“…อันจะเป็นการเพิ่มกระบวนการและขั้นตอนในการบริหารงานของผู้บริหารแผนชุดเดิมให้มีความยุ่งยากมากขึ้น และย่อมทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาตัดสินใจในการบริหารงานต่างๆ เนื่องจากผู้บริหารแผนทั้ง 2 คน ที่ถูกเสนอเพิ่มเติมตามคำร้องปัจจุบันปฏิบัติงานอยู่ในส่วนงานภาครัฐ ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารของการบินไทยมาก่อน อันจะทำให้การบริหารจัดการภายในไม่คล่องตัวเท่าเดิม…”
...................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ฟฟ10/2563 คดีหมายเลขแดงที่ ฟฟ 20/2563 ไม่เห็นด้วยกับคำร้องข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ บมจ.การบินไทย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ได้แก่
ฉบับที่ 1 คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อกำหนดให้ผู้บริหารแผน มีอำนาจลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม
ฉบับที่ 2 คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า หากในอนาคต บริษัทฯจะมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น บริษัทฯสามารถนำกระแสเงินสดส่วนเกินมาจ่ายเงินปันผลได้ โดยเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะได้รับชำระหนี้ก่อนกำหนดข้อ 5.4 (ข) ของแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ
ฉบับที่ 3 คำร้องขอแก้ไขแผนพื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 ราย นั้น (อ่านประกอบ : ศาลฯตีตกคำร้องแก้แผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’3 ฉบับ-ชี้ตั้ง'2 ผู้บริหาร’ทำยุ่งยาก-เพิ่มรายจ่าย)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำเสนอคำวินิจฉัยของ ‘ศาลล้มละลายกลาง’ ในคดีดังกล่าว ก่อนที่ศาลฯจะมีคำสั่ง ‘ไม่เห็นด้วย’ กับคำร้องข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของ ‘บมจ.การบินไทย’ ทั้ง 3 ฉบับ มีรายละเอียด ดังนี้
@‘ผู้บริหารแผน’มีอำนาจ‘ลดทุน’-กำหนดแนวจ่าย‘ปันผล’อยู่แล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า คำร้องขอแก้ไขแผนพื้นฟูกิจการครั้งที่ 2 ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 13 ก.ย.2567 ที่ได้เพิ่มข้อ 5.6.9 ขึ้นมาในแผนว่า
“ข้อ 5.6.9 ภายหลังจากการปรับโครงสร้างทุนในข้อ 5.6.3 และข้อ 5.6.4 แล้วเสร็จ และดำเนินการตามข้อ 5.6.7 (หากมี) แล้ว ผู้บริหารแผนมีอำนาจลดทุนจากจำนวนที่จดทะเบียนไว้ด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ จากเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นจำนวนตามที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรและเหมาะสม เพื่อที่จะทำให้การบินไทยสามารถลดผลขาดทุนสะสมให้เห็นใกล้เคียงศูนย์มากที่สุด และดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง โดยโดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของการบินไทยเป็นสำคัญ”
กับคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งที่ 2 ฉบับที่ 2 ที่ได้เพิ่มข้อความในข้อ 5.4 (ข) เป็นวรรคสุดท้ายว่า
“อย่างไรก็ดี หากผู้บริหารแผนหรือคณะกรรมการของการบินไทยเห็นสมควรเสนอให้มีการพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ผู้บริหารแผนหรือคณะกรรมการของการบินไทย สามารถนำกระแสเงินสดส่วนเกินตามข้อ 5.4 (ก) วรรคท้าย มาจ่ายเงินผลได้ แต่ทุกกรณีที่มีการจ่ายเงินปันผล การบินไทยจะต้องกันเงินสด เพื่อจัดสรรชำระหนี้ตามข้อนี้ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ”
และเพิ่มเติมวรรคสุดท้ายว่า “ภายใต้ข้อกำหนดในวรรคก่อน หลังจากที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยแล้ว อำนาจในการเสนอและพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการของการบินไทย และ/หรือ ผู้ถือหุ้นของการบินไทย”
การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามคำร้องทั้งสองฉบับดังกล่าว มีความจำเป็นต้องแก้ไข เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลลุล่วงไปได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หรือไม่
เห็นว่า ตามคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ 1 ของผู้บริหารแผน อ้างเหตุในการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการว่า หลังจากที่การบินไทยได้ปรับโครงสร้างทุนตามแผนข้อ 5.6 ปรากฏว่าการบินไทยยังมีผลขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมาก โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.2567 การบินไทยมีผลขาดทุนสะสมตามที่แสดงในงบแสดงฐานะการเงินเท่ากับ 73,129 ล้านบาท
และมีผลขาดทุนสะสมมาเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 6 ปี ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี 2563 และคาดการณ์ว่า หลังจากเสร็จสิ้นการแปลงหนี้เป็นทุนด้วยการเพิ่มทุนของการบินไทย ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจใช้สิทธิเพิ่มเติม รวมถึงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักตามแผนข้อ 5.6.3 แล้ว
คาดการณ์ว่า การบินไทยจะต้องรับรู้ผลขาดทุนทางบัญชี ที่เกิดจากการกลับรายการกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ และขาดทุบจากส่วนต่างระหว่างราคาแปลงหนี้เป็นทุนและมูลค่ายุติธรรมอีกเป็นจำนวนประมาณ 40,000 ถึง 85,000 ล้านบาท ในงบกำไรขาดทุนของการบินไทยสำหรับงวดปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.2567 ซึ่งแม้การรับรู้ผลขาดทุนดังกล่าว จะไม่ส่งผลต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินของการบินไทย
กล่าวคือ ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินยังสามารถกลับมาเป็นบวก อันเป็นเงื่อนไขความสำเร็จของแผนตามแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 10.10 ได้ แต่ผลขาดทุนทางบัญชีดังกล่าว เมื่อนำไปรวมกับผลขาดทุนสะสมเดิม จะยิ่งทำให้ผลขาดทนทุนสะสมของการบินไทยสูงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หากไม่มีการลดผลขาดทุนสะสมทางบัญชี ภายหลังจากการปรับปรุงโครงสร้างทุนด้วยการแปลงหนี้เป็นหุ้นเพิ่มทุน และการจัดสรรและการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนตามแผนข้อ 5.6.3 และข้อ 5.6.4 ด้วยการลดทุนจากการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) แล้ว
การบินไทยจะไม่มีโอกาสพิจารณาจ่ายเงินปันผลได้อีกเป็นระยะเวลาหลายปี ภายหลังจากการออกจากการฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งความสามารถในการจ่ายเงินปันผล เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของผู้ลงทุนในการพิจารณาว่า จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนของการไทยหรือไม่
จึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารแผนจะต้องแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้การปรับโครงสร้างทุนและเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยเพิ่มข้อ 5.6.9 ในแผนนั้น
เห็นว่า การลดทุนเป็นวิธีการบริหารเงินของบริษัทให้เกิดความเหมาะสม เพื่อให้มีโครงสร้างทุนที่แข็งแรงขึ้น โดยในแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 ข้อที่ 5.6.3 ข้อ 5.6.4 ได้กำหนดรายละเอียดในการเพิ่มทุนจดทะเบียนไว้
และระบุในข้อ 5.6.7 ว่า ผู้บริหารแผนมีอำนาจดำเนินการลดทุนจดทะเบียน เพื่อตัดหุ้นสามัญเพิ่มทุนส่วนที่ไม่มีการเสนอขายตามที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของการบินไทย ซึ่งการลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม เพื่อการปรับตัวเลขทางบัญชีของกรบินไทย ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการลดทุนที่จะส่งผลให้ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลเร็วขึ้น
และเป็นอำนาจของผู้บริหารแผนที่จะดำเนินการได้ เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเป็นผลสำเร็จตามแผนข้อ 10.10 ซึ่งใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 วรรคท้าย บัญญัติว่า “มิให้นำมาตรา... มาตรา 136 มาตรา 137 มาตรา 139 มาตรา 140 มาตรา 141 มาตรา 146 ถึงมาตรา 148 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ...มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้”
โดยในมาตรา 139 วรรคแรกบัญญัติว่า “บริษัทจะลดทุนจากจำนวนที่จดทะเบียนไว้แล้วได้ โดยการลดมูลค่าหุ้นแต่ละหุ้นให้ต่ำลงหรือลดจำนวนหุ้นให้น้อยลงก็ได้ แต่จะลดทุนลงไปให้ถึงต่ำกว่าจำนวนหนึ่งในสี่ของทุนทั้งหมดหาได้ไม่”
และในวรรคสามบัญญัติว่า “การลดมูลค่าหุ้นหรือลดจำนวนหุ้นตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นจำนวนเท่าใด และด้วยวิธีการอย่างใด จะกระทำได้ต่อเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน...”
ดังนั้น เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการ กำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเพิ่มทุนและลดทุนไว้ในข้อ 5.6.3 ข้อ 5.6.4 และข้อ 5.6.7 แล้ว ประกอบกับมีบทบัญญัติมาตรา 90/42 วรรคท้าย บัญญัติยกเว้นหลักเกณฑ์ทั่วไปดังกล่าวแล้ว การที่ผู้บริหารแผนจะลดทุนจากจำนวนที่จดทะเบียนไว้ ด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ จากเดิมหุ้นละ ๑๐ บาท เป็นจำนวนตามที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรและเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของการบินไทยเป็นสำคัญ
จึงเป็นวิธีการที่ผู้บริหารแผน ในฐานะที่เป็นผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ตามบทนิยามของกฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มีอำนาจกระทำได้ภายในขอบอำนาจโดยชอบตามแผนฟื้นฟูกิจการอยู่แล้ว และการดำเนินการดังกล่าวมิได้กระทบสิทธิต่อการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด
และในส่วนที่มีการเสนอขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 2 โดยระบุเหตุในการเสนอแก้ไขแผนว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการจ่ายเงินปันผล และให้มีความสมดุลระหว่างการจ่ายเงินปันผลและการชำระหนี้ก่อนกำหนดให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนนั้น
เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการเพิ่มรายละเอียดให้ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินปันผล ที่ผู้บริหารแผนมีอำนาจกระทำได้ภายในชอบอำนาจโดยชอบตามแผนฟื้นฟูกิจการอยู่แล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีดังกล่าว ย่อมหมายรวมถึงการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามที่ระบุไว้ในแผน และการจ่ายเงินปันผลให้แก่เจ้าหนี้โดยชอบ โดยไม่กระทบต่อสิทธิของการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
กรณีจึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขแผนตามคำร้องขอเสนอข้อแก้ไขแผนฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/63
@ตั้ง‘2 ผู้บริหารแผน’สร้างความยุ่งยาก-ไม่คล่องตัว-เพิ่มรายจ่าย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า คำร้องขอเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งที่ 2 ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 4 พ.ย.2567 โดยขอยกเลิกข้อความเดิมในข้อ 10.3 วรรคแรก และใช้ข้อความใหม่ดังต่อไปนี้แทนข้อความเดิม
“แผนกำหนดให้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายปัญญา ชูพานิช และนายพลจักร นิ่มวัฒนา เป็นผู้บริหารแผน ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อและคุณสมบัติของผู้บริหารแผนและหนังสือยินยอมเป็นผู้บริหารแผนได้แสดงรายละเอียดไว้ในเอกสารแนบ 8 และ 8/1 โดยในการลงนามในเอกสารใดๆ เพื่อทำธุรกรรมหรือเพื่อให้มีผลผูกพันการบินไทย ให้ผู้บริหารแผน 2 คน มีอำนาจลงนามร่วมกันเพื่อผูกพันการบินไทย”
และให้ข้อความส่วนอื่น ๆ ในข้อ 10.3 เป็นไปตามเดิม มีความจำเป็นต้องแก้ไขแผนเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงไปได้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/63 หรือไม่
เห็นว่า ตามคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ฉบับที่ 3 ของผู้บริหารแผน ได้อ้างเหตุในการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการว่า ผู้บริหารแผนได้รับหนังสือจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ด้วยการบินไทยอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ
ประกอบกับภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ศาลเห็นชอบเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 กำหนดให้มีผู้บริหารแผนจำนวน 5 ราย ซึ่งการดำเนินงานปัจจุบันคงเหลือผู้บริหารแผนจำนวน 3 ราย ขณะที่ในช่วงระยะเวลาที่เหลือก่อนออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะต้องตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญและมีผลผูกพันถึงการดำเนินงานต่างๆ ในอนาคต
โดยการตัดสินใจที่สำคัญดังกล่าว การบินไทย จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้นของการบินไทยภายหลังการออกจากการฟื้นฟูกิจการมาร่วมตัดสินใจ และสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ถือหุ้นของการบินไทย เพื่อให้การบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และการออกจากการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
กระทรวงการคลัง จึงเห็นสมควรเสนอรายชื่อผู้บริหารแผน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมเป็นคณะผู้บริหารแผนของการบินไทยเพิ่มเติม ได้แก่ นายปัญญา ชูพานิช ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง นั้น
เห็นว่า ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.2565 ที่นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายศิริ จิรพงษ์พันธ์ ได้ลาออกจากการเป็นผู้บริหารแผน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ นายพรชัย ฐีระเวช และนายชาญศิลป์ ตรีนชกร ผู้บริหารแผนที่เหลืออยู่มีอำนาจดำเนินการตามแผนในฐานะผู้บริหารแผนตามแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 10.6 (2) มาจนถึงปัจจุบัน
โดยเมื่อพิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการ ตั้งแต่โตรมาสที่ 2 ปีที่ 2 จนถึงไตรมาสที่ 4 ปีที่ 3 ปรากฏว่าผู้บริหารแผนดำเนินการเป็นไปตามสาระสำคัญของแผน ไม่ปรากฏว่าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการจะมีปัญหาขัดข้องหรือติดขัดจากการที่มีผู้บริหารแผนจำนวน 3 คน แต่อย่างใด
นอกจากนี้ หากมีการเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คน ตามคำร้องขอเสนอขอแก้ไขแผนครั้งที่ 3 ดังกล่าว จะต้องมีการจัดประชุมคณะผู้บริหารแผน เพื่อตั้งประธานคณะผู้บริหารแผน กำหนดอำนาจหน้าที่ของประธานคณะผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนแต่ละคน และกำหนดกรอบวิธีการดำเนินการของผู้บริหารแผน ตามที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 10.3
อันจะเป็นการเพิ่มกระบวนการและขั้นตอนในการบริหารงานของผู้บริหารแผนชุดเดิมให้มีความยุ่งยากมากขึ้น และย่อมทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาตัดสินใจในการบริหารงานต่างๆ เนื่องจากผู้บริหารแผนทั้ง 2 คน ที่ถูกเสนอเพิ่มเติมตามคำร้องปัจจุบันปฏิบัติงานอยู่ในส่วนงานภาครัฐ ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารของการบินไทยมาก่อน อันจะทำให้การบริหารจัดการภายในไม่คล่องตัวเท่าเดิม
ทั้งการเพิ่มผู้บริหารแผนยังเป็นการเพิ่มรายจ่าย เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้ผู้บริหารแผน ตามที่แผนข้อที่ 10.5 ที่ระบุไว้ว่าผู้บริหารแผนจะได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นผู้บริหารแผนรวมกันไม่เกินปีละ 5,000,000 บาท ต่อท่าน
เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามสาระสำคัญของแผนตั้งแต่ไตรมาสที่มีผู้บริหารแผนจำนวน 3 คน ได้ปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายจากการชำระเงินค่าตอบแทนผู้บริหารแผนลดลงจากที่เคยชำระให้ผู้บริหารแผนเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง การปรับลดค่าใช้จ่ายนับว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ประกอบกับการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยปัจจุบันดำเนินมาถึงปีที่ 4 โดยปรากฏว่าเป็นไปตามสาระสำคัญของแผนมาโดยตลอด โดยไม่เกิดเหตุนัดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผน และการบินไทยคาดหมายว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้
การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการโดยการเพิ่มผู้บริหารแผนในชั้นนี้ จึงยังไม่มีความจำเป็นเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงไปได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 80/63
ส่วนประเด็นปัญหาว่าการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผนเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 และมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ในวันดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามคำคัดค้านของเจ้าหนี้รายที่ 21 รายที่ 174 รายที่ 2089 รายที่ 2244 รายที่ 2245 รายที่ 2481 รายที่ 3932 และรายที่ 5913 ที่ได้ยื่นคำคัดค้านและคำชี้แจงไว้นั้น เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นข้างต้นแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำคัดค้านและคำชี้แจงอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
จึงมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยกับข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งที่ 2 ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 13 ก.ย.2567 กับฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 ลงวันที่ 4 พ.ย.2567 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
@ยื่น‘คำคัดค้าน’ชี้‘ก.คลัง’ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้‘การบินไทย’แล้ว
ทั้งนี้ ในพิจารณาคำร้องขอแก้ไขแผนพื้นฟูกิจการครั้งที่ 2 ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 13 ก.ย.2567 ,คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งที่ 2 ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 4 พ.ย.2567 และคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งที่ 2 ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 4 พ.ย.2567 นั้น มีเจ้าหนี้ 21 ราย ยื่นคำคัดค้านฯ ปรากฏรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
นางกิติมา สีตลกาญจน์ เจ้าหนี้ลำดับที่ 21 ยื่นคำคัดค้านว่า กระบวนการประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาข้อเสนอแก้ไขแผนของผู้บริหารแผนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการคำนวณเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นไปโดยไม่ชอบ
โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อนุญาตให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนแล้ว กล่าวคือ เจ้าหนี้รายกระทรวงการคลัง เจ้าหนี้รายที่ 9497 ให้ใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ ตลอดจนการนับสิทธิออกเสียงของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 กลุ่มที่ 6 และกลุ่มที่ 18 ถึง 31 ก็ไม่ถูกต้อง ตามจำนวนหนี้คงเหลือ ณ วันที่มีการประชุมเจ้าหนี้
เนื่องจากเจ้าหนี้รายดังกล่าวได้รับการชำระหนี้ จากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลเห็นชอบไปแล้ว ทำให้ฐานะความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้เปลี่ยนแปลงไป นับแต่วันที่ผู้บริหารแผนมีมติให้แปลงหนี้ของเจ้าหนี้เป็นทุน
กล่าวคือ ระหว่างเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 สิ้นสุดลงทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่ 5 กลุ่มที่ 6 และกลุ่มที่ 18 ถึง 31 สิ้นสุดลง ตามจำนวนที่ได้มีการแปลง กระบวนการในการออกเสียงลงมติ เพื่อพิจารณาคำร้องขอแก้ไขแผนในฉบับที่ 2 และฉบับระบบ LED Vote ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ก็เป็นไปโดยมิชอบ
เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2567 ผู้บริหารแผนได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว จากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลอัมละลายกลาง และเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2567 ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว จากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ซึ่งผู้บริหารแผนได้ดำเนินการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพามิชย์ ในวันดังกล่าว
เมื่อผู้บริหารหารแผนมีมติให้แปลงหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าทลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 ถึง 31 เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2567 ดังได้กล่าวมาแล้วตามแผน นับแต่วันที่ผู้บริหารแผนมีมติแปลงหนี้ของเจ้าหนี้เป็นทุน
จึงมีผลทำให้ฐานะความเป็นเจ้าหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หมดลง เพราะได้รับการชำระหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุนทั้งจำนวนไปแล้ว และฐานะความเป็นจ้าหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 ถึง 31 ลดลงตามจำนวนที่ได้รับการชำระหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุนดังกล่าว
เมื่อฐานะความเจ้าหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 ถึง 31 ได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากได้รับชำระหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 กล่าวคือ เจ้าหนี้รายกระทรวงการคลัง ซึ่งมีไม่มีจำนวนหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการอยู่เลย (หนี้คงเหลือเป็นศูนย์)
แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กลับยังคำนวณเสียงลงคะแนนของเจ้าหนี้รายกระทรวงการคลัง ในการพิจารณาข้อเสนอแก้ไขแผนของผู้บริหารแผน ด้วยคะแนนเสียง 12,827,461,287.24 บาท
นอกจากนี้ ฐานเสียงของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 ถึง 31 รายอื่นๆ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากได้รับการชำระหนี้ ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนไปแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มิได้ปรับลดสิทธิโหวตให้ถูกต้องตามที่เจ้าหนี้แต่ละรายมีสิทธิออกเสียง
เพราะทั้งกรณีของเจ้าหนี้ดังกล่าว ล้วนแต่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดแล้ว สิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ จึงต้องเป็นจำนวนหนี้แท้จริง โดยที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจในการกำหนดสิทธิออกเสียงลงลงมติของเจ้าหนี้ได้
ในประเด็นนี้ ในที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ได้มีเจ้าหนี้รายสหกรณ์สุราษฎร์ธานี ทักท้วงถึงความเป็นเจ้าหนี้ของเจ้าหนี้รายกระทรวงการคลัง ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว และลูกหนี้ก็ได้มีคำร้องทักท้วงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้นับสิทธิออกเสียงของเจ้าหนี้ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว
แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กลับเพิกเฉยและยังนำเสียงของเจ้าหนี้ที่ได้รับชำระหนี้และพ้นจากความเป็นเจ้าหนี้ไปแล้วรวมคำนวณว่า จะยอมรับหรือไม่ยอมรับแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการอยู่ อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น มติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่เห็นชอบข้อเสนอแก้ไขแผนของผู้บริหารนทั้ง 3 ฉบับ เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ขอให้ศาลเพิกถอนการประชุมเจ้าหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 และขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการประชุมใหม่ตามสิทธิออกเสียงที่เจ้าหนี้แต่ละรายพึงมีให้ถูกต้อง พร้อมทั้งกำหนดให้มีตัวแทนเจ้าหนี้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมเจ้าหนี้และการนับคะแนนเสียงด้วย
@ค้านตั้ง 2 ‘ผู้บริหารแผน’จาก‘คลัง’ชี้เป็นการขัดแย้งทางผลปย.
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เจ้าหนี้ลำดับที่ 3932 ยื่นคำคัดค้านว่า กรณีกระทรวงการคลังขอให้ผู้บริหารแผนยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่มเติม โดยการเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้แต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่มเติมอีก 2 ท่าน เป็นการขัดแย้งทางผลประโยชน์และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบริษัทฯ และเจ้าหนี้ทั้งปวง
ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทั้ง 3 ท่าน มีผู้แทนภาครัฐ คือ กระทรวงการคลังจำนวน 1 ท่าน โดยในคณะกรรมการเจ้าหนี้ ซึ่งมีทั้งหมด 7 ท่าน มีผู้แทนภาครัฐในคณะกรรมการเจ้าหนี้อีก 3 ท่าน ดังนั้น ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท มีตัวแทนภาครัฐรวมทั้งสิ้น 4 ท่านแล้ว
โดยมูลหนี้ของภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงการคลังมีอยู่เพียง 12,500 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของมูลหนี้ทั้งหมด และในปัจจุบันเมื่อผู้บริหารแผนได้แปลงหนี้ของกระทรวงการคลังเป็นหุ้นไปหมดแล้ว กระทรวงการคลังจึงไม่ได้เป็นเจ้าหนี้แล้ว
การเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาครัฐอีก 2 ท่าน จะส่งผลให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการจากภาครัฐมีเสียงข้างมากในคณะผู้บริหารแผนพื้นฟูกิจการ และควบคุมการตัดสินใจได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในการพิจารณาวาระต่างๆ ที่สำคัญที่ควรจะพิจารณาการดำเนินธุรกิจแบบอย่างเอกชน
นอกจากนี้ ยังจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะตัดสินใจในการซื้อหุ้นที่บริษัทกำลังขายให้กับบุคคลในวงจำกัดและพนักงาน รวมถึงผู้ถือหุ้นเดิม และทำให้กระแสเงินสดจากการปรับโครงสร้างทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้สถานะการเงินของบริษัทภายหลังจากการยกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการไม่มั่นคง และทำให้บริษัทเสียประโยชน์จากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และจะส่งผลต่อกำไรจากการขายหุ้นเมื่อกลับเข้าสู่การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
ในปัจจุบันบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการมีผลสำเร็จด้วยดี และอาจถือได้ว่าอยู่ในขั้นตอนลำดับท้ายของการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ การเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว จะส่งผลให้บริษัทฯ มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของค่าตอบแทนผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการที่จะเพิ่มขึ้นอีก 2 ท่าน โดยไม่จำเป็น ขอให้เพิกถอนการประชุมเจ้าหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เหล่านี้เป็นคำสั่ง ‘ศาลละละลายกลาง’ ที่ไม่เห็นด้วยกับคำร้องขอแก้ไขแผนพื้นฟูกิจการ ‘การบินไทย’ ทั้ง 3 ฉบับ โดยเฉพาะคำร้องขอแก้ไขแผนพื้นฟูกิจการฯ ในการเพิ่มจำนวน ‘ผู้บริหารแผน’ 2 ราย ที่มาจากฝั่ง ‘กระทรวงการคลัง’ ที่ศาลฯวินิจฉัยว่าเป็นการสร้างความยุ่งยากให้กับผู้บริหารแผนชุดเดิม และทำให้รายจ่ายของบริษัทฯเพิ่มขึ้น
อ่านประกอบ :
ศาลฯตีตกคำร้องแก้แผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’3 ฉบับ-ชี้ตั้ง'2 ผู้บริหาร’ทำยุ่งยาก-เพิ่มรายจ่าย
เปิดคำร้อง‘เจ้าหนี้’ยก 5 ปม ค้านมติแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’ ก่อนศาลฯชี้ขาด 21 ม.ค.นี้
‘ศาลฯ’นัดฟังคำสั่งขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’3 ฉบับ 21 ม.ค.ปีหน้า หลัง'เจ้าหนี้'คัดค้าน
ที่ประชุม‘เจ้าหนี้’ไฟเขียวแก้แผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’3 ฉบับ-ตั้ง‘2 ผู้บริหารแผน’ชนะเฉียดฉิว
เสียหายวันละ 2 ล.! ‘การบินไทย’ขู่ฟ้องแพ่ง-อาญา‘นายทะเบียน’ ชะลอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนฯ
‘การบินไทย’แจงแนวทาง‘เจ้าหนี้’โหวตแก้แผนฟื้นฟูฯ 3 ฉบับ-เสนอขาย‘หุ้นเพิ่มทุน’4.4 หมื่นล.
‘เจ้าหนี้’ 55.92% ลงมติเลื่อนโหวตแต่งตั้ง 2 ผู้บริหารแผน'การบินไทย' เป็น 29 พ.ย.นี้
'กก.เจ้าหนี้'ค้านรัฐแทรกแซง'การบินไทย' เสนอโหวตล้มเพิ่ม'ผู้บริหารแผน'จาก'คลัง' 2 ราย
'ชอส.'หวัง'การบินไทย'ทยอยคืนเงินต้น'หุ้นกู้' ปลดล็อกเพิ่ม'ปันผล'-หนุน‘แปลงหนี้เป็นทุน’
ศาลฯเพิกถอนคำสั่ง‘พนง.ตรวจแรงงาน’ ปมให้‘การบินไทย’จ่ายค่าจ้าง‘วันหยุดพักผ่อนฯ’
ศาลฯยกฟ้อง คดี'การบินไทย'ขอเพิกถอนคำสั่งจ่าย'ค่าชดเชย'วันหยุดประจำปีสะสม'อดีต พนง.'
‘การบินไทย’ ยอมรับมีแผนจัดหาเครื่องบิน 45 ลำจริง มั่นใจมีสภาพคล่องพอในการจัดซื้อ
‘เศรษฐา’เล็งนัด ‘การบินไทย’ คุยปมซื้อเครื่องบินใหม่ ‘สุริยะ’ ห่วงแต่ทำอะไรไม่ได้
ทำผิดซ้ำริบสิทธิฯถาวร! ‘การบินไทย’รื้อประกาศฯเกณฑ์ระงับ-เรียกคืน‘สิทธิบัตรโดยสาร’พนักงาน
‘ศาลอุทธรณ์ฯ’พิพากษายืน สั่ง‘การบินไทย’นำ'ค่าชั่วโมงบิน'คำนวณจ่ายชดเชยเลิกจ้างฯ'พนักงาน'
ต้องเปิดเผยข้อมูล-โปร่งใส จิ๊กซอว์สำคัญ ฟื้นฟูการบินไทย?
‘เศรษฐา’ รับอึดอัดใจ ปัญหา ‘การบินไทย’ กวดขันทำตามแผนฟื้นฟู
‘บอร์ดติดตามการบินไทย’ จ่อคุยฟื้นสถานะสายการบินแห่งชาติ
‘เศรษฐา’ เซ็นตั้งบอร์ดติดตาม ‘แผนฟื้นฟูการบินไทย’ ‘สุริยะ’ นั่งประธาน
‘ศาลแรงงาน’ สั่ง ‘การบินไทย’ จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง‘ส่วนที่ขาด’ ให้อดีตพนักงาน 17 ราย
‘บิ๊กตู่’มั่นใจ‘การบินไทย’คืนหนี้ได้ตามแผนฯ-แนะปรับปรุงเส้นทางบินให้สอดคล้องผู้โดยสาร
มิได้กระทำผิดสัญญา! ศาลแรงงานฯยกฟ้อง‘การบินไทย’ คดีค่าชดเชยเลิกจ้าง 40 อดีต พนง.
‘การบินไทย’ประกาศ ‘ร้องเรียนกรมสวัสดิฯ-ใช้โซเชียลให้ร้ายบริษัท’โดนริบสิทธิบัตรโดยสารพนง.
ที่ประชุมเจ้าหนี้ฯไฟเขียว‘การบินไทย’ปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มการบิน-ยันไม่กระทบผู้โดยสาร
‘การบินไทย’ขอ‘ครม.’คงสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’-ให้‘คลัง’ใช้สิทธิแปลงหนี้-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน
'ศาลแรงงาน'สั่ง‘การบินไทย’จ่าย 19 อดีตพนง. 14.3 ล้าน กรณีถูกหัก'เงินชดเชยฯ'คืนหนี้สหกรณ์
จ่อยุบ‘ไทยสมายล์ฯ’ปีนี้! ‘การบินไทย’ลุย‘แปลงหนี้เป็นทุน’-เหลือแอร์บัส A340 รอขาย 4 ลำ
รัฐถือหุ้นไม่ถึง50%ก็เป็นได้! สั่ง‘คลัง’แก้มติฯดัน‘การบินไทย’ฟื้นสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’
ฉบับเต็ม! เปิดความคืบหน้าฟื้นฟูฯ'การบินไทย' ขอ'คลัง'ซื้อหุ้นเพิ่มทุน-ตามหนี้'ทอ.'พันล้าน