผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 และสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ 2 ฐานร่วมกันทําร้ายผู้อื่นจนเป็นให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ประกอบมาตรา 83 ผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 6 ไม่แย้งคําสั่งไม่ฟ้องของอธิบดีอัยการภาค 6
@ พฤติการณ์เรียกรับเงิน
เมื่อระหว่างวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จําเลยได้เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ ตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จูงใจให้เจ้าพนักงานโดยวิธีการอันทุจริตหรือผิดกฎหมายให้กระทําการหรือไม่กระทําการโดยอิทธิพลของตน
กล่าวคือ ภายหลังจากพนักงานสอบสวนของ สถานีตํารวจภูธรนครชุม ได้ส่งสํานวนคดีอาญาที่ 14/2561 ให้สํานักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกแล้ว อัยการจังหวัดพิษณุโลกได้มอบหมายให้นายส. เป็นพนักงานอัยการเจ้าของสํานวน ในระหว่างที่พนักงานอัยการเจ้าของสํานวนยังไม่มีความเห็นและคําสั่ง นาย ณ. พนักงานขับรถยนต์ของสํานักงานอัยการพิษณุโลกได้พาผู้ต้องหาทั้งสองมาปรึกษากับจําเลยถึงเรื่องที่ถูกดําเนินคดี
แต่ในวันดังกล่าวจําเลยมีงานไม่สะดวกจึงนัดให้คําปรึกษาในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 เวลา 12 นาฬิกา ที่ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ซึ่งตั้งอยู่ในสถานีบริการนํ้ามันปตท. ใกล้กับศาลจังหวัดพิษณุโลก ถนนสิงหวัฒน์ ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จังหวัด พิษณุโลก ซึ่งจําเลยได้แจ้งกับผู้ต้องหาทั้งสองกับพวกว่าขอดูสํานวนคดีก่อนว่าจะเป็นไปในทิศทางใดแล้วจะหาวิธีหรือแนวทางช่วยเหลือต่อไป
ก่อนที่จะแยกย้ายจําเลยและผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ได้แลกเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์กันไว้เพื่อใช้ในการติดต่อ โดยจําเลยได้ให้หมายเลขโทรศัพท์ของจําเลยที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ หมายเลข 090 - 653XXXX กับผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก และจําเลยยังได้เพิ่มผู้ต้องหาที่ 1 เป็นเพื่อนในแอพพลิเคชั่นไลน์เพื่อไว้ใช้ติดต่อกันอีกทางหนึ่งด้วย
ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวัน จําเลยได้สั่งการให้นาย อ. โทรศัพท์หา นางสาว อ. กับพวก ติดต่อกลับไปยังจําเลยเพื่อนัดหมายวันเวลาและสถานที่ในการนัดพบกับจําเลย
@ ไม่สะดวกคุยโทรศัพท์ - นัดพบร้านกาแฟ
นางสาว อ.และผู้ต้องหาที่ 1 จึงโทรศัพท์ไปยังจําเลยเพื่อสนทนากันและสอบถามเรื่องคดีความและนัดหมายวันเวลาและสถานที่นัดพบกัน ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ที่ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ที่เดียวกับที่จําเลยเคยนัดพบกับผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ในครั้งแรก
ในการพูดคุยกันทางโทรศัพท์กับผู้ต้องหาที่ 1 ครั้งนี้ จําเลยได้พูดคุยทํานองว่าไม่สะดวกจะสนทนาทางโทรศัพท์ แต่ต้องการนัดพบเพื่อพูดคุยกันโดยตรง แล้วจําเลยได้นัดหมายผู้ต้องหาที่ 1ว่าไปคุยกับผู้ใหญ่เกี่ยวกับคดีดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งพอเห็นแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ จึงจะได้ตกลงกันว่าผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกจะตกลงกับแนวทางของจําเลยหรือไม่
จําเลยยังแจ้งกับผู้ต้องหาที่ 1 อีกว่าในวันนัดให้ผู้ต้องหาที่ 1 มาพร้อมกับผู้ต้องหาที่ 2 หรือจะนําภริยาของทั้งสองคนมาด้วยก็ได้ แต่ขอว่ายังไม่ต้องนําบุคคลอื่นมาด้วย
ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวัน จําเลยได้เดินทาง ไปพบกับผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ตามที่นัดหมายไว้ จําเลยแจ้งว่าตรวจดูสํานวนคดีแล้วมีความเห็นใจ ผู้ต้องหาที่ 1 ที่ทําดีแต่กลับต้องตกเป็นผู้ต้องหาจากการพยายามใส่ร้ายและบิดเบือนข้อเท็จจริงจากญาติของผู้ตาย
พร้อมทั้งเล่ารายละเอียดและพยานหลักฐานบางส่วนในสํานวนคดีดังกล่าวให้ ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกฟัง และเอาภาพถ่ายในสํานวนการสอบสวนให้ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกดู
@ ต้องมีค่าดูแลผู้ใหญ่
จากนั้น ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ได้สอบถามจําเลยถึงแนวทางในการดําเนินการและทิศทางของคดีว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งจําเลยแจ้งว่าได้คุยกับผู้ใหญ่แล้ว ทางผู้ใหญ่เห็นใจและจะให้การช่วยเหลือและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาทั้งสอง พร้อมทั้งแจ้งเรื่องค่าดูแลผู้ใหญ่
โดยจําเลยอธิบายว่าในการที่จะให้ผู้ใหญ่ให้ความช่วยเหลือนั้น ผู้ต้องหาทั้งสองต้องมีค่าดูแลผู้ใหญ่ เพราะถ้าหากทางผู้ใหญ่ไม่ให้ความช่วยเหลือก็จะต้องถูกดําเนินคดีต่อศาล
จากนั้นผู้ต้องหาทั้งสองกับพวกจึงสอบถามว่าในเมื่อมิได้กระทําความผิดเหตุใดจึงต้องมีค่าดูแลให้กับผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งจําเลยได้ตอบคําถามโดยยืนยันกับผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ว่า หากทางผู้ใหญ่ไม่ให้การช่วยเหลือจะต้องถูกฟ้องคดีต่อศาล
เมื่อสอบถามถึงจํานวนค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เป็นค่าดูแลผู้ใหญ่ จําเลยแจ้งว่าให้ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกเสนอมา
จําเลยยังแจ้งอีกว่าให้รีบตัดสินใจเพราะจะได้รีบไปคุยกับทางผู้ใหญ่ให้
จากนั้นจําเลยยังได้โทรศัพท์ติดต่อมายังผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกอีกหลายครั้ง
ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวัน จําเลยโทรศัพท์ไปหาผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก ทั้งที่ จําเลยเป็นพนักงานอัยการ สํานักงานอัยการจังหวัด พิษณุโลก แต่มิใช่พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสํานวนดังกล่าว แล้วจําเลยได้เรียกรับเงินจากผู้ต้องหา ทั้งสองกับพวก
โดยพูดในทํานองว่าจะหาวิธีช่วยเหลือทางคดีเพื่อไม่ให้สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง แต่ต้องขอความเห็นจากทางผู้ใหญ่เพื่อช่วยให้พ้นจากข้อกล่าวหาด้วย
@ ค่าดูแลเกณฑ์มาตรฐานทั่วไปหลักแสน
จําเลยไปคุยกับทางผู้ใหญ่มาแล้วรับปากว่าจะช่วยเหลือแต่จะต้องจ่ายค่าดูแล ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานทั่วไปจะอยู่ที่หลักแสนบาท
การที่จําเลยเรียกรับเงินค่าดูแลผู้ใหญ่จากผู้ต้องหาทั้งสอง เพื่อจูงใจให้ทางผู้ใหญ่ช่วยเหลือให้พ้นจากคดีซึ่ง อยู่ในชั้นของพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้ใหญ่ที่จําเลยกล่าวอ้างหมายถึงพนักงานอัยการที่เป็นผู้บังคับบัญชาเหนือชั้นขึ้นไปที่มีอํานาจหน้าที่ในการพิจารณาและสั่งสํานวนดังกล่าว
ส่วนคําว่า“ดูแลผู้ใหญ่” ที่จําเลยกล่าวอ้างนั้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด
แม้จําเลยจะพูดว่า “เกณฑ์มาตรฐานทั่วไปจะอยู่ที่หลักแสนบาท” โดยจําเลยไม่ได้ระบุจํานวนเงินที่เรียก และไม่ได้มีการรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์จากผู้ต้องหาทั้งสองกับพวกก็ตาม
แต่การกระทําของจําเลยดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นการเรียก รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการตอบแทนที่จะจูงใจเจ้าพนักงานและเจ้าพนักงานของรัฐในตําแหน่งอัยการผู้มีอํานาจหน้าที่ในการสั่งคดี โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายเพื่อให้กระทําการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่ผู้ต้องหาทั้งสองด้วยการสั่งไม่ฟ้อง
การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดฐานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาลโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมาย หรือ โดยอิทธิพลของตนให้กระทําการหรือไม่กระทําการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือโทษแก่บุคคลใด และ ฐานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สําหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ของ องค์การระหว่างประเทศโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทําการ หรือไม่กระทําการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือโทษแก่บุคคลใด
เหตุเกิดที่ตําบลในเมือง อําเภอเมือง พิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก และตําบลใดไม่ปรากฏชัด อําเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 175
@ รับสารภาพไม่สู้คดี
จําเลยให้การรับสารภาพ
@ พิพากษาคุก 1 ปี
พิเคราะห์พฤติการณ์ตามคําฟ้องของโจทก์ และรายงานการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ประกอบคํารับสารภาพของจําเลยแล้ว
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจําเลยกระทําความผิดจริงตามฟ้อง ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 19
พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 175
การกระทําของจําเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและแต่ละบทมีอัตราโทษ เท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จําคุก 2 ปี
จําเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ ให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง
คงจําคุก 1 ปี/.
*************
เบื้องต้น เกี่ยวกับผลคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2567 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 คดีถือเป็นอันสิ้นสุด
กรณี นายปริญหรือประการ ทองดอนน้อย นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญของอัยการไทย ไม่ให้กระทำผิดซ้ำรอย เอาเป็นเยี่ยงอย่างทั้งในปัจจุบัน และอนาคต สืบไป
อันเป็นผลสืบเนื่องจากการทุจริตที่ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยเด็ดขาด