กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อปี คาดเศรษฐกิจไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีทั้งปี 64 ขยายตัว 0.7% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะขยายตัว 3.9% แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
..............................
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 และปี 2565 จะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อนแต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ปรับดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด
ทั้งนี้ โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านมาตรการด้านการเงินมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ยังต้องเร่งผลักดันการกระจายสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.7 และ 3.9 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ใกล้เคียงกับประมาณการ ณ เดือนสิงหาคม โดยแม้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดและการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด
แต่พัฒนาการด้านวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 2564 โดยในปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์
ด้านตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากรายได้ของแรงงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ยังไม่เข้มแข็ง
อย่างไรก็ดี แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยยังต้องติดตามแนวโน้มการระบาดและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมถึงแรงสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง โดยการกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้าจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเน้นการสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ รวมทั้งความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
นายทิตนันทิ์ ระบุว่า ที่ประชุม กนง.ได้ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 0.7% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน เพราะแม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงไตรมาสที่ 3/2564 จะรุนแรงกว่าที่คาดไว้ แต่การกระจายวัคซีนที่ปรับตัวเร็วขึ้นมาก รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการที่เร็วกว่าที่คาด ส่งผลให้คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า
“ไตรมาส 3/2564 จะเป็นจุดต่ำสุด หลังจากนั้นเศรษฐกิจจะเริ่มทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไตรมาส 4/2564 ยังมีความไม่แน่นอน โดยมีทั้งปัจจัยด้านบวกและด้านลบ โดยด้านบวก คือ การอั้นของการอุปโภคบริโภค หรืออุปสงค์อาจมากกว่าที่คาดไว้ ส่วนปัจจัยลบ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดหรือควบคุมการระบาดอาจช้ากว่าที่คาดไว้ ถ้าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโต 0.7% ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่” นายทิตนันทิ์ กล่าว
ส่วนเศรษฐกิจปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.9% เทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 3.7% แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย
“แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในช่วงต่อไปจะต้องติดตามความเสี่ยงต่างๆอย่างใกล้ชิด เช่น สถานการณ์การระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส มาตรการควบคุมการระบาด นโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจหลังการผ่อนคลายมาตรการฯ ความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนของมาตรการภาครัฐ และการคลี่คลายปัญหาในภาคการผลิตที่ถูกกระทบจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งยังต้องใช้เวลา” นายทิตนันทิ์ กล่าว
นายทิตนันทิ์ ย้ำว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงต่อไปจะมาจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน โดยที่ประชุม กนง. และธปท.ประเมินว่า การบริโภคของภาคเอกชนในปี 2565 จะขยายตัว 5.7% เทียบกับไม่เติบโตเลยในปีนี้
สำหรับอัตราเงินทั่วไป คาดว่าจะปรับตัวลงเล็กน้อยจากประมาณการครั้งก่อน โดยขยายตัวที่ระดับ 1.0% ซึ่งอยู่ในกรอบล่างของเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงิน ส่วนปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนเล็กน้อย โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัว 1.4 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะขยายตัว 0.2% ในปี 2564 และขยายตัว 0.3% ในปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เข็มแข็งหรืออ่อนแอ จากอุปสงค์ในประเทศยังไม่เข็มแข็ง
นอกจากนี้ ในส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564 คาดว่าจะขาดดุลประมาณ 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่คาดว่าจะขาดดุล 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปี 2565 คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่คาดว่าจะเกินดุล 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 2 แสนคน และปี 2565 คาดว่าจะมีจำนวน 6 ล้านคน
อ่านประกอบ :
ธปท.เผยเศรษฐกิจ ก.ค.ชะลอตัว จับตา ‘ส่งออกแผ่ว-โควิดกลับมาระบาด-กำลังซื้ออ่อนแอ’
‘ธปท.’ ยันไม่เคยบังคับแบงก์ ‘แฮร์คัต’ หนี้-พบสัญญาณสินเชื่อ ‘รายย่อย’ เปราะบางขึ้น
รื้อสินเชื่อฟื้นฟู-พีโลน! ‘กนส.’ไฟเขียวมาตรการช่วยลูกหนี้-ลดนำส่งเงิน FIDF ถึงปี 65
เปิดรายงาน กนง. : 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ-ห่วง 'ล็อกดาวน์' นาน ผลกระทบมากขึ้น
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ :'หลุมรายได้'อาจมีขนาด 2.6 ล้านล.-จำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้น
ทำตอนนี้ดีกว่าทำทีหลัง! ‘ผู้ว่าฯธปท.’หนุนรัฐบาลกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้าน แก้วิกฤติโควิด
แฮร์คัตหนี้-ลดดอกเบี้ย! ธปท.จ่อออกมาตรการจูงใจแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ ‘รายย่อย-SME’
มติ 4 ต่อ 2! ‘กนง.’ เสียงแตกคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-หั่นจีดีพีปีนี้โตแค่ 0.7%
กำลังซื้ออ่อนแอ-ครัวเรือนไม่เชื่อมั่น! ธปท.เผยบริโภคเดือน มิ.ย.หด-เกาะติด'ล็อกดาวน์'
ฉุดจีดีพีร่วง 0.8-2%! ธปท.ประเมินผลกระทบ ‘ล็อกดาวน์’-เศรษฐกิจปีหน้าฟื้นช้ากว่าคาด
ธปท.เล็งหั่นจีดีพีปี 64 เซ่นล็อกดาวน์-เดลต้าระบาดหนัก ห่วง ‘ว่างงาน-หนี้ครัวเรือนสูง’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/