‘ผู้ว่าฯธปท.’ แนะรัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท แก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดขณะนี้ ระบุว่าแม้จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีพีคสุดที่ 70% ในปี 67 แต่หากไม่ทำตอนนี้ผลกระทบในอนาคตจะรุนแรงมากกว่า
............................
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน ‘Meet the Press’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า รายจ่ายของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาถือว่าช่วยพยุงเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล หากไม่ได้มาตรการตรงนี้มา เชื่อว่าจะทำให้การบริโภคและเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้รับผลกระทบหนักกว่านี้มาก ดังนั้น การดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐจึงมีความจำเป็น และยังมีความจำเป็นมากกว่านี้อีก
“ภาครัฐมีทรัพยากรจำกัด เราต้องใช้วิธีที่ได้ผลแรงที่สุด จึงต้องไปดูว่ารายจ่ายที่เป็นตัวทวีคูณสูง ซึ่งพวกโค-เพย์ (การร่วมจ่าย) จ่ายกันคนละครึ่ง มีมัลติพลายเออร์ค่อนข้างสูง หรือพวกการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งเม็ดเงินที่รัฐใส่ มันส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับมาตรการเยียวยาที่มีผลของการทวีคูณทางเศรษฐกิจต่ำกว่า ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามาตรการเยียวยาไม่จำเป็น แต่ควรคำนึงผลที่ควรจะได้จากการทวีคูณที่ดีกว่า” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ เสนอว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดหลุมรายได้ หลุมการจ้าง การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน (K-shaped) และเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักกว่าและจะฟื้นตัวกว่าประเทศในภูมิภาคนั้น มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ของจีดีพี สำหรับใช้ในการแก้ปัญหาที่เศรษฐกิจเจออยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะขึ้นไปสูงสุดที่ 70% ของจีดีพี แต่ก็ไม่ได้สูงจนน่ากลัว
“ตัวเลข ไซส์ และความแรงของยา เพิ่มเติมที่ประมาณ 1 ล้านล้าน หรือ 7% ของจีดีพี เป็นอะไรที่สมเหตุสมผล เมื่อเทียบกับปัญหาที่เศรษฐกิจเรากำลังเจอ แล้วถามว่า 1 ล้านล้าน จะส่งผลอย่างไรต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และฐานะการคลังต่างๆ อันแรก ที่เราเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพการคลังนั้น จากที่เราทำโปรเจคชั่น ถ้าใส่การอัดฉีดทางการคลังเพิ่มเติมเข้าไป 1 ล้านล้านบาท แน่นอนว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะต้องวิ่งขึ้นไป แต่จะพีคในระดับที่ไม่ได้สูงจนน่ากลัว
โดยจะไปพีคที่ 70% ในปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มลง และที่น่าสนใจและสำคัญ คือ การกู้ตอนนี้แล้วใส่เข้าไปเพิ่ม จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าจะต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการที่เราไม่กู้ เพราะการกู้และใส่เงินเข้าไปตอนนี้ เป็นการขยายเศรษฐกิจ เพิ่มฐานภาษี และทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไปได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีลดลง หรือพูดง่ายๆว่า ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า แม้ว่าการกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 70% แต่เศรษฐกิจไทยยังรองรับได้และไม่ได้ลำบากอะไร ขณะที่สภาพคล่องในระบบที่จะรองรับการกู้เงินจากภาครัฐก็ยังมีอยู่ และอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว 10 ปีอยู่ที่ต่ำกว่า 1.6% ส่วนเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีเพียงพอ
“แต่ไม่ใช่ว่าจะกู้แล้ว ไม่ดูเรื่องเสถียรภาพ ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าจะกู้ต้องมีแผนชัดเจนในระยะยาวที่จะทำให้การคลังกลับเข้ามาสู่สถานะที่เข้มแข็งกว่าเดิม ซึ่งระยะยาวหนีไม่พ้นว่า เราต้องขึ้นภาษี โดยเฉพาะภาษีแวต ก็เข้าใจว่า ไม่ใช่ขึ้นตอนนี้ ไม่ใช่ยามนี้ที่จะขึ้นภาษี แต่ท้ายที่สุดตรงนี้ก็น่าจะสิ่งที่เหมาะสม และภาษีแวตทุกเปอร์เซ็นต์ที่ขึ้น จะเพิ่มรายได้ให้กับภาครัฐ 60,000 ล้านบาท ซึ่งมีนัยยะ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า หากมีการกู้เงินเพิ่มเติม 1 ล้านล้านบาท จะส่งผลให้ไทยถูกลดอันดับเครดิตเรตติ้งหรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า น่าจะน้อย เพราะตอนนี้พวกเครดิตเรตติ้งส่วนมากจะมีมุมมอง stable outlook (แนวโน้มคงที่) และจากรายงานของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่ออย่าง ฟิทช์ เรตติ้ง ,มูดี้ส์ และเอสแอนด์พี พบว่าฐานะการคลังไม่ใช่ตัวที่เขาเป็นห่วงที่สุดตอนนี้ แต่สิ่งที่เขาเป็นห่วงมากกว่า เป็นเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า
อ่านประกอบ :
แฮร์คัตหนี้-ลดดอกเบี้ย! ธปท.จ่อออกมาตรการจูงใจแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ‘รายย่อย-SME’
มติ 4 ต่อ 2! ‘กนง.’ เสียงแตกคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
ธปท.ชี้โควิดกระทบศก.ชัดเจนขึ้น ‘บริโภค-ลงทุนเอกชน’ เดือนพ.ค.หดตัวเป็นเดือนที่ 2
มติเอกฉันท์คงดบ.0.5%! กนง.หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือ 1.8%-ปีหน้าโต 3.9%
คาดจีดีพีปีนี้ดีสุดโต 2%! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-วัคซีนพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/