เปิดกรุผลสอบสตง.(33) แผนพัฒนาเกษตรบรรเทาแล้งศรีสะเกษ เสียหาย-บริหารต่อไม่ได้
“...ทั้งที่ทราบแล้วว่าโครงการได้เลยระยะเวลาตามแผนการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้แล้ว และกลุ่ม/องค์กรเกษตร/ชุมชน ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนการปฏิบัติงานได้ แต่สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ยังดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลง และ ศบกต. จัดทำสัญญายืมเงิน และดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ โดยไม่พิจารณาทบทวนว่าระยะเวลาดำเนินการเป็นไปตามแผนปฏิบัติงาน กลุ่ม/ องค์กรเกษตร/ชุมชนว่าพื้นที่ดำเนินการยังมีความพร้อมหรือความเหมาะสมที่จะดเนินการแต่อย่างใด จนทำให้เกิดความเสียหายของผลผลิตพืชใช้น้ำน้อยจำนวนมาก...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานตรวจสอบสำคัญของไทย มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่ถูกใช้จ่ายไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมา สตง.ได้มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายเงินที่สำคัญไว้หลายเรื่อง สำนักข่าวอิศรา จึงขอเปิดพื้นที่ตรงนี้ ทุกวันเสาร์ รวบรวมข้อมูลผลการตรวจสอบที่สำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ
ในสัปดาห์ที่ 33 จะเป็นการนำเสนอผลการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2558/2559 ของจังหวัดศรีสะเกษ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
@ โครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2558/2559 ของจังหวัดศรีสะเกษ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/59 ภายใต้มาตรการที่ 4 ได้จัดสรรงบประมาณทั้ง 77 จังหวัด ผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวนเงิน 4,551.74 ล้านบาท จำนวน 8,169 โครงการ สำหรับจังหวัดศรีสะเกษ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวนเงิน 337.89 ล้านบาท จำนวน 284 โครงการ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการฯ เนื่องจากโครงการ ดังกล่าวใช้วงเงินงบประมาณค่อนข้างสูง อีกทั้งมีหน่วยงานหลายภาคส่วนร่วมดำเนินการ และเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากการขาดรายได้ในช่วงฤดูแล้ง และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานตามโครงการจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจสอบการดำเนินงานโครงการเพื่อให้ทราบผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรคหรือข้อจำกัดในการดำเนินงานตามครงการ รวมทั้งข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้การดำเนินงานโครงการมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน โดยมีวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบ เพื่อทราบความเสียหายผลผลิตการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ความสามารถในบริหารโครงการได้ต่อไปได้ การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินของโครงการ และปัญหาอุปสรรค สาเหตุ ผลกระทบ และ ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานโครงการโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/59 ภายใต้มาตรการที่ 4 ในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ด้วยวิธีการ ตรวจสอบเอกสาร ประชุมร่วม บันทึกถ้อยคำ สอบถามกลุ่มเกษตรกร และสังเกตการณ์ ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560
จากการตรวจสอบผลการดำเนินการตามโครงการ พบว่า มีประเด็นข้อตรวจพบ จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ โครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยผลผลิตได้รับความเสียหายจำนวนมาก กลุ่มเกษตรกรไม่สามารถบริหารจัดการโครงการต่อไปได้ และไม่ใช้ประโยชน์วัสดุอุปกรณ์ของโครงการจำนวนมาก รวมทั้งข้อสังเกตอื่นจากการตรวจสอบ จำนวน 1 ข้อสังเกต คือ จัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์สูงกว่าราคากลางที่จังหวัดศรีสะเกษกำหนด มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 โครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยผลผลิตได้รับความเสียหายจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 อนุมัติให้ความเห็นชอบโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ครั้งที่ 1 และดำเนินการจริง จำนวน 152 โครงการ งบประมาณ 147.69 ล้านบาท และคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการฯ ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 2 และ 23 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 8,072 โครงการ งบประมาณ 4,581.48 ล้านบาท รวมทั้งหมด จำนวน 8,224 โครงการ งบประมาณ 4,551,747,530 บาท
จากการตรวจสอบโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวม จำนวน 27 โครงการ ของจังหวัดศรีสะเกษ งบประมาณ 41,300,920 บาท และมีการเบิกจ่ายเงินเพื่อดำเนินโครงการฯ จำนวน 37,915,020 บาท และกลุ่มคืนเงิน จำนวน 3,385,900 บาท โครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยได้รับความเสียหาย จำนวน 27 โครงการ มีผลผลิตเสียหาย จำนวน 5,081,387.67 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 98.65 มีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 37,915,020 บาท และยังมีผลทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างอาชีพเสริมให้เกษตรกรและเพิ่มรายได้ ช่วงฤดูแล้งให้เกษตรกร รวมทั้งไม่บรรลุเป้าหมายการดำเนินโครงการในการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มในการประกอบอาชีพให้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
เนื่องจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณล่าช้าไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่เหมาะสม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเสนอโครงการพิจารณากลั่นกรอง อนุมัติ และดำเนินโครงการ ทั้งก่อน/หลังอนุมัติงบประมาณ ดำเนินการโอนและเบิกจ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามแผนปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ในคู่มือฯ และหลักวิชาการทุกหน่วยงาน ทั้งที่ทราบแล้วว่าโครงการได้เลยระยะเวลาตามแผนการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้แล้ว และกลุ่ม/องค์กรเกษตร/ชุมชน ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนการปฏิบัติงานได้ แต่สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ยังดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลง และ ศบกต. จัดทำสัญญายืมเงิน และดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ โดยไม่พิจารณาทบทวนว่าระยะเวลาดำเนินการเป็นไปตามแผนปฏิบัติงาน กลุ่ม/ องค์กรเกษตร/ชุมชนว่าพื้นที่ดำเนินการยังมีความพร้อมหรือความเหมาะสมที่จะดเนินการแต่อย่างใด จนทำให้เกิดความเสียหายของผลผลิตพืชใช้น้ำน้อยจำนวนมาก
ข้อตรวจพบที่ 2 กลุ่มเกษตรกรไม่สามารถบริหารจัดการโครงการต่อไปได้ ตามคู่มือการจัดทำโครงการฯ โครงการฯ ที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจะต้องเป็นโครงการที่ชุมชนสามารถดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง เป็นโครงการที่สามารถต่อยอดเดิมที่มีการดำเนินการแล้วได้ผล ต้องเกิดประโยชน์กับเกษตรกรและประชาชนในชุมชนอย่างทั่วถึง และกลุ่ม/องค์กร/เกษตรกร ต้องคิดให้ครบทั้งการผลิตและการตลาด ต้องมีแผนการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์หลังจากสิ้นสุดโครงการฯ ครอบคลุมการบริหารจัดการโครงการฯ และแผนการบริหารจัดการให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน
จากการตรวจสอบ จำนวน 67 โครงการ พบว่า กลุ่มเกษตรกรไม่สามารถบริหารจัดการโครงการต่อไปได้ จำนวน 60 โครงการ เบิกจ่ายเงินแล้ว 66,411,614 บาท เนื่องจากกลุ่มขาดศักยภาพที่จะบริหารจัดการโครงการให้ต่อเนื่องและยั่งยืนได้ เช่น ต้นทุนการผลิตสูงกว่ารายได้ กลุ่มปฏิบัติไม่เป็นไปตามแนวทางของโครงการทำให้เงินกลุ่มไม่เพียงพอต่อการบริหารโครงการ และคณะกรรมการกลุ่มขาดความเข็มแข็ง เป็นต้น ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่า จำนวนเงิน 66,411,614 บาท หากกลุ่มมีการใช้จ่ายเงินรายได้ที่ได้จากการดำเนินโครงการที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน จะมีผลทำให้เกิดความเสียหายและไม่เกิดประโยชน์ต่อโครงการในระยะยาว ได้แก่ สินค้าที่ยังไม่จำหน่ายคือ ปุ๋ย จำนวน 695,558 กิโลกรัม ผ้าไหม 161 เมตร เงินที่ยังจัดเก็บไม่ได้จากสมาชิก จากการจำหน่ายสินค้าและเงินสดหรือเงินฝากธนาคารที่อยู่ในการดูแลของกลุ่มเกษตรกร จำนวน 5,375,306.52 บาท สำหรับกลุ่มขาดความพร้อมในการบริหารต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งหมด จำนวน 6 โครงการ เนื่องจากปัญหาต้นทุนการผลิตและปัญหาการบริหารจัดการ หากดำเนินการต่อไปจะมีความเสี่ยงทำให้โครงการเกิดความเสียหาย จำนวนเงิน 3,955,785.28 บาท
สาเหตุ ที่ทำให้กลุ่มที่ไม่ดำเนินการบริหารโครงการต่อไปได้และขาดความพร้อมที่จะบริหารโครงการได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากผู้จัดทำโครงการ ผู้เสนอโครงการ ผู้พิจารณากลั่นกรองโครงการอนุมัติและผู้ดำเนินโครงการร่วมกันเสนอโครงการ พิจารณาและอนุมัติโครงการที่ไม่มีความเป็นไปได้ และความพร้อมทางด้านผลตอบแทนของโครงการ ด้านการผลิต ด้านการตลาด และด้านการบริหารจัดการที่จะทำให้สามารถดำเนินการต่อได้และเกิดความยั่งยืน และไม่มีข้อตกลงและสัญญายืมเงินในการวางระบบการบริหารจัดการโครงการและบริหารจัดการเงินหลังจากสิ้นสุดโครงการแล้ว ว่าจะดำเนินการบริหารจัดการโครงการอย่างไรให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน และหากไม่ดำเนินการต่อไป แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ข้อตรวจพบที่ 3 ไม่ใช้ประโยชน์วัสดุอุปกรณ์ของโครงการจำนวนมาก ตามคู่มือการดำเนินงานโครงการฯ กำหนดให้โครงการที่จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจะต้องเป็นโครงการที่ชุมชนสามารถดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องเป็นโครงการต่อยอดเดิมที่มีการดำเนินการ แล้วได้ผลและปฏิบัติให้เป็นไปตามคู่มือการรับและการจ่ายเงินงบประมาณ งบเงินอุดหนุน ลักษณะเงินอุดหนุนโครงการตามแผนพัฒนาภาครัฐฯ 2558/59 ของกองคลังและสนักงานโครงการบูรณาการ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 กรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หมวดที่ 3 ส่วนที่ 2 ข้อ 152 (1) ลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมแล้วแต่กรณี แยกเป็นชนิดและแสดงรายการตามตัวอย่างตามที่กำหนด โดยให้มีหน้ารายการรับเข้าบัญชีหรือทะเบียนไว้ประกอบด้วย เพื่อป้องกันการสูญหาย และควรรายงานให้ผู้สนับสนุนงบประมาณได้ทราบด้วย
จากการตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ จำนวน 67 โครงการ กลุ่ม/องค์กรเกษตรกรไม่ได้ใช้ ประโยชน์จากวัสดุอุปกรณ์ของโครงการ จำนวน 26 โครงการ 209 รายการ เป็นเงิน 2,225,369.38 บาท และกลุ่ม/องค์กรเกษตรกรยังไม่จัดทำทะเบียนคุมวัสดุอุปกรณ์ไว้เพื่อควบคุมและป้องกันการสูญหายและสามารถตรวจสอบได้ จำนวน 29 โครงการ 173 รายการ ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่คุ้มค่า เป็นจำนวนเงิน 2,225,369.38 บาท
สาเหตุ เนื่องจากกลุ่ม/องค์กรเกษตรกรไม่ดำเนินโครงการต่อตามวัตถุประสงค์ของโครงการ จำนวน 24 โครงการ และดำเนินการต่อเพียงบางกิจกรรม จำนวน 2 โครงการ และปัญหากลุ่มขาดความเข้มแข็ง คือ เป็นการรวมกลุ่มเฉพาะเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ แล้วความเป็นอยู่ของกลุ่มยุติบทบาทลงทันที ทำให้วัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้ใช้ประโยชน์ กลุ่มฯ จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์มากเกินความจเป็น และกลุ่มฯ ขาดความรอบคอบในการคิดคำนวณอัตราส่วนการผลิตด้านแรงงานทำให้เกิดของเหลือจากการผลิต รวมทั้งคณะกรรมการระดับต่างๆ ขาดความรอบคอบในการติดตามกำกับและพิจารณากลั่นกรองโครงการ
ข้อสังเกตที่ 1 จัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์สูงกว่าราคากลางที่จังหวัดศรีสะเกษกำหนดตามคู่มือการดำเนินงานฯ กำหนดแนวทางกำหนดมาตรฐานการจ้างแรงงานและวัสดุอุปกรณ์ ให้คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการระดับจังหวัด กำหนดมาตรฐานการจ้างงาน และค่าวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการพิจารณาสนับสนุนให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันของจังหวัด ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษได้ประกาศราคากลางจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อใช้เป็นราคากลางในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการดำเนินงานตามโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง 2558/59 ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 110 รายการ
จากการตรวจสอบโครงการฯ จำนวน 67 โครงการ พบว่า กลุ่ม/องค์กรเกษตรกรจัดซื้อวัสดุ และอุปกรณ์เพื่อใช้ในการดำเนินงานตามโครงการสูงกว่าราคากลางที่จังหวัดศรีสะเกษกำหนด จำนวน 19 โครงการ เป็นเงินจำนวน 409,202 บาท ทำให้การใช้เงินงบประมาณของทางราชการเป็นไปโดยไม่ประหยัด เนื่องจากกลุ่ม/องค์กรและคณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัด คณะกรรมการ กลั่นกรองระดับอำเภอ ทีมประเทศไทยระดับตำบลและศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบล (ศบกต.) ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามหนังสือสั่งการที่กำหนด
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้อนุมัติโครงการดังกล่าว เพื่อโปรดพิจารณาหาแนวทางป้องกันและแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับกรณีการดำเนินโครงการของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จนทำให้งบประมาณของราชการได้รับความเสียหาย จำนวน 37,915,020 บาท ความเสียหายดังกล่าว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จะได้ออกรายงานในลักษณะอื่นและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการหาผู้รับผิดชอบความเสียหายในทางละเมิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และให้ดำเนินการทางวินัยกับผู้รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ
2. ปลัดกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาดำเนินการดังนี้
2.1 กรณีกลุ่มไม่บริหารโครงการต่อไปแล้ว ในจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 60 กลุ่ม นำเงินรายได้ที่เกิดจากการดำเนินโครงการของกลุ่มทั้งหมด และรายได้ที่จะเกิดจากการจำหน่ายสินค้า คงเหลือทั้งหมดคืนให้สำนักงานคลังจังหวัดศรีสะเกษ และให้ดำเนินการตรวจสอบกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือว่ามีกี่กลุ่มที่ไม่บริหารโครงการต่อไปแล้วให้นำเงินคืนสำนักงานคลังจังหวัดศรีสะเกษต่อไป รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมสอบสวนข้อเท็จจริงผู้รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่มีส่วนทำให้กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณไม่สามารถดำเนินการบริหารจัดการโครงการต่อไปได้ จนทำให้งบประมาณของทางราชการเสียหาย เพื่อหาผู้รับผิดชอบทางละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และทางวินัยตามควรแก่กรณีต่อไป
2.2 แจ้งให้จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอื่นๆ ให้ดำเนินการตรวจสอบกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรฯ ปี 2558/2559 ว่ามีจำนวนกี่กลุ่มที่ไม่บริหารโครงการต่อไปแล้ว ให้กลุ่มนำเงินรายได้ที่เกิดจากการดำเนินโครงการทั้งหมด คืนให้สำนักงานคลังจังหวัดต่อไป
2.3 กรณีกลุ่มที่มีการบริหารโครงการต่อไปในปัจจุบัน แจ้งให้จังหวัดทุกจังหวัดตรวจสอบว่ากลุ่มดำเนินการขาดทุนหรือไม่ หากพบว่ามีต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาจำหน่ายผลผลิตจนทำให้เกิดการขาดทุนและไม่ยั่งยืนในระยะต่อไปแล้ว เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ให้ดำเนินการแจ้งให้กลุ่มฯ ส่งเงินรายได้ของโครงการที่คงเหลือคืนให้สำนักงานคลังจังหวัด หากกลุ่มไม่สามารถนำเงินส่งคืนได้ ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเข้าไปดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาการขาดทุนของกลุ่มเพื่อให้กลุ่มเกษตรกร มีศักยภาพที่จะบริหารจัดการโครงการต่อไปได้อย่างยั่งยืนและคุ้มทุนต่อไป โดยไม่ใช้จ่ายงบประมาณของราชการ และต้องมีสถานะผลตอบแทนจากการดำเนินโครงการไม่ขาดทุน
2.4 ดำเนินการพิจารณาปรับปรุงบันทึกข้อตกลงการขอรับเงินอุดหนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ตามโครงการฯ ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างผู้แทนศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล กับผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดข้อตกลงไว้ให้รอบคอบยิ่งขึ้น โดยให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการหลังจากสิ้นสุดโครงการและการคืนเงิน หากไม่สามารถดำเนินโครงการให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและเกิดความคุ้มทุนหรือคุ้มค่า รวมทั้งกำหนดความผิดชอบต่อการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับความเสียหาย
2.5 สำหรับกลุ่มที่ดำเนินการไม่เป็นไปตามสัญญายืมเงินระหว่างกลุ่มกับ ศบกต. และ ข้อตกลงระหว่าง ศบกต. กับสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ กลุ่มหรือ ศบกต. ที่จำหน่ายผลผลิตต่ำกว่าต้นทุนการผลิตและต่ำกว่าราคาเป้าหมาย และกลุ่มหรือ ศบกต. นำผลผลิตไปแจกจ่ายหรือแบ่งผลผลิตให้กับสมาชิกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณที่กำหนดไว้ในสัญญายืมเงิน และบันทึกข้อตกลงให้แจ้งให้จังหวัดศรีสะเกษ พิจารณาดำเนินการกับกลุ่ม หรือ ศบกต. เพื่อหาผู้รับผิดชอบความเสียหายต่อไป
3. ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พิจารณาดำเนินการดังนี้
3.1 สั่งการให้กลุ่ม/องค์กรเกษตรกร จำนวน 29 กลุ่ม ที่ไม่ใช้ประโยชน์จากวัสดุอุปกรณ์ คงเหลือจากการดำเนินโครงการจัดทำทะเบียนคุมวัสดุอุปกรณ์ไว้เพื่อป้องกันการสูญหาย และเร่งรัดให้มีการใช้ประโยชน์จากวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวด้วย ในกรณีที่กลุ่มฯ ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวได้ให้ดำเนินการหาผู้รับผิดชอบความเสียหายอย่างเคร่งครัดต่อไป
3.2 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบโครงการฯ ที่เหลือ จำนวน 217 โครงการ (284– 67) ว่ากลุ่ม/องค์กรเกษตรกรใดมีวัสดุอุปกรณ์เหลือจากการดำเนินโครงการ มีการจัดททะเบียนคุมวัสดุอุปกรณ์ และมีการใช้ประโยชน์จากวัสดุอุปกรณ์หรือไม่อย่างไร หากพบว่ากลุ่ม/องค์กรเกษตรกรมี วัสดุอุปกรณ์เหลือจากการดำเนินโครงการ ไม่มีการจัดทำทะเบียนคุมวัสดุอุปกรณ์ และไม่มีการใช้ประโยชน์จากวัสดุอุปกรณ์ ให้ดำเนินการตาม ข้อ 3.1 โดยเร็ว
3.3 ให้กำชับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและมีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ต้องมีความระมัดระวัง รอบคอบ ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติโครงการ โดยเฉพาะในกรณีการพิจารณาถึงความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ ในเรื่องสัดส่วนของการกำหนดเป้าหมายต่อวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิต รวมทั้งให้จัดทำอัตราส่วนการผลิตไว้ให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมหรือโครงการของกลุ่ม/องค์กรเกษตรกรที่เคยเสนอโครงการมาเมื่อครั้งที่แล้ว เป็นแนวทางให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและมีส่วนเกี่ยวข้องใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการในครั้งต่อไป
3.4 ในโอกาสต่อไป หากมีการดำเนินโครงการในลักษณะคล้ายคลึงกันอีก หากกลุ่ม/องค์กรเกษตรกรมีการเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากภาครัฐเพื่อดำเนินโครงการ ให้กำชับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ ควรพิจารณาถึงวัสดุอุปกรณ์ที่เหลืออยู่ของกลุ่ม/องค์กรเกษตรกรแต่ละแห่งจากทะเบียนคุมวัสดุอุปกรณ์ ว่ามีจำนวนเพียงพอต่อการดำเนินโครงการที่กลุ่ม/องค์กรเกษตรกรเสนอมาหรือไม่อย่างไรด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ซ้ำและมีวัสดุอุปกรณ์เหลือจากการดำเนินโครงการโดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และเพื่อให้มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อไป
3.5 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อหาผู้รับผิดชอบกรณีกลุ่ม/องค์กรเกษตรกรจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการดำเนินงานตามโครงการสูงกว่าราคากลางที่จังหวัดศรีสะเกษ กำหนด จำนวน 409,202 บาท และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบโครงการฯที่เหลือ จำนวน 217 โครงการ ว่า กลุ่ม/องค์กรเกษตรกรจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการดำเนินงานตามโครงการเป็นไปตามประกาศราคากลางที่จังหวัดศรีสะเกษกำหนดหรือไม่อย่างไร หากพบว่าราคาที่กลุ่ม/องค์กรเกษตรกรจัดซื้อสูงกว่าราคากลางที่จังหวัดศรีสะเกษกำหนด ให้ดำเนินการหาผู้รับผิดชอบความเสียหายดังกล่าวต่อไป รวมทั้ง กำชับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังรอบคอบในการดำเนินงานทุกขั้นตอนเพื่อไม่ให้เกิดกรณีกลุ่ม/องค์กรเกษตรกรจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการดำเนินงานตามโครงการที่มีราคาสูงกว่าราคากลางที่จังหวัดศรีสะเกษ กำหนดอีก
----
ในสัปดาห์หน้า สำนักข่าวอิศราจะนำเสนอผลการตรวจสอบที่สำคัญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องใด โปรดติดตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดกรุผลสอบสตง.(1) ชำแหละงบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกาญฯ ไม่คุ้มค่า ห้องอาบน้ำแร่ถูกทิ้งร้าง
เปิดกรุผลสอบสตง.(2) ตรวจงบยกระดับหมู่บ้านโคราช ใช้ภาพเดียวเบิกเงิน 6 โครงการรวด
เปิดกรุผลสอบสตง.(3) ตรวจการผลิต-ใช้พลังงานทดแทน ‘กรมการพลังงานทหาร’ ล้มเหลวไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(4) ตรวจนโยบายร.ร.ดีใกล้บ้าน ยกระดับการศึกษาล้ม-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(5) ตรวจโครงการพัฒนาลำเชียงไกรโคราช ไม่เสร็จตามแผน-ซื้อของเกินจำเป็น
เปิดกรุผลสอบสตง.(6) ตรวจโครงการพัฒนาพืช-พลังงาน จ.ขอนแก่น 113ล. ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(7) ตรวจโครงการพลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า-ประปาจ.กาญจนฯ ล้มเหลว-เบิกจ่ายเท็จ
เปิดกรุผลสอบสตง.(8) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลนคร/เมือง ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(9) ตรวจการควบคุมเคมีทางเกษตร พบสารต้องห้าม-ร้านขายไม่ปลอดภัย-ผิดกม.
เปิดกรุผลสอบสตง.(10) ตรวจโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด อปท.ลำปาง ไม่คุ้มงบ-ผิดวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(11) ตรวจโครงการสินค้าเกษตร 4.0 สุพรรณฯ ไม่พร้อมดำเนินการ-ไม่คุ้มงบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(12) ตรวจโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ขาดความต่อเนื่อง-ไม่ยั่งยืน
เปิดกรุผลสอบสตง.(13) ตรวจศูนย์อาชีพผู้สูงอายุ ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์-จัดซื้อไม่คุ้มค่า
เปิดกรุผลสอบสตง.(14) ตรวจโครงการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.มหาสารคาม มอบรถพยาบาลช้า-ใช้ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(15) ตรวจสหกรณ์จ.สุราษฎร์ฯ-ชุมพร ตั้งโรงงานยางพารา แต่ไม่เดินสายพานผลิต
เปิดกรุผลสอบสตง.(16) ตรวจการเก็บค่าภาคหลวงแร่ กรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ไม่เป็นตามกฎหาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(17) ตรวจโครงการนาขั้นบันไดจ.น่าน ไม่ตรงเป้าหมาย-เบิกจ่ายเท็จ/ผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(18) ตรวจศูนย์เด็กเล็ก อปท.นครศรีธรรมราช ไร้ประสิทธิภาพ-ไม่ปลอดภัย
เปิดกรุผลสอบสตง.(19) ตรวจสำนักงาน กศน. อุดรธานี ไร้ประสิทธิภาพ-จบช้า/น้อย-พบนศ.ผี
เปิดกรุผลสอบสตง.(20) ตรวจโครงการเกษตรอินทรีย์กาญจนฯ ไม่บรรลุประสงค์-จัดซื้อผิดระเบียบ
เปิดกรุผลสอบสตง.(21) ตรวจโครงการความปลอดภัยทางทะเลพัทยา ระบบ/อุปกรณ์ไม่ตรงตาม TOR
เปิดกรุผลสอบสตง.(22) ตรวจการกำจัดขยะ อปท. นครสวรรค์/พิจิตร ไม่ได้มาตรฐาน-ไม่ตามโรดแม็พ
เปิดกรุผลสอบสตง.(23) ตรวจการพัฒนาชลประทานฉะเชิงเทรา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(24) ตรวจโครงการช่วยเกษตรกร/คนจน กำแพงเพชร ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุเป้าหมาย
เปิดกรุผลสอบสตง.(25) ตรวจโครงการควมคุมอาคารเขตเทศบาลตำบล/อบต. ไม่ปลอดภัย-ผิดกม.อื้อ
เปิดกรุผลสอบสตง.(26) ตรวจโครงการเกษตรผสมผสานอีสานล่าง 2 ผิดวัตถุประสงค์-ไม่มีประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(27) ตรวจสอบการประปาเทศบาลนครศรีธรรมราช ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(28) ตรวจสอบกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สทบ. เสี่ยงล้มเหลว-ขาดศักยภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(29) ตรวจสอบระบบจัดการขยะ จ.เชียงราย ไม่เป็นระบบ-ขาดประสิทธิภาพ
เปิดกรุผลสอบสตง.(30) โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ จ.แพร่ แจกปัจจัยเกินจำเป็น-ไม่สอดคล้องหลักการ
เปิดกรุผลสอบสตง.(31) ปศุสัตว์ปลอดภัย จ.พะเยา ผิดระเบียบ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์
เปิดกรุผลสอบสตง.(32) การแพทย์ฉุกเฉิน อบจ.ร้อยเอ็ด ขาดประสิทธิภาพ-ไม่บรรลุวัตถุประสงค์