‘กนส.’ ไฟเขียวมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม รื้อหลักเกณฑ์ ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ เพิ่มวงเงินเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท พร้อมคงจ่ายขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิตที่ 5% ขยายวงเงิน ‘พีโลน-บัตรเครดิต’ เป็นไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ ถึงปี 65 ขณะที่ ‘ธปท.’ ประเมินหากมีการกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้าน จะทำให้จีพีดีขยายตัวปีละ 3.2% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
........................
เมื่อวันที่ 20 ส.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้น และทำให้การฟื้นตัวจะช้าออกไปและไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนัก รายได้และการจ้างงานที่ลดลงส่งผลซ้ำเติมฐานะการเงินที่เปราะบางของธุรกิจและครัวเรือน
ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2564 จึงมีมติอนุมัติมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ดังนี้
@รื้อเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู-ขยายวงเงินพีโลน เติมเงิน ‘รายย่อย-SME’
1.การรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต
(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับลูกหนี้ SMEs โดยการขยายวงเงินสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินน้อย/ไม่เคยมีวงเงิน ทั้งนี้ ลูกหนี้ใหม่ จะได้รับการขยายสินเชื่อเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไม่เกิน 20 ล้านบาท และลูกหนี้เก่า กำหนดวงเงินสินเชื่อ 30% ของวงเงินแต่ละสถาบันการเงิน (ไม่เกิน 150 ล้านบาท) หรือสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ที่ 30% ของวงเงินเดิมไม่ถึง 50 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดวงเงินไม่เกิน 30% ของวงเงินแต่ละสถาบันการเงิน (ไม่เกิน 150 ล้านบาท)
ขณะเดียวกัน จะมีการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ 1.การปรับลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง หรือลูกหนี้ที่มีวงเงินเดิมไม่เกิน 50 ล้านบาท และได้รับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท หรือลูกหนี้ใหม่ที่ได้รับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท และ2.คงค่าธรรมเนียมการค้ำประกันรวม โดยลดอัตราจ่ายในช่วง 2 ปีแรกสำหรับลูกหนี้กลุ่มอื่น
“ที่ผ่านมา ธปท. ได้หารือกับผู้ประกอบธุรกิจผ่านสมาคมต่าง ๆ เช่น หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดต่างๆ ของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และเห็นควรให้ขยายวงเงินสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมต่ำหรือไม่เคยมีวงเงินมาก่อน ที่เดิมอาจไม่ต้องพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รวมถึงเพิ่มการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางได้มากขึ้น” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 ส.ค.2564 ธปท. อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 92,316 ล้านบาท โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีและครอบคลุมลูกหนี้ 30,194 ราย เฉลี่ยรายละ 3.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นลูกหนี้ธุรกิจขนาดเล็ก (ร้อยละ 42.6) ประกอบธุรกิจการพาณิชย์และบริการ (ร้อยละ 67.5) และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกเขตกรุงเทพและปริมณฑล (ร้อยละ 68.5) ซึ่ง ธปท. คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมระหว่าง ธปท. กับสถาบันการเงินที่ 1 แสนล้านบาทได้ก่อนเดือน ต.ค.2564 และประเมินว่าภาคธุรกิจยังมีความต้องการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
(2) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และลดความจำเป็นของลูกหนี้ที่อาจถูกผลักไปใช้สินเชื่อนอกระบบในระยะต่อไป ประกอบด้วย
1.ขยายเพดานวงเงินสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท เป็นไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และไม่จำกัดจำนวนผู้ให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ จากเดิมที่กำหนดจำนวนผู้ให้สินเชื่อฯไม่เกิน 3 ราย ทั้งนี้ การขยายเพดานดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565 จากเดิมที่จะสิ้นสุดอายุลงในสิ้นปี 2564
2.คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ 5% ในปี 2565 จากกำหนดเดิมที่จะเพิ่มอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำเป็น 8% ในปี 2565 และ10% ในปีถัดไป และ3.ขยายเพดานวงเงินและระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเป็นไม่เกิน 40,000 บาท/ราย จากเดิมไม่เกิน 20,000 บาท/ราย และขยายระยะเวลาการชำระคืนเป็นไม่เกิน 12 เดือน จากเดิมกำหนดระยะเวลาการชำระคืนไม่เกิน 6 เดือน
@ขยายเวลา ‘จัดชั้น-ตั้งกันสำรอง’ จูงใจแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว
2.การแก้ไขหนี้เดิมให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันและช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริง โดยให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว ภายใต้หลักการ 4 ข้อ ได้แก่ (1) มองสถานการณ์ระยะยาว (2) สามารถช่วยลูกหนี้จำนวนมากได้เร็ว (3) ตรงจุดให้เหมาะกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละรายที่มีปัญหาและการฟื้นตัวต่างกัน (4) เป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ นอกจากนี้ จะต้องไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard) ให้กับลูกหนี้
ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้
2.1 สถาบันการเงินสามารถคงการจัดชั้นสำหรับลูกหนี้รายย่อย และ SMEs (ตามนิยามของสถาบันการเงิน) ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ได้จนถึง 31 มี.ค.2565 เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินและลูกหนี้มีเวลาเพียงพอในการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลในระยะยาว
2.2 การใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อลดภาระต้นทุนสำหรับสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืน ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยวิธีที่นอกเหนือไปจากการขยายเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาวร่วมกับการปรับโครงสร้างหนี้วิธีอื่นๆ การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ รวมถึงการลดภาระการผ่อนชำระให้ลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยจูงใจให้เกิดการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
2.3 การขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23 จากร้อยละ 0.46 ต่อปี ที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ที่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
“ธปท.จะยังติดตามและวิเคราะห์แนวทางต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะทางเลือกในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะจัดทำขึ้นเพื่อรองรับลูกหนี้แต่ละกลุ่ม (product program) รวมทั้งเร่งผลักดันให้สถาบันการเงินมีแนวทางดูแลลูกหนี้ที่ชัดเจน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศในภาพรวม” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
@จี้แบงก์ส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ หลังลดเงินนำส่งเงิน FIDF
ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมของ กนส. จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องใหม่ให้ลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ส่งเสริมการแก้หนี้สินเดิมของลูกหนี้ โดยการเน้นให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในระยะยาว และมีมาตรการยืดหยุ่นที่ช่วยสนับสนุนให้สถาบันการการเงินส่งผ่านความเหลือไปยังลูกหนี้
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรวจสอบฯของธปท.จะติดตามว่า สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในระยะยาวนั้น ธปท.จะประเมินว่าผลประโยชน์จะตกกับลูกหนี้มีมากน้อยเพียงใด เช่น การลดดอกเบี้ย เป็นต้น เพราะการที่ ธปท. ลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ในปี 2565 เหลือ 0.23% จากเดิม 0.46% หรือคิดเป็นเงินนำส่งที่ลดลงประมาณ 30,000 ล้านบาทนั้น ผลประโยชน์ดังกล่าวจะต้องส่งผ่านไปยังลูกหนี้
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่ กนส. ให้ความเห็นชอบครั้งนี้ คาดว่าจะประกาศได้ในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้
@ธปท.ประเมิน 3 ปีรายได้แรงงานหายไป 2.6 ล้านล้าน
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ธปท.ประเมินว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้รายได้ของแรงงานในช่วงปี 2563-65 ลดลง 2.6 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับฐานรายได้ของแรงงานในปี 2562 โดยปี 2563 รายได้แรงงานลดลง 8 แสนล้านบาท ,ปี 2564 รายได้แรงงานลดลง 1 ล้านล้านบาท และปี 2565 รายได้แรงงานลดลง 8 แสนล้านบาท
ส่วนผลกระทบต่อการว่างงานนั้น พบว่าจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน (ผู้มีงานทำไม่ถึง 4 ชม ต่อวัน) อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน ณ สิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดกว่า 1 ล้านคน และจำนวนผู้ว่างงานระยะยาว หรือว่างงานเกิน 1 ปี อยู่ที่ 1.7 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน หรือผู้จบใหม่อยู่ที่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 8.5 หมื่นคน
นอกจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากเมืองสู่ภาคเกษตร โดยเฉพาะแรงงานในภาคบริการที่ย้ายไปสู่ภาคเกษตร ซึ่งแม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้ยังมีงานทำ แต่มีรายได้ลดลงอย่างมาก
“เราเห็นปัญหานี้ และเมื่อมองไปข้างหน้าก็พบว่าสถานการณ์อาจจะยืดเยื้อไปกว่าเดิม ธปท.จึงพยายามเข้าไปดูแลและจัดการปัญหาเหล่านี้” น.ส.ชญาวดี กล่าว
@ชี้กู้เพิ่ม 1 ล้านล. กระตุ้นจีดีพีขยายตัวเฉลี่ยปีละ 3.2% ในช่วง 5 ปี
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงข้อเสนอของผู้ว่า ธปท. ที่เสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติม 1 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ว่า ธปท.ประเมินว่า หากมีการใช้เงินกู้เพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขยายตัวได้ที่เฉลี่ย 3.2% ต่อปี และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระยะลดลง จากที่คาดว่าจะขึ้นไปสูงสุดที่ 70% ของจีดีพี แต่หากไม่ทำอะไรเลย เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่ถึง 3%
“ถ้าภาคธุรกิจกลับมาได้เร็ว การจัดเก็บก็จะกลับมาได้เร็ว ซึ่งภายใต้สมมติฐานที่เราวางไว้ ถ้าเราเอาเงินลงไปได้เร็ว 1 ล้านล้านบาท จะทำให้การจัดเก็บภาษีกลับมา และทำให้ในช่วง 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด และหากเทียบกับกรณีที่มีการกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท และกรณีไม่กู้เพิ่ม จะพบว่ากรณีกู้เงินเพิ่ม สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะต่ำกว่ากรณีไม่กู้เงินถึง 5% ในอีก 10 ปีข้างหน้า” นายสักกะภพ กล่าว
อ่านประกอบ :
เปิดรายงาน กนง. : 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ-ห่วง 'ล็อกดาวน์' นาน ผลกระทบมากขึ้น
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น
ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’หนุนรัฐบาลกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้วิกฤติโควิด
แฮร์คัตหนี้-ลดดอกเบี้ย! ธปท.จ่อออกมาตรการจูงใจแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ‘รายย่อย-SME’
มติ 4 ต่อ 2! ‘กนง.’ เสียงแตกคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
ธปท.ชี้โควิดกระทบศก.ชัดเจนขึ้น ‘บริโภค-ลงทุนเอกชน’ เดือนพ.ค.หดตัวเป็นเดือนที่ 2
มติเอกฉันท์คงดบ.0.5%! กนง.หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือ 1.8%-ปีหน้าโต 3.9%
คาดจีดีพีปีนี้ดีสุดโต 2%! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-วัคซีนพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/