"...การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงที่ใช้เวลา อาจทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่และจำนวนผู้ป่วยวิกฤตเร่งสูงขึ้นเกินระดับที่ศักยภาพของระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้อย่างต่อเนื่อง มาตรการควบคุมการระบาดมีโอกาสที่จะเข้มงวดและยาวนานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากขึ้น..."
............................
หมายเหตุ : รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 5/2564 วันที่ 4 ส.ค.2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ณ วันที่ 18 ส.ค.2564
กรรมการที่เข้าร่วมประชุม
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) ,นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) ,นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ,
นายรพี สุจริตกุล ,นายสมชัย จิตสุชน ,นายสุภัค ศิวะรักษ์
กรรมการที่ลาประชุม
นายคณิศ แสงสุพรรณ
@ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและกลุ่มประเทศเอเชียแตกต่างกันมากขึ้น กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามการกระจายวัคซีนที่คืบหน้าไปมาก ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียถูกกระทบจากการระบาดและ
การกลายพันธุ์ของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศ
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการระบาดที่อาจรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส โดยเฉพาะประเทศที่กระจายวัคซีนล่าช้าและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
ตลาดการเงินโลกมีความกังวลเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่กลับมารุนแรงในหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ ส่งผลให้นักลงทุนปรับลดความเสี่ยงจากการลงทุน (risk-off sentiment) โดยลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตราสารทุน และเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล
ทั้งนี้ ตลาดการเงินไทยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาค โดยดัชนีหลักทรัพย์ไทยและอัตราผลตอบพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง สำหรับเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. และดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate : NEER) อ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อน โดยเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินภูมิภาคจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่รุนแรง และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้า
มองไปข้างหน้า ตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนสูง และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังตลาดการเงินไทยได้ โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจรุนแรงขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการคลังและการเงินของสหรัฐฯ โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวดีและอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วกว่าที่นักลงทุนคาดไว้
@ภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินไทย
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงมากจากมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.7 และ 3.7 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากประมาณการ
ในเดือนมิถุนายน 2564 ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า
ขณะที่ตลาดแรงงานมีแนวโน้มเปราะบางขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ลดลง
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจาก (1) แนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินฉบับใหม่วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนและลดทอนผลกระทบของการระบาดระลอกล่าสุดได้ส่วนหนึ่ง
และ (2) การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า แม้ภาคการผลิตและภาคส่งออกบางส่วนจะเผชิญกับข้อจำกัดด้านอุปทาน เช่น ภาคการผลิตถูกกระทบจากจำนวนชั่วโมงทำงานที่ปรับลดลงหลังภาครัฐออกมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการขาดแคลนวัตถุดิบทั่วโลก โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำตามอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ขณะที่การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ จาก
(1) สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงความล่าช้าในการกระจายวัคซีน ซึ่งอาจทำให้ปัญหาสาธารณสุขยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น
(2) ฐานะทางการเงินของธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการที่เปราะบางมากขึ้นอีก ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดกิจการ
และเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก
และ (3) ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทาน โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดในโรงงานและการขาดแคลนวัตถุดิบชั่วคราวที่คาดว่าจะคลี่คลายภายในครึ่งแรกของปี 2565 อาจรุนแรงยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทยมากกว่าที่คาด
เสถียรภาพระบบการเงินมีแนวโน้มเปราะบางขึ้น โดยการระบาดระลอกล่าสุดซ้ำเติมให้รายได้และฐานะทางการเงินของลูกหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เปราะบางอยู่เดิมให้แย่ลง ส่งผลให้จำนวนลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ (debt at risk) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์ยังมีฐานะการเงินที่มั่นคงสามารถรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงในอนาคต จึงทำให้ความเสี่ยงดังกล่าวต่อเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวมยังมีจำกัด
@ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย
คณะกรรมการฯ อภิปรายเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของการระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อมากขึ้น มาตรการที่ควรเร่งดำเนินการ รวมถึงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและมาตรการด้านการเงิน โดยมีรายละเอียดดังนี้
-คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มากกว่าที่ประเมินไว้เดิม และมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด
โดยการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงที่ใช้เวลา อาจทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่และจำนวนผู้ป่วยวิกฤตเร่งสูงขึ้นเกินระดับที่ศักยภาพของระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้อย่างต่อเนื่อง มาตรการควบคุมการระบาดมีโอกาสที่จะเข้มงวดและยาวนานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและภาคครัวเรือนอาจปรับลดลงมากตามแนวโน้มรายได้และส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการบริโภค
ทั้งนี้ การระบาดที่ยืดเยื้อทำให้การฟื้นตัวมีความแตกต่างกันมากขึ้นในแต่ละภาคเศรษฐกิจ (uneven recovery) อีกทั้งยังซ้ำเติมให้ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects) โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เห็นสัญญาณการลดชั่วโมงทำงาน อีกทั้งยังมีแรงงานเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาสูงขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดแรงงานยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า สะท้อนจากกลุ่มผู้ว่างงานระยะยาวกลุ่มผู้ว่างงานที่เป็นนักศึกษาจบใหม่ และกลุ่มผู้ออกนอกกำลังแรงงานที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
-คณะกรรมการเห็นว่าโจทย์ส่าคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การเร่งควบคุมการระบาดและป้องกันการระบาดของโรค โดยเฉพาะการเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงทันการณ์ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้และสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาฟื้นตัว
มาตรการการคลังควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น โดยดูแลการจ้างงานและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและทันการณ์
ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อาจปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสูงกว่าระดับเพดานที่ร้อยละ 60 แต่จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังอย่างมีนัยสำคัญ หากเม็ดเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะสั้น รวมถึงใช้เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย จะเอื้อให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้
ด้านนโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยเงินบาทล่าสุดปรับอ่อนค่าและไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำ แต่ยังมีปัญหาในการกระจายสภาพคล่องที่มีอยู่มากไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ
มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อจึงควรเร่งปรับปรุงให้มีประสิทธิผลและเกิดผลเป็นวงกว้างขึ้น แม้ที่ผ่านมามาตรการสินเชื่อฟื้นฟูช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นและมาตรการพักชำระหนี้เป็นเวลา 2 เดือน จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บางส่วน
แต่การระบาดระลอกล่าสุดมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าคาด จึงต้องเร่งกระจายสภาพคล่องเพิ่มเติมและผลักดันให้สถาบันการเงินลดภาระหนี้แก่ลูกหนี้อย่างเป็นรูปธรรมอาทิ การเลือกวิธีปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถชำระคืนหนี้ในระยะยาว
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังเห็นว่าควรออกแบบมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อจูงใจให้กลุ่มครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยและมีเงินออมสูงช่วยเพิ่มการใช้จ่ายและกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้า
-คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินในสถานการณ์ปัจจุบัน ผลประโยชน์สุทธิต่อเศรษฐกิจจากการลดดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงทางเลือกต่างๆ ของการดำเนินนโยบายในครั้งนี้ โดยเห็นพ้องกันว่าการใช้มาตรการทางการเงินจะสามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ได้ตรงจุดมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่า (1) โจทย์สำคัญของการดำเนินนโยบายในปัจจุบันคือการกระจายสภาพคล่องในระบบธนาคารที่อยู่ในระดับสูงไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนที่มีความเสี่ยงด้านเครดิต (creditrisk) (2) กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงเป็นผลจากมาตรการควบคุมการระบาด ทั้งนี้ ภาวะการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย เอื้อให้สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆที่อยู่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่อง
และ (3) มาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องของผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูง เป็นการดำเนินการที่มีประสิทธิผลและตรงจุดมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่มีเป้าเฉพาะเจาะจง ที่แม้จะส่งผลในวงกว้างแต่ช่วยลดภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบางได้น้อย
อย่างไรก็ตาม กรรมการฯ ส่วนหนึ่งเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้จะเป็นการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า (pre-emptive) โดยประเมินว่ามาตรการทางการเงินและการคลังที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาอาจยังมีข้อจำกัดและไม่เพียงพอ ขณะที่นโยบายการเงินต้องใช้เวลาส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจ จึงควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้เพื่อช่วยรองรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่อาจสูงขึ้นในระยะข้างหน้า แม้อัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือที่ตรงจุดและมีประสิทธิผลน้อยกว่ามาตรการการเงินและการคลังอื่นๆ
@การดำเนินนโยบายการเงิน
คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุมคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19
มากกว่าที่ประเมินไว้และยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยส่าคัญ
ซึ่งโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การเร่งควบคุมการระบาดและกระจายวัคซีน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้กลับมาขยายตัว ขณะที่มาตรการทางการคลังและการเงินจะต้องเร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูง การช่วยเหลือต้องเร่งผลักดันผ่านการกระจายสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่่า จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า
คณะกรรมการฯ จะติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่อง โดยเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นและมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาคตามปัจจัยในประเทศ คณะกรรมการฯจึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ
และไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึงเร่งผลักดันนโยบายการปรับ FX ecosystemอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยในระยะยาว
โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าการส่งเสริมให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันของไทยของไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกและทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยไหลเข้าออกอย่างสมดุลมากขึ้น
คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยดูแลตลาดแรงงานและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและทันการณ์ นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งปรับปรุงให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุง
โครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาวภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นส่าคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
อ่านประกอบ :
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น
ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’หนุนรัฐบาลกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้วิกฤติโควิด
แฮร์คัตหนี้-ลดดอกเบี้ย! ธปท.จ่อออกมาตรการจูงใจแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ‘รายย่อย-SME’
มติ 4 ต่อ 2! ‘กนง.’ เสียงแตกคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
ธปท.ชี้โควิดกระทบศก.ชัดเจนขึ้น ‘บริโภค-ลงทุนเอกชน’ เดือนพ.ค.หดตัวเป็นเดือนที่ 2
มติเอกฉันท์คงดบ.0.5%! กนง.หั่นเป้าจีดีพีปี 64 เหลือ 1.8%-ปีหน้าโต 3.9%
คาดจีดีพีปีนี้ดีสุดโต 2%! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-วัคซีนพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/