"...ไม่ว่าบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จะจดทะเบียนจัดตั้งโดยชอบหรือไม่ก็ตาม จะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในกรณีนี้เสียไปหรือเปลี่ยนแปลงไป และไม่ทำให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. หลุดพ้นจากหน้าที่ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด..." หนึ่งในข้อโต้แย้งของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยื่นต่อศาลฯ
......................
นับเป็นเวลา 2 ปีเต็มแล้ว
หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562 ให้ กระทรวงคมนาคมและ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
แต่ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบัน ทั้งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในขณะที่ดอกเบี้ย 'เดิน' วันละ 2 ล้านบาท
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2564 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1379/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366-368/2557 โดยมีคำสั่ง ‘ยกคำร้อง’ ของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ที่ขอให้ศาลฯ ‘งดหรือทุเลาการบังคับคดี’ ในการจ่ายค่าเสียหายคดีโฮปเวลล์ เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยรวมแล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ศาลฯเห็นว่า คำร้องดังกล่าวไม่เป็น ‘เหตุ’ ที่จะเข้าเงื่อนไขในการ ‘งดการบังคับคดี’ และไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลในการ ‘ทุเลาการบังคับคดี’ ประกอบกับมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ศาลฯจึงไม่อาจมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีได้ (อ่านประกอบ : คดีถึงที่สุดแล้ว! ศาลปค.ยกคำร้อง ‘คมนาคม-รฟท.’ ขอชะลอจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากคำพิพากษาของศาลปกครองในคดีนี้ ปรากฎข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ 'ข้อต่อสู้' ระหว่างภาครัฐ คือ กระทรวงคมนาคม และรฟท. กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่น่าสนใจ และอาจเกี่ยวข้องกับกรณีที่ภาครัฐกำลังพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอ ‘รื้อ’ คดีโฮปเวลล์ใหม่ ดังนี้
@‘คค.-รฟท.’ ร้องศาลฯ ‘งดหรือทุเลาการบังคับคดี’ คดีโฮปเวลล์
หลังจากเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223 หรือ คดีโฮปเวลล์ โดยพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดแล้ว
แต่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้ยื่นคำร้องขอ ‘รื้อคดี’ เป็นครั้งแรก โดยมีหนังสือลงวันที่ 18 ก.ค.2562 ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ แต่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่ง ‘ไม่รับคำขอ’ ให้พิจารณาคดีใหม่ ต่อมาทั้ง 2 หน่วยงาน ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง ‘ยืน’ ตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น
ต่อมา สำนักบังคับคดีปกครอง มีหนังสือลงวันที่ 19 ต.ค.2563 รายงานศาลว่า สำนักบังคับคดีปกครองได้ติดตามผลการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังไม่จ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับเงินที่ต้องชำระ
ขณะที่ รฟท. ได้ยื่นฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครต่อศาลปกครอง โดยขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ 1721/2563 ลงวันที่ 29 ก.ย.2563 โดยมีคำสั่ง ‘ไม่รับ’ คำฟ้องพิจารณา
ดังนั้น เพื่อให้การบังคดีเสร็จสิ้นโดยเร็ว ศาลปกครองจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 75/3 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 นัดไต่สวนคู่กรณี เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2563 ซึ่งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้ยื่นคำร้องประกอบการไต่สวนและขอ ‘งดบังคับคดี’ สรุปได้ว่า
@ภาครัฐตั้งคณะทำงานฯ 3 ชุดตรวจสอบโครงการโฮปเวลล์
หลังจากศาลปกครองมีคำพิพากษาแล้ว 'ภาครัฐ' ได้ตั้งคณะทำงานอย่างน้อย 3 ชุด ได้แก่
ชุดแรก คณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน ‘กรณีโฮปเวลล์’ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2562 ลงวันที่ 20 มิ.ย.2562 เพื่อตรวจสอบโครงการโฮปเวลล์ ตั้งแต่ก่อนทำสัญญา ขณะทำสัญญา การบริหารสัญญา การยกเลิกสัญญา การดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการ และในชั้นศาลปกครอง
ชุดที่สอง คณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ไขความเสียหายของรัฐในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (คดีโฮปเวลล์) และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (คดี BEM) ตามคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 248/2562 ลงวันที่ 26 ส.ค.2562
ชุดที่สาม คณะทำงานพิจารณาศึกษาการปฏิบัติตามกฎหมายกรณีโครงการโฮปเวลล์ ตามมติของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และการปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องในโครงการโฮปเวลล์
ผลจากการตรวจสอบของคณะทำงานชุดต่างๆ ทำให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ดำเนินการใน 4 เรื่อง ได้แก่
เรื่องแรก ยื่นฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1613/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1721/2563 เพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนทะเบียน บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย.2533 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
เรื่องที่สอง ยื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เกี่ยวกับการ ‘รับจดทะเบียน’ จัดตั้ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทฯ กระทำผิดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พ.ย.2515 ซึ่งการกระทำใดๆที่ขัดต่อ ปว.281 จึงเป็น ‘โมฆะ’ ตามนัยมาตรา 151 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งฯ
เรื่องที่สาม เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2562 กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หรือไม่
เรื่องที่สี่ คณะทำงานตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน ‘กรณีโฮปเวลล์’ ได้ส่งรายงานการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานกรณีโฮปเวลล์ ฉบับลงวันที่ 18 ก.ค.2562
ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือลับที่ ปช.0019/0879 ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 ถึงกระทรวงคมนาคม โดยขอข้อมูลประกอบการไต่สวนโครงการโฮปเวลล์ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่า ‘มีการทุจริตหรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่’
ดังนั้น กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จึงเห็นว่า ควรรอการชี้ขาดในข้อกฎหมายให้ชัดเจนก่อน โดยเฉพาะประเด็นการรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เพราะหากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีสถานะความเป็นนิติบุคคลมาตั้งแต่เริ่มแรก ย่อมไม่อาจเข้าทำสัญญาสัมปทานได้ รวมทั้งไม่อาจยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ และดำเนินกระบวนการพิจารณาต่างๆในชั้นศาลปกครองได้
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม รฟท. และรัฐบาล ต้องดำเนินการสอบสวนเพื่อหาผู้รับผิดทางแพ่งและทางวินัยจากการกระทำผิดในโครงการโฮปเวลล์ อีกทั้งไม่มีการตั้งงบประมาณปีงบ 2564 ไว้ เพราะพ้นการขอให้พิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณปีงบ 2564 ไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จึงขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดี หรือทุเลาการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครอง
@บ.โฮปเวลล์แย้งรัฐ ‘ประวิงเวลา’ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
อย่างไรก็ตาม บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด สรุปได้ 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เคยเชิญบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไปเจรจาเพื่อหายุติในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และบริษัทฯเคยยื่นข้อเสนอให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ชำระหนี้ โดยข้อเสนอมีผลบังคับถึงวันที่ 30 พ.ย.2562 แต่ต่อมาบริษัทฯ ขยายเวลาการบังคับของข้อเสนอไปถึงวันที่ 31 ธ.ค.2562
แต่ทั้งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ไม่ได้ชำหนี้ให้บริษัทฯ และไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้องให้บริษัทฯทราบแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าการเจรจาของทั้ง 2 หน่วยงาน เป็นเพียงการประวิงเวลาในการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ต่อมาวันที่ 26 ต.ค.2563 บริษัทฯ ทำหนังสือแจ้งให้ทั้ง 2 หน่วยงานปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลภายใน 15 วัน
ประเด็นที่สอง กรณีที่ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ระบุในคำร้องประกอบการไต่สวนของดการบังคับคดี โดยยกเหตุว่าอยู่ระหว่างการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบทั้งทางแพ่งและวินัยนั้น กรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นเหตุตามกฎหมายที่จะขอให้มีการงดหรือทุเลาการบังคับคดีแต่อย่างใด
เพราะเรื่องภายในของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ไม่เกี่ยวกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และไม่เป็นเหตุไม่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้
@ชี้ยกเลิกจดทะเบียน ‘บ.โฮปเวลล์’ แต่รัฐยังต้องจ่ายค่าเสียหาย
ประเด็นที่สาม กรณีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อทั้งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. รับทราบความเป็น ‘นิติบุคคลต่างด้าว’ ของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มาตั้งแต่ปี 2533 และยอมรับว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบรายงานผลการเจรจาที่กระทรวงคมนาคมได้ตกลงไว้กับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง (ฮ่องกง)
นอกจากนี้ หลังจากลงนามในสัญญาสัมปทานแล้ว คู่สัญญาต่างก็ปฏิบัติตามสัญญา โดยกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ส่งมอบที่ดินบางส่วนให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทฯ ได้ชำระเงินตามสัญญาสัมปทาน พร้อมทั้งมีการสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างตามสัญญาสัมปทานแล้ว
จึงเป็นการยืนยันว่า คู่สัญญาเข้าใจตรงกันว่า สัญญาสัมปทานลงนามโดยคู่สัญญาที่มีความสามารถและคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการ สัญญาจึงมีผลบังคับอย่างสมบูรณ์
อีกทั้งไม่ว่าบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จะจดทะเบียนจัดตั้งโดยชอบหรือไม่ก็ตาม จะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในกรณีนี้เสียไปหรือเปลี่ยนแปลงไป และไม่ทำให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. หลุดพ้นจากหน้าที่ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 บัญญัติวางหลักว่า แม้บริษัทจะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพราะชำระบัญชี ซึ่งกรณีนี้ หากมีการเพิกถอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้ชำระบัญชีของบริษัทฯ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการบังคับคดี ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจนเสร็จสิ้น
ประเด็นที่สี่ กรณีที่ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่นั้น
เป็นการปฏิเสธคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอันถึงที่สุดแล้ว โดยใช้องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบดุลพินิจของตุลาการศาลสูงสุด อีกทั้งเป็นเจตนาที่ไม่สุจริต
และมีเจตนาประวิงการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ผูกพันคดีซึ่งถึงที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า
“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว”
เหล่านี้เป็นข้อโต้แย้งที่ทั้งฝ่ายรัฐ คือ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ขึ้นยกขึ้นต่อสู้ ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งยกคำร้องการขอ ‘งดหรือทุเลาการบังคับคดี’ การจ่ายค่าเสียหายในคดีโฮปเวลล์กว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
อ่านประกอบ :
คดีถึงที่สุดแล้ว! ศาลปค.ยกคำร้อง ‘คมนาคม-รฟท.’ ขอชะลอจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล.
รื้อคดีกันขนานใหญ่ ? นักกม.ตั้ง 5 ข้อสังเกตคำวินิจฉัยศาล รธน. 'คดีโฮปเวลล์'
ไม่รับคำร้องคดีโฮปเวลล์! เปิดคำวินิจฉัยศาล รธน.กรณี ‘การนับอายุความ’ไม่ชอบ
'วิษณุ-พีระพันธุ์'เชื่อสัญญาณบวก ลุ้นสู้คดีโฮปเวลล์
สบช่องรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์! ‘คมนาคม-รฟท. ยื่นศาล ปค. ให้นับอายุความใหม่
ศาล รธน.ข้างมากชี้มติที่ประชุมศาล ปค.สูงสุดนับอายุความค่าโง่โฮปเวลล์ขัดรัฐธรรมนูญ
ศาล รธน.นัด 17 มี.ค.วินิจฉัยปมนับอายุความคดีค่าโง่โฮปเวลล์ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
‘สุเทพ’ลุยฟ้องหมิ่นประมาท‘สุทิน-เพื่อไทย’ปมอภิปรายเรื่องโฮปเวลล์
ภท.ควงผู้ว่า ร.ฟ.ท.-คมนาคมแจงอายุความคดีค่าโง่โฮปเวลล์ ยันยังไม่หมดอายุความ
ฟังจากปาก‘วิษณุ’อายุความค่าโง่โฮปเวลล์หมดเมื่อไหร่-เสียดอกเบี้ยวันละ 2 ล.?
‘ศักดิ์สยาม’ตั้ง กก.หาตัวผู้รับผิดชอบค่าโง่โฮปเวลล์ นัดถก 25 ก.พ.-แย้มคนเอี่ยวอื้อ
‘คค.-รฟท.’ลุ้น! ศาล รธน.รับวินิจฉัยปมนับอายุความคดีโฮปเวลล์-ให้ศาล ปค.สูงสุดแจงใน 7 วัน
เปิดบันทึกกมธ. : 'รฟท.' ยกเคส ‘คลองด่าน’ ยื้อจ่ายคดีโฮปเวลล์-เอกชนโวยผ่านมา 30 ปีเพิ่งยื่นสอบ
กระบวนการยังไม่จบ! ‘คมนาคม’ ยันสู้ต่อคดีโฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล.-เอกชนชี้ไม่สุจริตรื้อสอบย้อนหลัง
มติที่ประชุมใหญ่ศาล ปค.สูงสุดไม่ชอบ! ‘ผู้ตรวจการฯ' ยื่นศาล รธน.ปมนับอายุความฟ้องคดีโฮปเวลล์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/