ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศลดลง มองเศรษฐกิจเดือน ส.ค.ยังได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง ชี้รัฐบาลทยอย ‘เปิดเมือง’ เป็นไปตามคาด จับตาแรงส่งภาคส่งออกเริ่มแผ่ว-โควิดกลับมาระบาดรอบใหม่ ขณะที่กำลังซื้อยังคงอ่อนแอ
..............................
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือน ก.ค.2564 ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค. ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศลดลง ในขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐที่รวมเงินโอน ยังคงมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจไว้ได้บางส่วน
อย่างไรก็ตาม ในด้านการส่งออกสินค้าเริ่มแผ่วลงจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวตามการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในบางประเทศ และภาคการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจาก supply disruption ชัดเจนขึ้น
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือน ส.ค. นั้น จากข้อมูลเร็วพบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดที่รุนแรง และยังต้องติดตามผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากเดือน ก.ค. ได้แก่ ปัญหา supply disruption ทั้งการแพร่ระบาดของโควิดในโรงงาน การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งต้องติดตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าว่าจะสามารถแก้ปัญหาโควิดได้มากน้อยเพียงใด หลังจากเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ จากการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการล่าสุด พบว่าสถานการณ์ธุรกิจแย่ลง โดยเฉพาะในภาคการค้าและภาคบริการ โดยอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ธุรกิจไม่สามารถฟื้นตัวมามาสู่ระดับเดิม ได้แก่ อันดับ 1 กำลังซื้ออ่อนแอ 56.2% อันดับสอง การระบาดระลอกใหม่ 52.1% อันดับสาม อุปสรรคในการนำเข้าและส่งออกสินค้า และการเดินเรือยังไม่กลับสู่ระดับปกติ 33.9% และอันดับสี่ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป 29.8%
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ รวมทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีน ว่า ในการจัดทำประมาณการเศรษฐกิจครั้งล่าสุด ซึ่ง ธปท.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัวที่ 0.7% นั้น อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าจะเริ่มมีการทยอยผ่อนคลายมาตรการในช่วงปลายไตรมาสที่ 3/2564 ดังนั้น การที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว จึงไม่ได้แตกต่างจากสมมติฐานที่ ธปท. คาดการณ์ไว้
แต่อย่างไรก็ดี มีปัจจัยอื่นๆที่ ธปท.ต้องติดตาม เช่น ปัญหา supply disruption การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าที่มีความรุนแรงขึ้น และความเสี่ยงของการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นอย่างไรหลังจากมีการทยอยเปิดเมือง ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 ก.ย.นี้ จะมีการประกาศประมาณการเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ออกมา
“หากโควิดในประเทศไทยกลับมาอีกครั้ง ก็จะเป็นเรื่องความเชื่อมั่น ซึ่งการเปิดเมือง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการผ่อนคลายให้ธุรกิจกลับมาทำกิจกรรมได้ แต่ในแง่การจับจ่ายใช้สอยนั้น ต่อให้เปิดเมือง ก็ต้องดูว่าความเชื่อมั่นของประชาชนจะกลับมามากน้อยเพียงใด รวมทั้งต้องดูว่ามาตรการของรัฐที่อัดฉีดเงินช่วยเหลือเยียวยาเข้าไป ประชาชนจะนำเงินมาจับจ่ายมากน้อยแค่ไหน หรือจะเก็บเงินเอาไว้ เพราะไม่รู้ว่าถ้าโควิดกลับมาระบาดจะเป็นอย่างไร” น.ส.ชญาวดี กล่าว
สำหรับรายละเอียดของเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ค.2564 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง โดยมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้เพียงบางส่วน
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเป็นผลจาก 1.อุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในบางประเทศที่รุนแรงขึ้น และ2.การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งกระทบต่อการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในโรงงาน ซึ่งกระทบต่อการส่งออกอาหารแปรรูป อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบางหมวดยังเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่อ่อนแอลง รวมทั้งผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้างที่เข้มงวดขึ้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้างที่แผ่วลงตามภาวะอุปสงค์ ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งการหยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานยังกดดันการผลิตในหลายหมวด
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนโดยการนำเข้ายังเพิ่มขึ้นในบางหมวดสินค้า อาทิ เชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ขณะที่บางหมวดมีการนำเข้าลดลง โดยเฉพาะรถยนต์ สอดคล้องกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากโครงการ Phuket sandbox ที่เริ่มขึ้นในเดือนนี้ อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวยังเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับภาวะปกติ จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่
การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมเงินโอน การใช้จ่ายภาครัฐทรงตัว โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัว โดยเฉพาะการเบิกจ่ายของรัฐบาลกลาง จากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ทยอยหมดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาในเดือนนี้ของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเยียวยาจากภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยามากกว่า 1.5 ล้านคน และความเชื่อมั่นของครัวเรือนฐานรากนอกภาคเกษตรลดลง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงตามการส่งออกสินค้าที่แผ่วลงเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศที่ยืดเยื้อ
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ ยันไม่เคยบังคับแบงก์ ‘แฮร์คัต’ หนี้-พบสัญญาณสินเชื่อ ‘รายย่อย’ เปราะบางขึ้น
รื้อสินเชื่อฟื้นฟู-พีโลน! ‘กนส.’ไฟเขียวมาตรการช่วยลูกหนี้-ลดนำส่งเงิน FIDF ถึงปี 65
เปิดรายงาน กนง. : 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ-ห่วง 'ล็อกดาวน์' นาน ผลกระทบมากขึ้น
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น
ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’หนุนรัฐบาลกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้วิกฤติโควิด
แฮร์คัตหนี้-ลดดอกเบี้ย! ธปท.จ่อออกมาตรการจูงใจแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ‘รายย่อย-SME’
มติ 4 ต่อ 2! ‘กนง.’ เสียงแตกคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/