ธปท.ประเมินน้ำท่วมปี 64 กระทบจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจไทย ก.ย. ดีขึ้นต่อเนื่อง ระบุหลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 พ.ย. แม้จะทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ช่วยหนุนให้ ‘กิจกรรมศก.-ความเชื่อมั่น’ ฟื้นตัวเร็วขึ้น
................................
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ก.ย.2564 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย. ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกยังคงมีปัญหา supply disruption เนื่องจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และตู้คอนเทนเนอร์
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 3/2564 ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา ขณะที่การที่ประเทศไทยเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่อง (Sandbox) แม้ว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติยังอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือน ต.ค. จากการสำรวจข้อมูลเร็วพบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องติดตามปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหา supply disruption ,ระดับราคาพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และปัญหาอุทกภัยในปี 2564 ซึ่งล่าสุด ธปท. ประเมินว่า ภาคเกษตรได้รับความเสียหายจากอุทกภัย 5.3 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 0.1% ต่อจีดีพี รวมทั้งติดตามผลกระทบจากพายุ ‘ญาโตะฮ์’ ในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ ด้วย
น.ส.ชญาวดี ยังระบุว่า แม้ว่าในเดือน ก.ย. ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากแรงงานจำนวนหนึ่งที่กลับเข้าสู่ภาคการผลิต แต่ตลาดยังคงเปราะบาง อย่างไรก็ดี ผลจากการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ จะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น รวมทั้งจะทำให้จำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานลดลง จากประมาณ ณ เดือน ก.ย. เดิมที่คาดว่าปลายปี 2564 จะจำนวนรวม 3.4 ล้านคน
“หลังจากเปิดประเทศ เรามองว่าจะทำให้เห็นภาพการฟื้นตัว แม้ว่าจะมีการติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะการบริหารและการกระจายวัคซีนที่เป็นไปตามแผนที่ภาครัฐกำหนดไว้ จะช่วยให้การป่วยรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะไปได้ และความเชื่อมั่นจะกลับมามากกว่าเดิม ซึ่งหากเศรษฐกิจยังไปได้ดี ในปีหน้าเราจะเข้าสู่โหมดของการฟื้นฟู โดยธุรกิจจะมีความต้องการสินเชื่อฟื้นฟูหรือสภาพคล่องเพิ่มขึ้น” น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อบ้าง แต่ ธปท.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ไม่น่าจะสูง โดยปี 2564 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1% ซึ่งเป็นขอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ
ดังนั้น ในขณะที่หลายประเทศที่ได้รับวัคซีนเร็ว ส่งสัญญาณว่าจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเพื่อให้เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับไทยที่เศรษฐกิจถูกกระทบมาก เพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง จึงฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ทำให้แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อจากอุปสงค์ยังมีน้อยมาก สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังต่ำมาก (core CPI) เพราะฉะนั้น ผลกระทบจากเงินเฟ้อที่มีต่อเศรษฐกิจไทยจึงยังไม่น่ากังวล ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงให้น้ำหนักกับการทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ดีก่อน
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย.2564 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด จาก 1) การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้ามากขึ้นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มปรับดีขึ้น 2) ผลของอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) จากช่วงก่อนหน้า และ 3) มาตรการภาครัฐที่ยังช่วยพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ดีขึ้น และหมวดก่อสร้างที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง หลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นบ้างจากเดือนก่อน จากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศคลี่คลาย รวมทั้งภาคการผลิตของไทยที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าหลายหมวดปรับดีขึ้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด ตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว และปัญหา supply disruption จากการปิดโรงงานในไทยที่คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ยังคงกดดันการผลิต โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม
มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าในช่วงก่อนหน้าโดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าบางประเภทลดลง อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และชิ้นส่วนยานยนต์
การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรและรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวจากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลกลางในปีก่อน
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน และโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทยและต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่หลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น ภายหลังมาตรการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐสิ้นสุดลง และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับพื้นที่อุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระปรับดีขึ้น
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนจากการเกินดุลการค้าที่สูงขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน
ในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ทั้งนี้ เมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากไตรมาสก่อนตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลง แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อ ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลง จากการแพร่ระบาดในต่างประเทศรุนแรงขึ้นที่ทำให้อุปสงค์ประเทศคู่ค้าชะลอตัว
สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามภาวะอุปสงค์ โดยการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหา supply disruption อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นบ้างหลังการเปิด sandbox ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง เนื่องจากผลของฐานราคาพลังงานที่ต่ำในปีก่อนหมดลงเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางขึ้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลต่อเนื่องใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ ดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ส.ค.ลงต่อ-ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%
ธปท.เผยเศรษฐกิจ ก.ค.ชะลอตัว จับตา ‘ส่งออกแผ่ว-โควิดกลับมาระบาด-กำลังซื้ออ่อนแอ’
‘ธปท.’ ยันไม่เคยบังคับแบงก์ ‘แฮร์คัต’ หนี้-พบสัญญาณสินเชื่อ ‘รายย่อย’ เปราะบางขึ้น
รื้อสินเชื่อฟื้นฟู-พีโลน! ‘กนส.’ไฟเขียวมาตรการช่วยลูกหนี้-ลดนำส่งเงิน FIDF ถึงปี 65
เปิดรายงาน กนง. : 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ-ห่วง 'ล็อกดาวน์' นาน ผลกระทบมากขึ้น
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น
ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’หนุนรัฐบาลกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้วิกฤติโควิด
แฮร์คัตหนี้-ลดดอกเบี้ย! ธปท.จ่อออกมาตรการจูงใจแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ‘รายย่อย-SME’
มติ 4 ต่อ 2! ‘กนง.’ เสียงแตกคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/