เปิดกรุผลสอบสตง.(34) อบจ.อุดรฯ ซื้อผ้าห่มแจกต้านภัยหนาวปี57 แพงกว่าราคาตลาด
“...จากการสุ่มตรวจสอบบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว จำนวน 199 ราย พบว่า ประชาชนที่มีรายชื่อได้รับแจกผ้าห่มกันหนาวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 187 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.96 ของจำนวนประชาชนที่สุ่มตรวจสอบ มีเพียงจำนวน 12 ราย ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 6.03 ของจำนวนประชาชนที่สุ่มตรวจสอบประชาชนตามบัญชีรายชื่อที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มีสัดส่วนที่น้อยมาก จากการสอบถามประชาชนที่ได้รับแจกผ้าห่มกันหนาว และการสังเกตการณ์ พบว่า ประชาชนที่ได้รับผ้าห่มส่วนใหญ่ มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี มีบ้านหลังใหญ่ มีรถยนต์หลายคัน มีบุตรหลานคอยดูแลโดยบางรายมีบุตรเป็นหมอ เป็นข้าราชการ หรือลูกสาวมีสามีเป็นชาวต่างชาติ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร บางรายมีกิจการร้านค้าขายรถจักรยาน ขายเสื้อผ้า ผ้าไหม ขาย อาหารสัตว์ และไม่ได้ขาดแคลนผ้าห่มกันหนาว...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 34 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการ “ช่วยภัยหนาว เพื่อชาวอุดร” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
@ โครงการ “ช่วยภัยหนาว เพื่อชาวอุดร” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ในปี พ.ศ. 2556 ได้เกิดเหตุภัยหนาวขึ้นในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยมีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ติดต่อกันยาวนานเกิน 3 วัน ในระหว่างวันที่ 18–21 ธันวาคม 2556 ประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีได้รับความเดือดร้อนจากสภาพอากาศหนาวเย็น ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีจึงได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ครอบคลุมทุกอำเภอจำนวน 20 อำเภอ เมื่อวันที่ 23ธันวาคม 2556
เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยหนาว องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ได้จัดทำโครงการ “ช่วยภัยหนาว เพื่อชาวอุดร” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557โดยการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวจำนวนไม่น้อยกว่า 124,000 ผืน คุณลักษณะตามประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรื่อง รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะและกำหนดราคากลางสิ่งของสำรองจ่าย พ.ศ. 2542 ฉบับลงวันที่ 2 กันยายน 2552 เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดอุดรธานีที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยหนาวแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องจัดซื้อเครื่องนุ่งห่มกันหนาวเป็นการช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดอุดรธานีให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและเพื่อต้องการให้สุขภาพอนามัยของประชาชนในจังหวัดอุดรธานี มีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนผู้ด้อยโอกาส ครอบครัวยากจน และประชาชนที่ขาดแคลนผ้าห่มกันหนาว
จากการตรวจสอบการดำเนินโครงการ“ช่วยภัยหนาว เพื่อชาวอุดร” ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี พบว่า การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ กล่าวคือ ประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวส่วนใหญ่ไม่ได้เดือดร้อนหรือขาดแคลนผ้าห่มกันหนาว ทำให้ผ้าห่มกันหนาวที่ได้รับแจกไม่ได้ใช้ประโยชน์ และมี ประชาชนที่ยากจนได้รับความเดือดร้อนหรือขาดแคลนผ้าห่มกันหนาวแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทำให้การดำเนินโครงการไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเนื่องจากภัยหนาวได้อย่างแท้จริง ส่งผลให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่คุ้มค่า โดยมีประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกตดังนี้
ข้อตรวจพบ การดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
จากการตรวจสอบบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว ตามโครงการ “ช่วยภัยหนาว เพื่อชาวอุดร” ปี 2557 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี จำนวน 10 อำเภอ 22 ตำบล 23 หมู่บ้าน ประชาชนที่อยู่ในบัญชีได้รับผ้าห่ม จำนวน 199 ราย พบว่า การแจกผ้าห่มกันหนาวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ประชาชนตามบัญชีรายชื่อไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาว ได้รับซ้ำซ้อนจากหน่วยงานเดียวกันหรือจากหลายหน่วยงาน และผ้าห่มกันหนาวที่ได้รับแจกไม่มีการใช้ประโยชน์ ดังนี้
1. การแจกผ้าห่มกันหนาวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
จากการสุ่มตรวจสอบบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว จำนวน 199 ราย พบว่า ประชาชนที่มีรายชื่อได้รับแจกผ้าห่มกันหนาวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 187 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.96 ของจำนวนประชาชนที่สุ่มตรวจสอบ มีเพียงจำนวน 12 ราย ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 6.03 ของจำนวนประชาชนที่สุ่มตรวจสอบประชาชนตามบัญชีรายชื่อที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มีสัดส่วนที่น้อยมาก จากการสอบถามประชาชนที่ได้รับแจกผ้าห่มกันหนาว และการสังเกตการณ์ พบว่า ประชาชนที่ได้รับผ้าห่มส่วนใหญ่ มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี มีบ้านหลังใหญ่ มีรถยนต์หลายคัน มีบุตรหลานคอยดูแลโดยบางรายมีบุตรเป็นหมอ เป็นข้าราชการ หรือลูกสาวมีสามีเป็นชาวต่างชาติ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร บางรายมีกิจการร้านค้าขายรถจักรยาน ขายเสื้อผ้า ผ้าไหม ขาย อาหารสัตว์ และไม่ได้ขาดแคลนผ้าห่มกันหนาว
จากการตรวจสอบข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี 2556 ของหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 23 หมู่บ้าน จะมีหมู่บ้านที่แต่ละครัวเรือนมีรายได้ตกเกณฑ์ จปฐ. จำนวน 8 หมู่บ้าน 49 ครัวเรือน เมื่อนำมาตรวจสอบกับบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวจำนวน 2,022 ราย พบว่า มีรายชื่อที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว จำนวน 24 ครัวเรือน และไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว จำนวน 25 ครัวเรือนและหากพิจารณาในภาพรวมของจังหวัดอุดรธานีจากข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี พ.ศ. 2556 ของ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี พบว่า จังหวัดอุดรธานีมีผู้ที่ตกเกณฑ์ จปฐ. ซึ่งเป็นผู้ยากจน จำนวน 1,642 ครัวเรือน แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีดำเนินโครงการโดยจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวเพื่อแจกให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จำนวน 124,000 ราย จึงเป็นการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวเกินความจำเป็น จำนวน 122,358 รายคิดเป็นร้อยละ 98.68 ของประชาชน กลุ่มเป้าหมายตามโครงการ
2. ประชาชนตามบัญชีรายชื่อไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาว ได้รับซ้ำซ้อน/ไม่ได้ใช้ประโยชน์
จากการสุ่มตรวจสอบบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว จำนวน 199 ราย พบว่า ได้รับผ้าห่มกันหนาว จำนวน 108 ราย คิดเป็นร้อยละ 54.27 ของประชาชนตามบัญชีรายชื่อที่ตรวจสอบ และไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาว จำนวน 91 ราย คิดเป็นร้อยละ 45.73 ของประชาชนตามบัญชีรายชื่อที่ตรวจสอบ
จากการสัมภาษณ์ประชาชนตามบัญชีรายชื่อฯ ที่ไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาว จำนวน 91 ราย พบว่า ลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวไม่ใช่ลายมือชื่อของตนเอง จำนวน 80 ราย คิดเป็นร้อยละ 87.91 ของประชาชนที่ไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาว มีจำนวน 11 ราย ให้ข้อมูลว่าเป็นลายมือชื่อของตนเอง คิดเป็นร้อยละ 12.09 ของประชาชนที่ไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาว
จากการตรวจสอบประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว จำนวน 108 รายพบว่า เป็นประชาชนที่ มีรายได้ไม่ตกเกณฑ์ จปฐ. (ไม่ได้ยากจน) จ านวน 105 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.22 ของประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวที่สุ่มตรวจสอบและผ้าห่มกันหนาวที่ได้รับไม่ได้ใช้ประโยชน์ในช่วงที่ประสบภัยหนาวของปีที่ดำเนินโครงการ จำนวน 72 ราย คิดเป็นร้อยละ 66.67 ของประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวที่สุ่มตรวจสอบมีประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในช่วงที่เกิดภัยหนาว จำนวน 36 ราย คิดเป็นร้อยละ 33.33 ของประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวที่สุ่มตรวจสอบ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว ถึงแม้จะมีการใช้ประโยชน์ในช่วงที่เกิดภัยหนาว แต่จากการสัมภาษณ์และสังเกตการณ์ พบว่า ผู้ใช้ประโยชน์ไม่ได้ยากจนหรือขาดแคลนผ้าห่มกันหนาว ตามกลุ่มเป้าหมายที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีจะให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนั้นยังพบว่า ประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 แล้วยังได้รับผ้าห่มกันหนาวจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หรือจากส่วนราชการอื่นอีก
การที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี แจกผ้าห่มกันหนาวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ทำให้สูญเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณไปช่วยเหลือประชาชนตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ครอบครัวยากจน และประชาชนที่ขาดแคลนผ้าห่มกันหนาวที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยหนาวแต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ และหากพิจารณาในภาพรวมของโครงการองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี จัดซื้อผ้าห่มกันหนาว จำนวน 124,000 ผืน แต่ในจังหวัดอุดรธานีมีครัวเรือนที่ยากจน เพียง 1,642 ครัวเรือน จึงเป็นการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวเกินความจำเป็น จำนวน 122,358 ผืน ราคาที่จัดซื้อผืนละ 220 บาท คิดเป็นเงิน 26,918,760 บาท ส่งผลให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่ประหยัด ไม่คุ้มค่า และไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สาเหตุเกิดจาก
1. องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีจะจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวตามจำนวนเงินงบประมาณที่ตั้งไว้แล้วนำมาจัดสรรให้แต่ละเขตพื้นที่ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี เฉลี่ยเขตละ 3,000 ผืน โดยไม่ได้สำรวจข้อมูลหรือขาดการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ในการประสานข้อมูลจำนวนประชาชนหรือครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยหนาว เพื่อนำมากำหนดหลักเกณฑ์ จำนวนกลุ่มเป้าหมาย และพื้นที่ที่จะเข้าไปดำเนิน โครงการให้ความช่วยเหลือทำให้มีการแจกผ้าห่มกันหนาวให้กับประชาชนที่ไม่ได้เดือดร้อนจากภัยหนาวอย่างแท้จริง
2. มีการกำหนดจำนวนผ้าห่มที่จะจัดสรรให้แต่ละอำเภอหรือแต่ละเขตพื้นที่มากกว่า จำนวนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจริง
3. เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0313.4/ว 3050 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตั้งงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2543 หมวด 3 วิธีการช่วยเหลือประชาชน ข้อ 6 (2) ก. ส่งผลให้ไม่สามารถทราบว่าจำนวนประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว และที่ไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาวที่แท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด
4. คำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ไม่มีความชัดเจน ไม่ได้กำหนดขอบเขตหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบไว้ไม่มีการประสานงานหรือการประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของกองช่าง กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของสำนักปลัด
ข้อสังเกตที่ 1 การจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวราคาสูงกว่าราคาตามท้องตลาด
จากการตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการกำหนดรายละเอียดและคุณลักษณะผ้าห่มกันหนาว ได้กำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะตามประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรื่อง รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะและกำหนดราคาสิ่งของสำรองจ่าย พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556 ส่วนราคาได้พิจารณาจากราคาที่เคยจัดซื้อ จากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตการประกาศสอบราคาของหน่วยราชการท้องถิ่นต่างๆ และจากการสืบราคาจากร้านค้าตลาดห้าแยกจังหวัดอุดรธานีแล้วนำมากำหนดราคากลางในราคาผืนละ 222 บาท โดยไม่ได้มีการสืบราคาจากกลุ่มอาชีพ/กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตและจำหน่ายผ้าห่มนวมใยสังเคราะห์ และจากเว็บไซต์ต่างๆ ของผู้ประกอบการที่มีอาชีพในการขาย “ผ้า ห่มนวม” โดยตรง เพื่อนำมาพิจารณาในการกำหนดราคากลางผ้าห่มกันหนาว จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 50 (5) ที่กำหนดให้สืบราคาจากผู้มีอาชีพขายพัสดุนั้นโดยตรง
องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ได้จัดซื้อผ้าห่มกันหนาวโดยวิธีพิเศษ กับ บริษัท นิวไลฟ์ เลิร์นเนอร์ จ ากัด ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 36/2557 ลงวันที่ 3 มกราคม 2557 จำนวน 124,000 ผืน (ราคาผืนละ220 บาท) เป็นเงินจำนวน 27,280,000 บาท
จากการสอบถามและสืบราคาผ้าห่มกันหนาวจากกลุ่มอาชีพ/กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตและจำหน่ายผ้าห่มนวมใยสังเคราะห์ตามรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำหนด ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงซึ่งเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าห่มแหล่งใหญ่ในภาคอีสาน และจากเว็บไซต์ต่างๆ ของผู้ประกอบการที่มีอาชีพในการขาย “ผ้าห่มนวม” โดยตรงพบว่า ราคาผ้าห่มนวมใยสังเคราะห์จะอยู่ที่ราคาไม่เกินผืนละ 160 บาทซึ่งต่ำกว่าราคาที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีจัดซื้อในราคาผืนละ 60 บาท (220–160) ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายจากการซื้อผ้าห่มกันหนาวสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น เป็นเงินจำนวน 7,440,000 บาท (124,000x60)
ข้อสังเกตที่ 2 การจัดท าเอกสารประกอบการแจกผ้าห่มกันหนาวไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือ
1. จำนวนประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวตามบัญชีรายชื่อมีจำนวนน้อยกว่าที่จัดซื้อหรือที่กำหนดไว้ในโครงการ
จากการตรวจสอบ พบว่า
1) กำหนดการแจกผ้าห่มกันหนาวตามรายการของแต่ละอำเภอไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าแต่ละเขตพื้นที่มีตบลใด หมู่บ้านใด ที่จะได้รับแจกผ้าห่มกันหนาว และแต่ละหมู่บ้านจะได้รับแจกเป็นจำนวนเท่าใด องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีจะระบุจำนวนเป็นภาพรวมตามที่ได้จัดสรรให้กับ ส.อบจ. แต่ละเขตพื้นที่โดยไม่ทราบรายละเอียดการแจกผ้าห่มกันหนาวของแต่ละพื้นที่
2) จำนวนผู้ที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวในเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จำนวน 20 อำเภอตามตารางกำหนดการโครงการเยี่ยมยามถามข่าว “ช่วยภัยหนาว เพื่อชาวอุดร” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 บัญชีสรุปการรับผ้าห่มกันหนาวตามโครงการฯ แยกเป็นรายอำเภอ จำนวนที่ระบุไว้ที่หน้าซองเอกสารบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวแยกเป็นรายอำเภอ และจำนวนประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวตามบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวตามโครงการฯ ปี พ.ศ. 2556-2557 มีข้อมูลไม่ถูกต้องตรงกัน
3) จำนวนประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวตามบัญชีรายชื่อมีจำนวนน้อยกว่าที่จัดซื้อ หรือที่กำหนดไว้ในโครงการ จำนวน 114 ราย (124,000–123,886)
2. บัญชีรายชื่อที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีใช้เป็นหลักฐานประกอบการแจกผ้าห่มกันหนาวเป็นคนละชุดกับที่ผู้นำชุมชนสำรวจและใช้ประกอบในการแจกผ้าห่มกันหนาว
3. บัญชีรายชื่อที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีใช้เป็นหลักฐานประกอบการแจกผ้าห่มกันหนาวเป็นคนละชุดกับที่ผู้นำชุมชนสำรวจและไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาว
4. บัญชีรายชื่อที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีใช้เป็นหลักฐานประกอบการแจกผ้าห่มกันหนาวผู้นำชุมชนไม่ได้เป็นผู้สำรวจและไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาว
5. ไม่ได้จัดทำเอกสารให้ประชาชนลงลายมือชื่อในขณะรับผ้าห่มกันหนาว
6. ผู้นำชุมชนได้รับผ้าห่มกันหนาวไม่ครบถ้วนตามที่สำรวจและหรือตามจำนวนในเอกสารบัญชีรายชื่อขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีที่ใช้เป็นหลักฐานประกอบการแจกผ้าห่มกันหนาว
7. ประชาชนได้รับผ้าห่มกันหนาวมากกว่าจ านวนตามบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับ ผ้าห่มกันหนาวขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี
นอกจากการจัดทำบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวแยกเป็นรายตำบลหรืออำเภอแล้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ยังมีการจัดทำบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว ซึ่งมีหมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภออื่นรวมอยู่ในบัญชีรายชื่อชุดเดียวกัน มีการนำข้อมูลอาสาสมัครตำรวจบ้าน สถานีตำรวจภูธรอำเภอประจักษ์ มาถ่ายสำเนาซ้อนกับบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว เสมือนว่าเป็นประชาชนตามบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว หรือนำข้อมูลรายชื่อผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนภัยหนาวที่ได้รับมอบผ้าห่มกันหนาวของศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 71 จังหวัดอุดรธานี มาประกอบการแจกผ้าห่มกันหนาวขององค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ทำให้ยากต่อการควบคุมและแจกผ้าห่มกันหนาวให้เป็นไปตามจำนวนที่กหนดไว้ได้ และทำให้เอกสารขาดความน่าเชื่อถือ
สาเหตุเกิดจาก
1. องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีไม่มีข้อมูลผู้ประสบภัยหนาวเพื่อนำมาจัดทำบัญชี รายชื่อสำหรับแจกผ้าห่มกันหนาว และไม่ได้ให้ประชาชนลงลายมือชื่อในขณะที่รับแจกผ้าห่มกันหนาวเพื่อเป็นหลักฐาน
2. การสำรวจรายชื่อผู้สมควรได้รับแจกผ้าห่มกันหนาวมาจากหลายช่องทาง แต่ที่เจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องว่ามีข้อมูลซ้ำกันหรือไม่
3. เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแจกผ้าห่มกันหนาวละเลยไม่ปฏิบัติตามหนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0313.4/ว 3050 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตั้งงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2543 ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจำนวนประชาชนตามบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว ที่ใช้เป็นเอกสารหลักฐานประกอบการแจกผ้าห่มกันหนาวมีจำนวนผู้ได้รับผ้าห่มกันหนาวจริงจำนวนเท่าใด
ข้อเสนอแนะ ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ในโอกาสต่อไปต้องบูรณาการกับส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรมในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยหนาวเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ เป็นการใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าและประหยัดร่วมดำเนินโครงการให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบแบบแผนของทางราชการโดยให้บูรณาการข้อมูลผู้ประสบภัยกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้จัดทำเป็นข้อมูลกลางไว้แล้ว
2. ในการจัดทำโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดความคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้
2.1 การตั้งงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนต้องมาจากการศึกษาปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตามลำดับความสำคัญ ความจำเป็นเร่งด่วน และทราบจำนวนผู้ประสบภัยที่ต้องให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจนก่อนนำมาคำนวณจัดตั้งงบประมาณ
2.2 ต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย คือผู้ประสบภัยหนาวที่มีฐานะยากจน ขาดแคลน ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้
2.3 ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวอย่างรวดเร็ว ทันกาล ทั่วถึง ไม่ซ้ำซ้อน และไม่เกินความจำเป็น
2.4 ต้องไม่จัดทำโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวในลักษณะเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง โดยต้องเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง
2.5 การออกคำสั่งแต่งตั้งต้องกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน และมุ่งหวังที่จะให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด
3. ในโอกาสต่อไปหากมีการดำเนินโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในลักษณะเช่นนี้อีก ให้กำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจัดทำสรุปจำนวนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนที่แท้จริงที่จะจัดสรรให้แต่ละพื้นที่โดยระบุแต่ละตำบล/หมู่บ้านให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถตรวจสอบและควบคุมการให้ความช่วยเหลือว่าถูกต้องครบถ้วน ตามที่กำหนดไว้หรือไม่
4. กำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ปฏิบัติตามหนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0313.4/ว 3050 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตั้งงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2543 โดยเคร่งครัด เมื่อดำเนินการจัดซื้อตามระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้วให้จัดทำบัญชีควบคุมการรับ – จ่ายวัสดุโดยแสดงรายการและจำนวนวัสดุที่ได้รับ และเมื่อมีการแจกจ่ายวัสดุให้ระบุรายชื่อผู้ได้รับแจกจ่ายพร้อมทั้งให้ผู้รับลงชื่อรับไว้ในทะเบียนเพื่อเป็นหลักฐานเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินทุกครั้ง โดยไม่ให้มีการลงลายมือชื่อก่อนการได้รับผ้าห่มกันหนาว หากไม่ดำเนินการแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ให้ดำเนินการตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
5. ประชาชนตามบัญชีรายชื่อที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ จำนวน 187 ราย ให้เรียกเงินคืน จำนวน 29,920 บาท (187 ราย X 160 บาท) หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามพระราชบัญญัติความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อหาผู้รับผิดชดใช้คืนเงินให้กับทางราชการและดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณีให้ตรวจสอบประชาชนตามบัญชีรายชื่อที่เหลือหากเป็นผู้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ ให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและเรียกเงินคืนและหากตรวจสอบพบว่า เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองหรือแสวงหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
6. ให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดและคุณลักษณะ พร้อมการกำหนดราคากลางของผ้าห่มกันหนาว ไม่ได้สืบราคาจากผู้มีอาชีพขายพัสดุนั้นโดยตรงเป็นผลให้ทางราชการได้รับความเสียหายจากการซื้อผ้าห่มกันหนาวสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น เป็นเงินจำนวน 7,440,000 บาท และให้เรียกเงินคืนจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามพระราชบัญญัติความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อหาผู้รับผิดชดใช้คืนเงินให้กับทางราชการและดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณี
7. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีจำนวนประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว ตามบัญชีรายชื่อมีจำนวนน้อยกว่าที่จัดซื้อหรือที่กำหนดไว้ในโครงการ และไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาวหรือได้รับไม่ครบถ้วน หากพบว่าทให้ทางราชการได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เดือดร้อนตามที่อำเภอ หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือที่ผู้นำชุมชนสำรวจแต่ไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาว ให้ดำเนินการหาผู้รับผิดชอบชดใช้ และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แล้วรายงานให้สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 6 (จังหวัดอุดรธานี) ทราบ
8. กรณีประชาชนตามบัญชีรายชื่อไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาว จำนวน 91 ราย จะทำการตรวจสอบ และแจ้งผลให้ทราบต่อไป
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(24) ตรวจโครงการช่วยเกษตรกร/คนจน กำแพงเพชร ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(25) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลตำบล/อบต. ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(26) ตรวจโครงการเกษตรผสมผสานอีสานล่าง 2 ผิดวัตถุประสงค์-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(27) ตรวจสอบการประปาเทศบาลนครศรีธรรมราช ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(28) ตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สทบ. เสี่ยงล้มเหลว-ขาดศักยภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(29) ตรวจสอบระบบจัดการขยะ จ.เชียงราย ไม่เป็นระบบ-ขาดประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(30) โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ จ.แพร่ แจกปัจจัยเกินจำเป็น-ไม่สอดคล้องหลักการ
เปิดกรุผลสอบสตง.(31) ปศุสัตว์ปลอดภัย จ.พะเยา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(32) การแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.ร้อยเอ็ด ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(33) แผนพัฒนาเกษตรบรรเทาแล้งศรีสะเกษ เสียหาย-บริหารต่อไม่ได้