‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจเดือน ส.ค. ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การส่งออกเริ่มแผ่ว ขณะที่เดือน ก.ย. กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น หลังผ่อนคลายมาตรการ ชี้สถานการณ์น้ำท่วมกระทบบ้าง แต่ไม่มาก พร้อมดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเร็ว
............................
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ส.ค.2564 ว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ส.ค.ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องจากเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ตามกำลังซื้อที่อ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อก็ตาม
ขณะที่การส่งออกสินค้าไทยลดลงในหลายหมวด ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว หลังการระบาดโควิด-19 ในต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งภาคการผลิตและการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหา supply disruption จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวทั้งรายจ่ายเงินโอนและรายจ่ายประจำ และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือน ก.ย. นั้น จากข้อมูลเร็วพบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แต่ยังคงต้องติดตามปัญหา supply disruption และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า จากการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคการผลิตและส่งออกของไทย ขณะที่เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ที่ คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.7% นั้น เนื่องจากไทยมีวัคซีนเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่น่าจะเกิดการระบาดเป็นระลอกใหญ่ๆแล้ว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไตรมาส 3/2564 จะปรับตัวลดลงจากไตรมาส 2/2564 ระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจทยอยปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. จะทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4/2564 ปรับตัวดีขึ้น จากความเชื่อมั่นของประชาชนที่ปรับตัวดีขึ้น และวัคซีนที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อยๆกลับเข้ามาจากการเปิดเมือง และเปิด sandbox ในพื้นที่ต่างๆเพิ่มขึ้น
“ความเสี่ยงขาต่ำยังมีความเป็นไปได้ แต่เรามองว่าเป็นไปได้น้อย เพราะถ้าวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง และมาตามสมมุติฐานที่เรามอง ก็จะลดการระบาดระบาดระลอกใหม่ๆได้” น.ส.ชญาวดี กล่าวและว่า “ปีหน้า วัคซีนจะมีบทบาทมาก ส่วนปีนี้ เราจะมอนิเตอร์เรื่องการผ่อนคลายมาตรการควบคุม”
สำหรับค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามาทะลุ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันนี้ (30 ก.ย.) น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า หากดูอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็น Inter Bank ยังไม่ทะลุ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ธปท.มองว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท ได้แก่ นโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มมีนโยบายกลับข้างที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้มีความผันผวน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาสภาพคล่องในจีนจากกรณีเอเวอร์แกรนด์ และมีปัจจัยในประเทศที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง
“เงินบาทที่อ่อนค่าลงเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากเมื่อวานนี้ (29 ก.ย.) กรรมการเฟดหลายคนออกมาพูด ทำให้เงินดอลลาร์ค่อนข้างแข็ง เงินบาทก็เลยอ่อน และประเทศคู่ค้าของเราส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งธปท.เองได้เข้าไปดูแลเป็นระยะๆ ไม่ให้ความผันผวนหรือความเคลื่อนไหวของค่าเงินเร็วเกินไป จนส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของเศรษฐกิจจริง” น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่ไม่มาก และเป็นผลกระทบทางอ้อม เช่น ทำให้การขนส่งสินค้าและวัตถุดิบลำบากขึ้น ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีบทเรียนจากผลกระทบน้ำท่วมค่อนข้างมาก และเตรียมตัวค่อนข้างดี นอกจากนี้ ธปท.ได้หารือกับกรมชลประทาน ซึ่งกรมชลประทานจะมองว่าเป็นเรื่องของน้ำหลาก หากบริหารจัดการได้ค่อนข้างดี ก็จะดูแลได้
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.2564 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายสินค้าและหลายตลาด เป็นผลจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศ และปัญหา supply disruption ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การปิดโรงงานชั่วคราวในไทยเพื่อจำกัดการระบาด ปัญหาการขนส่งสินค้า และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และโลหะ
ทั้งนี้ อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง ประกอบกับปัญหา supply disruption ในภาคการผลิต ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในหลายหมวด
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุน ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านการก่อสร้างปรับดีขึ้นบ้าง ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้าง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน และโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งหมวดสินค้าทุน ส่วนหนึ่งสะท้อนแนวโน้มภาคการผลิตและการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าในบางหมวดลดลงจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่ลดลงตามการผลิตรถยนต์
การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมเงินโอน การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้เล็กน้อย โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวต่อเนื่อง จากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลกลางในปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาติดลบเล็กน้อย จากราคาอาหารสดที่ลดลง โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อุปทานล้นตลาด ประกอบกับมีผลของมาตรการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการส่งออกสินค้าที่แผ่วลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น
อ่านประกอบ :
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%
ธปท.เผยเศรษฐกิจ ก.ค.ชะลอตัว จับตา ‘ส่งออกแผ่ว-โควิดกลับมาระบาด-กำลังซื้ออ่อนแอ’
‘ธปท.’ ยันไม่เคยบังคับแบงก์ ‘แฮร์คัต’ หนี้-พบสัญญาณสินเชื่อ ‘รายย่อย’ เปราะบางขึ้น
รื้อสินเชื่อฟื้นฟู-พีโลน! ‘กนส.’ไฟเขียวมาตรการช่วยลูกหนี้-ลดนำส่งเงิน FIDF ถึงปี 65
เปิดรายงาน กนง. : 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ-ห่วง 'ล็อกดาวน์' นาน ผลกระทบมากขึ้น
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น
ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’หนุนรัฐบาลกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้วิกฤติโควิด
แฮร์คัตหนี้-ลดดอกเบี้ย! ธปท.จ่อออกมาตรการจูงใจแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ‘รายย่อย-SME’
มติ 4 ต่อ 2! ‘กนง.’ เสียงแตกคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/