"...ภาครัฐหรือ บุคคลใดๆ ที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนได้ร่วมกันจัดหา ที่ให้การสนับสนุนสินเชื่อใหม่ หรือเข้าค้ำประกันสินเชื่อใหม่ ตกลงให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 (กระทรวงการคลัง) ได้รับสิทธิในการซื้อหุ้นตามสัญญาการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Share Option) (“สิทธิในการซื้อหุ้น”)..."
..................
การได้รับ ‘สินเชื่อใหม่’ จำนวน 5 หมื่นล้านบาท
เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ประสบความสำเร็จ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 2 มี.ค.2564 และคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของคณะผู้ทำแผน ลงวันที่ 7 พ.ค.2564
แม้ว่าขณะนี้การผลักดันให้บริษัท การบินไทย กลับมาเป็น 'รัฐวิสาหกิจ' เพื่อที่กระทรวงการคลังจะสามารถเข้ามาค้ำประกัน 'เงินกู้' ให้กับบริษัท การบินไทย ได้นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ในแผนฟื้นฟูกิจการฯบริษัท การบินไทย ฉบับแก้ไข ได้มีการะบุถึง ‘แหล่งที่มา’ ของสินเชื่อใหม่ 5 หมื่นล้านบาทไว้แล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ในเอกสารแนบท้ายคำร้องหมายเลข 16 ของคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ของ 'คณะผู้ทำแผน' ฉบับลงวันที่ 7 พ.ค.2564 กำหนดให้ 'ผู้บริหารแผน' จัดหาวงเงินสินเชื่อใหม่ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
"ผู้บริหารแผนอาจขอรับการสนับสนุนสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ของการบินไทย และ/หรือ บุคคลอื่นใด เป็นจำนวนประมาณ 50,000 ล้านบาท ในรูปแบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Revolving Loan) และ/หรือ ตราสารอื่นใด ตามที่ผู้บริหารแผนจะได้เจรจากับผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน" เอกสารแนบท้ายคำร้องฯ ระบุ
@รัฐสนุนสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล.-เปิดทางคลังเพิ่มทุน-ค้ำประกันหนี้
สำหรับแหล่งที่มาของสินเชื่อใหม่ จำนวน 50,000 ล้านบาท ดังกล่าว จะมาจาก 2 ส่วน คือ
1.สินเชื่อใหม่จำนวน 25,000 ล้านบาท ที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือบุคคลใดๆ ที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนได้ร่วมกันจัดหาซึ่งอาจอยู่ในรูปของเงินให้กู้ยืม และ/หรือ การค้ำประกัน โดยเงื่อนไขของสินเชื่อใหม่ส่วนนี้ มีกรอบการพิจารณา ดังนี้
(1) อัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินต้องไม่เกินกว่าอัตราตลาด สำหรับกรณีการให้สินเชื่อโดยมีภาครัฐเข้าค้ำประกัน หรือไม่เกินกว่าอัตรา MLR ต่อปี สำหรับกรณีภาครัฐหรือบุคคลใดๆ ที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนได้ร่วมกันจัดหาให้กู้ยืมโดยตรง
(2) ระยะเวลาการชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกินกว่า 6 ปี เริ่มชำระคืนเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เบิกใช้สินเชื่อครั้งแรก โดยชำระเป็นรายครึ่งปี
(3) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการให้การสนับสนุนสินเชื่อใหม่ ตลอดจนเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่ผู้บริหารแผนจะได้บรรลุข้อตกลงกับภาครัฐหรือบุคคลใดๆ ที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนได้ร่วมกันจัดหา
(4) ภาครัฐหรือ บุคคลใดๆ ที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนได้ร่วมกันจัดหา ที่ให้การสนับสนุนสินเชื่อใหม่ หรือเข้าค้ำประกันสินเชื่อใหม่ ตกลงให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 (กระทรวงการคลัง) ได้รับสิทธิในการซื้อหุ้นตามสัญญาการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Share Option) (“สิทธิในการซื้อหุ้น”) เพื่อการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวนเดียวกันกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่การบินไทยเบิกใช้จริง (Drawndown Amount)
โดยสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน กำหนดให้สามารถซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยมูลค่าที่ตราไว้ 10 บาทต่อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ในการคำนวณจำนวนหุ้นที่จะมีสิทธิซื้อข้างต้น หากมีเศษของจำนวนหุ้นอันเกิดจากการหารที่ไม่ลงตัว ให้ปัดเศษของหุ้นทิ้ง
(ที่มา : แผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับวันที่ 2 มี.ค.2564 ของคณะผู้ทำแผน)
ทั้งนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 (กระทรวงการคลัง) สามารถแสดงเจตนาเลือกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวตามเงื่อนไขและวิธีการที่ระบุไว้ตามข้อ 5.6 โดยชำระเป็นเงินสด หรือ แปลงหนี้เงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ยตั้งพักตามข้อ 5.3 เป็นทุน โดยเงินสดที่ได้รับจากการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน ให้จัดสรรตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.4 (ค)…
…นอกจากนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 (กระทรวงการคลัง) จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการได้รับชำระหนี้เดิม โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 จะได้รับชำระภาระหนี้ก่อนกำหนดในสัดส่วนร้อยละ 10 ของจำนวนสินเชื่อใหม่ในส่วน 5.8.1 ที่การบินไทยได้เบิกใช้เงินกู้ (Drawndown Amount) โดยให้ชำระดอกเบี้ยใหม่ตั้งพัก (หากมี) เป็นลำดับแรก เป็นต้น
@ระดมสินเชื่อภาคเอกชน 2.5 หมื่นล.-เน้นแบงก์พาณิชย์
2.สินเชื่อใหม่จำนวน 25,000 ล้านบาท ที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน โดยเงื่อนไขของสินเชื่อใหม่ส่วนนี้ มีกรอบการพิจารณา ดังนี้
(1) อัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินต้องไม่เกินกว่าอัตรา MLR ต่อปี
(2) ระยะเวลาของสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระคืนเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เบิกใช้สินเชื่อใหม่ครั้งแรกโดยชำระเป็นรายครึ่งปี
(3) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อใหม่ ตลอดจนเงื่อนไขอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่ผู้บริหารแผนจะได้บรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่อใหม่
(4) เจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่อใหม่ในส่วนนี้จะได้รับสิทธิในการซื้อหุ้นตามสัญญาการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Share Option) (“สิทธิในการซื้อหุ้น”) เพื่อการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวนเดียวกันกับจำนวนหนี้สินเชื่อใหม่ที่การบินไทยเบิกใช้จริง (Drawndown Amount)
โดยสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน กำหนดให้สามารถซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยมูลค่าที่ตราไว้ 10 บาทต่อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ในการคำนวณจำนวนหุ้นที่จะมีสิทธิซื้อข้างต้นหากมีเศษของจำนวนหุ้นอันเกิดจากการหารที่ไม่ลงตัว ให้ปัดเศษของหุ้นทิ้ง
ทั้งนี้ เจ้าหนี้สามารถแสดงเจตนาเลือกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวตามเงื่อนไขและวิธีการที่ระบุไว้ตามข้อ 5.6 โดยชำระเป็นเงินสด หรือ แปลงหนี้เงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักตามข้อ 5.3 เป็นทุน โดยเงินสดที่ได้รับจากการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน ให้จัดสรรตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.4 (ค)…
…หาก เจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 5 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการได้รับเงินจากการขายเครื่องบิน 1 ราย คือ ธนาคารกสิกรไทย) และ กลุ่มที่ 6 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน 17 ราย) และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ รายใดตกลงให้การสนับสนุนสินเชื่อใหม่แก่การบินไทย สิทธิในการได้รับชำระหนี้เดิมของเจ้าหนี้รายดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ดังนี้
(ก) ในกรณีที่เจ้าหนี้รายดังกล่าวเป็นเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 5 หรือกลุ่มที่ 6 เจ้าหนี้รายดังกล่าวจะมีสิทธิได้รับชำระภาระหนี้ก่อนกำหนดในสัดส่วนร้อยละ 10 ของจำนวนสินเชื่อใหม่ที่เจ้าหนี้รายดังกล่าวให้การบินไทยเบิกใช้เงินกู้ (Drawndown Amount) โดยให้ชำระดอกเบี้ยใหม่ตั้งพัก (หากมี) เป็นลำดับแรก และภาระหนี้ส่วนที่ผ่อนชำระตามวรรคก่อน โดยจ่ายจากงวดลำดับท้ายสุดก่อน (Inverse Order) เป็นลำดับถัดไป โดยกระแสเงินสดที่จะนำมาชำระหนี้ก่อนกำหนดนี้จะต้องมาจากกระแสเงินสดส่วนเกินเท่านั้น
(ข) ในกรณีที่เจ้าหนี้รายดังกล่าวเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ เจ้าหนี้รายดังกล่าวจะมีสิทธิได้รับชำระภาระหนี้ก่อนกำหนดในสัดส่วนร้อยละ 10 ของจำนวนสินเชื่อใหม่ที่เจ้าหนี้รายดังกล่าวให้การบินไทยเบิกใช้เงินกู้ (Drawndown Amount) โดยให้ชำระดอกเบี้ยใหม่ตั้งพัก (หากมี) เป็นลำดับแรก เป็นต้น
(ที่มา : แผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับวันที่ 2 มี.ค.2564 ของคณะผู้ทำแผน)
จากแผนการจัดหา 'สินเชื่อใหม่' ของบริษัท การบินไทย ฉบับแก้ไข สรุปได้ว่า นอกจากภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท ผ่านการค้ำประกันสินเชื่อให้กับบริษัท การบินไทย แล้ว เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 ซึ่งก็คือ กระทรวงการคลัง อาจจะต้องเข้ามาซื้อ ‘หุ้นสามัญเพิ่มทุน’ ราคาหุ้นละ 2.5452 บาท ในจำนวนเดียวกันกับ ‘หนี้สินเชื่อใหม่’ ที่การบินไทยเบิกใช้จริง
ขณะที่ 'สินเชื่อใหม่' ที่มาจากภาคเอกชนอีก 2.5 หมื่นล้านบาทนั้น หลักๆจะมาจากการปล่อยกู้ของเจ้าหนี้เดิม ซึ่งมีทั้งธนาคารพาณิชย์เอกชน และธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เป็นต้น รวมถึงเจ้าหนี้หุ้นกู้
โดยแผนกำหนดแรงจูงใจว่า เจ้าหนี้ที่ปล่อยสินเชื่อใหม่จะได้รับการชำระหนี้คืนก่อนกำหนดในสัดส่วน 10% ของสินเชื่อใหม่ที่เจ้าหนี้รายดังกล่าว ให้การบินไทยเบิกใช้เงินกู้ พร้อมให้สิทธิในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยมูลค่าที่ตราไว้ 10 บาทต่อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้นด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นแผนการจัดหา ‘เงินทุนใหม่’ ก้อนใหม่ เพื่อเติม ‘สภาพคล่อง’ และใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจของ ‘การบินไทย’ ในระยะต่อไป
ส่วนการนำแผนไปปฏิบัตินั้น คงต้องรอให้ ‘ที่ประชุมเจ้าหนี้’ ลงมติรับแผนฟื้นฟูกิจการฯ บริษัท การบินไทย และศาลล้มละลายมีคำสั่ง 'เห็นชอบด้วยแผน' ก่อน
อ่านประกอบ :
อำนาจทับซ้อน? 2 บอร์ดเจ้าหนี้ 'เก่า-ใหม่' คุมผู้บริหารแผน 'การบินไทย'
เลื่อนโหวตแผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’ เป็น 19 พ.ค.-ผู้ทำแผนเสนอตั้ง ‘บอร์ดกำกับสินเชื่อใหม่’
ครม.ไม่ถก ‘การบินไทย’ หวนคืน รสก.-เจ้าหนี้โหวตแผนฟื้นฟูฯพรุ่งนี้ ชงเปลี่ยนผู้บริหารแผน
วรวรรณ ธาราภูมิ : ทำไมถึงควรสนับสนุนฟื้นฟู 'การบินไทย'
ยื่นแก้แผนฟื้นฟูฯ‘การบินไทย’! รื้อเงื่อนไข‘เงินใหม่’-‘ชาญศิลป์’เชื่อ 'รัฐ-เจ้าหนี้' หนุน
ยังไม่ได้ข้อสรุป! ครม.ถกปม 'การบินไทย' คมนาคมค้านกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ
สกัดแผนปล่อย 'การบินไทย' ล้มละลาย! เจ้าหนี้หุ้นกู้ 7 หมื่นล. ส่งสัญญาณรับแผนฟื้นฟูฯ
ปรับตำแหน่ง! ‘การบินไทย’ แต่งตั้ง 26 ผู้บริหารระดับสูง รับโครงสร้างองค์กรใหม่
เปิดความเห็นกฤษฎีกา! เสนอแก้มติ ครม.คงสถานะ 'การบินไทย : สายการบินแห่งชาติ'
หวั่นทุนการเมืองฮุบ'สายการบินแห่งชาติใหม่'! ลุ้นครม.เพิ่มทุน 'เจ้าจำปี' 2.5 หมื่นล.
แค่ติดตามแผนฟื้นฟูฯ! ‘อนุทิน’ ปัดนายกฯเรียกถก ‘การบินไทย’ กลับคืนเป็น 'รสก.'
'การบินไทย' ประกาศ บ.ลูก 'ปตท.' ชนะประมูล 'ศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่' 1,810 ล้าน
โหวตรับแผนฟื้นฟูฯ! ท่าทีสหกรณ์เจ้าหนี้‘การบินไทย’-เปิดรับสมัคร‘พนง.’กลั่นกรองฯรอบ 2
ได้รับเลือก 9,304 คน! ‘การบินไทย’ ประกาศรายชื่อ ‘พนง.’ เข้าโครงสร้างองค์กรใหม่
‘การบินไทย’วุ่น! ‘นักบิน’ จี้โละผลประเมินเข้าโครงสร้างใหม่-พนง.รอเก้อไม่เรียกสัมภาษณ์
52 เจ้าซื้อซอง! ประมูลศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ‘การบินไทย’ พบ ‘ปตท.-สิงห์-เซ็นทรัล’ มาด้วย
ปิดฉาก ‘ศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา’ ผุด MRO ใหม่ 8.3 พันล. ‘ทัพเรือ’ สร้าง ‘การบินไทย’ เช่า
เปิดแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ (4) ค่าจ้าง ‘ผู้ทำแผน-ที่ปรึกษาฯ’ 5 เดือน 388.5 ล้าน
สมัครเออร์ลี่ฯรอบใหม่อีก 2.8 พันคน! ‘ชาญศิลป์’ มั่นใจ ‘การบินไทย’ พ้นวิกฤติ
ปลดนักบิน-ลูกเรือ 2.3 พันคน! ‘บิ๊กการบินไทย’ ร่อนสารแจงพนง.-ขอไม่ฟ้องร้องกัน
เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย (3) อำนาจ 2 ว่าที่ผู้บริหารแผน ‘จักรกฤศฏิ์-ปิยสวัสดิ์’
เปิดแผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ (2) ปฏิรูปธุรกิจเต็มรูปแบบ ‘4 เสาหลัก’ คาดพลิกกำไรปี 66
เปิดแผนฟื้นฟูฯการบินไทย! ‘รบ.-แบงก์’ พร้อมใส่เงินใหม่ 5 หมื่นล.-เพิ่มทุน 3.8 บ./หุ้น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage