‘ศาลล้มละลายฯ’ ตีตกคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ‘การบินไทย’ ทั้ง 3 ฉบับ ชี้เพิ่ม ‘2 ผู้บริหารแผน’ สร้าง 'ความยุ่งยาก-ไม่คล่องตัว-เพิ่มรายจ่าย’ ระบุ ‘ผู้บริหารแผน’ มีอำนาจ 'ลดทุนจดทะเบียน-พิจารณาจ่ายปันผล' ได้อยู่แล้ว
......................................
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ศาลล้มละลายกลาง นัดฟังคำสั่งกรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอให้ศาลฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ บมจ.การบินไทย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ประกอบด้วย (1) คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อกำหนดให้ผู้บริหารแผน มีอำนาจลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม
(2) คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า หากในอนาคต บริษัทฯจะมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น บริษัทฯสามารถนำกระแสเงินสดส่วนเกินมาจ่ายเงินปันผลได้ โดยเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะได้รับชำระหนี้ก่อนกำหนดข้อ 5.4 (ข) ของแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ และ (3) คำร้องขอแก้ไขแผนพื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 ราย
โดยศาลล้มละลาย มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยกับข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ทั้ง 3 ฉบับ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.ข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ครั้งที่ 2 ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 13 ก.ย.2567 หรือคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อกำหนดให้ผู้บริหารแผน มีอำนาจลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม ซึ่งจะทำให้ บมจ.การบินไทย พิจารณาจ่ายเงินปันผลได้ นั้น
เห็นว่า การลดทุนเป็นวิธีการบริหารเงินทุนของบริษัทฯ ให้เกิดความเหมาะสมเพื่อให้มีโครงสร้างทุนที่แข็งแกร่ง โดยแผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 ข้อที่ 5.6.3 ข้อ 5.6.4 ได้กำหนดรายละเอียดในการเพิ่มทุนจดทะเบียนไว้ และระบุในข้อ 5.6.7 ว่า ผู้บริหารแผนมีอำนาจดำเนินการลดทุนจดทะเบียนเพื่อตัดหุ้นสามัญเพิ่มทุนส่วนที่ไม่มีการเสนอขายตามที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของการบินไทย การลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสม ที่จะส่งผลให้ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลเร็วขึ้น
และเป็นอำนาจของผู้บริหารแผนที่จะดำเนินการได้ เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเป็นผลสำเร็จตามแผนข้อ 10.10 ดังนั้น เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการเพิ่มทุนและลดทุนไว้ในข้อ 5.6.3 ข้อ 5.6.4 และข้อ 5.6.7 แล้ว ประกอบกับมีบทบัญญัติมาตรา 90/42 วรรคท้าย บัญญัติยกเว้นหลักเกณฑ์เป็นการทั่วไปดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขแผน ตามคำร้องขอเสนอข้อแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ฉบับที่ 1
2.ข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ครั้งที่ 2 ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 4 พ.ย.2567 หรือคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า หากในอนาคต บริษัทฯจะมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น บริษัทฯสามารถนำกระแสเงินสดส่วนเกินมาจ่ายเงินปันผลได้ โดยเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะได้รับชำระหนี้ก่อนกำหนดข้อ 5.4 (ข) ของแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ นั้น
เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการเพิ่มเติมรายละเอียดให้ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินปันผลที่ผู้บริหารแผนมีอำนาจกระทำได้ภายในขอบอำนาจโดยชอบตามแผนฟื้นฟูกิจการอยู่แล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวย่อมหมายรวมถึงการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามที่ระบุไว้ในแผน และการจ่ายเงินปันผลให้แก่เจ้าหนี้โดยชอบ โดยไม่กระทบสิทธิของการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ฯ กรณีจึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขแผน ตามคำร้องขอเสนอข้อแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ฉบับที่ 2
3.ข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฯ ครั้งที่ 2 ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 4 พ.ย.2567 หรือคำร้องขอแก้ไขแผนพื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 ราย คือ รายนายปัญญา ชูพานิช ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และรายนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง นั้น
เห็นว่า ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.2565 ที่นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายศิริ จิรพงษ์พันธ์ ได้ลาออกจากการเป็นผู้บริหารแผน นายปิยสวัสดิ์ อมระนันท์ นายพรชัย ฐีระเวช และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนที่เหลืออยู่ มีอำนาจดำเนินการตามแผนในฐานะผู้บริหารแผนตามแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 10.6 (2) มาจนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อพิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการฯตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีที่ 2 จนถึงไตรมาส 4 ปีที่ 3
ปรากฏว่าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะมีปัญหาขัดข้องหรือข้อติดขัดจากการมีผู้บริหารแผนจำนวน 3 คน แต่อย่างใด นอกจากนี้ การเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คน จะทำให้ต้องมีการจัดประชุมคณะผู้บริหารแผน เพื่อแต่งตั้งประธานคณะผู้บริหารแผน รวมถึงการกำหนดอำนาจของประธานคณะผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนแต่ละคน ตลอดจนต้องกำหนดวิธีการดำเนินการของผู้บริหารแผนฯ นั้น เป็นการเพิ่มกระบวนการและขั้นตอนในการบริหารงานให้ยุ่งยากมากขึ้น
และทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาตัดสินใจในการบริหารงานต่างๆ เนื่องจากผู้บริหารแผนทั้ง 2 คน ที่ถูกเสนอเพิ่มเติมตามคำร้องปัจจุบันปฏิบัติงานอยู่ในส่วนงานภาครัฐ ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารของการบินไทยมาก่อน อันจะทำให้การบริหารจัดการภายในไม่คล่องตัวเท่าเดิม อีกทั้งยังต้องเป็นการเพิ่มรายจ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนให้ผู้บริหารแผน
ดังนั้น การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการโดยการเพิ่มผู้บริหารแผนในชั้นนี้ จึงยังไม่มีความจำเป็น เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงไปได้ตาม พ.ร.บ.ละละลายฯ มาตรา 90/63
“เห็นว่า ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.2565 ที่นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายศิริ จิรพงษ์พันธ์ ได้ลาออกจากการเป็นผู้บริหารแผน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ นายพรชัย ฐีระเวช และนายชาญศิลป์ ตรีนชกร ผู้บริหารแผนที่เหลืออยู่มีอำนาจดำเนินการตามแผนในฐานะผู้บริหารแผนตามแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 10.6 (2) มาจนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อพิจารณารายงานผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการ ตั้งแต่โตรมาสที่ 2 ปีที่ 2 จนถึงไตรมาสที่ 4 ปีที่ 3
ปรากฏว่าผู้บริหารแผนดำเนินการเป็นไปตามสาระสำคัญของแผน ไม่ปรากฏว่าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการจะมีปัญหาขัดข้องหรือติดขัดจากการที่มีผู้บริหารแผนจำนวน 3 คน แต่อย่างใด นอกจากนี้ หากมีการเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คน ตามคำร้องขอเสนอขอแก้ไขแผนครั้งที่ 3 ดังกล่าว จะต้องมีการจัดประชุมคณะผู้บริหารแผน เพื่อตั้งประธานคณะผู้บริหารแผน กำหนดอำนาจหน้าที่ของประธานคณะผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนแต่ละคน และกำหนดกรอบวิธีการดำเนินการของผู้บริหารแผน ตามที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 10.3
อันจะเป็นการเพิ่มกระบวนการและขั้นตอนในการบริหารงานของผู้บริหารแผนชุดเดิมให้มีความยุ่งยากมากขึ้น และย่อมทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาตัดสินใจในการบริหารงานต่างๆ เนื่องจากผู้บริหารแผนทั้ง 2 คน ที่ถูกเสนอเพิ่มเติมตามคำร้องปัจจุบันปฏิบัติงานอยู่ในส่วนงานภาครัฐ ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารของการบินไทยมาก่อน อันจะทำให้การบริหารจัดการภายในไม่คล่องตัวเท่าเดิม
ทั้งการเพิ่มผู้บริหารแผนยังเป็นการเพิ่มรายจ่าย เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้ผู้บริหารแผน ตามที่แผนข้อที่ 10.5 ที่ระบุไว้ว่าผู้บริหารแผนจะได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นผู้บริหารแผนรวมกันไม่เกินปีละ 5,000,000 บาท ต่อท่าน เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามสาระสำคัญของแผนตั้งแต่ไตรมาสที่มีผู้บริหารแผนจำนวน 3 คน ได้ปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายจากการชำระเงินค่าตอบแทนผู้บริหารแผนลดลงจากที่เคยชำระให้ผู้บริหารแผนเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง การปรับลดค่าใช้จ่ายนับว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ประกอบกับการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยปัจจุบันดำเนินมาถึงปีที่ 4 โดยปรากฏว่าเป็นไปตามสาระสำคัญของแผนมาโดยตลอด โดยไม่เกิดเหตุนัดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผน และการบินไทยคาดหมายว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการโดยการเพิ่มผู้บริหารแผนในชั้นนี้ จึงยังไม่มีความจำเป็นเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงไปได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 80/63
ส่วนประเด็นปัญหาว่าการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผนเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 และมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ในวันดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามคำคัดค้านของเจ้าหนี้รายที่ 21 รายที่ 174 รายที่ 2089 รายที่ 2244 รายที่ 2245 รายที่ 2481 รายที่ 3932 และรายที่ 5913 ที่ได้ยื่นคำคัดค้านและคำชี้แจงไว้นั้น เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยในประเด็นข้างต้นแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำคัดค้านและคำชี้แจงอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
จึงมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยกับข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการครั้งที่ 2 ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 13 ก.ย.2567 กับฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 ลงวันที่ 4 พ.ย.2567 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ” ส่วนหนึ่งของคำสั่งศาลล้มละลายกลาง คดีหมายเลขดำที่ ฟฟ10/2563 คดีหมายเลขแดงที่ ฟฟ 20/2563 ลงวันที่ 21 ม.ค.2568 ระบุ
อ่านประกอบ :
เปิดคำร้อง‘เจ้าหนี้’ยก 5 ปม ค้านมติแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’ ก่อนศาลฯชี้ขาด 21 ม.ค.นี้
‘ศาลฯ’นัดฟังคำสั่งขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’3 ฉบับ 21 ม.ค.ปีหน้า หลัง'เจ้าหนี้'คัดค้าน
ที่ประชุม‘เจ้าหนี้’ไฟเขียวแก้แผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’3 ฉบับ-ตั้ง‘2 ผู้บริหารแผน’ชนะเฉียดฉิว
เสียหายวันละ 2 ล.! ‘การบินไทย’ขู่ฟ้องแพ่ง-อาญา‘นายทะเบียน’ ชะลอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนฯ
‘การบินไทย’แจงแนวทาง‘เจ้าหนี้’โหวตแก้แผนฟื้นฟูฯ 3 ฉบับ-เสนอขาย‘หุ้นเพิ่มทุน’4.4 หมื่นล.
‘เจ้าหนี้’ 55.92% ลงมติเลื่อนโหวตแต่งตั้ง 2 ผู้บริหารแผน'การบินไทย' เป็น 29 พ.ย.นี้
'กก.เจ้าหนี้'ค้านรัฐแทรกแซง'การบินไทย' เสนอโหวตล้มเพิ่ม'ผู้บริหารแผน'จาก'คลัง' 2 ราย
'ชอส.'หวัง'การบินไทย'ทยอยคืนเงินต้น'หุ้นกู้' ปลดล็อกเพิ่ม'ปันผล'-หนุน‘แปลงหนี้เป็นทุน’
ศาลฯเพิกถอนคำสั่ง‘พนง.ตรวจแรงงาน’ ปมให้‘การบินไทย’จ่ายค่าจ้าง‘วันหยุดพักผ่อนฯ’
ศาลฯยกฟ้อง คดี'การบินไทย'ขอเพิกถอนคำสั่งจ่าย'ค่าชดเชย'วันหยุดประจำปีสะสม'อดีต พนง.'
‘การบินไทย’ ยอมรับมีแผนจัดหาเครื่องบิน 45 ลำจริง มั่นใจมีสภาพคล่องพอในการจัดซื้อ
‘เศรษฐา’เล็งนัด ‘การบินไทย’ คุยปมซื้อเครื่องบินใหม่ ‘สุริยะ’ ห่วงแต่ทำอะไรไม่ได้
ทำผิดซ้ำริบสิทธิฯถาวร! ‘การบินไทย’รื้อประกาศฯเกณฑ์ระงับ-เรียกคืน‘สิทธิบัตรโดยสาร’พนักงาน
‘ศาลอุทธรณ์ฯ’พิพากษายืน สั่ง‘การบินไทย’นำ'ค่าชั่วโมงบิน'คำนวณจ่ายชดเชยเลิกจ้างฯ'พนักงาน'
ต้องเปิดเผยข้อมูล-โปร่งใส จิ๊กซอว์สำคัญ ฟื้นฟูการบินไทย?
‘เศรษฐา’ รับอึดอัดใจ ปัญหา ‘การบินไทย’ กวดขันทำตามแผนฟื้นฟู
‘บอร์ดติดตามการบินไทย’ จ่อคุยฟื้นสถานะสายการบินแห่งชาติ
‘เศรษฐา’ เซ็นตั้งบอร์ดติดตาม ‘แผนฟื้นฟูการบินไทย’ ‘สุริยะ’ นั่งประธาน
‘ศาลแรงงาน’ สั่ง ‘การบินไทย’ จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง‘ส่วนที่ขาด’ ให้อดีตพนักงาน 17 ราย
‘บิ๊กตู่’มั่นใจ‘การบินไทย’คืนหนี้ได้ตามแผนฯ-แนะปรับปรุงเส้นทางบินให้สอดคล้องผู้โดยสาร
มิได้กระทำผิดสัญญา! ศาลแรงงานฯยกฟ้อง‘การบินไทย’ คดีค่าชดเชยเลิกจ้าง 40 อดีต พนง.
‘การบินไทย’ประกาศ ‘ร้องเรียนกรมสวัสดิฯ-ใช้โซเชียลให้ร้ายบริษัท’โดนริบสิทธิบัตรโดยสารพนง.
ที่ประชุมเจ้าหนี้ฯไฟเขียว‘การบินไทย’ปรับโครงสร้างธุรกิจกลุ่มการบิน-ยันไม่กระทบผู้โดยสาร
‘การบินไทย’ขอ‘ครม.’คงสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’-ให้‘คลัง’ใช้สิทธิแปลงหนี้-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน
'ศาลแรงงาน'สั่ง‘การบินไทย’จ่าย 19 อดีตพนง. 14.3 ล้าน กรณีถูกหัก'เงินชดเชยฯ'คืนหนี้สหกรณ์
จ่อยุบ‘ไทยสมายล์ฯ’ปีนี้! ‘การบินไทย’ลุย‘แปลงหนี้เป็นทุน’-เหลือแอร์บัส A340 รอขาย 4 ลำ
รัฐถือหุ้นไม่ถึง50%ก็เป็นได้! สั่ง‘คลัง’แก้มติฯดัน‘การบินไทย’ฟื้นสถานะ‘สายการบินแห่งชาติ’
ฉบับเต็ม! เปิดความคืบหน้าฟื้นฟูฯ'การบินไทย' ขอ'คลัง'ซื้อหุ้นเพิ่มทุน-ตามหนี้'ทอ.'พันล้าน